วันพฤหัสบดี 18 เมษายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

จาก “ร.ร.วชิราวุธ ” สู่ “มหาจุฬาลงกรณ์”

 

 

ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้

ที่ข้าอยากได้นั้น คือเยาวชน

ที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์

สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี”

ราม วชิราวุธ

“I do not want a walking school

books. What I want are just

manly young men, honest

truthful, clean in habits and

thoughts”

Vajiravudh


ภาพหมู่คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สมัยพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นผู้บังคับการ ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และครูใหญ่ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตผู้จัดการโรงเรียน ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๙ – พ.ศ. ๒๔๗๖

“วชิราวุธวิทยาลัย” เป็นโรงเรียนประจำชายล้วน สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๖ โดยพระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างโรงเรียนแก่กุลบุตรชาวไทยแทนการสร้างพระอารามซึ่งมีอยู่มากแล้วนั้น ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๗ พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยให้นักเรียนย้ายมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ พร้อมทั้งได้พระราชทานนามโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสืบต่อไป

 

งานวชิราวุธานุสรณ์

งานประเพณีสำคัญอีกงานหนึ่งของวชิราวุธวิทยาลัยในความทรงจำของนักเรียนเก่ารุ่นอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป เห็นจะได้แก่งาน “วชิราวุธานุสรณ์” ที่จัดขึ้นที่พระราชอุทยานสราญรมย์ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงวันที่ ๔ ธันวาคมของทุกปี

งานวชิราวุธานุสรณ์นั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๖  โดยมีมูลเหตุสำคัญสืบเนื่องมาจากนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงกลุ่มหนึ่งได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในล้นเกล้าฯ พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียน “วชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ จึงได้ร่วมกันดำริที่จะจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๖  ประดิษฐานไว้ที่เนินหอนาฬิกาในโรงเรียน “วชิราวุธวิทยาลัย”

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อแรกประดิษฐานที่หน้าหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย

ในทำนองเดียวกับที่พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมกันจัดสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่พระลานพระราชวังดุสิตเมื่อคราวงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก “ปิยมหาราชานุสรณ์”  ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑

ส่วนเงินที่เหลือเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ได้นำไปสร้างมหาวิทยาลัยขึ้น มีนามตามพระปรมาภิไธยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย

และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมพระบรูปทรงม้าในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ อยู่ประมาณปีหนึ่งหรือสองปี แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาถวายบังคมในวันคล้ายวันสวรรคต ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งนักเรียนมหาดเล็กหลวงก็ได้ไปร่วมถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์นั้นมาแต่เริ่มแรก และคงสืบทอดรักษาประเพณีนี้ไว้จนถึงปัจจุบัน

 

ภาพ: นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ที่พระลานพระราชวังดุสิต ในวัน ” ปิยะมหาราช ”  ๒๓ ตุลาคม (เชื่อว่า อยู่ใระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง ๒๔๘๙)

 

เมื่อสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยในสมัยที่ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นสภานายกได้ทราบดำริของนักเรียนของนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงนั้นแล้ว ก็ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ต่อไป

ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินทุนประเดิมเป็นจำนวนเงิน ๑,๐๐๐ บาท และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร นักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยจากทั่วประเทศได้ร่วมบริจาคสมทบอีกกว่าหมื่นบาท แต่แนวความคิดในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ที่วชิราวุธวิทยาลัยนั้นก็เป็นต้องสะดุดหยุดลงเพราะเกิดเสียงเรียกร้องจากประชาชนทั่วไปว่า หากไปสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ภายในโรงเรียนก็จะเป็นการกีดกันและปิดกั้นมิให้พสกนิกรผู้จงรักภักดีได้มีโอกาสเข้าไปกราบถวายบังคมได้โดยสะดวก

ต่อมา จึงได้รับโอนโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของคณะผู้จงรักภักดีไปดำเนินการต่อ โดยมอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้นหล่อพระบรมรูปทรงเครื่องเต็มยศจอมพล จอมทัพบกสยาม ประดิษฐานไว้ที่พระบรมราชานุสรณ์สวนลุมพินี

 

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อแรกประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี

เมื่อ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ดำเนินการปั้นหล่อพระบรมรูปทรงเครื่องเต็มยศจอมพลทหารบก ทรงพระมาลาเฮลเม็ต (Helmet) ที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “ทรงกะโล่” ประดับพู่ขนนก ฉลองพระองค์ทูนิค (Tunic) สีขาว มีปลอกพระศอและข้อพระกรพื้นดำปักดิ้นทอง พระสนับเพลาแบบขี่ม้าติดแถบสีบานเย็นขนาดใหญ่มีริ้วสีบานเย็นขนาดเล็กพาดกลาง ฉลองพระบาทหนังทรงสูง (Top Boot) พระหัตถ์ขวาทรงถือพระคทาจอมพล พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมด้ามพระแสงกระบี่ ประทับยืนเต็มพระองค์แล้วเสร็จ เมื่อเชิญขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นฐานที่ด้านหน้าสวนลุมพินี ก็ให้เกิดความรู้สึกกันว่า พระบรมรูปที่ประดิษฐานเหนือแท่นฐานที่จัดเตรียมไว้นั้นค่อนข้างต่ำ ทำให้พรบรมราชานุสาวรีย์นั้นขาดความวง่างามไปมาก จึงได้มีดำริให้จัดสร้างเสริมฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ให้ได้สัดส่วนงดงามสมพระเกียรติยศ และในการปรับแต่งแท่นฐานพระบรมรูปนี้จำจะต้องจัดหาทุนดำเนินการเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง

 

คณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๖ คน ประกอบด้วย นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หลวงเมธีนฤปกร นายกสมาคมฯ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) อุปนายกฯ นักเรียนเกามหาดเล็กหลวง หลวงสรรสารกิจ (เคล้า คชนันทน์) เลขานุการฯ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) กรรมการฯ และนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ศาสตราจารย์คำนึง ชาญเลขา นายทะเบียนฯ ซึ่งได้มาพบกันในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงได้หารือกันถึงแนวทางการรณรงค์จัดหาเงินทุนสมทบการก่อสร้างแท่นฐานพระบรมราชานุสรณ์นั้น

ต่อมา สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้จัดให้มีงานวชิราวุธานุสรณ์ที่สวนลุมพินีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๕ – ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยรายได้จากการตรั้งนั้นได้ใช้เป็นทุนในการสร้างเสริมแท่นฐานประดิษฐานพระบรมรูปจนแล้วเสร็จ

 

พระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อเสริมท่านฐานที่ประดิษฐานพระบรมรูปแล้ว