วันศุกร์ 19 เมษายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ตำแหน่งสำคัญของเจ้าเมือง ผู้บริหารราชการในล้านนา

 

 

“เจ้าหลวง” เป็นคำที่ใช้เรียกผู้นำสูงสุดที่ปกครองหัวเมืองเอก เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน มีฐานะเป็นเจ้าชีวิตของคนทั่วไปในรูปแบบที่เป็นชีวิตที่ใกล้เคียงกับชีวิตกษัตริย์ เพียงแต่ย่อส่วนให้พอสมกับฐานะ ผู้ที่จะเป็นเจ้าหลวงต้องได้รับการยินยอมจากเหล่าเจ้านายและจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักกรุงธนบุรีหรือกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น

ตำแหน่งเจ้าหลวงในเชียงใหม่เริ่มขึ้นในสมัยพญาจ่าบ้าน (บุญมา) หลังจากที่พญาจ่าบ้านได้ร่วมกับพระเจ้ากาวิละขับไล่พวกพม่าพ้นไปจากล้านนาแล้ว พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนาพญาจ่าบ้านเป็นพระยาเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นเจ้าหลวงองค์แรกแห่งนครเชียงใหม่ แต่เวลานั้นพญาจ่าบ้านก็มิได้ครองเชียงใหม่ด้วยมีไพร่พลน้อยเกินกว่าจะดูแลเมืองเชียงใหม่ที่ถูกทิ้งร้างมานานได้

จนมาในสมัยของพระเจ้ากาวิละแห่งตระกูลเจ้าเจ็ดตน บทบาทและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหลวงเชียงใหม่ก็เริ่มชัดเจนขึ้น อาทิ การขึ้นเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่จะต้องผ่านพิธีตามโบราณราชประเพณีแต่ครั้งราชวงศ์มังรายคือ พิธีราชาภิเษกและพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การได้รับเครื่องยศอันเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทย การแสดงบทบาทเป็นผู้นำการสู้รบในยามศึกสงครามและยามบ้านเมืองสุขสงบก็ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นองค์อุปถัมภ์แต่งตั้งพระสงฆ์ตั้งแต่ตำแหน่งสังฆราชลงมา ในด้านชีวิต

 

ความเป็นอยู่แสดงสถานะที่เหนือกว่าผู้คนอื่น ๆ ในบ้านเมือง จำลองชีวิตจากราชสำนักกรุงเทพฯ มีที่อยู่เรียกว่า “คุ้ม” ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์กลางความเจริญต่าง ๆ ทั้งในด้านศิลปะและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งระบบบริหารบ้านเมือง โดยแต่งตั้งเจ้านายและขุนนางเข้ามาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ให้มีอำนาจและศักดินาลดหลั่นกันไป อันได้แก่ “เจ้าขันห้าใบ” ซึ่งเป็นคณะเจ้านายระดับสูงที่ทรงอำนาจ ประกอบด้วย เจ้าผู้ครองนคร (เจ้าหลวง) และเจ้านายฝ่ายเหนือที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ อีก ๔ ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าอุปราช (เจ้าหอหน้า) เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตรและเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็น เจ้าบุรีรัตน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ เจ้าขันทั้งห้านี้ตาม

กฏของราชสำนักกรุงเทพฯ จะเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน แต่ในทางปฏิบัติเจ้านายชั้นสูงของเชียงใหม่จะเป็นผู้เสนอบุคคลที่เห็นสมควรและทางกรุงเทพฯมักแต่งตั้งตามที่เสนอมา ในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานตำแหน่งใหม่ เพิ่มขึ้นอีก ๑ ตำแหน่ง คือ “เจ้าราชภาคิไนย” ผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้คนแรกคือ เจ้าน้อยแผ่นฟ้า ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้ากาวิละ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานตำแหน่งใหม่ให้กับเจ้านายฝ่ายเหนือเพิ่มอีก ๓ ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าราชสัมพันธวงศ์ เจ้าราชภาติกวงศ์ และเจ้าสุริยวงศ์ นอกจากนั้นแล้วยังมีคณะกรรมการที่เรียกว่า “เค้าสนามหลวง” ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูงและขุนนางผู้ใหญ่จำนวน ๓๒ คน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเจ้าหลวงในการปกครองบ้านเมืองอีกด้วย

การปกครองในระบบเจ้าหลวงที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดเต็มที่ดำเนินสืบต่อมาจนถึงสมัยเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ เมื่อราชสำนักกรุงเทพฯ ได้ปฏิรูปการปกครอง รวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทยขึ้นเป็นมณฑลพายัพ อำนาจของเจ้าหลวงเชียงใหม่ก็เริ่มถูกลิดรอน มีการแต่งตั้งข้าหลวงจากส่วนกลางขึ้นไปปรับปรุงระบบการปกครองและให้คำปรึกษาด้านราชการแก่เจ้าหลวงและในช่วงเวลานี้เองที่มีมิชชั่นนารีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาเป็นจำนวนมากจึงทำให้บทบาทของเจ้าหลวงลดน้อยลง อีกทั้งส่วนกลางยังเข้าไปดำเนินการจัดเก็บภาษีให้เป็นแบบเดียวกับระบบกรุงเทพฯ ตลอดจนแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปช่วยบริหารแทนเจ้านายและขุนนางเชียงใหม่ด้วย

ในช่วงระยะเวลานี้ เจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ก็ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักเชียงใหม่กับกรุงเทพฯมีความสนิทแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.๒๔๔๐ รัฐบาลส่วนกลางก็ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง “เจ้าหลวง” เอาไว้เป็นเจ้าผู้ครองนครในล้านนาต่อไป ในที่สุดเมื่อสยามประเทศจัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นแบบเทศาภิบาล คือรวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าเป็นมณฑล ยกเลิกหัวเมืองประเทศราช เชียงใหม่และหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนาจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทย และเมื่อเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.๒๔๘๒ รัฐบาลกรุงเทพจึงได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง ถือเป็นการสิ้นสุด อำนาจการปกครองของเจ้าผู้ครองนคร หรือ เจ้าหลวง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เอกสารประกอบ : ๗๐๐ ปีศรีเชียงใหม่ กองบรรณาธิการโครงการจังหวัด สำนักพิมพ์สารคดี

หนังสือที่ระลึกในการบูรณะกู่บรรจุอัฐิเจ้าผู้ครองนครลำพูน รวบรวมโดย วรเทวี (ณ ลำพูน) ชลวณิช

บทความโดย : จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ขอบพระคุณ เชียงใหม่นิวส์ Chiang Mai News