วันอังคาร 19 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ที่สุดแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ในรัชกาลที่ 10ทรงพระราชทานโฉนดที่ดินให้สร้าง’สวนสัตว์แห่งใหม่

 

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ต่อประชาชนชาวไทยและชาวองค์การสวนสัตว์ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานโฉนดที่ดิน คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ จำนวน 300 ไร่ ให้องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ และสถานที่ทำงานขององค์การสวนสัตว์

สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา (Dusit Zoo) เป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย อยู่ใกล้กับสนามเสือป่าและพระที่นั่งอนันตสมาคม เดิมเป็นพระราชอุทยานส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในขั้นต้นพระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับ เป็นที่ประพาส ทรงพระเกษมสำราญส่วนพระองค์ และข้าราชบริพารฝ่ายใน และเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิตความเป็นมาสวนสัตว์ดุสิต

สวนสัตว์ดุสิต แต่เดิมเรียก สวนดุสิต หรือ เขาดินวนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศและพบว่า สวนพฤกษชาติเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระราม 5) ด้วยการขุดสระน้ำใหญ่ ประกอบคูคลองระบายน้ำ และถนน แล้วนำดินขึ้นมาเป็นเนินเขาเกาะกลางน้ำเรียกว่า เขาดิน และรอบๆ เขาดินนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกลงพรรณไม้นานาชนิด สร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติ สำหรับส่วนพระองค์ เรียกว่า “วนา” รวมอาณาเขตส่วนนี้ทรงโปรดเรียกว่า “เขาดินวนา” โดยในขั้นต้นพระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับ เป็นที่ประพาสทรงพระเกษมสำราญส่วนพระองค์ และข้าราชบริพารฝ่ายในก่อน ดังนั้น สวนดุสิต หรือ เขาดินวนา จึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุง สวนแห่งนี้ให้กว้างขวาง และดีกว่าที่เป็นอยู่ และเปิดให้ประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจด้วย ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้ว คณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานสวนดุสิต ให้ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และเป็นที่พักผ่อน หย่อนใจของประชาชนในเวลานั้นพระองค์เจ้าทิพอาภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พระราชทานอนุมัติในนามของ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลนครกรุงเทพรับบริเวณสวนดุสิต หรือ เขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสาธารณะได้

จากนั้น เทศบาลนครกรุงเทพ ได้จัดการย้ายกวางดาว และสัตว์ชนิดต่างๆ มาจากสวนอัมพร และ ย้ายสัตว์บางชนิด เช่น จระเข้ ลิง จากสวนสราญรมย์ มาไว้ที่เขาดินวนา และได้ขอให้ทางสำนักพระราชวังส่งช้างหลวงมาให้ประชาชนได้ชมในวันอาทิตย์ และเมื่อปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรียบร้อยแล้วทางเทศบาล นครกรุงเทพ จึงเปิดสวนดุสิตให้ประชาชนเที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจได้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 และให้เรียกสวนดุสิต นี้ว่า สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทยเมื่อมีการก่อตั้งสวนสัตว์ดุสิตขึ้นในปี พ.ศ. 2481 ในเบื้องต้นนั้นอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเทศบาลนครกรุงเทพฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2496 พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยนั้น ได้พิจารณาเห็นว่า

เทศบาลนครกรุงเทพฯได้รับงบประมาณน้อย ไม่เพียงพอที่จะนำไปปรับปรุงสวนสัตว์ดุสิตให้เจริญได้ ประกอบกับ มีภาระหน้าที่มากอยู่แล้ว จึงได้เสนอขอรัฐบาลจัดตั้งเป็นองค์การขึ้น เพื่อให้การบริหารงานทำได้อย่างคล่องตัว จนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็น องค์การสวนสัตว์ โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

จากนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 เทศบาลนครกรุงเทพฯ จึงได้มอบงานสวนสัตว์และทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่องค์การสวนสัตว์ ต่อมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับองค์การสวนสัตว์ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่นั้นมาจึงมีชื่อเต็มว่า องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) สวนสัตว์ดุสิต จึงเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ต่อประชาชนชาวไทยและชาวองค์การสวนสัตว์ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานโฉนดที่ดิน คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ จำนวน 300 ไร่ ให้องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ และสถานที่ทำงานขององค์การสวนสัตว์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เข้ารับพระราชทานโฉนดที่ดินจำนวนดังกล่าว

คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ ได้มีการประชุมถึงแนวทางการสร้างสวนสัตว์ชั้นนำในระดับแนวหน้าของโลก โดยมีพื้นที่ใหญ่กว่าปัจจุบันถึง 3 เท่า และตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้หลากหลายสาขา ในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 โดยมติที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน จำนวน 2 ชุด คือ คณะทำงานจัดสร้างสวนสัตว์ แห่งใหม่ และ คณะทำงานย้ายสวนสัตว์ดุสิตและสำนักงานองค์การสวนสัตว์ เพื่อสำหรับเตรียมแผนรองรับเพื่อการพัฒนาสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยคำนึงถึงความสำคัญในด้านต่างๆ อาทิ การวางโครงสร้างพื้นที่สวนสัตว์แห่งใหม่ การจัด Landscape ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ภายใต้หลักการส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ เป็นสำคัญ เพื่อให้สัตว์นานาชนิดมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงธรรมชาติตามหลักมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม การได้รับพระราชทานที่ดินดังกล่าว ถือเป็นโอกาสอันดีที่องค์การสวนสัตว์ จะได้มีโอกาสพัฒนาสวนสัตว์แห่งใหม่ให้มีความทันสมัย และมีความพร้อมที่จะให้การบริการนักท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้ ในรูปแบบห้องเรียนตามธรรมชาติที่สามารถตอบสนองความต้องการให้กับเด็กและเยาวชนได้อย่างเหมาะสม