วันอังคาร 19 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ทึ่ง! กลยุทธ์ศึก รัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนสถานะชาวสยาม จาก “แพ้” เป็น “ชนะ”

circa 1895: Phra Paramindr Maha Chulalongkorn or Rama V (1853 – 1910), King of Siam from 1868. His son, the Crown Prince, who was educated in Britain, is standing fourth from the right. (Photo by W. & D. Downey/Getty Images)

ภายหลังการต่อสู้อย่างกล้าหาญกับลัทธิจักรวรรดินิยมไม่เป็นผล สยามเริ่มมองเห็นสัจธรรมว่าสงครามครั้งนี้ ไม่อาจเอาชนะด้วยกำลังพลอีกต่อไป การสู้รบแบบใหม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดแทน เพื่อเผชิญศึกทั้ง ๒ ด้านพร้อมๆ กัน ศึกด้านหนึ่งเป็นยุทธวิธีรบทางกายภาพ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการเอาชนะใจศัตรูซึ่งต้องทำคู่กัน นอกเหนือไปกว่านั้น ยังมีความจำเป็นต้องย้ายสมรภูมิเข้าไปในแดนข้าศึก จะได้หาโอกาสคลุกวงใน เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธี และเพื่อแสวงหาพันธมิตรในหมู่ข้าศึกด้วยกันเอง ความเหนือชั้นทางทฤษฎี คือความเป็นต่อทางยุทธศาสตร์ แต่แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงถูกทอดทิ้ง ให้ต้องเผชิญหน้าข้าศึกที่ไม่มีวันชนะพร้อมกับทางเลือกให้ยอมแพ้ หรือยอมสวามิภักดิ์ แต่พระองค์กลับทรงตัดสินพระทัยเลือก “ทางที่สาม” ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การรบของไทยโดยสิ้นเชิงนับแต่นั้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งยังมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บทบาทของพระมหากษัตริย์มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการบริหารภายในประเทศเท่านั้น แต่พระมหากษัตริย์ยังทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศ และการรบทัพจับศึกอีกด้วย

ถึงแม้สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังไม่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่าสยามจะไม่เคยทำสงครามมาก่อน ในทางตรงกันข้าม กองทัพสยามเคยผ่านสมรภูมิในระดับภูมิภาคมาอย่างโชกโชน เช่น ในศึกฮ่อ ศึกเงี้ยว และการศึกกับฝรั่งเศส สมัย ร.ศ. ๑๑๒ และในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีสงครามที่เปลี่ยนไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าบทบาทของกองทัพจะมิได้เป็นเรื่องในทางยุทธวิธีการสู้รบทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องเน้นในเรื่องการรบทางความคิดทฤษฎี เพราะหากไม่มีอาวุธในทางความคิด ก็ยากยิ่งที่จะสามารถเอาชนะได้อย่างเป็นรูปธรรม

มูลเหตุและพื้นฐานของความร้าวฉาน

สยาม-ฝรั่งเศส สมัยรัชกาลที่ ๕

ตอนปลายรัชกาลที่ ๔ รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งใช้นโยบายขยายอำนาจและอาณาเขตแบบก้าวร้าวดึงดัน ภายหลังที่รู้ว่าตนไม่ถนัดทางการทูตและขาดความสันทัดในการสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลสยาม ทำให้ตนด้อยกว่าอังกฤษ นโยบายอันจาบจ้วงนี้บีบบังคับให้สยามสละดินแดนส่วนใหญ่ของเขมรและเกาะอีก ๖ เกาะ รวมเป็นเนื้อที่ถึง ๑๒๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ตามสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) ให้ฝรั่งเศสอย่างน่าเสียดาย

บรรยากาศทางการเมืองระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อเริ่มต้นรัชกาลที่ ๕ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเปราะบาง และไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันโดยปริยาย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) นั้น มหาอำนาจจักรวรรดินิยมกำลังแข่งขันกันขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างเต็มที่ มีผลให้ฝรั่งเศสยึดญวนทั้งประเทศได้ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ (ค.ศ. ๑๘๘๔) อีก ๒ ปีถัดมา อังกฤษก็ยึดพม่าได้ทั้งหมด และถกเถียงกับสยามเกี่ยวกับเขตแดนรัฐฉาน นอกจากนั้นยังแสดงความสนใจในดินแดนภาคใต้ของสยาม ซึ่งประชิดกับชายแดนของอังกฤษในแหลมมลายูอีกด้วย ความผันแปรทางการเมืองนี้ทำให้สยามมีพรมแดนประชิดกับดินแดนของมหาอำนาจทั้งสองทุกทิศทาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกังวลอย่างยิ่ง เพราะตามพรมแดนไม่มีการปักปันกำหนดเขตให้แน่นอน ข้อบกพร่องนี้เป็นสาเหตุชักจูงให้อังกฤษและฝรั่งเศสเกิดความกระหายที่จะรุกล้ำดินแดนสยาม

ปัจจัยที่ทำให้ฝรั่งเศสสนใจดินแดนลาวและเขมรนั้น มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในคือ รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการจะหันเหความสนใจของประชาชนจากความปราชัยของฝรั่งเศสในสงครามกับปรัสเซีย (ค.ศ. ๑๘๗๑) ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น ก็เนื่องจากความสำคัญของชัยภูมิแถบนี้ ทั้งในด้านการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร ฝรั่งเศสเชื่อว่าแม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านลาว จะใช้เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่จีนภาคใต้ได้ดีกว่าด้านอื่นๆ และเขมรก็เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่จะเป็นฐานที่มั่นปากแม่น้ำโขง ปัญหามีอยู่ว่าทั้งลาวและเขมรบังเอิญเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่กับสยาม

ฝ่ายสยามเห็นภัยที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าถ้ายังไม่สามารถกำหนดเส้นเขตแดนของตนจึงว่าจ้างนายแมกคาร์ที (James Macarthy) วิศวกรชาวอังกฤษ เพื่อสำรวจและทำแผนที่บริเวณลาวตอนเหนือ ในเวลาไล่เลี่ยกันฝรั่งเศสก็แต่งตั้งนายปาวี (August Pavie) ขึ้นบ้างเป็นหัวหน้าคณะสำรวจปาวี (Mission Pavie) เพื่อแข่งกับสยามในการเร่งสำรวจเส้นทางระหว่างตังเกี๋ยกับหลวงพระบาง และแสวงหาลู่ทางเพื่อเตรียมปฏิบัติการในแคว้นสิบสองจุไทด้วย เพื่อป้องกันอธิปไตยของไทยในแคว้นสิบสองจุไท พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) จึงเปิดการเจรจากับนายปาวีที่เมืองแถง ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความเห็นขัดแย้งกันตลอดเวลา แม้พระยาสุรศักดิ์มนตรีจะอ้างประวัติศาสตร์และความเป็นจริงที่สยามเคยมีอำนาจปกครองเมืองแถงมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓-๕ ก็ตาม แต่ก็ไร้ผล ฝรั่งเศสยังดื้อดึงที่จะครอบครองแคว้นสิบสองจุไทไว้ต่อไป เนื่องจากสยามต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหารต่อกัน จึงจำต้องยอมสูญเสียแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งมีเนื้อที่ถึง ๘๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศสโดยพฤตินัย ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ (ค.ศ. ๑๘๘๘) ซึ่งนับเป็นการเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕(๔)

ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งตั้งนายปาวีเป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ การแต่งตั้งดังกล่าวสร้างความวิตกให้รัฐบาลสยามมาก เนื่องจากนายปาวีเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับพงศาวดารเขมรและลาว เพราะเป็นคนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเคยเป็นหัวหน้าคณะสำรวจปาวี และเป็นนักจักรวรรดินิยมตัวยงด้วย ต่อมานายปาวียืนยันต่อรัฐบาลสยามว่า ฝรั่งเศสตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่สละสิทธิของญวนเหนือดินแดนเขมร พร้อมกับหันไปใช้นโยบายเรือปืน และใช้กำลังเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับสยาม โดยส่งเรือรบลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลสยามตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) เป็นต้นมา หลังจากนั้นก็ส่งทหารเข้าบุกรุกดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นตามจุดต่างๆ อันเป็นชนวนไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)

สงครามสมัย ร.ศ. ๑๑๒ สร้างความเสียหายทั้ง ๒ ฝ่าย การปะทะครั้งแรกเกิดที่แก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน ริมฝั่งแม่น้ำโขง กลางดึกของวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝ่ายฝรั่งเศสตาย ๑๒ คน ในจำนวนนี้นายทหารติดยศ ชื่อกรอสกูแรง (Grosgurin) ด้วย ส่วนทหารสยามตาย ๖ คน และจะบานปลายไปสู่การที่ฝรั่งเศสเรียกเรือรบเข้ามาอีก ๒ ลำ ในเย็นวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ การปะทะครั้งหลัง ทหารฝรั่งเศสตาย ๓ คน บาดเจ็บ ๓ คน ทหารสยามตาย ๘ คน บาดเจ็บ ๔๑ คน(๒)

แต่การสู้รบก็ยุติลงโดยกะทันหัน ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ฝ่ายสยามเมื่อรวบรวมสติได้จึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เสียใหม่ ด้วยกระบวนการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหามากกว่าการถลำตัวลึกลงไปสู่สงครามอันยืดเยื้อ ที่สำคัญคือสยามเริ่มเรียนรู้สงครามจากสภาพความเป็นจริงของสงคราม

รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้ตำราพิชัยสงครามของซุนวูจริงหรือ?

ภายหลังการยิงปืนใหญ่ปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาสงบลง สยามเริ่มเห็นแล้วว่าจะไม่สามารถเอาชนะฝรั่งเศสด้วยกำลังพลอีกต่อไป นับแต่นี้เราจะได้เห็นทฤษฎีรบแบบใหม่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ หนึ่งในทฤษฎีนั้นคือยุทธวิธีแบบจีนของซุนวู ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีบันทึกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ตำรานี้แน่นอนหรือไม่? บทวิเคราะห์ต่อไปนี้ชี้ว่ามันเคยถูกใช้จริงๆ แม้ใน ร.ศ. ๑๑๒

ตามบทที่ ๘ ของตำรานี้ ซึ่งคุณเสถียร วีรกุล แปลเป็นไทย กล่าวถึง “นานาวิการ” ซึ่งแปลว่า ความเปลี่ยนแปลงบิดเบือนต่างๆ อันมิได้เป็นไปตามที่ควรเป็น “ขุนพลผู้ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในหลักนานาวิการ แม้จะรู้ลักษณะภูมิประเทศดีก็ไม่อำนวยผลประโยชน์อย่างใดเลยในการบัญชาทัพ หากไม่รู้วิธีการสู้รบต่อนานาวิการแล้วไซร้ แม้จะซาบซึ้งถึงความได้เปรียบแห่งภูมิประเทศ ก็ไม่อาจใช้กำลังพลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นขุนพลผู้แจ้งในคุณานุคุณแห่งนานาวิการ จึงนับได้ว่า รู้การศึก”

ด้วยเหตุนี้ ความใคร่ครวญของผู้ทรงปัญญา จึงต้องทบทวนอยู่ระหว่างผลได้และผลเสีย

ซุนวูย้ำว่า “ผู้นำทัพ” ที่จะแพ้การยุทธ์นั้น มีจุดอันตรายอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. ผู้ที่คิดแต่จะสู้ฝ่ายเดียว ก็ถูกหมายเอาชีวิตได้

๒. ผู้ที่คอยแต่จะรักษาตัวรอด อาจถูกจับกุมเป็นเชลย

๓. ผู้ที่หุนหันพลันแล่น อาจถูกยั่วเย้าให้หลงกล

๔. ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้

๕. ผู้นำทัพที่รักขุนทหารและราษฎร มักจะยุ่งยากใจ

จากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เราสามารถเข้าใจโดยเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ กับพระเจ้าอยู่หัวของเรา เป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการนำตำราของซุนวูมาใช้ กล่าวคือ

๑. ผู้ที่คิดแต่จะสู้ฝ่ายเดียว ก็ถูกหมายเอาชีวิตได้ : เมื่อเรือปืนแองกองสตองค์ (L”Inconstance) และโคเมท (Comet) ผ่านสันดอนที่ปากน้ำเข้ามา มันก็แล่นตรงเข้ามากรุงเทพฯ เลย โดยมุ่งหมายที่จะรบต่อไป และถึงแม้จะมีการตั้งรับบนสองฝั่งแม่น้ำ แต่ฝ่ายสยามก็ยุติการยิงโดยสิ้นเชิง โดยหันมากรองสถานการณ์ใหม่ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป? กองทัพสยามมิได้รับคำสั่งให้สู้ตาย ถึงแม้จะสามารถทำได้ และฝ่ายสยามซึ่งมีกำลังมากกว่าย่อมจะสามารถจมเรือฝรั่งเศสได้ แต่การสงครามก็จะขยายวงกว้างเป็นเงาตามตัว

๒. ผู้ที่คอยแต่จะรักษาตัวรอด อาจถูกจับกุมเป็นเชลย : ไม่ปรากฏว่ามีทหารสยามหนีทัพเลย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเรียกประชุมเสนาบดี เพื่อลำดับเหตุการณ์และหาวิธีแก้ไข ท่ามกลางข่าวลือที่ทหารฝรั่งเศสกุขึ้นว่า พระเจ้าแผ่นดินเตรียมที่จะหลบหนีเอาตัวรอด พร้อมกับทรัพย์สมบัติจำนวนมากของพระองค์

๓. ผู้ที่หุนหันพลันแล่นอาจถูกยั่วเย้าให้หลงกล : ภายหลังการสู้รบไม่เป็นผล มีพระราชดำรัสสั่งให้ยุติการรบทันที ถึงการยุทธ์จะมีเปอร์เซ็นต์ชนะมากกว่าแพ้ แต่ความผลีผลามกลับจะให้ผลตรงกันข้าม ดังนั้นเมื่อนายทหารเดนมาร์กผู้บัญชาการรบ คือพระยาชลยุทธโยธิน (Captain Andre Du Plessis De Richelieu) เกือบจะหลงกลศึก โดยกราบบังคับทูลว่า สยามจะสามารถเผด็จศึกเร็วขึ้น ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งการให้ใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งเข้าชนเรือข้าศึกซึ่งจอดอยู่เฉยๆ ก็จะสำเร็จได้โดยง่าย แต่ก็ทรงปฏิเสธ เพราะไม่มีพระราชประสงค์ให้การรบทางกายภาพดำเนินต่อไป อันเป็นหลุมพรางของข้าศึก

๔. ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้ : ภายหลังความพ่ายแพ้ในยกแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงขัดขืนดื้อดึงว่าฝ่ายสยามเป็นฝ่ายถูก และควรได้รับความเป็นธรรมจากการที่เรามิได้เป็นผู้เริ่มสงคราม เราจึงน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่มิได้ต้องการสงคราม แต่ถูกบีบคั้นให้เข้าสู่สงคราม การโต้แย้งใดๆ ย่อมฟังไม่ขึ้นในสถานการณ์เช่นนั้น การรบได้เปิดฉากขึ้นแล้วทั้ง ๒ ฝ่าย สิ่งที่ต้องกระทำอย่างรวดเร็วคือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แทนข้ออ้างเรื่องความรักสงบ

๕. ผู้นำทัพที่รักขุนทหารและราษฎร มักจะยุ่งยากใจ : การปกป้องข้าราชสำนักย่อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำของประมุขแห่งราชสำนักนั้น แต่ในฐานะจอมทัพที่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงดำรงอยู่เช่นกัน มิได้ทำให้ทรงลำเอียงในจิตใจแต่อย่างใด มีหลักฐานเขียนไว้ว่า การยอมความของเสนาบดีว่าการต่างประเทศ (กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ) ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น เป็นการลงพระนามไปโดยมิได้รับพระราชานุมัติ และเป็นไปได้ที่จะทำการลงไปโดยขัดต่อพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งย่อมจะเป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัยก็ตามที แต่ก็มิได้ทรงใช้อารมณ์ เมื่อตั้งพระสติได้ จึงทรงรับเอาปัญหาทั้งหมด มาจัดการแก้ไขด้วยพระองค์เสียเอง ทั้งยังปรากฏอีกว่า ในการดำเนินการเจรจากับผู้นำประเทศระหว่างเสด็จฯ สู่ทวีปยุโรปนั้น มิได้มีเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ติดตามไปทำหน้าที่ด้วยเลย

ซุนวูเขียนต่อไปว่า “การใช้กำลังทหาร จึงเหมือนหนึ่งธรรมชาติของน้ำ น้ำย่อมจัดกระแส ไหลบ่าไปตามลักษณะภูมิประเทศฉันใด การยุทธ์ก็ต้องเอาชนะกันตามสภาวะข้าศึกฉันนั้น การยุทธ์จึง “ไม่มี” หลักเกณฑ์ตายตัว เฉกเช่นน้ำ ซึ่งหามีรูปลักษณะอันแน่นอนไม่ จึงผู้เอาชนะด้วยปฏิบัติการอันเหมาะสมกับความผันแปรของข้าศึกนั้น เขาคือเทพเจ้าผู้ทรงอิทธิฤทธิ์”

นับจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นต้นไปจนตลอดรัชกาลที่ ๕ เราจะไม่พบว่าสยามใช้กำลังทหารในการรบตามรูปแบบกองทัพที่มีหลักเกณฑ์ตายตัวอีกเลย ยุทธศาสตร์การรบต่อจากนี้ ล้วนเป็นทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดทั้งสิ้น


ความคาดหวังจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ในรัชกาลที่ ๕

สงครามย่อยๆ ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ช่วง ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มตระหนักว่า คงจะเป็นการยากที่สยามจะหวังพึ่งมหาอำนาจยุโรปเช่นอังกฤษ ที่เราเคยเชื่อว่าจะพึ่งได้ เพราะอังกฤษเองก็ยังรุกรานพม่าต่อจากอินเดีย ในขณะที่ฝรั่งเศสก็แข่งขันที่จะฮุบเขมรต่อจากญวนเช่นกัน ทรงเล็งเห็นอีกว่า หากสองมหาอำนาจนี้รอมชอมกันได้เกี่ยวกับเขตแดนของตน ความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตยของสยามก็จะได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย พระองค์จึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งส่งเสริมให้มหาอำนาจอื่นๆ เช่น รัสเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี เข้ามามีอิทธิพลและผลประโยชน์ในสยามพร้อมๆ กัน เพื่อคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส เพราะทั้ง ๓ ประเทศหลังนี้ก็มีความขัดแย้งอยู่แล้วทั้งกับอังกฤษและฝรั่งเศสในภูมิภาคต่างๆ(๔)

ความหวาดระแวงนี้เกิดขึ้นจริงๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ (ค.ศ. ๑๘๙๖) เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสปรองดองกันได้และอุปโลกน์ให้สยามเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณานิคมของกันและกันโดยมิได้ปรึกษากับรัฐบาลสยามเลย ความตกลงครั้งนี้เรียก Anglo-French-Declaration 1896

โครงการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงอุบัติขึ้น โดยมีประเด็นทางการเมืองเป็นแรงกระตุ้นที่มีน้ำหนักที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จไปกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่า คือเดนมาร์กและอิตาลี ซึ่งเป็นมหาอำนาจขนาดกลาง เพื่อกรองสถานการณ์ และเพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากพันธมิตรกลุ่มใหม่ คือรัสเซียและเยอรมนี ในเวลาเดียวกันก็เพื่อหาโอกาสเจรจาแก้ไขความเสียเปรียบในสนธิสัญญา ร.ศ. ๑๑๒ กับทางฝรั่งเศส ทรงเลือกรัสเซียเป็นเป้าหมายหลัก และทรง “คาดหวัง” อย่างมากว่าพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ ผู้ที่ทรงรู้จักคุ้นเคยมาก่อน จะทรงช่วยเหลือให้ได้เจรจากับผู้นำฝรั่งเศส และถ้าเป็นไปได้จะได้ขอร้องให้พระเจ้าซาร์เป็นคนกลาง ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสเสียเลย(๓)

การมาครั้งนี้ทำให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ทางการเมืองครั้งสำคัญ จึงมีความหมายมากกว่าการเยี่ยมเยือนระดับธรรมดา และถ้าเปิดเผยได้มากกว่านี้ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการเดินทางไปหาแนวทางเพื่อจัดทำ “ปฏิญญาสยาม” เสียด้วยซ้ำไป นโยบายเชิงรุกในครั้งนี้ หากพิจารณาดีๆ เปรียบเสมือนการตัดไม้ข่มนาม แต่ที่จริงมันคือยุทธวิธีรบรูปแบบใหม่ของการช่วงชิงพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะทางยุทธศาสตร์ จากการที่ตกเป็นรองมาอยู่ในฐานะที่เป็นต่อ โดยช่วงชิงการประชาสัมพันธ์ เป็นแนวทางในการทำศึกแทน

สำหรับพระองค์แล้ว ความพยายามอย่างเป็นขั้นตอนก็คือความได้เปรียบทางการเมือง เป็นการเคลื่อนไหวตามเงื่อนไขความสุกงอมเชิงนโยบายที่ดำเนินมาอย่างสุขุมและมั่นใจในทางยุทธศาสตร์แล้วก็คือ การทำสงครามจิตวิทยามวลชนรูปแบบหนึ่ง ทรงเล็งเห็นว่ารูปแบบการเมืองอันเป็นเผด็จการสไตล์จักรวรรดินิยม แม้จะเคยอำนวยประโยชน์ในยุคหนึ่ง บัดนี้กำลังกลายเป็นเครื่องรั้งดึงพัฒนาการอันเป็นรูปการใหม่ของการดำเนินนโยบายตามระบบสากล จริงอยู่ว่าในเวลานี้บรรยากาศและเงื่อนไข จะบีบคั้นให้แต่ละฝ่ายเข้าไปสู่มุมอับ จนต้องเผชิญหน้ากันในระดับผู้นำดังเช่นในครั้งนี้ แต่ทุกบรรยากาศและทุกเงื่อนไขก็กำลังได้รับการเยียวยาเอาใจใส่ในระดับหนึ่ง จนเกิดการคลี่คลายตัวของมันเองลงสู่อีกระดับหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้กระแสการเมืองที่กำลังร้อนแรงพลันลดอุณหภูมิลงโดยอัตโนมัติ ด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นมิตร และโดยปราศจากการตอบโต้ใดๆ พระองค์ทรงคาดหวังว่า ใครและกลุ่มใดที่มีความเข้าใจในเงื่อนไขนี้มากที่สุด ใครและกลุ่มใดที่สามารถเข้าไปยึดกุมกระบวนการเคลื่อนไหวอย่างเป็นฝ่ายกระทำ นั่นหมายถึง สามารถเข้าไปเป็นปัจจัยชี้ขาด และอาจช่วงชิงชัยชนะได้ในสมรภูมินี้(๑)

“นโยบายซ้อนพันธมิตร” สมัยรัชกาลที่ ๕

ถอดแบบมาจากระบบบิสมาร์กจริงหรือ?

หากพิจารณาบริบทของนโยบายต่างประเทศสมัยใหม่ในรัชกาลที่ ๕ แล้วก็จะมองเห็นไม่ยากเลยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างระบบพันธมิตรที่อาจป้องกันสงครามได้ ระบบนี้มีความคล้ายคลึงกับระบบของบิสมาร์กมาก

บิสมาร์ก (Otto Von Bismarck) เป็นอัครมหาเสนาบดีของประเทศปรัสเซีย ผู้สามารถกุมอำนาจการบริหารยุโรปไว้ได้ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๕๑-๙๐ อันเป็นแม่แบบของการวางระบบพันธมิตรในทวีปยุโรปสมัยใหม่ ความสำเร็จของบิสมาร์กมิได้ทำให้ปรัสเซียและรัฐบริวารรวมตัวกันได้จนเป็นประเทศแล้วตั้งชื่อใหม่ว่าเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังทำให้พันธมิตรของเยอรมนีมีสภาพเป็นเมืองหน้าด่านที่คอยปกป้องภัยพิบัติต่างๆ ก่อนที่จะมาถึงเยอรมนีอีกด้วย โครงสร้างของเครือข่ายนี้ซับซ้อนมาก แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจ

การดำเนินนโยบายทางการทูตแบบทับซ้อนของบิสมาร์ก จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์และความมั่นคงของยุโรปให้เป็นไปตามที่เขากำหนด ภายหลังชัยชนะของบิสมาร์กในสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ค.ศ. ๑๘๗๑ อิทธิพลของฝรั่งเศสก็แทบจะหมดไปในสายตาชาวยุโรป บิสมาร์กต้องการสร้างระบบพันธมิตรขึ้นมาใหม่ โดยมีเยอรมนีเป็นจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์นั้น ในปีเดียวกันนั้น บิสมาร์กจึงจัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund) ขึ้น โดยมีเยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย-ฮังการี เป็นแกนนำเพื่อบริหารยุโรปแทนที่ฝรั่งเศส แต่ทั้งๆ ที่สถาปนาตนเองเป็นโต้โผใหญ่ในการนี้ บิสมาร์กก็ยังให้การสนับสนุนอย่างลับๆ กับอังกฤษ ซึ่งเป็นหอกข้างแคร่ของเยอรมนีเอง เขาวางหมากให้อิทธิพลของเยอรมนีแทรกซึมอยู่อย่างเงียบๆ โดยจัดให้ออสเตรีย-ฮังการีและอิตาลีทำสัญญาผูกมัดอังกฤษไว้ตามข้อตกลงฉบับใหม่เรียกข้อตกลงเมดิเตอร์เรเนียน (Mediteranean Agreement) ข้อตกลงแบบเหยียบเรือสองแคมนี้บิสมาร์กบังคับให้อังกฤษกับพันธมิตรของเยอรมนีรักษาสถานะเดิมของกันและกันต่อไปในคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน และจะร่วมมือกันต่อต้านการขยายอำนาจของรัสเซียในดินแดนแถบนี้ด้วย ทั้งๆ ที่เยอรมนียังรักษาสัญญาประกันพันธไมตรีให้รัสเซียขยายอิทธิพลอยู่ในบอลข่านได้ ระบบพันธมิตรอันซับซ้อนที่มีบิสมาร์กเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังดังกล่าวนี้ ได้สร้างความยิ่งใหญ่และความมั่นคงให้แก่จักรวรรดิเยอรมนี และทำให้จักรวรรดิเยอรมนีอยู่รอดปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสมดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกันเอง และป้องกันมิให้ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจลุกลามกลายเป็นสงครามได้(๑)

ในทำนองเดียวกัน นโยบายซ้อนพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายที่จะยับยั้งสงครามได้สร้างความสับสนและลำบากใจในการวางตัวของฝ่ายตรงข้ามไม่น้อย กล่าวคือ ในขณะที่ทรงผูกมิตรอย่างเหนียวแน่นไว้กับรัสเซียทางหนึ่ง ทั้งนี้เพราะรัสเซียกำลังเป็นพันธมิตรสำคัญของฝรั่งเศส พระองค์ก็ทรงทาบทามขอการสนับสนุนจากเยอรมนีอีกทางหนึ่ง ก็เพราะเยอรมนีเป็นคู่แข่งของรัสเซีย และเป็นศัตรูของฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน การวางหมากให้เกิดขัดกันทางอิทธิพล สร้างความลำบากใจในการกระจายอำนาจให้อังกฤษและฝรั่งเศสที่ต้องมาขับเคี่ยวกันเองกับ “ทฤษฎีเกม” ของสยาม เกมหนึ่งนั้น คือได้หลักประกันเอกราชจากการทำให้ผลประโยชน์ของคู่แข่งคืออังกฤษและฝรั่งเศสขัดกัน อีกเกมหนึ่งคืออำนวยผลประโยชน์ทางการค้าให้แก่มหาอำนาจอื่นๆ เพื่อสามารถพึ่งพาประเทศเหล่านั้นเมื่อถึงคราวจำเป็น และนำหลักประกันของชาติเหล่านั้น ไปขัดกับหลักประกันซึ่งได้มาอย่างแสนยากของอังกฤษและฝรั่งเศส การคุกคามสวัสดิภาพทางการเมืองในสยาม จึงมิใช่เรื่องง่ายเหมือนเคย สำหรับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส

การว่าจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา และเข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ของรัฐบาลสยามนั้น ล้วนเป็นกลไกที่ทำให้เครื่องจักรใหญ่ คือ พระบรมราชวิเทโศบายใหม่ในการถ่วงดุลอำนาจ เดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ กุศโลบายของสยามก็คือ เลือกเอาชนชาติต่างๆ จากหลายชาติมาร่วมดำเนินนโยบายของพระองค์ด้วย โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความสำคัญ ก็จะทรงคัดเลือกอย่างระมัดระวัง เช่น นโยบายที่จะไม่จ้างชาวอังกฤษ หรือฝรั่งเศสเข้ามารับราชการทางฝ่ายทหาร แต่จะอาศัยชาวยุโรปประเทศเล็กๆ เช่น เดนมาร์กและอิตาลีแทน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะคุกคามสยาม หรือในกรณีที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนั้น ก็ได้ตั้งเป็นเสมือนหนึ่งนโยบายภายในว่า จะอาศัยบุคคลจากประเทศที่เป็นกลางเท่านั้น เช่น เบลเยียมและอเมริกา แต่ในกรณีของเยอรมนีสยามกลับให้อภิสิทธิ์พิเศษในการว่าจ้างชาวเยอรมันเข้ามาสร้างระบบเดินรถไฟ และแทบจะผูกขาดอยู่กับชาวเยอรมันเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ทำให้เห็นความลำเอียงในทางปฏิบัติอย่างชัดเจนก็เพื่อสร้างความกังวลให้ฝรั่งเศสเป็นทวีคูณ

การเสด็จไปเยี่ยมบิสมาร์กถึงคฤหาสน์นอกเมือง ทั้งๆ ที่บิสมาร์กเกษียณอายุและออกจากราชการแล้ว รัชกาลที่ ๕ ยังทรงให้ความสำคัญแก่เขาเทียมเท่าผู้นำคนอื่นๆ ชี้เบาะแสความสอดคล้องเชิงนโยบายและความนิยมเยอรมันที่ไม่อาจปกปิดไว้ได้ เราสามารถเห็นวิธีการทูตแบบยอกย้อนของบิสมาร์ก ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นแผนแม่บทของนโยบาย “การทูตนำการทหาร” ของสยามตลอดเวลาในรัชกาลนี้(๑)

มหาอำนาจระดับกลาง และระบบการเมืองอันยืดหยุ่น

ของมหาอำนาจระดับกลาง

นอกจากความเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยกับมหาอำนาจขนาดใหญ่อันเป็นนโยบายหลักแล้ว ยังมีวาระซ่อนเร้นที่สยามก็ติดต่อกับมหาอำนาจขนาดกลางไว้ เป็นทางเลือกอย่างไม่ออกนอกหน้าอีกด้วย ประเทศเล็กๆ ที่ดูไม่มีพิษสงจากภายนอก เช่น เดนมาร์ก อิตาลี และเบลเยียม กลายเป็นความสำเร็จเบื้องต้นข้างหลังนโยบายต่างประเทศที่มีกล่าวถึงน้อยมากในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

โดยเฉพาะ “อิตาลี” นั้น ถึงแม้จะมีผู้นำที่เก็บเนื้อเก็บตัวพอสมควรในหมู่ราชสำนักยุโรปด้วยกัน แต่ชาวอิตาเลียนกลับอยู่แถวหน้าในกิจการด้านการทหาร และการโยธาของสยามประเทศ จึงเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่ร่วมหัวจมท้ายอยู่กับสยามอย่างสนิทใจ อิตาลีมิได้อยู่ในสายตาของมหาอำนาจขนาดใหญ่ เพราะอิตาลีไม่เคยแสดงตัวว่าแข่งขันทางด้านแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจดังภาพพจน์ของชาวยุโรปอื่นๆ จึงสามารถดำเนินนโยบายสายกลางอย่างเสมอต้นเสมอปลายในสยามตลอดมา

ความเป็นกลางของอิตาลี และนโยบายที่ยืดหยุ่นตลอดเวลาของประเทศนี้ เป็นปัจจัยภายนอกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการที่อิตาลีมีเครือข่ายราชวงศ์อันเหนียวแน่น และเป็นที่ยอมรับนับถือของราชสำนักยุโรปด้วยกัน ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาอยู่ที่นี่ ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นศูนย์กลางของคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นกลางและเป็นมิตรไปด้วย ถึงแม้จุดประสงค์อันซ่อนเร้นจะถูกปิดบังไว้อย่างเงียบๆ ก็ตาม

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น และเป็นปัจจัยภายใน ได้แก่ทฤษฎีซ้อนนโยบายต่างประเทศที่ใช้ได้ผลของประเทศนี้ กล่าวคือถึงแม้อิตาลีจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมหาอำนาจไตรภาคี (Triple Alliance) ซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำหลัก เพื่อที่จะสร้าง “สถานการณ์แบ่งฝ่าย” ให้เกิดขึ้นก็ตาม แต่อิตาลีก็มิได้ล้มเลิกนโยบายเดิมของตน ที่ต้องการแก้แค้นฝรั่งเศสซึ่งแย่งแคว้นตูนิเซียไป (ปัจจุบันคือประเทศตูนิเซีย-ผู้เขียน) เป็นเหตุให้อิตาลีหมดอำนาจลงในทวีปแอฟริกา แต่ภายหลังที่เข้าเป็นพวกในกลุ่มพันธมิตรไตรภาคีที่มีเยอรมนีเป็นหัวหอกแล้ว อิตาลีกลับมิได้ทำตัวสนับสนุนหลักการของกลุ่มอย่างเต็มใจนัก จนดูเหมือนเป็นสมาชิกแต่เพียงในนาม ก็เพราะยังต้องการรักษาความเป็นกลางไว้ต่อไป มากกว่าการใช้มาตรการตอบโต้ฝรั่งเศสอย่างจริงจัง ตรงนี้คือลักษณะพิเศษของการเมืองในอิตาลี(๑)

ทว่าความยืดหยุ่นของอิตาลี ทำให้กลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีไม่ค่อยสามัคคีกันเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะนโยบายหลักเป็นแต่เพียงต้องการล้อมกรอบให้ฝรั่งเศสอยู่อย่างโดดเดี่ยวและหมดอำนาจเท่านั้น ความพยายามดังกล่าวทำให้ต้องทำตัวเหมือนเสือกระดาษ ที่คอยข่มขู่กลุ่มอื่นๆ ให้ตกใจเล่นอยู่เสมอ นอกจากกลุ่มไตรภาคีจะเล่นเกมการเมืองแบบลับๆ ล่อๆ แล้ว ยังคอยกีดกันมิให้ฝ่ายใดรวมตัวกันได้อีก นั่นหมายถึง การทำสงครามจิตวิทยาอยู่ร่ำไป

หนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ฉบับวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ วาดภาพล้อผู้นำกลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีทั้งสาม โดยสร้างอนุสาวรีย์ล้อเลียนเป็นรูปพระเจ้าแผ่นดินเยอรมัน ออสเตรีย และอิตาลี ให้มีจมูกงอกยาวเหมือนตัวการ์ตูนพิน้อคคิโอ ซึ่งหมายถึงพวกหน้าไว้หลังหลอกนั่นเอง แต่ถึงแม้กลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีจะถูกมองอย่างดูถูกเหยียดหยามเหมือนตัวตลกอยู่เสมอ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงผูกมิตรอยู่กับกลุ่มนี้ด้วยความศรัทธาในความซื่อตรง จากการที่กลุ่มมีนโยบายเปิดเผยและเป็นกลาง โดยเฉพาะแกนนำของกลุ่มคือพระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ผู้เป็นนักสู้เพื่ออุดมการณ์และไม่เคยกลัวใคร ทรงเสนอตัวเองเป็นที่พึ่งแก่สยามในยามยากอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีเป็นฝรั่งเศส ซึ่งเยอรมนีไม่ต้องการให้กลับมามีอำนาจอีก(๖)

และถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ในหมู่ชาวยุโรปด้วยกัน แต่อิตาลีก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ด้วยเหตุนี้ คนอิตาเลียนจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้ารับราชการ ตามนโยบายถ่วงดุลอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่แรก ชาวอิตาเลียนได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ในระดับเดียวกับชาวเดนมาร์ก คือให้ดูแลด้านความมั่นคง (การทหาร) ควบคู่ไปกับงานด้านพัฒนาประเทศในยามสงบ (โยธาและศิลปากร) ในขณะที่ชาติมหาอำนาจขนาดใหญ่ไม่เคยได้รับพระกรุณา

นโยบายเปิดประเทศและเป็นกลางของอิตาลีช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทำให้มีนายทหารอิตาเลียนเดินทางไปแสวงหาโชคลาภตามส่วนต่างๆ ของโลก ในจำนวนนี้มี ๒ คนที่เดินทางเข้ามาในสยาม คือนายเยรินี (G.E. Gerini-ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นพระสารสาสน์พลขันธ์) และนายฟารันโด (Giuseppe Ferrando) สมัครขอเข้ารับราชการในกรมทหารหน้า (ต่อมาเป็นกระทรวงกลาโหม) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ได้จ้างไว้เป็นครูฝึกทหารหน้าตามแบบยุโรปสมัยใหม่(๕)

นายเยรินีได้สร้างชื่อเสียงให้ตนเองและประเทศอิตาลีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเฉพาะความรู้ความสามารถด้านการทหาร ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้นายเยรินีพัฒนากิจการกลาโหมตามแบบยุโรป ถึงขนาดได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษา ว่ากันว่านายเยรินีเป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่เปิดเผยความตื้นลึกหนาบางด้านกำลังพล และกิจการภายในของมหาอำนาจยุโรปต่อพระเจ้าอยู่หัว บุคลากรจากประเทศมหาอำนาจระดับกลาง ที่ไม่มีเป้าหมายด้านอาณานิคม จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้สยามพัฒนาประเทศได้อย่างมีอิสระและเป็นเอกภาพทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ตามเงื่อนไขใหม่ๆ ทางการเมืองที่มหาอำนาจตะวันตกเร่งรัดเข้ามา(๕)


สื่อมวลชนกับการสร้างสถานการณ์ :

อาวุธชนิดใหม่ในการรบของรัชกาลที่ ๕

การสื่อสารถือเป็นหัวใจของการทำยุทธศาสตร์มวลชน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในสนามรบ การปลุกข่าว การโฆษณาชวนเชื่อ และการปล่อยข่าว เป็นพลังเงียบที่ทรงอานุภาพ สามารถสร้างความสูญเสียเชิงสถานการณ์ให้ฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดเวลา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับยุทธวิธี โดยหันมาใช้การประชาสัมพันธ์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในระยะยาว การดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวเป็นการรบโดยไม่ต้องใช้กำลัง แต่ใช้มันสมอง จะเรียกว่าการสร้างภาพคงไม่ผิดนัก แต่การสร้างภาพได้ถูกเวลาและสถานที่ มีผลให้ประเทศเล็กๆ เช่นสยามถูกมองว่ามีอิทธิพลแฝงในหมู่ผู้นำชาติมหาอำนาจยุโรปโดยไม่รู้ตัว

ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ในรัชกาลที่ ๕ ภาพพระเจ้าแผ่นดินสยาม ๔ ภาพ ถูกถ่ายขึ้นอย่างจงใจและถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ตามสื่อหนังสือพิมพ์ชั้นนำของยุโรป ภาพทั้งหมดถูกวิจารณ์ว่ามีนัยยะทางการเมือง แต่ที่น่าประหลาดใจคือหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลฝ่ายศัตรูกลับเป็นตัวกลางที่โฆษณาภาพออกไป ย่อมพิสูจน์ความจริงว่าอาวุธชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพถูกนำมาใช้จริงๆ และไม่สามารถปิดบังไว้ได้ในสงครามช่วงชิงพื้นที่ระลอกนี้(๘)

ภาพที่ ๑ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒

ถ่าย ณ วังปีเตอร์ฮอฟ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ เบื้องหลังภาพนี้เกิดจากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะรับเสด็จรัชกาลที่ ๕ เพราะไม่ต้องการที่จะประนีประนอมด้วย พระเจ้าซาร์ทรงเข้าแทรกแซง โดยขอร้องให้ฝรั่งเศสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะมิตรประเทศของรัสเซีย และพระสหายของพระเจ้าซาร์ มีผลทำให้ฝรั่งเศสยอมตามคำขอร้องโดยดุษณี

ภาพที่ ๒ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ถ่าย ณ ปะรำพิธีชมการซ้อมรบที่ทุ่งแซง กองแต็ง นอกกรุงปารีส เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๘ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ แสดงความสมานฉันท์ของผู้นำที่เคยเป็นอริต่อกัน มีผลทำให้ความตึงเครียดซึ่งเป็นผลมาจากกรณีพิพาทของทั้ง ๒ ประเทศ ผ่อนคลายลงในสายตาคนทั่วไป

ภาพที่ ๓ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับอดีตอัครมหาเสนาบดีเยอรมัน

ถ่าย ณ ทำเนียบที่พำนักของบิสมาร์ก ในเยอรมนี เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ มีผลทำให้สถานการณ์แบ่งฝ่ายร้อนระอุขึ้นในทันที ทั้งนี้เพราะเยอรมนีเป็นศัตรูหมายเลข ๑ ของฝรั่งเศส การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพบบิสมาร์กย่อมหมายถึงการผนึกกำลังกับเยอรมนีเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส

ภาพที่ ๔ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ทรงแนะนำให้บิสมาร์กรู้จักคณะผู้ติดตามพระองค์

ถ่ายหน้าทำเนียบที่พำนักของบิสมาร์กในเยอรมนี เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRAZIONE ITALIANA ของอิตาลี ฉบับวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๗ มีผลทำให้บรรยากาศแบ่งข้างผ่อนคลายลง ทั้งนี้เพราะอิตาลีเป็นภาคีสำคัญในกลุ่มไตรภาคีพันธมิตร (Triple Alliance) ซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำหลัก การวิเคราะห์ของชาวอิตาเลียนจึงทำได้อย่างเสรี และมีแนวโน้มว่าอิตาลีกำลังส่งเสริมสยามอีกต่างหาก ภาพนี้จึงชูประเด็นนโยบายซ้อนพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน มีผลให้สถานะของสยามดีขึ้นในสายตาชาวยุโรปกว่าครึ่งทวีปที่ไม่ชอบฝรั่งเศส

สรุป : สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็คือการสู้รบและความสูญเสีย ที่เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ แม้ในระหว่างที่เหตุการณ์ดำเนินอยู่ ยังมีหลักฐานให้เชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเอาตำราพิชัยสงครามของซุนวูมาใช้ ช่วยให้การสู้รบยุติลงโดยเร็ว

ต่อมาสยามเริ่มมองเห็นสัจธรรมว่ายุทธวิธีรบแบบโบราณเป็นเรื่องล้าสมัย และไม่ทันต่อความล้ำหน้าของกองทัพจากตะวันตกอีกต่อไป การสู้รบแบบใหม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดแทน จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จไปยุโรปเพื่อดำเนินยุทธศาสตร์กันชนด้วยพระองค์เองอันเป็นทางเลือกที่ ๓ ซึ่งอาจยุติสงครามได้ ทรงสร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยการวางการทูตนำการทหาร ซึ่งจะกลายเป็นยุทธวิธีที่เหมาะสมที่สุดของการทำสงครามยุคใหม่ ทั้งยังทรงนำอาวุธชนิดใหม่ คือการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมาใช้อีกด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗)

ความแข็งแกร่งตามนโยบายซ้อนพันธมิตรของเยอรมนี และความยืดหยุ่นของนโยบายการเมืองในอิตาลี นับเป็นทฤษฎีใหม่ที่สยามทดลองใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อมวลชนชั้นนำของยุโรปประจำปีนั้นตีแผ่ความสำเร็จเชิงนโยบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเกรียวกราว หลักฐานในหน้าหนังสือพิมพ์จากประเทศฝ่ายศัตรูวิเคราะห์แบบฝืนใจว่า บางที “สยาม” จะเป็น “ฝ่ายชนะ” ในยกนี้

เอกสารประกอบการค้นคว้า

(๑) ไกรฤกษ์ นานา. เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ มติชน, ๒๕๔๙.

(๒) แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี. กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ. ๑๑๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๙.

(๓) เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒.

(๔) _______. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙.

(๕) เยรินีกับโมเสดแห่งอัจฉริยภาพ, กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘.

(๖) หนังสือพิมพ์ Le Petit Journal. Paris, 25 October 1896.

(๗) หนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRAZIONE ITALIANA. Rome, 23 May 1897.

(๘) หนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRAZIONE ITALIANA. Rome, 17 October 1897.