วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

นายกรัฐมนตรียืนยันไม่ได้ปกป้องพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียืนยันไม่ได้ปกป้อง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีเรื่องนาฬิกาที่ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. นายกฯประยุทธ์ขอให้แยกแยะเรื่องไหนส่วนตัวซึงก็ต้องแก้ไปตามกระบวนการตรวจสอบ หากผิดก็คือผิด แต่กล่าวสั้นๆว่ายังไม่มีการลาออกและไม่ใช้มาตรา 44 พักงาน ขณะที่ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพ ยื่นหนังสือขอให้อธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีของนาฬิกาทั้ง 25 เรือน ตามดำริของนายกฯให้เป็นไปตามกลไกของกฏหมาย

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 เวลา 13.40 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงความคืบหน้าปัญหาเรื่องนาฬิกาของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ขอให้ฟังจากทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งวันนี้จะมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่าการดำเนินการไปถึงไหน อย่างไร ทั้งนี้ ขอแยกให้ออกว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเรื่องดังกล่าวมีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้วว่าได้มาอย่างไร ได้มาจากไหน เพราะฉะนั้นขอให้รอข้อสรุปจากการสอบสวนก่อน จึงค่อยสรุปแหล่งที่มาของนาฬิกา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “อยากทำความเข้าใจว่าหลายท่านอยากให้ผมใช้คำสั่งมาตรา 44 ก็ต้องอธิบายว่าที่ผ่านมาผมใช้ในเรื่องของการลงโทษ และที่ทำก็เพราะมีหน่วยงานเสนอขึ้นมา เช่น ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแจ้งขึ้นมาว่ามีการสอบสวนแล้วและมีผลออกมาเช่นนี้เห็นควรให้เอาออกก่อนผมจึงใช้มาตรา 44 ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะไปใช้กับใครก็ได้ ผมก็ต้องระวังตัวเองเช่นกัน กรณีนี้ก็เช่นกันก็ต้องรอฟัง ป.ป.ช.จะเสนอเรื่องขึ้นมา อย่าเอามาพันกันว่าทำไมผมไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ตรงนี้ แล้วไปใช้กับตรงนั้น อีกประการทุกคนอาจจะลืมไปแล้วว่าเรื่องนี้อะไรเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความบกพร่องส่วนตัว ก็ว่ากันไปตามกฎหมายซึ่งมีอยู่แล้ว เรื่องไหนเป็นเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่านำสองเรื่องมาปนกัน ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วทำให้เกิดความเสียหาย มีหลักฐานชัดเจนก็ว่าไปอีกแบบ ขอให้แยกแยะให้ออก ผมคิดว่าเรื่งนี้ควรจะยุติได้แล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม”

ส่วนกรณีที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจและนำไปเปรียบเทียบในเรื่องมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้นำหรือนักการเมืองในต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เรื่องนี้ขอชี้แจงกับคนไทยก็แล้วกัน คงไม่ต้องชี้แจงกับต่างประเทศ เพราะทุกอย่างก็มาจากคนไทยที่ขับเคลื่อนออกไป แต่ที่ผ่านมา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ได้ชี้แจงด้วยตัวเองไปแล้ว”

พร้อมกล่าวยืนยันว่าเรื่องนี้ผมไม่ได้ปกป้อง ปิดบังอะไรเลย เป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ ขอให้ฟังจากทาง ป.ป.ช.ก็แล้วกัน ผมก็ได้แต่ทำความเข้าใจเท่านั้น ถ้าผิดก็คือผิด ท่านก็รับอยู่แล้วว่าถ้าผิดก็ต้องออกอยู่ดีก็ไปว่ากันตามกฎหมาย แต่ขอให้แยกแยะให้ออกว่าอันไหนใช้งบประมาณของรัฐ อันไหนเป็นเรื่องส่วนตัว ท่านก็ต้องไปแก้ไขในเรื่องส่วนตัวของท่านในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระให้ได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตร จะลาออกหรือไม่เพราะเริ่มมีกระแสข่าวลือออกมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสั้นๆว่า “ยังไม่มีการลาออก”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ระบุหัวข้อว่า ขอให้อธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีของนาฬิกาทั้ง 25 เรือน ตามดำริของนายกฯให้เป็นไปตามกลไกของกฏหมาย โดยมีรายละเอียดข้อความดังนี้

วันนี้(22 ม.ค 2561) ดิฉันส่งน/ส ลงทะเบียนและเอกสารใบตอบรับไปยังอธิบดีกรมศุลกากร และอธิบดีกรมสรรพากร ขอให้ตรวจสอบการเสียภาษีของนาฬิกาที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณสวมใส่ทั้ง25เรือน

การที่พลเอกประวิตรให้สัมภาษณ์ว่านาฬิกาทั้งหมดยืมเพื่อนมาและคืนไปหมดแล้วนั้นไม่เป็นเหตุทำให้กรมศุลกากรและกรมสรรพากรยุติการตรวจสอบ เพราะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าหลายสิบล้านบาท

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 157(4)ให้อำนาจพนักงานศุลกากรมีหนังสือเรียกผู้นำของเข้ามาตรวจสอบหากมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายศุลกากร

การที่นาฬิกาหรูเป็นนาฬิกาที่ผลิตในต่างประเทศและพลเอกประวิตรสวมใส่นั้น ในเบื้องต้นต้องถือว่าพลเอกประวิตรเป็นผู้นำเข้า อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจออกหนังสือแจ้งให้พลเอกประวิตรมาตรวจสอบว่ามีการเสียอากรขาเข้าถูกต้องหรือไม่ หากพลเอกประวิตรให้การว่ายืมนายก. นายข.มาสวมใส่ ตนไม่ใช่ผู้นำเข้า พลเอกประวิตรต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย โดยการนำนายก.นายข.นั้นมายืนยันพร้อมหลักฐานที่นายก.นายข.ซื้อมาจากร้านในต่างประเทศ เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีและใบรับประกัน หากไม่มีหลักฐานดังกล่าวนี้ มีแต่ข้ออ้างลอยๆว่าเป็นของนายก.นายข.ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นนาฬิกาของนายก. นายข.และต้องถือว่าเป็นนาฬิกาของพลเอกประวิตร

พลเอกประวิตรก็ต้องถูกประเมินเรียกเก็บภาษีและต้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีให้ถูกต้อง. แต่ถ้านายก.นายข.มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นเจ้าของนาฬิกาจริงเพราะซื้อมาจริง มีใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีและใบรับประกันมาเป็นหลักฐาน ก็ต้องพิสูจน์ต่อไปว่าได้เสียอากรขาเข้าแล้วหรือไม่ หากพิสูจน์ไม่ได้ก็มีความผิดตามมาตรา 242 และพลเอกประวิตรผู้สวมใส่นาฬิกาก็มีความผิดตามมาตรา246ที่รับของหนีภาษีไว้สวมใส่

สำหรับอธิบดีกรมสรรพากร ดิฉันขอให้ใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ออกหมายเรียกพลเอก ประวิตรมาไต่สวนว่าเป็นนาฬิกาของพลเอกประวิตรหรือของเพื่อนให้ยืมสวมใส่ หากเป็นนาฬิกาของพลเอกประวิตร ก็ให้ตรวจสอบต่อไปว่าเงินที่พลเอกประวิตรนำมาซื้อนาฬิกานั้นได้เสียภาษีหรือยัง หากยังไม่ได้เสียภาษี ก็ต้องประเมินให้เสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้งดำเนินคดีอาญาพลเอก ประวิตรฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37ด้วย แต่ถ้าพลเอกประวิตรให้การว่าเป็นนาฬิกาของนายก. นายข. อธิบดีกรมสรรพากรต้องเรียกนายก.นายข.มาชี้แจงเรื่องภาษี หากนายก. นายข.ยังไม่ได้เสียภาษีเงินได้ กรมสรรพากรก็ต้องประเมินให้เสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม และดำเนินคดีอาญากับผู้ให้ยืมฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา37เช่นเดียวกัน

จึงขอให้อธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากรปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเป็นไปตามดำริที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ให้กลไกการตรวจสอบที่มาของนาฬิกาหรูเหล่านั้นดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย”

การดำเนินการหรือไม่ดำเนินการของอธิบดีทั้ง2กรมฯจะเป็นข้อพิสูจน์ว่ากลไกตรวจสอบตามกฎหมายที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างถึงนั้น จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบอยู่ในตำแหน่งระดับสูงรองมาจากตำแหน่งของท่านนายกรัฐมนตรี !!??”