วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ย้อนรำลึกวัน “สืบ นาคะเสถียร” 27 ปีแห่งการจากไป

วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะวันนี้ ถูกยกให้เป็น “วันสืบ นาคะเสถียร” เพื่อรำลึกถึงการจากไป ของนักอนุรักษ์ไทย และอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ทุ่มเททั้งชีวิตในการอนุรักษ์ป่า และพยายามที่จะปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้เห็นถึงความสำคัญของป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 27 ปี ของการจากไปของเขา

เช้ามืดวันที่ 1 กันยายน 2533  “สืบ นาคะเสถียร” ตัดสินใจยิงตัวเองเพื่อหมายจบชีวิตตัวเองลง และการฆ่าตัวตายของเขาในครั้งนั้น เพราะเหตุผลที่ต้องรับแรงกดดันกดดันหลาย ๆ ด้าน และเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง ขณะเดียวกันวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว พร้อมทั้งอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ต่อมาในช่วงหัวค่ำสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติเหมือนเช่นเคย จนช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตายของตน จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบ และหลังจากนั้นในช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดูจึงเห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา นั่นเป็นจุดจบของชีวิตสืบแต่ถือเป็นการเริ่มต้น ของวันที่ผู้คนต่างเรียกว่าวัน “สืบ นาคะเสถียร”

2

หลังจากที่การฆ่าตัวตายของสืบในวันนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้ และผู้เกี่ยวข้อง ได้ประชุมเพื่อหาทางออกในการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ปัญหาที่ยากจะแก้ไขด้วยกำลังคนที่จำกัด จำนวนพื้นที่ที่มหาศาล ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล รวมไปถึงพยายามนำเสนอข้อมูลต่อยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก เพื่อสร้างเกราะป้องกันผืนป่าแห่งนี้ไว้ ขณะเดียวกันสืบเคยได้พยายามที่จะจัดประชุมเรื่องนี้หลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล และไม่มีการตอบรับ จนกระทั่งเสียชีวิต จนมีคนกล่าวว่า “หากไม่มีเสียงปืนนัดนั้น การประชุมดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้น”

หลังจากนั้นเมื่อสืบเสียชีวิตได้เพียง 18 วัน “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ก็ถูกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 โดยกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ที่ร่วมกันสานต่อความฝัน ในการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และผืนป่า ให้ยั่งยืนต่อไป ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ กำหนดขอบข่ายและทิศทางการทำงานไว้ 5 ประการคือ 1. การสนับสนุนการจัดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ตลอดจนผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ 2. การปรับปรุงสวัสดิการเพื่อการเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 3. งานรณรงค์ป้องกันรักษาผืนป่าอนุรักษ์และทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้การรณรงค์แนวความคิด “ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ” 4. งานประชาสัมพันธ์และปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายแนวร่วม และเผยแพร่งานอนุรักษ์ส่วนกว้าง 5. งานส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยสัตว์ป่า โดยจัดตั้งกองทุนสัตว์ป่าขึ้น

3

ประวัติ “สืบ นาคะเสถียร”

“สืบ นาคะเสถียร” มีชื่อเดิมว่า “สืบยศ” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี  สำเร็จปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะวนศาสตร์ มหาลัยเกษตรศาสตร์

ปี พ.ศ. 2518  ได้เริ่มชีวิตข้าราชการ บรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ต่อมาใน

ปี พ.ศ. 2522 ได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล เรียนต่อในระดับปริญญาโทอีกครั้ง สาขาอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ในอังกฤษ

ปี พ.ศ. 2524 หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ สืบ นาคะเสถียร กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จ.ชลบุรี

ปี พ.ศ. 2529 เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบรู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน

ปี พ.ศ. 2530 สืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

4

ปี พ.ศ. 2531 สืบและเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”

ปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบพบปัญหาต่างๆมากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่ ก่อนที่จะได้รับการเสนอเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ.2534

ซึ่งมีกลอนบทหนึ่งที่สืบ แต่งไว้เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2518 มีใจความถึงชีวิตของสัตว์ป่าว่า “เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ ลูกน้อยที่กอดไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่ โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน”

 

Cr. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

5