วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

สามก๊กบนเส้นขนาน – ภารกิจลับ กวางโจว โตเกียว / วินทร์ เลียววาริณ

หลังก่อรัฐประหารครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2492 นามกบฏวังหลวง ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศจีน ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ปรีดีได้มีโอกาสพบนักการเมือง ผู้นำชาติต่าง ๆ เช่น เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล เติ้งเสี่ยวผิง โฮจิมินห์ ฟามวันดง เจ้าสุภานุวงศ์ เจ้าสุวรรณภูมา พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ฯลฯ

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 กัลยาณมิตรโจวเอินไหลช่วยจัดการเดินเรื่องให้ปรีดีไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างสงบในช่วงบั้นปลายชีวิต

ในช่วงเวลานั้นอดีตมันสมองคณะราษฎรมีโอกาสขบคิดหลายเรื่อง งานที่เขาทำมาในชีวิตและผลกระทบที่ตามมา เขาชอบอ่านหนังสือ กฎบัตรของพุทธบริษัท ที่พุทธทาสภิกขุส่งไปให้ ปรีดี พนมยงค์ พกหนังสือเล่มนี้ในกระเป๋าเสื้อนอกตลอดเวลา

กฎบัตรข้อหนึ่งเขียนว่า “คู่ชีวิตของมนุษย์อันแท้จริงคือธรรมะ ไม่ใช่คู่ครองของกู หรือวิชาหาประโยชน์เพื่อตัวกู ตามที่เขายึดถือกัน”

ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Asia Week ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ว่า

“ในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี

ในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ”

ยามนี้เขาไม่มีอำนาจ

…………………

ยามนี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ไม่มีอำนาจ

หลังจากถูกลูกน้องของเขาทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 จอมพล ป. เดินทางออกจากไทยไปที่เขมร พำนักที่ตำหนักของเจ้าฟ้าสีหนุ เวลานั้นภรรยาและลูกสาวของเขาซึ่งอยู่ที่เจนีวาก็เดินทางไปสมทบที่เขมร พักนานสามเดือน ก็ไปลี้ภัยที่ญี่ปุ่นในเดือนสุดท้ายของปีนั้น

เมื่อไปถึงญี่ปุ่น พวกเขาพักที่โรงแรมมุสสุไดรา กลางโตเกียว รัฐบาลญี่ปุ่นต้อนรับจอมพล ป. อย่างดี จัดตำรวจอารักขาสี่นาย เหตุที่ญี่ปุ่นดูแลดี ก็เพราะคนญี่ปุ่นเห็นว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. มีบุญคุณที่เปิดทางผ่าน ทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ต้องตายในสงคราม

จอมพล ป. ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ มิได้กล่าวโทษใครที่ทำให้ต้องลี้ภัย

เช่นเดียวกับเพื่อนเก่า ปรีดี พนมยงค์ ในช่วงลี้ภัย จอมพล ป. มีโอกาสขบคิดหลายเรื่อง งานที่เขาทำมาในชีวิตและผลกระทบที่ตามมา

สุภาษิตญี่ปุ่นกล่าวว่า “เมื่อต้นบอนไซหยุดเติบโต ท่านก็รู้ว่ามันตายแล้ว”

เขาหยุดเติบโตแล้วหรือไม่?

อดีตนายกรัฐมนตรีใช้ชีิวิตทำสวนปลูกดอกไม้ ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีลูกหลานจากไทยไปเยี่ยมเป็นระยะ

ครั้งหนึ่งจอมพล ป. เกือบไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยตามที่มีคนติดต่อมา แต่ก็ล้มเลิกความคิด เพราะยากจะไม่พาดพิงใคร

แล้ววันหนึ่งก็มีสารจากเพื่อนเก่ามาถึง

หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดจากวงจรอำนาจ ลี้ภัยในต่างแดน ที่ปรึกษาของเขา สังข์ พัธโนทัย ติดคุกที่ลาดยาว แต่มิได้ยุติบทบาททางการเมือง สังข์มีความคิดให้ ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม คืนดีกัน

อดีตที่ปรึกษาจอมพล ป. มองว่าเพื่อนเก่าสองคนนี้เคยร่วมวงและแตกคอกัน เป็นคู่รักคู่แค้นมานาน หากทั้งสองร่วมมือกันอีกครั้ง อาจจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในปี พ.ศ. 2505 สังข์ พัธโนทัย จึงขอให้เพื่อนสนิท เจริญ กนกรัตน์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสถียรภาพเดินทางไปพบ ปรีดี พนมยงค์ อย่างลับ ๆ

นายเจริญไปหา ปรีดี พนมยงค์ ก่อน และยื่นสารของ สังข์ พัธโนทัย ที่เขียนแนะนำตัวเขา

เมื่อทราบเหตุผลที่มาแล้ว ปรีดี พนมยงค์ ก็สานกับทางการจีนเรื่องการเดินทางเข้าออกของนายเจริญ เมื่อพร้อม เจริญ กนกรัตน์ ก็ไปพบจอมพล ป. ที่โตเกียว โดยแวะหาปรีดีที่กว่างโจวก่อน อดีตมันสมองคณะราษฎรฝากความระลึกถึงและสารส่วนตัวให้จอมพล ป.

เจริญเข้าพบจอมพล ป. ที่โตเกียวในฤดูใบไม้ผลิ ปี พ.ศ. 2505 จอมพล ป. ฝากส่งสารกลับไปให้ปรีดี นัดพบกันที่ประเทศที่สะดวก ปรีดีเสนอว่าน่าจะพบกันที่ประเทศแถบตะวันออกกลางเพื่อไม่ให้เป็นข่าว

เจริญส่งสารนี้ไปถึงโตเกียวในฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา อดีตผู้นำทั้งสองใช้รหัสในการติดต่อ จอมพล ป. ใช้ชื่อรหัสลับ มิสเตอร์วาตานาเบ ปรีดีใช้ชื่อรหัสโปรเฟสเซอร์หลิน วรรณไวมีชื่อรหัสว่า ฉางไหว นวลนภาใช้ชื่อ ฉางเหยียน เจริญใช้ชื่อรหัสว่า มิสเตอร์เหลียง

นายเจริญกลายเป็นคนกลาง นำสารเชื่อมระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีไทยสองคน ในภารกิจลับกว่างโจว–โตเกียว

….
ท่อนหนึ่งจาก สามก๊กบนเส้นขนาน / วินทร์ เลียววาริณ