วันศุกร์ 19 เมษายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

สายพระเนตรอันยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ในการวางรากฐานทางการแพทย์และการสาธารณสุขไทย (ตอนที่ 1)

ภาพโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน

หากไม่มีการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก ณ เวลานี้ เราคงไม่ได้เห็นธาตุแท้ของใครหลายๆ คน และมองไม่เห็นความแตกแยกที่มีอยู่ในสังคมไทยว่ามันร้าวลึกขนาดไหน เพราะท่ามกลางวิกฤตที่ต้องต่อสู้กับศัตรูที่มองด้วยตาเปล่าไม่ได้ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องการความร่วมแรงจากทุกคนในชาติ ลดทิฐิส่วนตัว เพื่อช่วยกันนำพาประเทศให้ผ่านปัญหานี้ไปให้ได้ ทว่า เหตุการณ์นี้ก็ทำไมเรา…ได้เห็น

ได้เห็นนักการเมืองไทยที่เล่นการเมืองแบบไม่รู้จักกาลเทศะ คอยแต่จะหาจังหวะถล่มด่ารัฐบาลในทุกๆ เรื่อง โดยไม่สนใจเหตุผลว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น

ได้เห็นประชาชนบางกลุ่มที่สนใจแต่เรื่องตัวเองมากกว่าส่วนรวม เอาแต่ได้ และพร้อมที่จะทำอะไรตามใจตัวเองโดยไม่สนใจว่าคนรอบข้างจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

ได้เห็นสื่อมวลชนที่พร้อมจะบิดเบือนข้อมูล เพราะเพียงแค่การ ปรับ/แต่ง คำบางคำก็ทำให้ความหมายแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่เข้าใจว่ามีวัตถุประสงค์ใดกันแน่

ได้เห็นนักวิชาการบางคนที่พร้อมจะยึดทฤษฎีเป็นสรณะตามที่ท่องจำมาจนขึ้นใจ โดยไม่พิจารณาปรับเปลี่ยนตามบริบทและสถานการณ์ปัจจุบันว่าต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด

และได้เห็นกลุ่มคนที่ชิงชังสถาบันกษัตริย์ไทยชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น กรุณาอย่ามาปฏิเสธนะว่าไม่มีกระบวนการล้มเจ้า เซาะ กร่อน บ่อน ทำลายสถาบันกษัตริย์ ผ่าน #กษัตริย์มีไว้ทำไม มันยังมีอยู่จริงในประเทศนี้ ใครบ้างที่เข้าข่ายนี้ เชิญกวาดตามอง

เอาเถอะ เพราะเอาเข้าจริง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นในประเทศนี้ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะทำงานมีประสิทธิภาพดีเพียงใด จะมีคนไทยกลุ่มนี้ออกมาด่าอยู่ดี ปล่อยให้พวกเขาด่าตามอัธยาศัยเถอะ อย่างน้อยคำกล่าวอ้างที่นักการเมืองบางท่านบอกว่าประเทศนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ปกครองโดยเผด็จการ จะได้หมดไปเสียที (ใช้เสรีภาพในการด่าได้ขนาดนี้ ถ้าบอกไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่รู้จะหาที่ไหนได้แล้วนะ)

แล้วโควิด-19 ช่วยประชาชนชาวไทยและชาวโลกได้เปิดโลกทัศน์ใดบ้าง 1. เลยก็คือ นี่คือบทพิสูจน์ศักยภาพของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยว่ามีประสิทธิภาพดีระดับเวิลด์คลาส ต่อจากนี้ไม่ต้องแปลกใจนะ ถ้าเหตุการณ์สงบแล้วประเทศไทยจะได้รับการยกย่องว่าเป็น “ศูนย์การทางการแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 2. เราได้เห็นความไม่ผลีผลามของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่เต้นไปตามนักการเมือง แต่ค่อยๆ อาศัยจังหวะจัดการสถานการณ์อย่างเหมาะสมและได้ประสิทธิผลมากที่สุด และ 3. เราได้รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงปิดทองหลังพระ วางรากฐาน วางระบบสาธารณสุขไทยจนเข้มแข็งจวบจนปัจจุบันนี้

สำหรับสองข้อแรกนั้น ท่านผู้อ่านคงได้ติดตามข่าวจริงจากสื่อมวลชนที่น่าเชื่อถือกันอยู่ทุกวันแล้ว ขอกระโดดข้ามไปข้อสุดท้าย เพื่อย้ำเตือนความทรงจำกันหน่อย อย่างน้อยก็ตอบโจทย์ #กษัตริย์มีไว้ทำไม พระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงสร้างคุณูปการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไทยไว้อย่างไรบ้าง ไม่ต้องรักท่านมากก็ได้ แค่สำนึกเพียงเสี้ยววินาที จักเป็นพระคุณยิ่ง

ยุคของการวางรากฐานการแพทย์และการสาธารณสุขไทย

การแพทย์และการสาธารณสุขไทยได้รับการวางรากฐานมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีเหตุการณ์จำนวนมากที่ทำให้พระองค์ท่านทรงปฏิรูปการแพทย์และการสาธารณสุขครั้งใหญ่ในสยามประเทศ

ในปี พ.ศ. 2424 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดชุกชุมไปทั่ว ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราวในที่ชุมชนรวม 48 ตำบล เพื่อช่วยเหลือราษฎร ครั้นเมื่อโรคร้ายบรรเทาเบาบางลง แม้โรงพยาบาลชั่วคราวจะได้ปิดทำการลงแล้ว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระองค์ทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลจะยังประโยชน์ให้พสกนิกรและผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารทั่วไป

ดังนั้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนแรกเริ่มในการดำเนินการ

ภาพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์

แต่ในระหว่างการเตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงประชวรโรคบิดและสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2430 ยังความอาลัยเศร้าโศกแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นยิ่งนัก ถึงกับทรงมีพระราชหัตถเลขาต่อคอมมิตตีก่อตั้งโรงพยาบาล ด้วยปณิธานอย่างแรงกล้าทรงตระหนักถึงเหตุผลและความจำเป็นในเรื่อง “สุขภาพ” ของประชาชน ความว่า

“ถึงคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล ด้วยการรับรายงานที่ได้จัดการโรงพยาบาลตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ทราบการโดยความยินดีเป็นอันมาก โรงพยาบาลนี้ได้คิดมาช้านาน อยากจะให้มีขึ้นได้ในทันใด แต่การนั้นไม่สำเร็จไปได้ตลอดจนได้ ตั้งใจแลออกปากอยู่เนืองๆ ว่า ถ้าจะตายจะขอแบ่งเงินพระคลังข้างที่เป็นส่วนหนึ่งมอบไว้สำหรับใช้ในการโรงพยาบาล แลสั่งไว้ขอให้จัดการให้สำเร็จดังประสงค์ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะคิดจัดการให้มีขึ้นจงได้และจะอุตหนุนการโรงพยาบาลด้วยทุนรอนส่วนหนึ่ง ไม่ชักเงินที่เป็นมรดกซึ่งกำหนดว่าจะให้นั้นมาใช้ แลมีอำนาจที่จะใช้เงินแผ่นดินได้อยู่ก็จะใช้เงินแผ่นดินเป็นรากเง่าของการพยาบาลบ้างตามสมควร การที่คิดไว้นี้ได้ทดลองจะจัดการบ้างที่ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการถาวรมั่นคงได้

ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้ายลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาไข้เจ็บ เห็นว่าแต่ลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ยังได้ความทุกข์เวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้รับความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะทำให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชานุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาล ทำความเห็นมายื่นเห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึงได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการแลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์แก่คนที่ได้รับความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ ด้วยยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตายให้เป็นส่วนหนึ่งในการทำโรงพยาบาลนี้เป็นต้นไป

ท่านทั้งปวง ได้จัดการมาแต่นั้นถึงบัดนี้ได้บอกการที่ทำมาจนเป็นการที่เห็นได้ว่า จะเป็นการเรียบร้อยมั่นคงต่อไปดังนี้แล้ว จึงเป็นที่ให้มีความยินดียิ่งนัก ขอขอบใจกรมหมื่นดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นต้นคิด และคอมมิตตีทั้งปวงอันได้พร้อมในการช่วยจัดการให้ตลอดประสงค์ได้ดังนี้ คงจะเป็นส่วนความดีก็คือการกุศลตนสืบไปภายหน้า การที่เป็นคอมมิตตีช่วยจัดการมากๆ คนเช่นนี้ ก็เพราะจะอาศัยกำลังความคิดแลออกกำลังกายช่วยกันมากๆ เพราะเป็นการแรกที่ทำ ท่านทั้งปวงก็ย่อมมีราชการอื่นๆ อยู่ด้วยกันทุกนาย การจัดเป็นรูปขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็เห็นควรจะให้เป็นหน้าที่จัดการเป็นกรมได้ เพราะมีการรักษาให้เป็นไปตามแบบอย่างมากกว่าที่จะต้องจัดใหม่จะเป็นการสะดวกในการที่จะจัดการรักษาการ และเป็นการสิ้นกังวลของคอมมิตตีทั้งปวงด้วย เพราะฉะนั้น จึ่งขอสั่งให้เลิกคอมมิตตีตั้งแต่นี้ไป ลงชื่อ “สยามมินทร์”….”

ครั้นเสร็จงานพระเมรุแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานพระเมรุนำไปสร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณวังหลัง ทั้งยังพระราชทานทรัพย์ส่วนของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ แก่โรงพยาบาล พร้อมพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” (ชื่อเดิม) หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง”  เพื่อทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431  (และในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดโรงเรียนแพทย์อย่างเป็นทางการ และพระราชทานนามว่า “ราชแพทยาลัย” ซึ่งเป็นนามดั้งเดิมของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการจัดตั้ง กรมพยาบาล ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อควบคุมดูแลกิจการศิริราชพยาบาล พร้อมทั้งมีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาการแพทย์ และจัดการปลูกฝีเป็นทานแก่ประชาชน โดยการปลูกฝีนี้ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นตำรับของการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมีนายแพทย์แดนบีช บลัดเลย์ นายแพทย์ชาวอเมริกันที่ริเริ่มการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ นับได้ว่าเป็นงานควบคุมโรคติดต่อครั้งแรกในสยามประเทศ

นอกจากการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงจัดตั้งโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง โดยโรงพยาบาลที่ยังคงดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบันได้แก่

ภาพ โรงพยาบาลคนเสียจริตในยุคแรกตั้ง

โรงพยาบาลคนเสียจริต ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 โดยได้บ้านเจ้าพระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) ที่ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี เป็นที่ตั้งโรงพยาบาล ในระยะแรกที่นี่เป็นเพียงที่นำคนเสียจริตจากที่ต่างๆ คือคนป่วยที่ชาวบ้านนำตัวมาฝากรักษา จากพลตระเวรหรือหัวเมืองหรือกระทรวงมหาดไทยนำมาฝาก หรือคนเสียจริตจากกองมหันตโทษ กองลหุโทษและศาลยุติธรรม นำมาฝากรักษา โรงพยาบาลทำได้เพียงนำคนเสียจริตเหล่านี้ขังไว้ในห้องซึ่งมีลูกกรง คนที่คลั่งอาละวาดก็ถูกต่อยให้สลบแล้วนำกลับไปขังไว้ บางคนก็ถูกล่ามโซ่ตรวน เนื่องจากสภาพการรักษาเช่นนี้ในเวลานั้นเป็นวิธีการปฏิบัติทั่วไป ปัจจุบันคือโรงพยาบาลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

โรงพยาบาลบางรัก ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่มีการติดต่อค้าขายกับฝรั่งเกือบทุกชาติ และมีเรือกลไฟอเมริกันเข้ามาจอดที่ท่าน้ำในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ชาวอเมริกันเหล่านั้นรู้สึกว่าควรจะมีสถานที่รักษาความเจ็บป่วยของพวกกะลาสีเรือ และชาวต่างประเทศในท้องถิ่นเป็นการเฉพาะกลุ่มตน ดังนั้น หมอเฮย์จึงได้ขอพระราชทานบรมราชานุญาตใช้บ้านที่ปากถนนสีลมต่อกับถนนเจริญกรุงใกล้ๆ กับตลาดบางรัก ตั้งเป็นโรงพยาบาลขึ้นในลักษณะโรงพยาบาลส่วนตัวมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรักษาชาวต่างประเทศ ต่อมากรมพยาบาลได้โอนโรงพยาบาลแห่งนี้มาอยู่ในสังกัดและใช้ชื่อใหม่ว่า โรงพยาบาลบางรัก โดยหมอเฮย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอประจำโรงพยาบาลเช่นเดิม ปัจจุบันคือโรงพยาบาลเลิศสิน

ปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามขึ้นเพื่อจัดซื้อเครื่องเวชภัณฑ์ส่งไปช่วยผู้ป่วยในการรบกันในกรณีพิพาทเมื่อ ร.ศ. 112 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงชักชวนสุภาพสตรีในราชสำนักร่วมกันตั้งกองบรรเทาทุกข์เรียกว่า “สภาอุณาโลมแดง” ปัจจุบันคือสภากาชาดไทย

ในระหว่างที่มีการก่อสร้างโรงศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลแห่งแรกของสยามประเทศอยู่นั้น ปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฎิรูประบบการสาธารณสุขครั้งใหญ่ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตรา “พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116” โดยมีกระทรวงนครบาลเป็นผู้ดำเนินการเพื่อเป็นตัวอย่างแก่หัวเมืองทั่วไป และโปรดให้ตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้น ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการสุขาภิบาลในหัวเมืองต่างๆ เริ่มต้นที่ตำบลท่าฉลองจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นแห่งแรก

ทรงออกประกาศและตรากฎหมายเกี่ยวกับสุขาภิบาลหลายฉบับ เช่น ประกาศจัดการทำความสะอาดพระนคร ประกาศเกี่ยวกับการเผาศพตามวัดต่างๆ ห้ามทิ้งซากสัตว์ลงในที่สาธารณะ ห้ามขีดเขียนตามกำแพง ให้จัดการทำลายขยะมูลฝอย ฯลฯ และโปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค เป็นต้น

ในเรื่องสิ่งเสพติด ทรงมีพระราชดำริว่า สิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลายล้วนนำความเสื่อมโทรมมาสู่ร่างกาย และเป็นความเสียหายอย่างยิ่งแก่บ้านเมือง จึงทรงโปรดให้ออกประกาศห้ามสูบฝิ่นและผสมฝิ่นเป็นยา พระราชบัญญัติกำหนดโทษผู้ทำฝิ่นเถื่อน ในที่สุดโปรดยกเลิกโรงฝิ่นในกรุงเทพฯ ได้ถึง 400 กว่าแห่ง เมื่อถึงปลายรัชกาล

นอกจากโรงพยาบาลและการสาธารณสุขทั่วไปแล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค เนื่องจากใช้น้ำในแม่น้ำลำคลองอาจก่อให้เกิดโรคระบาดดังที่เป็นมาในอดีตได้ ในปี 2452 โปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล จัดการประปาในกรุงเทพฯ โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสมาจัดหาน้ำบริโภคที่สะอาดสำหรับประชาชน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2452 โปรดให้ทำการเก็บกักน้ำที่คลองเชียงรากน้อย แขวงเมืองปทุมธานี และขุดคลองประปาสำหรับส่งน้ำเข้ามาถึงคลองสามเสน พร้อมกับฝังท่อและติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบเป็นการประปาขึ้น แต่ยังมิทันได้เสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน และกิจการนี้มาสำเร็จลุล่วงในสมัยรัชกาลที่ 6

นับได้ว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับการสาธารณสุขครั้งสำคัญ ซึ่งพระราชปณิธารของพระองค์นั้น ได้รับการสืบสานโดยพระราชโอรสทุกพระองค์

ยุคสมัยของการสานต่อการแพทย์และการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้มีพระราชปณิธารสานต่อพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนารถ โดยทรงสร้างโรงพยาบาลและขยายการสาธารณสุขไทยขั้นพื้นฐานให้เจริญก้าวหน้ากว่าเดิม

ในปี พ.ศ. 2454 ทรงสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์รำลึงถึงพระบรมชนกนารถ ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2457 ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ สมทบกับเงินช่วยเหลือจากสมาคมอุณาโลมแดง ที่มีการก่อโดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  พระองค์ได้ทรงกำหนดจุดมุ่งหมายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไว้ว่า เป็นโรงพยาบาลที่ดีจริงถูกต้องตามวิทยาศาสตร์ เผยแผ่พระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเผยแพร่เกียรติยศของชาติไทย บริการรักษาพยาบาลช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ให้บริการรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ทั้งในยามสงครามและปกติ โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง

ภาพ ตึกอำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกแรกของโรงพยาบาล

ในปี พ.ศ. 2455 ทรงสถาปนาปาสตุรสภา เพื่อบำบัดโรคกลัวน้ำ และสร้างวชิรพยาบาล บนถนนสามเสน ซึ่งแต่เดิมเป็นบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ (เชย สรรพการ) พระราชดำริในการจัดสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ พระองค์ทรงคิดนอกกรอบโบราณราชประเพณีแต่เดิมที่เคยทำมา โดยตามโบราณราชประเพณีนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงสร้างพระอารามไว้เป็นเครื่องเฉลิมพระราชศรัทธาและค้ำจุนพระบวรพุทธศาสนา แต่เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ มีพระอารามใหญ่น้อยภายในพระนครเป็นจำนวนมาก ครั้นจะสร้างเพิ่มอีกก็จะเกินความจำเป็นในการทะนุบำรุงพระศาสนา ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อพระราชทานให้เป็นสาธารณสถานดังพระกระแสรับสั่งตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้โรงพยาบาลอันนี้ ก็ได้ตกแต่งขึ้นพร้อมแล้ว เราขอให้นามว่า วชิรพยาบาล และขอมอบที่นี้ไว้เป็นสาธารณสถาน เป็นสมบัติสิทธิ์ขาดแก่ประชาชนชาวสยาม”

ภาพตึกเก่าวชิรพยาบาล

ปี พ.ศ. 2457 กระทรวงมหาดไทย ต้องการให้จังหวัดต่าง ๆ มีสถานที่สำหรับการป่วยไข้ และจำหน่ายยา ซึ่งเรียกสถานที่นี้ว่า “โอสถสภา” ภายหลังงานสาธารณสุขในประเทศได้เจริญก้าวหน้าไปมาก จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สุขศาลา โดยถือว่าสุขศาลาเป็นศูนย์กลางการสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด

ปี พ.ศ. 2459 เปลี่ยนชื่อ กรมพยาบาลเป็นกรมประชาภิบาล สังกัดกระทรวงมหาดไทย มี 4 กอง ที่กำกับดูแล ได้แก่ กองบัญชาการเบ็ดเสร็จ กองสุขาภิบาล กองพยาบาล กองเวชวัตถุ

ปี พ.ศ. 2461 ทรงมีพระราชดำริว่า การแพทย์และการสุขาภิบาลยังแยกอยู่ใน 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงนครบาล ควรจะให้อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน โดยกรมประชาภิบาลยกเลิกไปตั้งกรมสาธารณสุขขึ้น ในวันที่ 24 พฤศจิกายน เพื่อรวมงานสาธารณสุขเข้าเป็นหน่วยงานเดียวขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรม พระยาชัยนาทนเรนทร) เป็นอธิบดีคนแรก

ปี พ.ศ. 2463 ทรงตั้งสถานเสาวภา และทรงนำสภากาชาดสยามเข้าเป็นสมาชิก สภากาชาดสากล เมื่อวันที่ 8 เมษายน

พ.ศ. 2465 ทรงตั้งกองอนุสภากาชาด โดยมีพระราชประสงค์จะปลูกนิสัยให้เป็นผู้มีน้ำใจเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ และตั้งโรงเรียนนางพยาบาลของสภากาชาดขึ้น

ปี พ.ศ. 2466 มีประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ เป็นการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ มีวัตถุประสงค์ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน จากการประกอบการของผู้ที่ไม่มีความรู้และมิได้ฝึกวิชาการแพทย์

หมอเจ้าฟ้า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน

พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์สำคัญในด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่จะไม่เอ่ยมิได้ ก็คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า เจ้าฟ้ามหิดล เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันกิจการโรงพยาบาลศิริราชให้ประสบความสำเร็จ ทั้งยังร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลในระดับภูมิภาคและสนับสนุนการสาธารณสุขระดับภูมิภาคอีกจำนวนมาก

ในระหว่างดำเนินการของโรงศิริราชพยาบาลระยะแรกนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ผู้บัญชาการราชแพทยาลัยพระองค์แรก ได้ทรงโน้มน้าวพระทัย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ให้สนพระทัยวิชาแพทย์ ทั้งยังเชิญชวนให้พระองค์ทรงแวะไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระองค์เอง

เมื่อได้ทรงทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้มีสถานที่คับแคบไม่พอที่จะรองรับคนไข้ได้อย่างเพียงพอ ทำให้คนไข้ต้องไปนั่งรอที่โคนต้นไม้บ้าง นอกโรงพยาบาลบ้าง นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์อีกจำนวนมาก พระองค์ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่งและทรงตกลงพระทัยที่จะช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ไทย แต่พระองค์มีพระดำริว่า “ก่อนจะทรงช่วยเหลือจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ก่อน จึงตั้งพระทัยจะเสด็จไปทรงศึกษาด้านการแพทย์เสียก่อน

จากนั้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อศึกษาต่อด้านสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตในเวลาต่อมา โดยพระราชกรณียกิจลำดับแรกๆ เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยก็คือพระราชทานทุนให้นักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศจำนวน 10 ทุน ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์ เนื่องจากพระองค์มีสายพระเนตรอันยาวไกลว่าต่อไปในภายภาคหน้าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีแพทย์ที่มีความรู้และความชำนาญในการรักษาโรคที่เกิดในที่ต่างๆ ทั่วโลก และโรคจำเพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังทรงรับหน้าที่เป็นผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เพื่อยกระดับการศึกษาวิชาการแพทย์ให้ถึงขั้นปริญญาและปรับปรุงกิจการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลศิริราชในหลาย ๆ ด้าน ด้วยพระองค์เอง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ปี พ.ศ. 2466 หลังจากที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการปกครองวชิรพยาบาลขึ้น ทรงมีรับสั่งให้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นองค์ประธานการวางระเบียบการโรงพยาบาลเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 6 เพื่อให้วชิรพยาบาลเป็นศูนย์กลางการศึกษาของกรมสาธารณสุขอีกด้วย

สำหรับกิจการโรงพยาบาลในภูมิภาค สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ส่วนเงินที่จะบำรุงต่อไปนั้น ทรงมอบทุนส่วนพระองค์เพื่ออุปถัมภ์ โรงพยาบาลสงขลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในกำกับของสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ประมาณปีละ 5,000 บาท จนตลอดพระชนม์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ยังได้ทรงสละพระราชทรัพย์ให้เป็นสมบัติของโรงพยาบาลนี้อีก 50,000บาท โดยได้ทำเป็นพินัยกรรมไห้ไว้แก่โรงพยาบาลที่ชัดเจน

โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงงานเกี่ยวข้องกับการแพทย์ และการสาธารณสุข สมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์ต่อการแพทย์ และการสาธารณสุขของไทยอย่างมากมาย จนเป็นที่ประจักษ์ และทรงได้รับการยกย่องเป็น “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน และการสาธารณสุขของไทย”


(ต่อตอนที่ 2 )


ข้อมูลอ้างอิง
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/hospital/history/
https://www.si.mahidol.ac.th/sirirajhospital/history.php
https://www.lib.ru.ac.th/journal/oct/oct23_ck_index_2.html
https://www.matichon.co.th/columnists/news_111220
https://www.matichon.co.th/court-news/news_391696
https://www.hfocus.org/content/2019/12/18186
http://www.somdet.go.th/public/his_som.html
https://www.hatyaifocus.com
http://www.theprincessmothermemorialpark.org/page.php?id=7
http://culture.pn.psu.ac.th/galyani/พระกรณียกิจสมเด็จพระเจ/
http://nih.dmsc.moph.go.th/jariyatam/home5.html
http://www.theprincessmothermemorialpark.org/page.php?id=7
http://www.pccnst.ac.th/pcshsnst/princess-chulabhorn/
https://www.cra.ac.th/index.php/info/history