วันพฤหัสบดี 18 เมษายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

เมื่อคณะราษฎร์ บังอาจใส่ร้ายพระปกเกล้าฯ

เมื่อคณะราษฎร์ บังอาจใส่ร้ายพระปกเกล้าฯ – ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน

————————————————-

จ.17 เม.ย. 60 : 11:44
Anchulee
ได้อ่านผลงานของท่านอยู่เสมอในเวปเรือนไทยค่ะ
วันนี้เห็นเผยแพร่เอกสารชิ้นนี้กัน ไม่ทราบว่าเท็จจริงประการใด และเคยได้เห็นมาแล้วหรือไม่คะ

หนูเห็นเค้าส่งต่อกันมา ได้เป็นไฟล์แบบนี้น่ะค่ะ เห็นว่าน่าสนใจมาก และดูกล่าวร้ายต่อ ร7 มากเลยสงสัยว่าไม่น่าใช่ของจริง
————————————————
ผมได้รับข้อความข้างต้นมา เมือเปิดไฟล์เห็นสิ่งที่ส่งมาแล้ว น่าตกใจมากที่ได้ทราบว่ากำลังเผยแพร่กันในขณะนี้
เพื่อไม่ให้อนุชนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวได้ซึมซับความสารพิษที่ถูกปล่อยออกมา ผมจำเป็นต้องตอบสนองโดยทันทีเช่นกัน
.
ก่อนอื่นขอบอกว่า เรื่องที่แชร์กันอยู่นี้มาจากหนังสือ “ปาจารยสาร” ฉบับที่ออกในคาบ กค.-ตค. ๒๕๔๒ คือเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ปกเป็นรูป ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ พ่อของคนทำหนังสือ นานมากแล้วนะครับ นี่ขุดเอามาเล่นรอบสอง
ส่วนผู้เขียน ชื่อ นายจิตตะเสน ปัญจะ ไม่รู้ว่าเขียนไว้ตั้งแต่สมัยไหนไม่ได้ระบุ ตั้งแต่สมัยคณะราษฎร์ยังเปรื่องอยู่ หรือใกล้ตายสติฟั่นเฟือนแล้ว
.
สำเนาที่ส่งมาชัดบ้างไม่ชัดบ้าง เมื่อหาที่ดีกว่านี้ไม่ได้แต่ก็พยายามถอดความได้ดังนี้
.
“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สั่งประหารคณะผู้ก่อการ ๒๔๗๕
บทความชิ้นนี้เป็นบันทึกของนายจิตตะเสน ปัญจะ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการ ๒๔๗๕ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยมาก่อน หวังว่าผู้อ่านจะพิจารณาด้วยปัญญา และหากมีหลักฐานที่ต่างออกไปจะนำมายืนยันเพื่อชำระความจริงให้ปรากฏก็จักเป็นการตอบแทนคุณต่อคณะราษฎรและนายปรีดี พนมยงค์ ผู้มีอุปการอย่างสูงต่อการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หากมักต้องเผชิญกับเพทภัยทางการเมืองเช่นนี้ตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
จิตตะเสน ปัญจะ””
.
พระปกเกล้าฯ สั่งประหารชีวิตผู้ก่อการฯ คณะราษฎร์ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ อันเป็นวันครบปี โดยได้ร่วมมือกับพระยามะโนฯ (ภริยาพระยามะโนฯ เคยเป็นนางสนองพระโอษฐ์คนสนิทของพระนางเจ้ารำไพพรรณี ราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รถคว่ำตายเมื่อตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไปไซง่อน หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่รู้จึงเสนอตั้งเป็นนายกฯคนแรก) ผู้ซึ่งคณะก่อการฯได้ตั้งให้เป็นนายกฯ ใช้วิธีหลอกลวงให้พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ ลาออกจากหน้าที่ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการคุมอำนาจทางทหารได้สำเร็จ พระยามะโนฯ หลอกพระยาทรงฯว่า ให้ชวนพระยาพหลฯลาออก แล้วจะกลับตั้งพระทรงฯให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหลฯ เป็นแผนการทำให้พระยาพหลฯแตกแยกกันกับพระยาทรงฯ เมื่อพระยาพหลฯ หลวงพิบูลย์ ร่วมกันยึดอำนาจจากพระยามะโนฯ พระยาทรงฯจึงหมดอำนาจ ถูกส่งไปเป็นครูสอนทหารที่เชียงใหม่ พระยามะโนฯใช้เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ทำพระยาทรงฯ แตกกับหลวงประดิษฐ์ มาแล้วครั้งหนึ่งสำเร็จ คราวนี้ทำให้พระยาพหลฯแตกกับพระยาทรงฯ สั่งปิดสภาฯ งดใช้รัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน ๒๔๗๖ หากคณะผู้ก่อการฯได้นำการยึดอำนาจไล่พระยามะโนฯ ออกจากนายกฯในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ ก่อนหน้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สั่งตัดหัวคณะก่อการฯ เพียง ๔ วันเท่านั้น
.
ในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยนั้น คณะก่อการฯ แยกออกเป็นสายๆ หลายสาย ต่างสายรักษาความลับของคณะผู้ก่อการฯ เป็นความลับที่สุด รู้กันแต่เพาะในสายของใครเท่านั้น ฝ่ายเจ้าวงศ์จักรีไม่สามารถจะรู้ว่ามีใครบ้าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงใช้อุบายหลอกลวงให้คณะก่อการเข้าเฝ้าทำการขอขมาที่ได้แจกใบปลิวบอกความจริงกับประชาชน ถึงความเลวร้ายในการปกครองเหนือกฎหมายของวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขอให้มีการขอขมากับพระองค์ จะได้ทำให้วงศ์จักรีคลายความโกรธแค้น สามารถจะร่วมมือกับคณะผู้ก่อการฯ ได้
.
คณะผู้ก่อการซึ่งเวลานั้นเป็นผู้ชนะแล้วทุกทาง และมีประชาชนโห่ร้องสนับสนุนทั่วประเทศ ก็ได้แสดงน้ำใจเป็นธรรมเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า มิได้คิดร้ายต่อวงศ์จักรีเลย เพราะหากเพียงต้องการมีการปกครองเป็นประชาธิปไตย โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลักการปกครองเยี่ยงประเทศที่เจริญแล้ว จึงได้เห็นพ้องต้องกันว่าแม้จะเป็นฝ่ายชนะก็ยินดีขอขมาในถ้อยคำกล่าวหาวงศ์จักรี ซึ่งย่อมเป็นธรรมดาจะรุนแรงบ้าง แต่ก็เป็นการปฏิวัติที่ไม่ได้ทำร้ายฟาดฟันเจ้าวงศ์จักรีแม้แต่คนเดียว กลับกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายต่อไป ยกย่องไว้เป็นที่เคารพสักการะ ใครจะละเมิดมิได้ ผิดกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ได้ตัดหัวพระเจ้าหลุยส์และฆ่าเจ้าวงศ์บูบองส์เสียมากมาย ตลอดจนขุนนางที่เป็นพวกเจ้าวงศ์บูบองส์ก็ถูกฆ่านับพันคน
.
คณะก่อการฯ จึงได้พร้อมใจกันส่วนใหญ่ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อขอขมาที่วังสวนจิตร์ฯ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อนวันประกาศรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เพียง ๓ วัน
ในการขอขมานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ให้ทุกคนที่เข้าเฝ้าบนวังสวนจิตร์ฯ ชั้นบน ลงนามไว้ในสมุดขอเข้าเฝ้า จึงเป็นหลักฐานแน่ชัดว่าใครบ้างเป็นสมาชิกในคณะผู้ก่อการฯ
.
แม้จะขาดผู้ก่อการฯ ซึ่งมีจำนวน ๙๘ คน ไปหลายนาย คนที่เฝ้าวันนั้นก็เป็นส่วนใหญ่และเป็นบุคคลสำคัญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระยามะโนฯ ได้ใช้หลักฐานนี้ประกาศชื่อผู้ที่จะต้องถูกตัดหัวประหารชีวิตในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ ดังพระบรมราชโองการ ซึ่งพนักงานอาลักษณ์ได้เขียนด้วยลายมือและนำมาให้ผู้บันทึกดู เพราะมีชื่ออยู่ด้วย
ความจึงได้แตกขึ้นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงคิดหักหลังหลอกให้ไปลงนามเป็นหลักฐานไว้ว่า เป็นผู้ก่อการฯ นี่เป็นเหตุสำคัญที่คณะก่อการฯ ต้องลุกขึ้นทำการปฏิวัติอีกครั้ง ยึดอำนาจกลับคืนจากพระยามะโนฯ
เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว มีผู้เสนอให้ตัดหัวพระยามะโนฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เช่นเดียวกับที่คิดจะทำกับคณะก่อการฯ เปลี่ยนระบอบปกครองเป็นรีพับลิก แล้วให้พระยาพหลฯ เป็นประธานาธิบดีต่อไป เพราะเห็นว่าวงศ์จักรีไม่ร่วมมือ คิดเป็นศัตรู จะยึดอำนาจกลับคืนและคิดฆ่าคณะก่อการฯ
.
แต่คณะก่อการฯ ส่วนมากก็เห็นว่า เมื่อเรายึดอำนาจกลับมาได้แล้ว ก็ไม่คิดจองเวรพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กลับกราบบังคมทูลให้เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อดำรงคงเป็นกษัตริย์ใต้กฎหมายต่อไป ส่วนพระยามะโนฯ ผู้ทรยศต่อคณะก่อการฯ ก็ให้ออกไปอยู่นอกประเทศคือ ปีนัง และยังให้บำนาญกินตลอดชีวิต หม่อมเจ้านักขัตรฯ ได้พูดกับนายประยูร ภมรมนตรีก่อนหน้าเมื่อปิดสภาฯ ว่า วงศ์จักรีจะแก้แค้นคณะก่อการฯ ตัดหัวเอาเลือดล้างตีนวงศ์จักรี นายประยูรกับหม่อมเจ้านักขัตรฯ เป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อยมาด้วยกันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และในเวลานั้นนายประยูรก็ยังเอนเสียงไปทางพระยามะโนฯ และทำหน้าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของพระยามะโนฯ
.
เมื่อฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เห็นว่าการเอาชนะคณะก่อการฯ ด้วยวิธีหลอกล่อไม่สำเร็จ ถูกยึดอำนาจกลับคืนไปอยู่กับคณะก่อการฯ แล้ว ก็วางแผนให้กำลังทหารหัวเมืองยกเข้ามาบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลฯลาออก โดยมีเจ้าบวรเดชเป็นแม่ทัพ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ให้เงินทองสนับสนุนอยู่หลังฉาก ก่อนหน้าที่เจ้าบวรเดชจะยกกำลังมาบังคับรัฐบาลในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๗๖ ซึ่งเรียกกันว่าขบถบวรเดชนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เรียกนายประยูร ภมรมนตรีไปพบที่วังไกลกังวล หัวหิน บอกว่าฉันเห็นว่าแกนายประยูร เคยเป็นมหาดเล็กของฉันมาตั้งแต่เด็ก ฉันจะช่วยไว้ชีวิตแก แต่แกต้องออกไปอยู่ที่ปีนังกับพระยามะโนฯ ฉันจะเลี้ยงดูส่งเสียเงินทอง ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะถ้าแกอยู่กรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคมนี้ เจ้าบวรเดชจะยกทัพหัวเมืองเข้ามาปราบคณะก่อการฯ จับตัดหัวให้หมด ในคำบอกเล่าของนายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นผู้ก่อการฯ คนหนึ่งได้กราบทูลว่า ถ้าจะฆ่าผู้ก่อการฯ ทั้งหมด ก็ขอไม่ไปอยู่ปีนัง ขอตายอยู่ในเมืองไทย
.
นายประยูรฯ จึงนำความร้ายนี้มาแจ้งกับหลวงอดุลย์ อธิบดีตำรวจถึงเหตุร้ายจะเกิดขึ้น คณะก่อการฯ จึงมีเวลาเตรียมตัวต่อสู้กับขบถบวรเดชจนพ่ายแพ้ไป นายประยูร ภมรมนตรี จึงได้รับอภัยจากคณะก่อการฯ ให้เข้าร่วมด้วยอย่างเดิม แต่มีบางคนไม่ไว้ใจ จึงได้ส่งไปเป็นกงสุลอยู่ที่ไซง่อน เพื่อสอดส่องพวกขบถบวรเดชที่พ่ายแพ้รัฐบาลพระยาพหลฯ หลบหนีไปอาศัยฝรั่งเศสอยู่เป็นจำนวนมาก
.
ในการไปขอขมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯนั้น คณะก่อการฯ ก็เข้าใจเจตนาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯดีว่าจะหาทางทำร้าย จึงแบ่งให้เฝ้าเป็นสองคณะ พระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์ฯกับคณะก่อการ ส่วนหนึ่งไปในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๕ พระยาทรงฯ กับคณะก่อการฯ อีกส่วนหนึ่งไปเฝ้าในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๕ เพราะรู้ว่าถ้าไปพร้อมกันหมดเข้าไปอยู่ในวังสวนจิตร์ ก็มีหวังถูกจับฆ่าเป็นแน่
.
รวมทั้งสิ้นคณะก่อการฯ ที่ได้ไปขอขมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทั้งสองวันมีจำนวน ๖๑ นาย จากจำนวน ๙๘ นาย ทั้ง ๖๑ นายนี้ ได้หลงกลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เข้าไปเซ็นนามเป็นหลักฐานว่าได้ทำการปฏิวัติเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อันเป็นหลักฐานตามกฎหมาย ซึ่งมีลายเซ็นเป็นคำสารภาพ ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระยามะโนฯ ได้ใช้หลักฐานลายเซ็นนี้ไปประกาศพระบรมราชโองการที่ได้สั่งให้อาลักษณ์เขียนด้วยลายมือบรรจงตามพระราชประเพณีของพระบรมราชโองการในสมัยอยู่เหนือกฎหมาย สั่งตัดหัวประหารชีวิต ซึ่งบังเอิญในขณะที่อาลักษณ์เขียนรายชื่ออยู่นี้ ผู้บันทึกทำงานอยู่ในห้องเดียวกับเขา เขาเห็นมีชื่อนายจิตตะเสน ปัญจะ อยู่ในพระบรมราชโองการที่ออกมาจากสมุดลายเซ็นที่ได้เซ็นไว้ที่วังสวนจิตร์ก็ตกใจ
.
เมื่อรู้ว่าผู้บันทึกจะต้องถูกตัดหัวประหารชีวิตเอาศีรษะเสียบประจานไว้ที่ท้องสนามหลวงในฐานเป็นขบถต่อวงศ์จักรี ผู้เขียนจึงเอาพระบรมราชโองการ มาให้ผู้บันทึกดูด้วยความตกใจ พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ให้ตัดหัวคณะผู้ก่อการฯ ที่ท้องสนมหลวง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ อันเป็นวันครบรอบปีการปฏิวัตินี้ ผู้บันทึกขอขอบใจอาลักษณ์ผู้เขียนพระบรมราชโองการที่ได้นำเรื่องนี้มาให้ผู้บันทึกดู ได้รู้ถึงการคิดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระยามะโนฯเสียก่อน .คณะก่อการฯ จึงทำการยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ มิฉะนั้น คณะก่อการฯ ที่ไปขอขมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็คงถูกตัดหัวและวงศ์จักรีกลับยึดอำนาจกลับเป็นกษัตริย์เหนือกฎหมายอย่างเดียวไม่สำเร็จแน่
.
คำประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
.
ให้ประหารชีวิตผู้มีรายนามต่อไปนี้ในฐานเป็นขบถต่อราชวงศ์จักรี โดยให้นำไปตัดหัวที่ท้องสนามหลวง ในวันรุ่งอรุณในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้วให้เอาศีรษะเสียบประจานไว้ที่ท้องสนามหลวง ๗ วัน เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
.
ประกาศ พระบรมราชโองการ
พระปรมาภิไธย ประชาธิปก ป.ร.
.
มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ เหนือกระหม่อม ให้ประกาศว่า เนื่องด้วยปรากฏเป็นหลักฐานแน่ชัดว่า ผู้ที่ได้ไปลงลายเซ็นขอขมาที่พระราชวังสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๗ และ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ร่วมคิดกันทำการอันเป็นขบถต่อราชบัลลังก์ โดยบังคับด้วยกำลังเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันถือเป็นความผิดฉกรรจ์มหันตโทษ ฉะนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลงโทษประหารชีวิตด้วยการตัดหัว ณ ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ผู้มีความผิดอันอุกฤษฐ์โทษนี้ มีหลักฐานแน่ชัดจำนวน ๖๐ คน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้
.
ในจำนวน ๖๐ คนนี้ สำหรับผู้มียศและบรรดาศักดิ์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดจากยศและบรรดาศักดิ์ทุกคน ฉะนั้นให้เจ้าพนักงานนำผู้ที่มีชื่อทั้ง ๖๐ คนนี้ไปดำเนินการตัดหัวประหารชีวิต ณ ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เวลาย่ำรุ่ง แล้วให้เอาหัวเสียบประจานไว้ ณ ท้องสนามหลวง
.

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖
.
(พระยามะโนปกรณ์ นิติธาดา)
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
.
(ผู้บันทึกได้ขอคัดสำเนาพระบรมราชโองการของพระปกเกล้าฯ ฉบับนี้มาจากพนักงานอาลักษณ์ ซึ่งนำมาให้ดูในวันที่ได้รับคำสั่งให้เขียนด้วยลายมือบรรจงตามราชประเพณี จะสังเกตว่าขาดไป ๑ คนคือ นายประยูร ภมรมนตรี เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ คงขอไว้จึงไม่มีชื่อนายประยูร ที่จะถูกตัดหัวรวมอยู่ด้วย)
.
ส่วนรายนามพวกผู้ก่อการในตอนท้าย ผมอ่านไม่ออกหลายชื่อ เลยงดที่จะแกะออกมาเป็นตัวพิมพ์
.
ข้อความที่นายจิตตเสนเขียนขึ้นนี้ เป็นการใส่ร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯอย่างน่าสังเวช เนื้อความที่เขียนก็ผิดๆถูกๆ จะแย้งทุกย่อหน้าในตอนนี้ก็คงจะรกสมอง ผมขอหนังสือเล่มเดียวที่เขียนโดยประยูร ภมรมนตรี คนที่นายจิตตเสนอ้างนั่นแหละมาหักล้าง
ความสำคัญที่สุดคือ หลังจากทำการปฏิวัติสำเร็จ คณะผู้ก่อการได้ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อให้ทรงพระปรมาภิไภยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ซึ่งก็มีพระมหากรุณาธิคุณ ลงพระนามโดยมิได้ทรงโยกโย้
นายประยูรเขียนไว้ดังนี้ครับ
.
พระราชกำหนดนิรโทษกรรม
ในวันที่คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองฯ ในเช้าวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ได้ถือโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกำหนดนิรโทษกรร ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานิรโทษกรรม นับเป็นบทบัญญัติฉบับแรกที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามข้อความดังต่อไปนี้
.
“การกระทำของคณะราษฎร ในครั้งนี้หากจะเป็นการละเมิดกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย
พระราชกำหนดนี้ได้ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕”
.

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระองค์จะทรงละเมิดกฎหมายเสียเอง ด้วยการสั่งประหารชีวิตผู้ก่อการดังว่าได้อย่างไร
จบไหมครับ
.
ถ้าไม่จบ เอาอีก
.
ข้อความที่ว่า “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เรียกนายประยูร ภมรมนตรีไปพบที่วังไกลกังวล หัวหิน บอกว่าฉันเห็นว่าแกนายประยูร เคยเป็นมหาดเล็กของฉันมาตั้งแต่เด็ก ฉันจะช่วยไว้ชีวิตแก แต่แกต้องออกไปอยู่ที่ปีนังกับพระยามะโนฯ ฉันจะเลี้ยงดูส่งเสียเงินทอง ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะถ้าแกอยู่กรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคมนี้ เจ้าบวรเดชจะยกทัพหัวเมืองเข้ามาปราบคณะก่อการฯ จับตัดหัวให้หมด ในคำบอกเล่าของนายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นผู้ก่อการฯ คนหนึ่งได้กราบทูลว่า ถ้าจะฆ่าผู้ก่อการฯ ทั้งหมด ก็ขอไม่ไปอยู่ปีนัง ขอตายอยู่ในเมืองไทย” นั้น
หนังสือที่นายประยูรเขียน มีความว่า
.
คุณมโนปกรณ์ฯ ต้องการพบด่วน ให้รีบไปหาที่บ้านชะอำ หัวหิน และจะพาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ข้าพเจ้าได้วี่แววเรื่องพระองค์เจ้าบวรเดชฯ สะสมกำลังสวมรอยเข้ามาแต่เพื่อไม่ประมาทก่อนที่จะไปพบเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ และเข้าเฝ้าก็ได้ไปรายงานให้ พ.ต.อ. หลวงอดุลย์เดชจรัส รองอธิบดีกรมตำรวจทราบไว้ด้วย หลวงอดุลย์ฯ ก็บอกว่าดีแล้ว ให้รีบไปแล้วมาบอกกล่าวให้ทราบ เพราะเหตุการณ์กำลังจะลุกลาม
.
ถูกชวนไปปีนัง
.
ต่อมาคุณหญิงสาครได้มาติดต่อกับข้าพเจ้า บอกว่าท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯต้องการพบด่วน ให้รีบไปหาที่บ้านชะอำ หัวหิน และจะพาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวด้วย ข้าพเจ้าได้วี่แววเรื่องพระองค์เจ้าบวรเดชฯ สะสมกำลังสวมรอยเข้ามา แต่เพื่อไม่ประมาท ก่อนที่จะไปพบเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ได้ไปรายงานให้พ.ต.อ. หลวงอดุลเดชจรัส รองอธิบดีกรมตำรวจทราบไว้ด้วย หลวงอดุลย์ก็บอกว่าดีแล้ว ให้รีบไปแล้วมาบอกกล่าวให้ทราบ เพราะเหตุการณ์กำลังจะลุกลาม
.
ครั้นเมื่อได้ไปพบท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ที่บ้านชะอำ ก็เห็นกำลังสาละวนจัดกระเป๋าเดินทางออกมาต้อนรับ อาการกระวนกระวาย บอกว่ามีธุระสำคัญที่จะต้องพูดกัน ก็พอดีได้พบสมเด็จกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฐ์ ทรงทักอย่างเหยียดหยามว่าไอ้กบฏ มาทำไมที่นี่ แล้วหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวัฒน์ โอรสที่เป็นราชเลขาก็เดินตามเข้ามา พอเห็นหน้าข้าพเจ้าก็สำทับว่าคราวนี้จะแสดงให้เห็นเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินแล้วว่า ประเทศสยามไม่ได้มีอาณาเขตเพียงบางกอก ไอ้พวกกิ้งก่าก่อการ เป็นไอ้พวกกบฏ จะต้องตัดหัวทำปฐมกรรมเอาเลือดมาล้างตีน เจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ เดือดดาลตะโกนร้องว่า พูดเป็นบ้าไปได้ กำลังมีเรื่องสำคัญที่จะต้องพูดจากัน แล้วก็เรียกตัวข้าพเจ้าไปพบในห้องสองต่อสอง บอกว่าเกิดเหตุการณ์ใหญ่ พระองค์เจ้าบวรเดชฯ กำลังรวบรวมกองทัพหัวเมืองเข้ายึดพระนคร พระเจ้าอยู่หัวเป็นห่วงจะมีอันตรายและผมอายุมากแล้ว จึงรับสั่งให้ผมออกไปอยู่ที่เมืองปีนังโดยด่วน และทรงเห็นว่าคุณยูร เป็นเลขาธิการใกล้ชิดสนิทสนม รับใช้ด้วยความซื่อสัตย์ตลอดมา จึงทรงพระดำริอยากได้คุณยูรตามไปอยู่เป็นเพื่อนผม ส่วนเรื่องที่คุณยูรเอาชีวิตเข้าประกันหลวงพิบูลฯ ไว้นั้น ก็ทรงโปรดยกให้ และจะทรงพระกรุณารับเลี้ยงดูตลอดไป ถ้าตกลงรับปากก็จะรีบพาไปเฝ้าในตอนบ่ายนี้
.
ยอมตาย
.
ข้าพเจ้านิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง นึกในใจอยู่ว่าเป็นแผนการที่จะตัดกำลัง ตัดสมองของผู้ก่อการฯ จึงกราบเรียนไปว่า ใต้เท้าได้ยินคำพูดของกรมพระสวัสดิ์ฯ และหม่อมเจ้าวิบูลย์ ที่รับสั่งอยู่หยกๆ ไหมครับ แล้วเรียนว่าในเรื่องการยึดอำนาจครั้งนี้ กระผมได้ริเริ่มกับ พ.อ. พระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งมีเงื่อนไขว่าท่านต้องเป็นผู้นำด้วยตนเอง และนอกจากการขจัดหลวงพิบูลฯ อันเป็นภาระของกระผมแล้ว ให้สัญญารับรองว่าจะไม่ทำลายคณะผู้ก่อการฯ คงให้เป็นรัฐบาลบริหารแผ่นดินต่อไป
บัดนี้มากลายเป็นเรื่องของพระองค์เจ้าบวรเดชฯ เข้ามาเพื่อล้างแค้นมุ่งประหัตประหารผู้ก่อการฯ ให้สิ้นซาก แล้วใต้เท้าจะให้กระผมหนีเอาตัวรอดไปอยู่เมืองปีนังกับใต้เท้าเสมือนดังพิเภกที่พิฆาตวงศาคณาญาติสิ้น หัวเด็ดตีนขาดกระผมไปไม่ได้ จะต้องสู้ไว้เกียรติไว้ลาย และรักษาอุดมการณ์ของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วก็ลงกราบขอขมาและโปรดนำความกราบบังคมทูลว่า จนด้วยเกล้าฯ ไม่สามารถที่จะสนองพระราชประสงค์ได้ แล้วก็ลาท่านกลับ จะรีบไปขึ้นรถด่วนตอน ๑๓.๐๐ น.
ท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ผิดหวังหน้าตาสลด มาส่งที่รถยนต์ น้ำตาคลอ บอกว่าลาก่อนคุณยูร ไม่ตายพบกันใหม่ พอดี พ.ต.ม.จ. ศุภสวัสดิ์ (หม่อมเจ้าชิ้น) เดินสวนเข้ามาตะโกนถามดังๆ ว่า ว่าไงนายยูร ไหนว่าจะถวายหัว เมื่อไหร่จะไปตาย ข้าพเจ้าร้องตอบสั้นๆ ไปว่า รอให้ปราบกบฏเสียก่อน (เคยเป็นนักเรียนนายร้อยเพื่อนรุ่นเดียวกันมาตั้งแต่เล็ก เวลาปลุกอยู่ยาม ถ้าไม่ตื่นก็เอาน้ำสาดบ้าง เอาเข็มขัดฟาดบ้าง สนิทสนมกันมาก) เมื่อกลับมาถึงพระนครตอนเย็นก็ตรงไปรายงานหลวงอดุลย์ฯ ในห้องทำงานกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย โดยมากทำงานอยู่จนค่ำ ได้เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง และเสนอรายชื่อบุคคลที่ควรจับกุม หลวงอดุลย์ บอกว่าลื้อได้เรื่องราวมาปะติดปะต่อกันเป็นประโยชน์ดีมาก ขอขอบใจ ข้าพเจ้าได้ขอให้บันทึกเป็นหลักฐานแล้วก็ลากลับ
.
หวังว่าผู้มีใจเป็นธรรมคงจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรนะครับ ผู้ใดอยากชมต้นฉบับก็ไปคลิ๊กดูภาพได้ตามสะดวก

ปกหนังสือฉบับนี้

ผู้เขียนบทความอัปยศ