วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่5ทรงโทมนัสจากวิกฤตการณ์รศ.112


ในยุคสมัย ร.ศ. 112 จากกรณีที่ฝรั่งเศสลอบเข้าโจมตีเมืองหลวง ด้วยเรือปืนจนเกิดข้อพิพาทระดับสูงจนนำไปสู่ การบุกเข้ายึดของฝรั่งเศสในดินแดนอินโดจีน ถึง 1/3 ของสยาม จนเป็นผลให้ ประเทศสยาม ณ เวลานั้น เกือบสูญสิ้นแม้แต่อำนาจ ศาลปกครอง …ในเวลานั้น   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโทมนัสจากวิกฤตการณ์รศ.112 พระองค์จึงได้ทรงบทกวี เล่าถึงสิ่งที่ท่านทรงคิดเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิต

⊙  เจ็บนานหนักอกผู้     บริรักษ์ ปวงเฮย
คิดใคร่ลาลาญหัก        ปลดเปลื้อง
ความเหนื่อยแห่งสูจัก    พลันสร่าง
ตูจักสู่ภพเบื้อง             หน้านั้น   พลันเกษม
⊙  เป็นฝีสามยอดแล้ว    ยังราย ส่านอ
ปวดเจ็บใครจักหมาย      เชื่อได้
ใช่เป็นแต่ส่วนกาย         เศียรกลัด กลุ้มแฮ
ใครต่อเป็นจึ่งผู้             นั่นนั้น  เห็นจริง
⊙ ตะปูดอกใหญ่ตรึ้ง      บาทา อยู่เฮย
จึงบ่อาจลีลา                คล่องได้
เชิญผู้ที่เมตตา              แก่สัตว์ ปวงเฮย
ชักตะปูนี้ให้                  ส่งข้าอันขยม
⊙ ชีวิตมนุษย์นี้             เปลี่ยนแปลง จริงนอ
ทุกข์และสุขพลิกแพลง    มากครั้ง
โบราณท่านจึ่งแสดง       เป็นเยี่ยง อย่างนา
ชั่วนับเจ็ดทีทั้ง               เจ็ดข้าง ฝ่ายดี
⊙ เป็นเด็กมีสุขคล้าย       ดีรฉาน
รู้สุขรู้ทุกข์หาญ              ขลาดด้วย
ละอย่างละอย่างพาล      หย่อนเพราะ  เผลอแฮ
คล้ายกับผู้จวนม้วย         ชีพสิ้น  สติสูญ
⊙ ฉันไปปะเด็กห้า           หกคน
โกนเกศนุ่งขาวยล          เคลิบเคลิ้ม
ถามเขาว่าเป็นคน           เชิญเครื่อง
ไปที่หอศพเริ้ม               ริกเร้าเหงาใจ
⊙ กล้วยเผาเหลืองแก่ก้ำ     เกินพระ ลักษณ์นา
แรกก็ออกอร่อยจะ           ใคร่กล้ำ
นานวันยิ่งเครอะคระ         กลืนยาก
ทนจ่อซ่อมจิ้มจ้ำ            แดกสิ้นสุดใบ
 เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์   มะนะเรื่องบำรุงกาย
ส่วนจิตต์บมีสบาย           ศิระกลุ้มอุราตรึง
แม้หายก็พลันยาก          จะลำบากฤทัยพึง
ตริแต่จะถูกรึง                อุระรัดและอัตรา
 กลัวเป็นทวิราช            บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา            บละเว้นฤวางวาย
คิดใดจะเกี่ยงแก้              ก็บพบวึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย           จึงจะอุดแลเลยสูญ

 

อะไรกันที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโทมนัสเช่นนี้ และ ใครกันคือผู้ที่ทำให้พระองค์หายจากอาการประชวร เรื่องนี้จะมาเล่าให้ฟังครับ

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เริ่มต้นขึ้น เมื่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาครอบครองอินโดไชน่า อันประกอบด้วย โคชิน ตังเกี๋ย อันนัม กัมพูชาและบางส่วนของลาว มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา

.

ต่อมาฝรั่งเศสก็อ้างว่า ดินแดนของลาวเดิมเป็นสิทธิของเวียดนาม ตามที่เจ้าอนุวงศ์เคยทำสัญญายกเมืองลาวให้เวียดนาม เพื่อขอลี้ภัยการเมือง ในคราวที่เจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏในสมัยรัชกาลที่ 3 และเมื่อเวียดนามเป็นดินแดนในการคุ้มครองของฝรั่งเศสแล้ว จึงสมควรที่แผ่นดินลาวต้องเข้ามาอยู่ในการดูแลของฝรั่งเศสด้วย

.

รัฐบาลสยามจึงได้ส่งพลตรีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าน้องยา เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมให้ขึ้นไปตั้งกองบัญชาการลาวพวนอยู่ที่เมืองหนองคายเพื่อป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศส

.

    23 พฤษภาคม พ.ศ.2436 ร.ศ.112 มองซิเอร์ลุซ ชาวฝรั่งเศส  คุมทหารญวนในสังกัดฝรั่งเศสเข้าปล้นค่ายยึดเมืองคำมวน เมืองหน้าด่านพระราชอาณาเขตสยามซึ่งมี  “พระยอดเมืองขวาง”  เป็นข้าหลวงรักษาเมือง ซึ่งก็มิได้ต่อสู้ขัดขวาง  พราะเกรงกระทบไมตรีระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส

.

รัฐบาลสยามได้พยายามประท้วงไปทางฝรั่งเศส แต่ก็ไม่เป็นผล ฝรั่งเศสยืนกรานว่า เมืองคำมวนเป็นของฝรั่งเศส และพระยอดพระยอดเมืองขวางก็คือผู้บุกรุก  “มองซิเออร์ปาวี”  ยื่นประท้วงโดย  “ให้ลงโทษพระยอดเมืองขวางสถานหนักและให้สยามประเทศจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวทหารฝรั่งเศส  ญวนและเขมรที่ถูกฆ่าตาย”  เหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำไปสู่คดีประวัติศาสตร์ “พระยอดเมืองขวาง” และ วิกฤตการณ์   ร.ศ.112 “ ในเวลาต่อมา

.

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2436 ทหารญวน เขมรในสังกัดของฝรั่งเศส ก็ได้ยกเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและส่งเรือปืนลูแตง ล่องปากเจ้าพระยาเข้ามายังพระนคร โดยอ้างว่า เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในสยาม (ตอนนั้นมีชาวฝรั่งเศสอยู่ในสยามเพียง 3 คน และไม่มีกิจการค้าใด ๆ อันเป็นผลประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง)

ภาพอนุสาวรีย์ของนาย โอกุสต์ ปาวี สนามหน้าหอพระแก้ว กรุงเวียงจันทน์

โอกุสต์ ปาวี มีชื่อเต็มว่า ฌ็อง มารี โอกุสต์ ปาวี (ฝรั่งเศส: Jean Marie August Pavie; 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1847 – 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1925)[1] นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ผู้สำรวจดินแดนบริเวณฝั่งแม่น้ำโขง เคยเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1892

ปาวีเป็นผู้ยื่นคำขาดต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ให้สยามยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่กำลังมีเรื่องพิพาทให้ฝรั่งเศสทั้งหมด แต่เมื่อสยามให้คำตอบไม่เป็นที่พอใจ ปาวีจึงเดินทางออกจากราชอาณาจักรสยามทันที ถือเป็นการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต จากนั้นกองทัพเรือฝรั่งเศสได้ยกเรือรบ ประกอบด้วยเรือแอ็งกงสต็อง เรือกอแม็ต และเรือฌ็อง บาติสต์ แซ เข้ามาปิดอ่าวไทย ทำให้สยามยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องและยกดินแดนลาวทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศส เป็นพื้นที่ประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตร ต่อมา เขาดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ของดินแดนใหม่ ทางฝรั่งเศสได้สร้างอนุสาวรีย์ของปาวีกำลังได้รับการกราบไหว้จากชาย-หญิงลาว ตั้งอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ ซึ่งหลังจากประเทศลาวได้รับเอกราช อนุสาวรีย์ของปาวีได้ถูกแยกชิ้นส่วนนำไปทิ้งแม่น้ำโขง ต่อมาสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเวียงจันทน์ได้กู้นำไปเก็บรักษาไว้ที่สถานทูต ส่วนรูปหล่อชาย-หญิงลาว นำไปเก็บรักษาที่สนามหน้าหอพระแก้ว กรุงเวียงจันทน์

 

ในเดือนกรกฎาคม ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสได้ขออนุญาตแกมบังคับต่อรัฐบาลสยาม ขอนำเรือปืน 2 ลำ คือ เรือสลุปแองคองสตังค์ (Inconstant) และเรือโคแมต (Comete) เข้ามาเพิ่มเติม รัฐบาลสยามเห็นว่า เป็นการบีบบังคับและจะนำไปสู่การเสียเปรียบยุทธศาสตร์ทางทหาร จึงไม่อนุญาต พร้อมกับเร่งเสริมสร้างแนวป้องกันการรุกรานอย่างเร่งด่วน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ พลเรือจัตวาพระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นแม่กองในการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยาจากการรุกรานจากกองเรือรบฝรั่งเศส ที่สืบทราบว่าเริ่มเดินทางออกจากท่าเรือในไซ่ง่อนแล้ว !!!

.

.

ทรงให้ปรับปรุงป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทรเป็นการเร่งด่วน โดยติดตั้งปืนใหญ่อันทันสมัยอันทันสมัย วางตาข่าย สนามทุ่นระเบิด ขวากกีดขวางที่บริเวณปากน้ำ และให้เตรียมเรือรบหลวง 5  ลำ ลอยลำเตรียมพร้อมอยู่ทางด้านทิศเหนือของป้อมพระจุลจอมเกล้า แต่เรือรบของสยามที่มีอยู่ในเวลานั้นเป็นเรือที่ล้าสมัยหรือเป็นเรือโดยสาร มีเรือรบที่พอจะต่อกรกับเรือรบฝรั่งเศสได้เพียง 2 ลำ คือ เรือมกุฎราชกุมาร และ เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เท่านั้น !!!

.

.

ส่วนการป้องกันพระนครทางบก  มีกองทัพบกที่ดูจะล้าสมัยทำหน้าที่รักษาพระนครรอบนอก กระจายกำลังไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ตั่งแต่เมืองสมุทรปราการยันพระโขนง  ภายในกำแพงพระนครก็ได้กระจายกำลังไปรักษาพื้นที่ย่านสระปทุม บางรักและฝั่งธนบุรี  พร้อมกันนั้นยังมีทหารอาสาสมัคร ของพระยาสุรศักดิ์มนตรี  อีกประมาณ 1,800 คน กระจายกำลังกันรักษาพระนครอยู่ทั่วไป

.

.

13  กรกฎาคม  เรือรบฝรั่งเศสก็ได้รุกผ่านเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่คาดการณ์ไว้ โดยมีเรือ เจ.เบ.เซย์ (Jean Baptist Say) เป็นเรือนำร่อง ป้อมพระจุลจอมเกล้าจึงได้ยิงปืนใหญ่เข้าสกัด ต่างฝ่ายก็ระดมยิงตอบโต้กัน เรือรบไทยที่จอดอยู่เหนือป้อม ก็เข้าระดมยิงไปยังเรือรบฝรั่งเศส เรือนำร่องของฝรั่งเศสถูกยิงจนไปเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง การรบดำเนินไปได้เพียง “ครึ่งชั่วโมงเศษ” ก็สิ้นสุดลงเพราะเป็นคืนเดือนมืด เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำจึงสามารถตีฝ่าแนวป้องกันของสยาม เข้ามาได้เทียบเท่าอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในพระนครได้สำเร็จ และได้หันปืนใหญ่น้อยบนเรือจังก้าเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ทหารรักษาพระนครบางส่วนก็เตรียมเข้าสู้แลกชีวิตแล้ว

.

 ในสงครามรุกรานของเรือปืนฝรั่งเศสในครั้งนี้ ฝรั่งเศสสูญเสียทหารไปเพียง  3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ส่วนสยามเสียทหารไปทั้งหมด 8 นาย และบาดเจ็บ 40 นาย

.

พูดกันตามจริง กองทัพของสยามในยุคนั้น เพิ่งได้พบกับศึกใหญ่ที่มีความทันสมัยเป็นครั้งแรก ศักยภาพของกองทัพในเวลานั้นมีไม่มากนักหรือจะเรียกว่า“ต่ำมาก”  ระบบการศึกษาทางทหารมีไว้เพื่อประดับเกียรติยศและไม่เคร่งครัดตามแบบแผนตะวันตกจริง ๆ  จนมีคำกล่าวว่า สยามรับวิธีการของฝรั่งมา โดยไม่เอาจิตวิญญาณของฝรั่งติดมาด้วย” ผมว่าจริงๆ แล้ว ก็คือคำว่า “ทหารสยามไม่มีวินัย” เอาซะเลยมากกว่า

.

มีการวิเคราะห์กันว่า แม้แต่ทหารที่ประจำอยู่บนเรือรบก็เป็นทหารที่เพิ่งเกณฑ์มาจากท้องนา นอกจากผู้บัญชาการบนเรือรบแล้ว ก็ไม่มีใครอื่นที่รู้วิธียิงปืนรบ นายทหารสามนายที่รักษาการณ์อยู่ก็มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาสยามได้ อีกสองนายเป็นชาวเดนมาร์กจากกรมแผนที่ และเพิ่งเดินทางเข้ามายังสยามได้ไม่นาน รวมทั้งเป็นอาสาสมัครที่พูดภาษาสยามไม่ได้แม้แต่คำเดียว ในระหว่างการต่อสู้กันนั้น นายทหารเหล่านี้วิ่งจนหอบไปที่ปืนแต่ละกระบอกสลับกัน พร้อมทั้งออกคำสั่งเป็นภาษาที่ทหารชาวสยามฟังไม่เข้าใจ 

.

.

องกำลังสยามในเวลานั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีเขี้ยวเล็บนะครับเรือพระที่นั่งมหาจักรี” ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนติดปืนอาร์มสตรอง พร้อมระวางขับน้ำ 2,400 ตัน ความเร็ว 15 น็อต ปืนขนาด 4.7 หอต่อสู้ 2 หอ และหัวเรือที่ใช้ชนได้ ระวางขับน้ำของเรือลำนี้ “สูงกว่า” เรือทั้งสามของฝรั่งเศสรวมกันถึง 600 ตัน เรือที่มีสมรรถนะสูงลำนี้กลับไม่ได้ร่วมสมรภูมิรบ

“…..คำตอบนั้นง่ายและเจ็บปวด รวมทั้งเป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่า ในสยามนั้น พระเจ้าแผ่นดินมาก่อนประเทศชาติ เรือพระที่นั่งมหาจักรีจอดอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง ภายใต้คำสั่งที่เข้มงวดไม่ให้เคลื่อนย้าย ยกเว้นเมื่อจำเป็นต้องใช้เป็นพาหนะให้พระเจ้าอยู่หัว… แต่ถึงจะมีความตั้งใจใช้เรือลำนี้ก็ตาม คงเป็นไปได้ยาก ข้าพเจ้าเชื่อว่า ตั้งแต่เรือลำนี้มาถึงสยาม ยังไม่มีการลองยิงปืนเลย ไม่มีใครในราชอาณาจักรนี้ ยกเว้นนายทหารชาวเดนมาร์ก 2 หรือ 3 นายเท่านั้นที่รู้วิธีใช้ กระสุนปืนถูกขนขึ้นเรือเป็นครั้งแรกเพียง 2 – 3 ชั่วโมงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ที่ปากน้ำ นอกจากนั้นเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่และยุ่งยาก ก็ต้องอาศัยวิศวกรชาวอังกฤษควบคุม ไม่มีชาวสยามคนใดรู้วิธีจัดการกับเครื่องยนต์นี้แม้แต่คนเดียว ส่วนคนในอารักขาของอังกฤษก็ไม่สามารถยื่นมือเข้าช่วยได้….. ”

.

อีกสาเหตุหนึ่งที่น่ารันทดใจ มีการวิเคราะห์ไว้ว่า “… แม้แต่การประชุมของเหล่าเสนาบดีมีสภาพคล้ายกับการทะเลาะกันในร้านเหล้า…เหล่าเสนาบดีไม่มีการทำงานที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว หรือแนวคิดและนโยบาย เมื่อคราวเกิดวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ.112  ข้าราชการในคณะรัฐบาลสยามขณะนั้นมีความคิดเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย… ฝ่ายหนึ่งนำโดยพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ สนับสนุนการใช้กำลังตอบโต้ฝรั่งเศส อีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มของกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ซึ่งสนับสนุนให้ใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่หลังจากทรงไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยดำเนินพระราโชบายตามข้อเสนอแนะของกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ การนองเลือดจึงไม่เกิดขึ้น !!!….”

.

การขาดแคลนทั้งกำลังพลที่ได้รับการฝึกฝนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ขาดผู้ชำนาญการใช้อาวุธที่เป็นชาวสยามเอง ขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมและทันสมัย ขาดแม่ทัพนายกองที่มีกลยุทธ ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ทันมัย และที่สำคัญการขาดความสามัคคีของขุนนางและชนชั้นผู้ปกครอง ปรากฏเป็นรอยร้าวแทรกตัวอยู่ในทุกหัวระแหงของราชสำนัก นำมาสู่ความอ่อนแอในทุก ๆ ด้านของประเทศสยาม !!!

.

เพียงเรือรบไม้สองลำที่แล่นฝ่าเข้ามาถึงชานพระนคร ก็สามารถสั่นสะเทือน ทำลายความเชื่อมั่นของ “จิตวิญญาณ” แห่งราชสำนักสยามให้พังทลายลงได้อย่างรวดเร็ว !!!

.

วันที่ 3 เดือนตุลาคม ร.ศ. 112 ก่อนวันคล้ายวันพระราชมภพ 20 วัน ได้เกิดข้อตกลงที่เรียกว่า สนธิสัญญาสันติภาพ” ขึ้น มีรายละเอียดดังนี้คือ

  1. ไทยจะยอมสละกรรมสิทธิ์ทั้งหมดเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรวมทั้งบรรดาเกาะทั้งหมดที่อาจมีขึ้นเมื่อน้ำลดหรือในบรรดาที่มีมาก่อนแล้วนั้น ให้เป็นกรรม สิทธิ์ของฝรั่งเศส
  2. ไทยจะไม่มีเรือรบไปไว้ หรือใช้ดินแดนในทะเลสาบ หรือลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำ โขงซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้มีการกำหนดกันไว้แล้ว
  3. ไทยจะต้องไม่มีค่ายทหารในเขต 25 กม. ตลอดแนวแม่น้ำ รวมทั้งพระตะบอง และเสียมเรียบ
  4. การป้องกันเมือง หรือเขตที่กำหนดในข้อ 3 สามารถทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
  5. ไทยและฝรั่งเศสจะทำสัญญาการค้าในเวลา 6 เดือนนับจากนี้ และไม่เก็บภาษี ระหว่างกัน
  6. ในการสร้างท่าเรือหรือกิจกรรมต่างๆ ตามลำแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง ถ้าฝรั่งเศสร้องขอ ความช่วยเหลือเช่น การใช้พื้นที่ ไทย จะไม่ปฏิเสธและจะให้ความช่วยเหลือในทันที
  7. ไทยจะให้ความสะดวกแก่คนในบังคับฝรั่งเศสในการเข้าออกไปมาในเขตที่ได้มีการกำหนดในข้อ 3
  8. ฝรั่งเศสสามารถตั้งกงศุลได้ตามที่เห็นสมควร
  9. ถ้ามีความเห็นหรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในสัญญาฉบับนี้ ให้ถือเอาภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก
  10. สัญญานี้ ให้มีผลบังคับใช้ใน 4 เดือนนอกจากสัญญาดังกล่าว

 

ยังมีภาคผนวกต่อท้ายมาด้วยคือ
1. ไทยต้องถอนกำลังออกไปจากพื้นที่ภายใน 1 เดือน
2. ไทยต้องรื้อค่ายทั้งหมดออกไปให้หมดด้วย

จากสนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้สยามต้องเสียสิทธิในการปกครองลาวนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมทั้งบรรดาเกาะแก่งทั้งหลายในแม่น้ำโขง แม้จะห่างจากฝั่งไทยเพียง 1 เมตร ก็ให้ถือว่าเป็นดินแดนของลาวจนถึงปัจจุบัน !!!
.

นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังได้เรียกร้องเงินค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้เงินที่เรียกว่า “เงินถุงแดง” ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ที่เก็บสะสมจากกำไรในการทำการค้ากับต่างประเทศไว้ในท้องพระคลังหลวง รวมกับเงินที่เรี่ยไรจากข้าราชบริพาร รวมเป็นเงินจำนวน 3 ล้านบาท ออกมาชดใช้ค่าเสียหายตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง !!!

.

.

ความเจ็บช้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น “เจ็บปวดยิ่งกว่าผู้ใดในประเทศสยาม” ทรงตรัสพ้อและท้อพระทัยอยู่เป็นเนืองนิจ ไม่เป็นอันเสวยหรือบรรทมติดต่อกันหลายวันหลายคืน จนพระวรกายซูบผอมและทรงพระประชวรหนัก ไม่ยอมเสวยพระโอสถ”นอนซมพระองค์บนที่พระบรรทมเหมือนจะสิ้นแผ่นดิน ทั้ง ๆ ที่ใกล้กับวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 
.

ทรงวิตกทุกข์ร้อนกับกลอุบายชาวต่างชาติที่หมายเข้ามายึดครองแผ่นดินและทรงเจ็บช้ำพระราชหฤทัยในความอ่อนแอของสยาม ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนี้อาจรุนแรงถึงขั้น สิ้นแผ่นดิน” ดังเช่นสองกษัตริย์ “ทวิราช” อันหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศมรินทร์และพระเจ้าอุทุมพร สองกษัตริย์ผู้ไม่สามารถจะปกป้องกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้จากข้าศึกศัตรูเคยประสบในอดีต

เมื่อเป็นเช่นนั้นพระนามของพระองค์ก็จะเป็นที่ติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้นในอนาคตเช่นเดียวกัน ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์บทกวีรำพึงที่ทรงมีพระราชปรารภพระราชทานแก่ผู้ใกล้ชิดของพระองค์ ดั่งเช่น ที่แสดงให้เห็นไว้ตั้งแต่ในตอนต้น

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ได้รับพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าว ในยามที่พระมหากษัตริย์ผู้สถิตอยู่เหนือชีวิตไพร่ฟ้าแลพระศาสนาแห่งราชอาณาจักรสยามทรงมีความระทมทุกข์ เศร้าโศกเสียพระหฤทัยหนักเพียงนี้

จึงทรงพระนิพนธ์ถวายตอบพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทันที และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรพระนิพนธ์แล้ว ก็ทรงกลับมีพระมานะอดทน กลับมายอมรับการถวายรักษาพยาบาล เพื่อทรงร่วมต่อสู้กับปวงไพร่ฟ้าข้าไทของพระองค์อีกครั้ง

 

⊙ ดุจเหล่าข้าพละนาวะเหว่ว้ากะปิตัน..     นายท้ายฉงนงันทิศทางก็คลางแคลง
นายกลประจำจักรจะใช้หนักก็นึกแหนง…….จะรอก็ระแวงจะไม่ทันธุระการ
อึดอัดทุกหน้าที่ทุกทวีทุกวันวาร………….. เหตุห่างบดียานอันเคยไว้น้ำใจชน
ถ้าจะว่าบรรดากิจก็ไม่ผิด ณ นิยม…………..เรือแล่นยทะเลลมะเปรียบต่อก็พอกัน
ธรรมดามหาสมุทรมีคราวหยุดพายุผัน……..มีคราวสลาตันตั้งระลอกกระฉอกฉาน

⊙ ผิวพอกำลังเรือก็แล่นรอดไม่ร้าวราน……หากกรรมจะบันดาลก็คงล่มทุกลำไป
ชาวเรือก็ยาอมรู้ฉนี้อยู่ทุกจิตต์ใจ…….แต่ลอยอยู่ตราบใดต้องจำแก้ด้วยแรงระดม
แก้รอดตลอดฝั่งจะรอดทั้งจะชื่นชม……. เหลือแก้ก็จำจมให้ปรากฏว่าถึงกรรม
ผิวทอดธุระนิ่งบวุ่นวิ่งเยียวยาทำ………….ที่สุดก็สูญลำเหมือนที่แก้ไม่หวาดไหว
ผิดกันแต่ถ้าแก้ให้เต็มแย่จึงจมไป….ใครห่อนประมาทใจว่าขลาดเขลาและเมาเมิน

เสียทีก็มีชื่อได้เลื่องลือสรรเสริญ…….สงสารว่ากรรมเกินกำลังดอกจึงจมสูญ
นี้ในน้ำใจข้าอุปมาบังคมทูล…………. .ทุกวันนี้อาดูรแต่ที่พระประชวรนาน
เปรียบตัวเหมือนอย่างม้านี้เป็นพาหนะยาน.. ผูกเครื่องบังเหียนอานประจำหน้าพลับพลาชัย
คอยพระประทับอาสน์กระหยับบาทจะพาไคล……..ตามแต่พระทัยไท ธ จะชักไปซ้ายขวา
ไกลใกล้บได้เลือกจะกระเดือกเต็มประดา…. ตราบเท่าจะถึงวาระชีวิตมลายปราณ

⊙ ขอตายให้ตาหลับด้วยชื่อนับว่าชายชาญ.. เกิดมาประสบภารธุระได้บำเพ็ญทำ
ด้วยเดชะบุญญาภินิหารแห่งคำ………………สัตย์ข้าจงได้สำฤทธิดังมโนหมาย
ขอจงวราพาธบรมนาถเร่งเคลื่อนคลาย…พระจิตต์พระวรกายจะผ่องพ้นที่หม่นหมอง
ขอจงสำเร็จราชะประสงค์ที่ทรงปอง……ปกข้าฝ่าละอองพระบาทให้สามัคคี
ขอเหตุที่ขุ่นขัดจะวิบัติพระขันตี…….จงคลายเหมือนหลายปีจะลืมเลิกละลายสูญ
ขอจงพระชนมายุสถาวรพูน…….เพิ่มเกียรติอนุกูลสยามรัฐพิพัฒน์ผลฯ 

.

หลังจากทรงหายอาการประชวร ทรงมีพระหฤทัยแน่วแน่ที่จะทำนุบำรุง ดำรงแผ่นดินสยามให้สืบต่อไปภายภาคหน้า ไม่ขอปองเป็นเช่น “ทวิราช” เช่นในอดีต จึงทรงให้ปรับปรุงระบบกองทัพสยามขึ้นใหม่ ด้วยทรงพิจารณาเห็นว่า เพียงการว่าจ้างชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับการเรือ และป้อม รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการทหารนั้น ไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศสยามเอาไว้ได้อีกแล้ว จึงโปรดส่งพระราชโอรสทั้งหลายออกไปศึกษาวิชาการ วิชาทหารและวิทยาการทั้งปวง ณ ทวีปยุโรป รวมทั้งให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษา การทหาร การปกครองภายในประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ถูกต้องเหมาะสมตามแบบแผนของสากล

.

     ⊙ เพราะไม่ปองเป็นเช่น”ทวิราช”    ไทยทั้งชาติจึงกลับมามีศักดิ์ศรี

     โลกแซ่ซ้อง ราโชบาย ผูกไมตรี      หลากวิธีขึ้นทัดทานชาติศัตรู

      แดนสยามจึงรอดพ้นจากหุบเหว    วิลาศเลว เศษฝรั่ง ควรได้รู้

      พระปณิธาน นำสยาม ลุกยืนสู้       ให้โลกดู ชูธงไทย ใจอารยชน


———————————————-
ขอบคุณ ข้อมูล จาก บทความของ คุณ วรณัย พงศาชลากร
เรียบเรียงใหม่ และเพิ่มเติมข้อมูล โดย ทีมงาน สยามมานุสติ

 —————————————-
ปิดท้าย ด้วย บางส่วนของสารคดี ชุด เหตุการณ์ ร.ศ.112 ของ สำนักข่าว TPBS และ ฉากจำลองเหตุการณ์ ในสมัย ร.ศ.112 ที่ปรากฏในภาพยนต์อิงประวัติศาสตร์ “ทวิภพ” ปี พ.ศ. 2547