วันพฤหัสบดี 28 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เสวนาปราบโกงยุค คสช. ชี้ต้องเอาประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว

วันต่อต้านคอร์รัปชั่นของไทยตรงกับวันที่ 6 กันยายน ของทุกปี และเหมือนเช่นเคย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โต้โผในการจัดกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2560 ได้ขนทัพวิทยากรชื่อดังหลากสาขาอาชีพ ได้แก่ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน ปริญญ์  พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประสงค์ เลิศรัตน วิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และนิติพงษ์ ห่อนาค ศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลง มาร่วมวงเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชั่นเก่า”  เพื่อไขคำตอบแห่งการหลุดพ้นวงจรอุบาทว์ที่คู่สังคมไทยมายาวนาน

 

ถามตรงๆ “ทหาร” ไม่ “คอร์รัปชั่น” จริงหรือ ???

 

วงพูดคุยเริ่มต้นเปิดประเด็นโดย “ประสงค์”ที่ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า การใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการประจำ 300 กว่าคน ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่กลับไม่มีทหารสักคน แสดงว่าทหารไม่มีการคอร์รัปชั่นใช่หรือไม่ การใช้มาตรา 44 นั้นไม่โปร่งใส โยกย้ายใครเราไม่เคยรู้ข้อกล่าวหา การที่ลงโทษไป 80 รายก็ไม่รู้ลงโทษอย่างไร เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ไม่ได้สร้างให้สังคมเกิดความมั่นใจ เป็นการเล่นงานพวกตรงข้ามหรือไม่ พวกเดียวกันไม่เล่น อย่างกรณีที่มีการตั้งคำถามไม่ชอบมาพากลกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่ผูกขาดขุดลอกคลอง หรือ โซลาร์ฟาร์มก็ไม่มีการสอบสวน หรือการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่สอบแล้วไม่ผิดเพราะอะไรก็ไม่เปิดเผย หรือแม้แต่เครื่องตรวจระเบิด GT200 เรื่องก็ยังไม่ถึงไหน การกุมอำนาจไว้มากๆ โดยไม่มีการตรวจสอบถือว่าอันตรายที่สุด ทางออกคือต้องเปิดเผยข้อมูลทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับจริงๆ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ จึงจะแก้ถูกจุด

 

“ขอย้ำว่าการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบจะทำให้โอกาสคอร์รัปชั่นลดลง โดยเฉพาะกับ 4 เรื่องสำคัญ 1.ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ต้องรื้อกรมบัญชีกลางก่อน เพราะการให้เข้าถึงข้อมูลแย่ที่สุด 2.ข้อมูลระบบภาษี ที่หน่วยงานด้านภาษีมักอ้างเป็นความลับ ใช้ดุลพินิจในการจัดเก็บถึงมีปัญหา 3.ข้อมูลงบประมาณ ควรเบิกจ่ายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์รายงานผลแบบเรียลไทม์ จะรู้เลยว่าหน่วยงานไหนเบิกไปแล้วบ้าง แล้วถ้างานไม่เสร็จก็จะเห็น และ 4.ข้อมูลกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะป.ป.ช. คดีที่มีมติตีตก ต้องเปิดเผยได้ว่าใช้ดุลพินิจอย่างไร ไม่ใช่อ้างว่าผมไม่ใช่คู่กรณี”ผอ.สถาบันอิศรา ระบุ

 

“บิ๊กแบงเกอร์” ฟันธง คอร์รัปชั่น รูปแบบจะใหม่ไปเรื่อยๆ

 

เมื่อมีการเปิดประเด็นถึงปัญหาในระบบภาษี คนหนึ่งที่เจอประสบการณ์ตรงกับตัว อย่าง “บรรยง” ได้เล่าให้ฟังว่า”ในฐานะที่เป็นเจ้าของตึก เวลาจะจ่ายภาษีเจ้าหน้าที่ก็ถามว่า เหมือนปีที่แล้วไหม ใต้โต๊ะ 8 แสน จ่ายจริง 1.6 ล้าน ผมบอกไม่เอา เขาก็บอกมาว่าถ้าอย่างนั้นต้องจ่าย 6 ล้าน  ผมก็ยอม แต่เขาก็ไม่เก็บจริง เพราะคนอื่นจะเดือดร้อนหมด จึงฝากรูปแบบการเก็บภาษีของเมืองนิวยอร์ก ที่ระบุชัดเจนและเปิดเผยว่าแต่ละตึกจ่ายภาษีเท่าไหร่ ถ้ากทม.ทำได้อาจเก็บภาษีได้อีกหลายหมื่นล้าน”

 

นอกจากนั้น บรรยง มองว่ารัฐบาลใหม่ไม่รู้จะได้เห็นเมื่อไหร่ เห็นแล้วจะเก่าหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คอร์รัปชั่นมันจะใหม่ไปเรื่อยๆ ดัชนีความโปร่งใสก็แย่ลง ภาคเอกชนทำงานหนักก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่รัฐบาลกลับบอกว่าเศรษฐกิจดีเพราะปราบโกงได้ผล ตนมองว่าต้องใช้การปลูกฝัง การป้องกัน และการปราบปราม ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาใช้วาทกรรมเรื่องคุณธรรมจริยธรรมน้อยมาก เขาใช้ระบบที่ทำให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ เอาความเห็นแก่ตัวนั้นไปสู้ ต้องใช้คำขวัญที่ว่า โตไปไม่ยอมให้ใครโกง ทางที่จะป้องกันคอร์รัปชั่นได้ ต้องเอาประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาหลอมรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน

 

ส่วนการป้องกัน ง่ายสุดคือ ลดบทบาท ขนาดและอำนาจรัฐ คือ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เรามุ่งขยายรัฐ ดูได้จากงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี เสนอว่า ประเทศไทยควรมีสื่อที่ทำงานเชิงสืบสวนให้มากขึ้น เช่นเดียวกับสถาบันอย่างทีดีอาร์ไอ ในหลายประเทศมีเป็นร้อยๆ แห่ง การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐแบบไม่ต้องขอและต้องสร้างกลไกให้มีผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบกับรัฐ โดยตั้งกองทุนส่งเสริมภาคประชาชนทำโครงการตรวจสอบการลงทุนของรัฐ พัฒนาให้เป็นอาชีพเพื่อให้มีพลังเกิดขึ้น ถ้าทำแบบนั้นได้จะลดการพึ่งพารัฐ จนไม่สามารถขยายตัวได้อีก

 

ระบบราชการ 0.4 อุปสรรคปราบโกง !!!

 

ด้านผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ อย่าง “ปริญญ์” ระบุว่า ทุกวันนี้บริษัทเอกชนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ถูกตรวจสอบมากขึ้น โลกเปลี่ยนไป เดิมเอกชนอาจจะคิดถึงกำไรอย่างเดียว ไม่ได้แล้ว เราพูดถึงระบบ 4.0 แต่ในคนในภาคราชการยังพูดเองเลยว่าเป็นแค่ 0.4 หรือ ลบ 4 ต่างจากอินเดียที่ทำได้จริง ผู้นำดึงภาคเอกชนเข้าร่วมแก้คอร์รัปชั่นโดยใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วย อย่างไรก็ตาม ประเทศใดมีกฎหมายมากเกินไป คอร์รัปชั่นก็จะมากตามไปด้วย

 

“กรธ.” โชว์ของ “รัฐธรรมนูญ 60” ปราบโกง

 

ขณะที่หนึ่งในทีมร่างรัฐธรรมนูญ อย่าง “ภัทระ” มองว่า การใช้มาตรา 44 อาจทำให้คนคอร์รัปชั่นขยาดได้บ้าง แต่การเชือดไก่ให้ลิงดูอย่าง จีน หรือเกาหลีใต้ งานวิจัยชี้ชัดว่าแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ผล ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 60 นั้นมีกลไกป้องกันนักการเมืองคอร์รัปชั่นไว้ ถ้าทุจริตเลือกตั้ง จะเอาคะแนนนิยมมาฟอกตัวไม่ได้ และกลับสู่การเมืองอีกไม่ได้ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ถ้าเอื้อประโยชน์เรื่องงบประมาณ ใครรู้เห็นเป็นใจ สภาทั้งสภาไปหมด อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังส่งเสริมภาคเอกชน ประชาชนในการต้านทุจริตด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังเขียนห้ามผู้บริหารองค์กรอิสระเข้าไปคลุกคลีกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่จัดขึ้น หรือร่วมเดินทางไปต่างประเทศด้วย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกังวลเรื่องนี้มาก การเรียนหลักสูตรคือช่องสมคบที่น่ากลัวในการเอื้อประโยชน์ จึงระบุเลยว่าผู้บริหารองค์กรอิสระต้องทำงานเต็มเวลา รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการตรวจสอบเยอะมาก เป็นการรื้อและจัดระบบใหม่ให้บูรณาการ

 

“ดี้ นิติพงษ์” ไม่โทษนักการเมือง/กระตุ้นจิตสำนึกคนรุ่นใหม่

 

ไม่เพียงแต่ความเห็นในเชิงวิชาการที่ต้องรับฟัง มุมมองจากคนในแวดวงบันเทิงก็ได้สะท้อนหลายอย่างที่น่าสนใจ “ดี้ นิติพงษ์”มองว่า เรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องจิตใต้สำนึก เป็นเรื่องของความโลภและผลประโยชน์ ที่ไหนมีสองสิ่งนี้ ที่นั่นมีคอร์รัปชั่น จึงต้องทำให้คนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องน่าอาย และยังมองว่า ความจริงคอร์รัปชั่นมาจากเรื่องดี เริ่มต้นจากสินน้ำใจ จากสินน้ำใจมันค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเป็นสินบน เรื่องนี้ฝังกับสังคมไทยมานาน ตนจึงไม่โทษนักการเมือง เพราะมันเป็นทุกระดับในสังคม บริษัทเอกชนก็มี บางแห่งเตรียมเงินสดเป็นปึกเพื่อเอาไปให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทำกันจนเป็นเรื่องปกติ จึงต้องช่วยกันรณรงค์ ถ้าประเทศเราไม่มีวินัยก็จะเป็นแบบนี้อยู่

 

ในช่วงท้ายการเสวนา มีคำถามจากผู้เข้าร่วม แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเสวนาสักเท่าไหร่ว่า “เรียนรู้อะไรจากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์” คนแรกที่ตอบคำถามนี้คือ ผอ.สถาบันอิศรา ที่มองว่า สะท้อนให้เห็นอำนาจรัฐที่ล้มเหลว อ่อนแอ ที่ปล่อยให้จำเลยคนสำคัญหนีไปได้ บางประเทศ ผู้นำถูกใส่กุญแจมือ เรื่องนี้มีคนยกทฤษฎี win-win ไม่ได้ คนพังพินาศคือประเทศชาติ ขณะที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตอบคำถามดังกล่าวว่า คุกบ้านเรามีไว้ขังหมากับคนจน ถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าบังคับใช้กฎหมายเสมอภาคสังคมจะอยู่กันปกติสุข การที่ผู้มีอำนาจหายไปสะท้อนว่าโครงสร้างใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม มีปัญหา

 

“การกุมอำนาจไว้มากๆ โดยไม่มีการตรวจสอบถือว่าอันตรายที่สุด ทางออกคือต้องเปิดเผยข้อมูลทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับจริงๆ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ จึงจะแก้ถูกจุด”

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

 

“คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องจิตใต้สำนึก เป็นเรื่องของความโลภและผลประโยชน์ ที่ไหน มีสองสิ่งนี้ ที่นั่นมีคอร์รัปชั่น จึงต้องทำให้คนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกว่า คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องน่าอาย”

นิติพงษ์ ห่อนาค

 

“การป้องกันการคอร์รัปชั่น ง่ายสุดคือ ลดบทบาท ขนาดและอำนาจรัฐ คือ ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา เรามุ่งขยายรัฐ ดูได้จากงบประมาณ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี”

บรรยง พงษ์พานิช