วันเสาร์ 20 เมษายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

“โรงแรมแห่งแรกในสยาม”

การโรงแรมในประเทศสยาม เริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในราวปี พ.ศ. 2406  โดยปรากฎในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ได้กล่าวถึงการเปิดบริการโรงแรมในประเทศสยาม คือ โรงแรมยูเนี่ยนโฮเต็ล และโรงแรมบอร์ดดิ้งโฮเต็ล

เริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 4 ซึ่งประชาชนมีการไปมาหาสู่กัน ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาที่สยามประเทศในเวลานั้นก็จะไปพักตามศาลาวัด ต่อมาเมื่อคณะทูตซึ่งมี หม่อมราโชไทย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) กลับจากยุโรป ได้นำแนวความคิดของการสร้างโรงแรมมาพัฒนา จนกระทั่งเมื่อหนังสือพิมพ์รายปีของ หมอบรัดเลย์ (D.B.Bradley) หลายฉบับได้กล่าวถึงการเปิดโรงแรมในประเทศใหม่ เช่น
พ.ศ. 2407 (ค.ศ. 1864)  มีการพูดถึง โรงแรม ยูเนี่ยนโฮเต็ล (Union Hotel) และ บอร์ดดิ้งโฮเต็ล (Boarding Hotel) โอเรียนเต็ล (Oriental Hotel) , ฟิชเชอร์ โฮเต็ล (Fisher’s Hotel) อีกด้วย โดยทั้งหมดเป็นโรงแรมที่บริหารโดยต่างชาติทั้งสิ้น

(เป็นที่น่าเสียดาย หลายๆโรงแรม ที่ไม่มีภาพประกอบให้เห็นได้ชัดเจน)

นอกจากโรงแรมในกรุงเทพฯแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าที่ตำบลอ่างหิน แขวงเมืองชลบุรี เพราะที่อากาศดีการทำเป็นสถานที่ตากอากาศให้พวกฝรั่งไปพักผ่อนได้ ลักษณะของโรงแรมเป็นอาคาร 2 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ต่อมาได้ชื่อว่า ตำหนักมหาราชาและตำหนักมหาราชินี มีเตียงนอนไว้บริการรวม 44 เตียง เพื่อให้บริการแก่ชาวต่างประเทศที่เดินทางพักผ่อนตากอากาศ

 

จนมาถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 ช่วง ปี พ.ศ. 2413 ธุรกิจโรงแรม มีการปรับปรุงโรงแรมครั้งใหญ่ให้มีความสะดวกสบายและหรูหรามากขึ้นกว่าเดิม มีการนำไฟฟ้าเข้าไปใช้ในโรงแรมเป็นครั้งแรกที่ ” โรงแรมโอเรียนเต็ล ” หรือ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพในปัจจุบัน มีการเปิดห้องอาหารภายในโรงแรมแบบเต็มระบบ

โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก โดยนาย ซี. ซาลเจ กะลาสีเรือชาวเดนมาร์ก เป็นผู้ซื้อกิจการมาดำเนินการ ต่อมานายฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน เข้ามาบริหารงานต่อ

โรงแรมโอเรียนเต็ลเปลี่ยนเจ้าของและปรับปรุงมาหลายครั้ง หลายยุคสมัย เคยต้นรับแขกผู้มีเกียรติ อาทิ มกุฎราชกุมารนิโคลัสแห่งรัสเซียในปี 2434 เจ้าชายลุยจี อาเมดิโอ เชื้อพระวงศ์อิตาลี ในปี 2438 และนักเขียนชื่อดังของอังกฤษ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดเป็นกองบัญชาการของทหาร เมื่อสงครามเลิกในปี พ.ศ.2486 ก็ถูกใช้เป็นกองบัญชาการของกองทัพสหประชาชาติ นับว่าเป็นระยะที่โรงแรมทรุดโทรมก่อนได้รับการซ่อมแซม

————

และในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 ธุรกิจโรงแรมในประเทศสยามก็รุ่งเรืองขึ้น มีการเปิดโรงแรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ในปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) มีโรงแรมเปิดใหม่คือ Falck’s German, Hamburg, Marien, Siam และในปี พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) Carter’s, Norfolk แต่โรงแรมทั้งหมดที่กล่าวไป สร้างขึ้นและบริหารงานโดยชาวต่างชาติทั้งสิ้นเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามโรงแรมที่มีเจ้าของธุรกิจเป็นของคนสยามช่วงแรกนั้น หากติดตามค้นคว้า ก็จะพบว่า มีโรงแรมแรกๆนั้นถูกตั้งขึ้นนั้นถูกพบในดินแดนหัวเมืองเหนือเขต เชียงใหม่  เช่นโรงแรม “ศรีประกาศ” ที่ตั้งอยู่ใกล้สะพานนวรัฐ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่ามีอายุมาตั้งแต่ สมัย ปีพ.ศ. 2458 นั้นเอง

โรงแรม “ศรีประกาศ”ถูกสร้างขึ้นครั้งแรก เนื่องจาก หลวงศรีประกาศ วิชยาภัย อดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรม และกรรมการสุขาภิบาล ต้องการให้ปรับปรุงบ้านพักเป็นสถานที่รับรองชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอเมริกัน ในสมัย สงครามเวียดนาม  ศรีประกาศเป็นอาคารทรงโคโลเนียล หลาย ๆ คนสงสัยว่าทำไมถึงไม่เป็นทรงล้านนา เชื่อว่า ได้รับอิทธิพลมาจากอเมริกา  การที่เจ้าของอาอาคารรุ่นแรกๆได้ไปอเมริกา เพื่อติดตามมิชชั่นนารีในยุคนั้น

โรงแรม “ศรีประกาศ”มีอัตราค่าบริการในยุคเริ่มแรก ตกคืนละ 10 บาท และมีการปรับราคาที่พักขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัย  ราคา ล่าสุด ตกที่ 50บาทต่อคืน ก่อนปิดตัวในปีพ.ศ.2544

 

 

ปัจจุบันโรงแรม ศรีประกาศ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโรงแรมอีกแล้ว เนื่องจากอาคารโรยราตามสภาพเวลา
และอาคารเก่าในยุคสมัยเดียวกันที่เป็นเอกลักษณ์และสามารถเล่าเรื่องราวอดีตของเมืองเชียงใหม่
ก็ค่อย ๆ หายไป โรงแรม ศรีประกาศ  จึงกลายเป็นอาคารสำคัญแห่งหนึ่งที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้เล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ “ศรีประกาศ”จึงกลายเป็นพื้นที่ที่เปิดเป็น “พื้นที่กิจกรรม” บ้างก็เป็น”พิพิธภัณฑ์เฉพาะกิจ” เรื่องนี้ต้องไปติดตามข้อมูลกับทายาทรุ่นสามของ หลวงศรีประกาศ ครับ

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2465 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญาชาการการรถไฟในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นมีชื่อว่า “โรงแรมรถไฟหัวหิน” เป็นโรงแรมที่สร้างขึ้นใกล้กับสถานีรถไฟหัวหิน เป็นโรงแรมแรกที่สร้างขึ้นโดยคนไทย มีคนไทยเป็นผู้บริหารงานและเป็นโรงแรมที่เป็นโรงแรมริมชายหาด เปิดบริการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2466 ปัจจุบันเป็นโรงแรมในเครือเซ็นทารา นั้นเอง

ขึ้นชื่อว่าพระราชวังพญาไท…แต่ก็เคยถูกระบุในประวัติศาสตร์ว่า วังแห่งนี้เคยถูกเปลี่ยนเป็น โรงแรม PHAYA THAI PALACE HOTEL เมื่อ พ.ศ. 2468

ใน สมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสำหรับให้ชาวต่างประเทศพัก เปิดเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 6 ที่จะพระราชทานพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นโฮเต็ลชั้นหนึ่งของประเทศ ตั้งแต่มีพระราชดำริจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์เพื่อพัฒนาการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ระหว่างนั้น ได้มีการใช้ พระราชวังพญาไทได้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของไทย ออกอากาศเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 กรมรถไฟดำเนินการโรงแรมวังพญาไทได้ 6-7 ปีก็เลิกกิจการเมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 เนื่องจากคณะราษฎรต้องการยึดวังส่วนพระองค์ เพื่อนำไปปรับสภาพเป็นโรงพยาบาลทหาร รัชกาลที่ 7 จึงพระราชทานวังนี้ให้เป็นสถานพยาบาล ของกองทัพบก และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ พระราชวังพญาไทยังเคยเป็นสถานที่จัดงานสำคัญหลายวาระ เช่น งานฉลองพระชนมายุ 6 รอบ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540, การจัดแสดงดนตรีของวง อ.ส.วันศุกร์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550, รวมทั้งการจัดการแสดงดนตรีต่างๆ เช่น ดนตรีคลาสสิก และดนตรีไทย เป็นต้น

ปัจจุบันพระราชวังพญาไทอยู่ในสภาพทรุดโทรมและกำลังอยู่ในระหว่างระดมทุนเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวร ภายใต้การดำเนินงานของ ชมรมคนรักวัง และ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

 

โรงแรมรัตนโกสินทร์ สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสากลร่วมยุค นำเสนอประเทศไทยในฐานะอารยประเทศทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจ (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในยุคสมัย รัชกาลที่ 8 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้สร้างอาคารสองข้างถนนราชดำเนินกลาง คือ โรงแรมรัตนโกสินทร์และโรงแรมสุริยานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2485 เพื่อรองรับแขกเมืองโดยให้บริการที่ดีเยี่ยม จนมีชื่อเสียงประกอบกับทำเลที่ตั้งในแหล่งชุมชน ต่อมามีโรงแรมเกิดขึ้นมากมายและมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้โรงแรมทั้งสองลดความสำคัญลงเพราะทำเลที่ตั้งแออัด จอแจ ความสะดวกในการเดินทางและหาที่จอดรถ

ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้เอกชนดำเนินการต่อโดยเปลี่ยนชื่อโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นโรงแรมรอยัล (Royal Hotel) และโรงแรมสุริยานนท์เป็นโรงแรมมาเจสติก (Majestic Hotel)