วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ วันราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

วันที่ 28 เมษายน นับเป็นอีกวันหนึ่งที่สำคัญยิ่ง หากนับถอยหลังไป ในวันนี้เมื่อ พุทธศักราช 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาพระองค์ใหญ่ ในพลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และ หม่อมหลวงบัว กิติยากร

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในครั้งนั้น นับว่าเป็นปรากฏการณ์ ครั้งแรก สำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตย ที่ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตาม กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยทั่วไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน “ราชาภิเษก” ได้มี พระบรมราชโองการสถาปนาพระอัครมเหสี โดยประกาศวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ความตอนหนึ่งว่า “มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

“ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถูกต้องตามกฎหมายและราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว”

ในปีพ.ศ.2489 เมื่อรัฐบาลในนามของประชาชนทั้งประเทศ กราบบังคมทูล อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราช สันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น ประเทศไทยขาดพระบรมราชินีมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหมั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นคือ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2492 ประชาชนชาวไทยจึงพากันตื่นเต้นยินดี ยิ่งได้ทราบว่าพระคู่หมั้นทรงมีพระสิริโฉมงดงาม มีพระปรีชาสามารถ

พระราชพิธีราชาภิเษก

และแล้วสำนักพระราชวังก็ได้ประกาศข่าวพระราชกระแสรับสั่งให้จัดเตรียมการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นเป็นลำดับแรก และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นลำดับถัดไป ซึ่งพระราชกระแสรับสั่งดังกล่าวได้มีประกาศไว้ในหนังสือ ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 23 เล่มที่ 67 ลงวันที่ 25 เมษายน 2493 เรื่อง การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 2493 เหตุการณ์สำคัญวันนั้น มีดังนี้

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2493 อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ซึ่งกำหนดจัดให้มีขึ้นที่พระตำหนักของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม เช้าวันนั้น ตามหมายกำหนดการ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ห้องรับแขกตำหนักสมเด็จพระพันวัสสา ฯ ในวังสมเด็จพระราชบิดา

โอกาสนั้น หม่อมเจ้า นักขัตรมงคล กิติยากร และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร มายังวังสระปทุม ประทับในห้องรับแขกอีกห้องหนึ่ง รอคอยการพระราชพิธี หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ อยู่ในชุดสีงาช้าง ผ้านุ่งเป็นผ้ายกทอง สวมสายสะพายปฐมจุลจอมเกล้า สวมสร้อยคอเพชร สร้อยข้อมือเพชร ของเก่าของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตุ้มหูเพชรของเก่าฝีมือทำขึ้นใหม่

ครั้นได้ เวลาพระฤกษ์ คือ เวลา 09.30 น. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ทรงพาหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ที่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดทะเบียนสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ลงนาม ซึ่งขณะนั้นมีชนมายุเพียง 17 ปีย่าง หม่อมเจ้านักขัตรมงคล จึงทรงลงพระนามในฐานะพระบิดา และหม่อมหลวงบัว ลงนามในฐานะพระมารดา แล้ว ทรงโปรดให้ราชสักขีลงนามเป็นลำดับต่อไป แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับ ณ ห้องพระราชพิธีบนพระตำหนัก เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อไป ซึ่งเวลาพระฤกษ์ในช่วงนั้นอยู่ระหว่างเวลา 10.24 – 12.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระพันวัสสา ฯ แล้วสมเด็จพระพันวัสสา ฯ ได้ถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์ แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามโบราณราชประเพณีแห่งการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

จากนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเจิมพระนลาฎพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงเจิมหน้าผากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามลำดับ เวลานั้น ทรงมีพระราชดำรัสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ด้วยว่า


”เอ้า ! หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เขามางานซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็ม ๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย”

หลังจากที่ทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินลงมายังห้องรับแขกอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่สองแถวในห้องรับแขกของวังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

เมื่อจบคำประกาศของอาลักษณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด แด่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เนื่องในการอันเป็นมหามงคลครั้งนี้ด้วย

พระราชพิธีในตอนบ่าย วันที่ 28 เมษายน 2493 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ประทับเหนือพระราชอาสน์ พระบรมวงศานุวงศ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้เวลามหามงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระชัยนาทนเรนทร ทรงรับฉันทานุมัติให้กล่าวถวายพระพรในนามของพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อทรงกล่าวจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ แล้วเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีทูตานุทูต สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในมหาสมาคมครั้งนั้น เมื่อจบพระราชดำรัสแล้ว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับฉันทานุมัติ ได้กล่าวถวายพระพรในนามของผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคม เมื่อกล่าวจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เสด็จขึ้น ชาวพนักงานประโคมแตร และกลองมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ พระบรมวงศานุวงศ์และพระประยูรญาติใกล้ชิด ได้ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานของที่ระลึกเป็นการตอบแทนคือ หีบเงินขนาดเล็ก มีพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยคู่กัน

งานเลี้ยงพระราชทานในคืนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นการภายใน ระหว่างพระญาติสนิทกับข้าราชบริพาร ไม่เกิน 20 คน นับเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เรียบง่ายที่สุด

วันรุ่งขึ้น วันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานโดยทางรถไฟไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ เป็นเวลา 3 วัน รถไฟพระที่นั่งเคลื่อนขบวนถึงสถานีรถไฟหัวหินเมื่อเวลา 17.00 น. ณ ที่นั้นมีผู้มารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งต่อไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ตลอดระยะทางที่รถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่าน มีประชาชนมารอรับเสด็จเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ตลอดระยะเวลา 3 วัน กองทัพเรือได้จัดเรือรบหลวงมาจอดถวายการอารักขาหน้าพระตำหนัก จำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือรบหลวงบางปะกง เรือรบหลวงบางแก้วเรือรบหลวงบางระจัน และเรือรบหลวงโพธิ์สามต้น …

ที่มา

มณีรัตน์ ชาญชัยศิลป์