วันอังคาร 19 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

12 มกราคม 2476 เมื่อ ร.7 เสด็จลี้ภัยจากการถูกกดขี่ข่มเหงโดยคณะราษฎร

ก่อนหน้าที่ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะมอบรัฐธรรมนูญแด่ปวงชน แต่ถว่า กลับไม่ทันถูกคณะราษฎรช่วงชิงโอกาสทำการปฎิวัติจนสำเร็จ เวลานั้น ราชสำนักถูกรังแกเป็นอย่างมากโดยคณะราษฎร จากข้อมูลใน พระราชบันทึกของพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ระบุว่า

ในขณะที่เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการนำของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ดำเนินไปในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในพระนครนั้น เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวลหัวหินในเช้าวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีทรงกอล์ฟอยู่ท่าม
กลางบรรดาข้าราชบริพาร

“เช้าวันนั้น รู้เรื่องกันที่สนามกอล์ฟนั่นแหละ” สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงเล่า “พอเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว พระยาอิศราฯ เป็นคนไปกราบบังคมทูลให้ในหลวงทรงทราบ ในหลวงก็รับสั่งว่า ไม่เป็นไรหรอก เล่นกันต่อไปเถอะ แต่ฉันกลับก่อนแล้ว จึงไม่ทราบเรื่องจนเสด็จฯ กลับมาก็รับสั่งกับฉันว่า ว่าแล้วไหมล่ะ ฉันทูลถามว่าอะไรใครว่าอะไรที่ไหนกัน จึงรับสั่งให้ทราบว่ามีเรื่องยุ่งยากทางกรุงเทพฯ ยึดอำนาจและจับเจ้านายบางพระองค์ ระหว่างนั้นก็ทราบข่าวกระท่อนกระแท่นจากวิทยุ  แต่ก็ไม่แน่ว่าอะไรเป็นอะไร มีเจ้านายอยู่กันหลายองค์ที่หัวหิน เช่น กรมสิงห์ (เสนาบดีกลาโหม)

ต่อมาในหลวงก็ทรงได้รับโทรเลขมีความว่า ทางกรุงเทพฯ ได้ส่งเรือรบมาทูลเชิญเสด็จฯ กลับ  ในหลวงรับสั่งว่ามาก็มาซิ หลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงเศษ หลวงศุภชลาศัยก็มาถึง พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (สมุหราชองครักษ์) สั่งให้ปลดอาวุธเสียก่อนถึงจะให้เข้าเฝ้าฯ ทางวังไกลกังวลน่ะก็เตรียมพร้อมอยู่เหมือนกัน ทหารรักษาวัง กองร้อยพิเศษไปตั้งปืนที่หน้าเขื่อน เสร็จแล้วหลวงศุภฯ ก็ขึ้นมาข้างบน มาอ่านรายงานอะไรต่ออะไรก็จำไม่ได้แล้ว แต่มีความสำคัญว่าทูลเชิญเสด็จฯ กลับโดยเรือหลวงสุโขทัย ในหลวงท่านรับสั่งว่าไม่กลับหรอกเรือสุโขทัย พวกนั้นจึงกลับไป ระหว่างนั้นเราก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร บางคนก็กราบบังคมทูลว่าให้เสด็จฯ ออกไปข้างนอกเสียก่อนแล้วค่อยต่อรองกันทางนี้  ท่านรับสั่งว่า ไม่ได้ ไม่อยากให้มีการรบพุ่งกัน เพราะจะเสียเลือดเนื้อประชาชนเปล่าๆ เจ้านายหลายองค์ก็ถูกจับเป็นประกันอยู่ เพราะฉะนั้นจะยังไม่ทำอะไร แต่ก็รับสั่งว่าจะต้องมาปรึกษาฉันก่อนว่าจะไปหรือจะอยู่ เพราะฉันต้องไปกับท่าน” สมเด็จฯ ทรงเล่า

“เมื่อฉันได้รู้เรื่องจากในหลวง ฉันก็บอกว่าไม่ไปหรอก ยังไงก็ไม่ไปตาย ก็ตายอยู่แถวนี้ ท่านรับสั่งว่าตกลงจะกลับ ในตอนนั้นฉันจำได้ว่าเป็นเวลาเย็นแล้ว กรมพระกำแพงฯ ซึ่งจะหนีจากกรุงเทพฯ ไปได้อย่างไรไม่รู้ ได้ขอเข้าเฝ้าฯ ท่านบอกว่าไม่มีประโยชน์หรอก เขาเข้ากันได้หมดแล้ว ทุกคนจึงได้แต่ฟังเอาไว้เฉยๆ แต่ก็ตกลงว่าจะเดินทางกลับโดยรถไฟ

ฉันมาถึงที่สถานีสวนจิตรลดาเมื่อประมาณสัก 7 ทุ่มเห็นจะได้ แหมเงียบจริงๆ พอในหลวงเสด็จพระราชดำเนินจากรถไฟ มีราษฎรคนหนึ่งอยู่ที่สถานีกราบถวายบังคมแล้วก็ร้องไห้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นใคร อายุประมาณ 30 กว่าเห็นจะได้ ในหลวงไม่ได้รับสั่งอะไร เราก็กลับมากันที่วังนี่ (วังศุโขทัย)  ตลอดทางเงียบแล้วก็เศร้า เราผ่านพระที่นั่งอนันตสมาคมก็ไม่มีอะไร มาทราบเอาทีหลังว่าบนพระที่นั่งอนันตฯ เขาตั้งปืนไว้เต็มหมด เพราะรู้ว่าเราจะมาทางนั้น

จนวันรุ่งขึ้นตอนเย็น ฉันจำไม่ได้แน่ว่ามีใครบ้าง ก็มาเข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาที่เขามากัน มีรถถังมาสัก 4-5 คันเห็นจะได้จอดอยู่หน้าวัง”

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเท้าความย้อนหลังให้ฟังต่อไปอีกว่า “ความจริงเรื่องปฏิวัตินี่นะ ในหลวงท่านทรงเดาไว้นานแล้วว่าจะมีปฏิวัติ แต่จะเดาจากอะไรยังไงไม่ทราบ อีกอย่างใครต่อใครหลายคนก็รู้ว่า ในหลวงจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่เหมือนกัน เพราะท่านได้ทรงร่างไว้แล้ว แต่ระหว่างที่ทรงหารือกับเจ้านายผู้ใหญ่ๆ น่ะ ก็มีการคัดค้านกันบ้าง ท่านก็เลยรับสั่งว่าถึงให้ไปก็เหมือนกัน ยังไงก็ต้องปฏิวัติ โดยอ้างว่าไม่พอใจ พวกเจ้านายผู้ใหญ่ได้กราบทูลขอให้ระวังพระองค์ เฉพาะอย่างยิ่งวันฉลองพระนคร ในหลวงท่านรับสั่งว่าวันนั้นน่ะไม่มีหรอก เพราะมีคนรู้กันมาก ถ้าจะระวังก็ต้องหลังจากวันงานผ่านไปเสียก่อน”

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเล่าต่อไปว่า “ในหลวงได้รับสั่งไว้แล้วว่าไม่ให้ยุ่ง ตอนนั้นเจ้านายถูกจับกันมาก ขืนรบกันพวกที่ถูกจับอยู่แล้วก็ต้องตายก่อน นองเลือดกันเปล่าๆ ถ้าจะให้คนอื่นตายแล้วหนีเอาตัวเองรอด ท่านไม่เอา เมื่อกรมพระกำแพงฯ ขึ้นไปกราบบังคมทูลเหตุการณ์ ในหลวงทรงรับสั่งว่ารบกันก็ไม่มีประโยชน์ มารู้เอาตอนที่กลับมาแล้วว่าพวกทหารมหาดเล็กทุกคนขังตัวเองหมด มีทหารปืนใหญ่ที่อยู่ในบังคับบัญชาของในหลวงก็ได้รับคำสั่งให้ไปประจำเสียที่เขาพระบาท ถึงแม้แต่พระองค์เจ้าบวรเดช ในหลวงก็เคยรับสั่งห้ามว่าไม่ให้ทำอะไรเป็นอันขาด ขึ้นชื่อว่าเจ้าล่ะก็ไม่ให้ทำอะไรทั้งนั้น ถ้าทำจะยิ่งร้ายใหญ่ ถ้าเผื่อเป็นคนอื่นเขาจะปฏิวัติซ้อนมาชิงอำนาจถวาย นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ว่าเจ้าทำไม่ได้ ในหลวงทรงเตือนเอาไว้เฉยๆ แล้วก็ไม่ได้ทรงทราบอะไรจากพระองค์เจ้าบวรเดชอีกว่าจะคิดทำอะไรหรืออย่างไร แต่ผลที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้

เมื่อพระยามโนฯ เป็นนายกฯ แล้วในหลวงก็ยังรับสั่งว่า พอมีหวังที่จะพยุงกันให้เรียบร้อยไปได้ แต่พอมาถึงตอนที่หลวงประดิษฐ์ฯ เขียนโครงการเศรษฐกิจขึ้นมานั่นน่ะ เราก็ค้านไป ในหลวงรับสั่งว่าชักไม่ค่อยจะดีเสียแล้ว รู้สึกว่าจะมีเรื่องยุ่ง จนกระทั่งถึงปี 76 ท่านรับสั่งว่าหมดหวังที่จะช่วยให้เรียบร้อยเสียแล้ว”

ก่อนที่พระองค์เจ้าบวรเดชจะปฏิวัตินั้น ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักไกลกังวลเช่นเคย และเมื่อเกิดเรื่องขึ้น ในหลวงก็ยังคงประทับอยู่ในวังไกลกังวล 

“วันหนึ่งขณะประทับที่หัวหิน ท่านวิบูลย์ฯ (หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์) ซึ่งเป็นราชเลขานุการในพระองค์ได้เข้ามากราบบังคมทูล ขอให้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับที่บางปะอิน” 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเล่าว่า “ในหลวงทรงรับสั่งว่าไปทำไมกันบางปะอิน ไปให้บวรเดชจับหรือ ไม่ไป อยู่นี่แหละ แล้วก็เรียกหลวงศรสุรการให้ไปบอกว่าไม่ยอมเข้ากับใครทั้งสองข้าง ไม่ว่าข้างไหน จะเป็นกลางอยู่เฉยๆ ต่อมาทรงทราบข่าวว่าหลวงพิบูลสงครามจะส่งรถไฟมาเชิญเสด็จกลับ ก็รับสั่งว่ายังไม่กลับ แต่ก็ทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสงขลา

ตอนนั้นเรามีเรือยนต์พระที่นั่งอยู่ ขนาดเล็ก ตกลงออกเรือกันตอนกลางคืน มีทหารรักษาวังไปด้วย  มีปืนกลไป ข้าราชบริพารตอนนั้นที่จำได้ก็มีอย่างท่านประสพศรี (ราชองครักษ์-ทบ.) ท่านครรชิต (ราชองครักษ์-ทร.) มีพ่อ มีแม่ ฉัน แล้วก็น้องชายอีกคน มีท่านกมลีสาณ ม.ร.ว.สมัครสมาน กฤดากร (ทำการแทนราชเลขานุการในพระองค์) ร่วมไปในเรือด้วย ก่อนจะออกเดินทางก็ทรงคิดว่าจะเรียบร้อยหมดทุกอย่าง แต่คลื่นมันเหลือเกิน อาวุธตกน้ำกันเกือบหมด พอเรือไปได้หน่อยก็เห็นเรือยามฝั่งมา ก็ว่า เอ๊ะ เห็นจะไม่ได้การ ก็เตรียมตัวสู้กันละ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่พอเรือเข้ามาใกล้ เขาก็ให้สัญญาณว่ามาโดยความหวังดี จะมารับใช้ พอโผล่เข้ามาก็เป็นหลวงปฏิวัติฯ เข้าใจกันว่าพระยาวิชิตฯ ใช้ให้มา  ในหลวงทรงรับสั่งว่าขอบใจมาก กลับไปเถอะ ไม่ต้องมาหรอก ฉันจะไปเอง แล้วก็แล่นเรือกันต่อไป

นอกจากผู้คนที่เอาลงเรือมานั้น ยังมีเหลืออยู่ที่วังไกลกังวลอีกหลายคน ซึ่งมอบให้ท่านชิ้น (ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) เป็นหัวหน้าดูแล ก็ให้ตามไปโดยรถไฟ ทีนี้ตอนนั้นก็คิดกันว่าจะไปเอารถไฟที่ไหน เลยตกลงใจให้เจ้ากาวิละวงศ์ (ข้าราชการกรมรถไฟ) ซึ่งอยู่ที่วังด้วย เป็นคนไปที่เพชรบุรี เพราะใกล้ที่สุด เรียกว่าไปขโมยรถไฟมา แล้วมารู้ทีหลังว่าเขาก็ไปเอามาจนได้ มีกรมพระยานริศฯ กรมพระยาดำรงฯ อยู่ที่หัวหินขึ้นรถไฟไปด้วย

พวกที่อยู่ในเรือตกกลางคืนก็ไม่ได้นอนกันหรอก นั่งดูกันจนกระทั่งเกือบสว่าง เรือเกือบถึงชุมพรแล้ว เกิดน้ำมันในเรือหมด ก็ตัดสินใจเข้าฝั่ง อาหารก็ไม่มีด้วยเหมือนกัน ส่งคนขึ้นไป 3 คน ดูเหมือนจะเป็นท่านครรชิต, ม.ร.ว.สมัครสมาน ใครอีกคนจำไม่ได้ให้ไปหาพระราชญาติรักษา เป็นเจ้าเมืองชุมพรอยู่  ให้ไปขอน้ำมัน พวกที่ไปหาอาหารก็กลับมา มีอาหารมาปิ่นโตเดียว ก็แบ่งกันกินคนละเล็กละน้อย คอยจนกระทั่งพระราชญาติฯ เอาน้ำมันมาให้ก็จัดแจงเติมแล้วก็ออกเดินทางกันต่อไปอีก

เรือออกจากชุมพรไปได้สักครึ่งทางเห็นจะได้ เรืออิสต์เอเซียติก เป็นเรือขนสินค้าธรรมดานี่แหละ  เราก็เลยหาทางเยกให้เขาหยุดเพราะเรือของเราคงจะไปไม่ถึงสงขลาแน่ ขอให้ทางเรือเขาช่วยรับพวกเราไปส่งสงขลา ก็เป็นอันตกลงกัน เรืออิสต์เอเซียติกพาไปจนรู้สึกใกล้สงขลา ดูเหมือนจะเป็นตอนเช้า ก็เห็นเรือรบ 2-3 ลำตามมา กัปตันเรือเขาก็ถามว่าจะให้แล่นเลยไปส่งสิงคโปร์ไหม เราก็บอกว่าไม่ต้อง  ทางเรือรบเขาก็ให้สัญญาณมาว่าจะมาอารักขาพระองค์ ไม่ได้มาทำอันตรายหรอก ในหลวงท่านรับสั่งว่า ก็ดี แต่จะไปเอง”

ดังนั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงสงขลาแล้ว ก็ประทับที่ตำหนักเขาน้อย ส่วนกลุ่มที่มาทางรถไฟนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเล่าว่า “ก่อนที่รถไฟจะแล่นถึงประจวบฯ นั้น มีการสั่งให้ระเบิดสะพานรถไฟเสีย แต่บังเอิญคนที่รับคำสั่งไม่ยอมทำตาม ต่อเมื่อรถไฟแล่นผ่านไปแล้วจึงได้ระเบิด ทุกคนก็รอดมาได้”

สำหรับความรู้สึกส่วนพระองค์นั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเล่าว่า “ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน”

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่ตำหนักเขาน้อย สงขลานั้น “ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เล่นเทนนิสกัน” สมเด็จฯ ทรงเล่าต่อ “ตอนนั้นหลวงประกอบนิติสารเป็นผู้พิพากษาอยู่ที่นั่นก็มาเล่นด้วย  พอมาตอนหลังได้ข่าวว่าถูกจับติดคุก หลวงประกอบฯ น่ะมาเล่นอยู่ด้วยหนเดียวเท่านั้นแท้ๆ หม่อมทวีวงศ์ฯ มาเล่นอยู่ด้วยอีกคน แต่ไม่ถูกจับ”

ระยะเวลาที่ประทับตำหนักเขาน้อย สงขลานั้น เป็นเวลาประมาณเกือบสองเดือนจึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร ทรงเล่าต่อว่า “ก่อนออกเดินทาง ในหลวงท่านส่งพ่อฉันให้ไปอยู่ที่ปีนังเสีย เพราะรู้มาว่าทางรัฐบาลเขาอยากได้ตัวเต็มทีเหมือนกัน ตอนกลับเราก็กลับทางเรือก็เรือลำเก่าของอิสต์เอเซียติกนั่นแหละ กลับพระนครคราวนี้ก็มาประทับที่สวนจิตรลดา ระยะนี้รู้สึกว่าเหตุการณ์ไม่ค่อยจะดีนัก และก็ดูเหมือนว่าจะมีอะไรรุนแรงมากขึ้นทุกทีระหว่างในหลวงกับคณะรัฐบาล รถถังก็วิ่งกันเกลื่อน จะเข้ามาเมื่อไหรก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดานี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเล่าถึงเหตุการณ์คืนวันหนึ่งให้ฟังว่า “คืนนั้น ในหลวง ฉัน แล้วก็ ม.ร.ว.สมัครสมานขึ้นไปอยู่บนชั้น 3 ด้วยกัน ท่านรับสั่งว่าถ้าจะมีเรื่องเกิดขึ้น ท่านก็จะยิงพระองค์เอง แล้วให้สมัครเป็นคนยิงฉัน ส่วนสมัครจะทำอะไรกับตัวเองหรือไม่ก็ช่าง แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ร้ายแรงจนถึงกับจะทรงทำอย่างที่รับสั่งไว้” และตลอดเวลาที่ประทับอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้เวลาให้หมดไปด้วยการทรงพระอักษรบ้าง อ่านหนังสือบ้าง

และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศอังกฤษ

“ถ้าจะพูดกันแล้ว ในตอนนั้น ทางรัฐบาลเขาก็ไม่อยากให้ไปเหมือนกัน แต่ท่านไม่สบายจริงๆ  หมอบอกว่าพระเนตรอีกข้างจะบอดอยู่แล้ว ให้เสด็จฯ ไปรักษาเสีย ก็เลยตัดสินพระทัยไป” (ประทับ ณ  Knowle Cranleigh, Surrey).


———————–
cr:  หนังสือเบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ สมัย พ.ศ.2475-2500 รวบรวมและจัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ธันวาคม 2516 

—————–

ดังนั้น ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับพระราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินไปลอนดอนเพื่อรักษาพระองค์ ในการนี้ได้แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


และต่อมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระองค์ก็ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลที่ลอนดอน ทรงสละราชสมบัติ ดังมีความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาที่ขอยกมาดังนี้”

          “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”