วันพฤหัสบดี 28 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

“นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่” โดย ทิวา สาระจูฑะ

“นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่”
โ ด ย ทิ ว า ส า ร ะ จู ฑ ะ

ตั้งแต่จำความได้ ผมก็เห็นกรอบรูปเก่ากรอบหนึ่งแขวนอยู่ ในร้านหนังสือพิมพ์และขายของจิปาถะของป้า ซึ่งผมไปอาศัยอยู่กินด้วย กรอบรูปแขวนอยู่เหนือหัวที่เสาใกล้ๆโต๊ะทำงานของป้า

ต่อมาขยับย้ายร้านอีก 2 ครั้ง กรอบรูปนี้ก็ยังถูกนำมาแขวนเหมือนเดิม จนกระทั่งช่วงปลายชีวิต ป้าเก็บรวบรวมข้าวของต่างๆแบ่งให้หลานๆไปเก็บต่อ กรอบรูปนี้ตกมาอยู่ที่ผมพร้อมหนังสือเก่าๆอีกจำนวนหนึ่ง

กรอบดูเก่าคร่ำ ตัวภาพมีร่องรอยน้ำ เข้าใจว่าเพราะฝนรั่วไหลซึม และเป็นตอนที่ป้าไม่ได้อยู่ที่ร้านแล้ว ด้านบนของภาพถูกแมลงกินกระดาษกัดแทะ ตอนแรกผมคิดว่าจะถอดกรอบออกแล้วใส่กรอบใหม่ แต่กลัวว่าภาพจะติดอยู่กับกระจกในกรอบเดิม จะพลอยเสียหายมากขึ้นไปอีก จึงปล่อยเอาไว้อย่างเดิมก่อน แล้วค่อยคิดหาวิธีเอาทีหลัง

ภาพในกรอบคือ พระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และ สมเด็จพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์ ประทับยืนตรงหน้ามุขของที่ทำการศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรีหลังเก่า

ภาพนี้ไม่ได้มีที่ร้านป้าเพียงภาพเดียว บ้านเพื่อนผมหลายคนที่สิงห์บุรีก็มี เป็นขนาดเดียวกันหมด เข้าใจว่า หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จกลับ ทางจังหวัดคงสอบถามชาวบ้านร้านตลาดว่า ใครประสงค์จะเก็บพระบรมฉายาลักษณ์นี้ไว้เป็นที่ระลึกหรือไม่ และจัดการพิมพ์ขึ้นมาจ่ายแจกให้ ดังนั้นเกือบทุกร้านที่อยู่มาเก่าแก่ในตลาดสิงห์บุรีน่าจะมีพระบรมฉายาลักษณ์นี้อยู่ เว้นแต่ว่าจะชำรุดหรือสูญหายไป

เหตุการณ์ในภาพถูกบันทึกไว้ว่าเป็นวันที่ 28 เดือนกันยายน พ.ศ. 2498 เป็นหนึ่งในหมายกำหนดการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่จังหวัดนครปฐม และหลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ

แต่ก่อนหน้าหมายกำหนดการที่วางไว้นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็เคยเสด็จไปพบราษฎรอย่างใกล้ชิด 2 ครั้งเป็นการส่วนพระองค์ ครั้งแรกในปี 2495 เสด็จบ้านห้วยมงคล ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสำรวจภูมิประเทศไว้ใช้ในการก่อตั้งโครงการพระราชดำริ และอีกครั้งเป็นปี 2497 เสด็จบ้านโป่ง ราชบุรี เยี่ยมและพระราชทานความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากไฟไหม้ตลาดที่นั่น

ตอนเด็กๆ ผมเห็นพระบรมฉายาลักษณ์เสด็จที่โน่นที่นี่ รวมถึงต่างประเทศ ในหนังสือที่ร้านป้าขาย อย่าว่าแต่เข้าใจ ผมไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ ในความเป็นเด็ก ตื่นลืมตาขึ้นมาเราก็นึกแต่เรื่องจะเล่นโน่นเล่นนี่ แต่พอโตขึ้นมา ผมถึงรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆเพื่ออะไร

การเสด็จไปยังที่ไกลแสนไกล ในยุคที่ความก้าวหน้าที่สุดของการเดินทางคือเฮลิค็อปเตอร์ แต่ก็ลงจอดได้เฉพาะในเขตเมืองใหญ่ การเสด็จพื้นที่ต่างๆของพระองค์จึงมักใช้รถยนต์ และไม่ใช่ทุกเส้นทางจะสะดวกราบรื่น ยังต้องเสด็จไปในแห่งหนที่ลำบากทุรกันดาร แตกต่างด้านสภาพแวดล้อม, ภาษา และความเชื่อ

สิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงปฏิบัติ ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในโลกนี้ทำ

หากใช้ภาษาชาวบ้านก็คงจะบอกได้ว่า โดยสถานะของพระมหากษัตริย์ พระองค์ไม่ต้องทำก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่พระองค์เลือกที่จะทำ และทุกวันนี้ก็ปรากฏชัดแล้วว่า ทุกอย่างที่พระองค์เลือกทำนั้น มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

ตามโบราณราชประเพณีนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างสมบูรณ์แล้ว จะต้องเสด็จออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าเพื่อจะได้รู้จักพระองค์ แต่ในยุคที่การคมนาคมยังไม่สะดวก การเดินทางของประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลเพื่อมาเข้าเฝ้าเป็นเรื่องลำบาก พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปพบประชาชนเสียเอง

การเสด็จออกทั่วประเทศ ทำให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ใกล้ชิดกับราษฎร เลือนลบภาพสมมุติเทพของพระมหากษัตริย์ในอดีต นอกจากนั้นยังทำให้พระองค์ได้พบเห็นปัญหาอุปสรรคมากมายที่ขัดขวางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงความไม่เอาใจใส่และล่าช้าของระบบราชการ, ความเอารัดเอาเปรียบของทุนนิยม และพฤติกรรมของประชาชนเอง

ผมคิดว่าเพราะสาเหตุเหล่านี้จึงกลายเป็นที่มาของหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการพระราชดำรินับพันๆ จนดูเหมือนว่า พระองค์แทบไม่มีเวลาสำหรับเรื่องส่วนพระองค์เองเลย

หลังจากการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร 4 ภาคที่เริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ. 2498 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็เสด็จออกต่างจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งมีพระชนมพรรษามากขึ้นและพระวรกายไม่เอื้ออำนวย

ภาพที่คุ้นตาของคนไทยมายาวนานลักษณะหนึ่งคือ พระบรมฉายาลักษณ์ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สะพายกล้องและมีแผนที่อยู่ในพระหัตถ์ นั่นคือเครื่องมือของการบันทึกทุกข์สุขของประชาชน เพื่อนำมาใช้คิดหาหนทางแก้ไข ผมยังรู้สึกว่าพระองค์ทำงานมากกว่าข้าราชการทุกคน

นอกจากในประเทศทั่วทุกพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้เสด็จเยือนต่างประเทศระหว่างปีพ.ศ. 2502-2510 แต่ทั้งหมดก็เพียง 31 ครั้ง และอีกครั้งหนึ่งทิ้งช่วงห่างถึง 27 ปี จึงเสด็จไปยังบ้านพี่เมืองน้องคือ ประเทศลาว ในปีพ.ศ. 2537

เหตุที่ทรงหยุดการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ก็เพราะทรงเห็นว่า ประเทศไทยในขณะนั้น มีปัญหาหนักๆอยู่มากมาย ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาทางธรรมชาติ และปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ทรงต้องการใช้เวลาช่วยคิดแก้ปัญหา

การเสด็จต่างประเทศของพระองค์ เป็นการเจริญสัมพันธไมตรีตามหน้าที่ ตามธรรมเนียมประเพณี แต่ก็ทรงเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกหลายอย่างเพื่อมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาของประเทศ ไม่ใช่การเดินทางไปท่องเที่ยวที่ซ่อนอยู่ในคำว่า “ดูงาน” ของข้าราชการอีกมากมาย ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เกิดมรรคผลอะไรต่อบ้านเมือง นอกจากรูปถ่ายแถวทัวริ่งสป็อท และข้าวของจากการช็อปปิ้งที่เพิ่มขึ้นในบ้านของแต่ละคน

ในโลกนี้มีนักเดินทางผู้โด่งดังอยู่มากมายมหาศาล หลายคนได้ปักธงบนยอดเขาที่สูงสุด หลายคนดำดิ่งลงจุดที่ลึกที่สุดของก้นมหาสมุทร หลายคนเป็นนักรบผู้เดินทางไล่ล่าแผ่นดินและทรัพยากรของคนอื่น แต่คนที่เดินทางไปทั่วแผ่นดิน เพื่อขุดคุ้ยความทุกข์ของผู้คนมาขบคิดหาทางแก้ไขอย่างไม่หยุดยั้ง อาจจะมีเพียงคนเดียว และต่อไปก็จะไม่มี

เพราะพระองค์ทรงหยุดเดินทางแล้ว.