วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ภาพ เมื่อ สมเด็จพระเทพฯ คลุมฮิญาบ เสด็จเยือนอิหร่าน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉลองพระองค์ “ฮิญาบ” เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนอิหร่าน เมษายน ปี 2004 ทรงพระสิริโฉมงดงามมาก 

ทั้งนี้  หากย้อนดูความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับ อิหร่าน ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 400 ปี “อิหร่าน” (หรือชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน”) ถือเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำแห่งตะวันออกกลางที่ในอดีตครองความยิ่งใหญ่ในภูมิภาค และรู้จักกันดีในฐานะอาณาจักร “เปอร์เซีย” ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเปอร์เซียกับสยามประเทศน่าจะมีสัมพันธ์ทำการค้ากันมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย โดยจากข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่มีคำว่า “ตลาดปสาน” ซึ่งนักปราชญ์ด้านโบราณคดีและภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า “บอซัร” หรือ “บาซาร์” ที่แปลว่า “ตลาด” และคำว่า “เหรียญ” ที่ไทยและเขมรใช้เรียกเงินตรานั้นก็มาจากคำว่า “เรียล” ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย

นอกจากนี้ หลักฐานทางโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบ บ่งบอกว่าพ่อค้าชาวเปอร์เซียเคยติดต่อค้าขายกับอาณาจักรจามปาและลังกาสุกะ ตลอดทั้งหมู่เกาะในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

อย่างไรก็ดีจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีข้อมูลชัดเจนได้ระบุวล่า อาณาจักรเปอร์เซียมีความสัมพันธ์กับสยามประเทศมากว่า 400 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133 – 2148) เมื่อเรือสำเภาบรรทุกสินค้าของ เฉกอะหมัด กูมี และน้องชายคือ มะหะหมัด ซาอิด ได้เข้ามาเทียบท่าที่ป้อมเพชร ตำบลท้ายคู โดยในจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค ระบุว่า “เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสยามประเทศ เมี่อจุลศักราช 964 ปีขาล จัตวาศก” ซึ่งตรงกับพ.ศ. 2145 ขณะที่ความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับอิหร่านนั้นได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498

พระราชประวัติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร

 

http://news.muslimthaipost.com/news/26879?fbclid=IwAR0qJOypvwVHxLirWt3qlpo8Ayvsrf2pYAZo76vJCTl57y2XKwhh4LVueBU