วันเสาร์ 20 เมษายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ครูของหมอ – Kornkit Disthan



หลู่ซวิ่น นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของจีนเคยคิดอยากจะเป็นหมอรักษาคน เขาดั้นด้นไปเรียนแพทย์ถึงญี่ปุ่น แต่เพราะประเทศจีนถูกเหยียดหยามจากต่างชาติ ทำให้เขาคิดว่าบางทีการรักษาคนอาจยังไม่พอ เขาจึงหันมาจับปากกาแล้วใช้งานเขียนเยียวยาจิตวิญญาณของมนุษย์แทน

ดร. ซุนยัดเซนก็เป็นหมอแต่เปลี่ยนใจจากการรักษาคนมารักษาบ้านเมืองแทน ว่ากันว่าพี่ชายที่ชื่อซุนเหมยถามเขาถึงสาเหตุที่จะต้องเสี่ยงชีวิตมาทำงานปฏิวัติ ดร. ซุนบอกว่า “หากผมเป็นหมอ ผมคงรักษาคนไข้ได้ทีละคน แต่หากผมช่วยประเทศจีนให้เป็นอิสระ ผมจะช่วยคนได้ถึง 400 ล้านคน”

ทั้งหลู่ซวิ่นและซุนยัดเซนเริ่มจากวิชาหมอแต่จบลงด้วยการช่วยบ้านเมือง

ที่ประเทศสยาม เจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งเริ่มจากวิชาทหารมาจบลงด้วยวิชาแพทย์ คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

เริ่มกันคนละอย่างแต่จบลงที่การช่วยบ้านเมืองและมนุษยชาติเหมือนกัน

ตอนที่กำลังศึกษาวิชาแพทย์ หลู่ซวิ่นเห็นภาพถ่ายทหารญี่ปุ่นกำลังตัดศีรษะคนจีนแล้วเกิดความสะเทือนใจ ตระหนักถึงความตกต่ำของบ้านเมืองเขาจึงตัดสินใจทิ้งมีดหมอมาจับปากกา

ส่วนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร “กรมหลวงสงขลานครินทร์” ทรงสงสารราษฎรเมื่อได้เห็นภาพความทุกข์ยากของพวกเขาที่ต้องมารอรับการรักษาที่ศิริราชพยาบาลอีกทั้งเครื่องมือแพทย์ก็ไม่เพียงพอ จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะช่วยปรับปรุงการแพทย์ของประเทศ

กรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงกราบทูลกับกรมขุนชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมสาธารณสุขว่า “หม่อมฉันรู้สึกเสมอว่า การสาธารณสุขนั้นเปนการสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเปนเครื่องบำรุงกำลังของชาติไทย แลเปนสาธารณประโยชน์แก่มนุษยชาติทัวไป” ดังนั้นจึงทรงอาสาที่จะช่วยเหลือในเรื่องนี้

เจ้าฟ้านายทหารที่ศึกษาวิชาทหารมาแล้วจากเยอรมนี (ด้วยคะแนนสูงสุด) จึงต้องกลับไปต่างประเทศอีกครั้งเพื่อเรียนวิชาหมอมาช่วยบ้านเมือง คราวนี้เสด็จไปเรียนที่ “สหปาลีรัฐอเมริกา”

ในปี 2460 ทรงโดยสารเรือจากสยามต่อไปยังเมืองจีนจากนั้นข้ามแปซิฟิกมายังสหรัฐ ระหว่างทางแวะที่เกาะฮาวาย ดินแดนของสหรัฐ

ที่ฮาวายนี่เองที่เกิดเรื่องขึ้น

ในคลังคลิปข่าวของหอสมุดสภาคองเกรสมีรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่า “เมื่อถึงโฮโนลูลู พรินซ์มหิดล สงขลา กำลังจะเสด็จลงเรือไปทอดพระเนตรทิวทัศน์ของเมืองหลวง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาห้ามพระองค์ไว้บอกว่า คนญี่ปุ่นจะขึ้นท่าไม่ได้ถ้าไม่ได้ตรวจเอกสารก่อน …

ในตอนนั้นพวกญี่ปุ่นกับจีนไปเป็นกุลีที่ฮาวายกันมาก ซุนยัดเซนก็ไปอยู่กับพี่ชายซึ่งทำกินที่ฮาวาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่อเมริกันจึงเหยียดหยามคนเหล่านี้

… พรินซ์มหิดล สงขลาทรงตอบว่าพระองค์ไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกลับโต้เถียงด้วยวิธีการอันเป็นอเมริกันยิ่งด้วยการ “ต่อยเข้าไปที่ปลายจมูก” แต่มหิดล สงขลาคงจะไม่ทรงคุ้นกับการโต้ตอบอย่างฉับพลันแบบนี้ จึงทรงมิได้ทรงโต้ตอบ …

เจ้าฟ้าเสด็จมาถึงซานฟรานซิสโกแล้ว ทรงพบกับราชทูตสยามผู้เกรี้ยวกราดอย่างมากกับรายงานการกระทำอันหยามพระเกียรตินี้...

แต่มหิดล สงขลาทรงเป็นสุภาพบุรุษชาวสยามทุกกระเบียดนิ้ว ทรงพยายามบอกว่าผู้กระทำต่อพระองค์นั้นไม่ได้ผิดและทรงหวังว่าเขาจะไม่ถูกไล่ออกจากงาน…

ผู้รานงานข่าวทิ้งท้ายว่า “การที่เจ้าฟ้าทรงหวังด้วยพระเมตตาอย่างนี้ ไม่อาจยับยั้งการลงโทษผู้ก่อเหตุได้แน่นอน” และ “เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอเมริกันจะต้องหมดอนาคตในงานราชการอย่างแน่นอน”

ข่าวนี้บอกกับเรา “พรินซ์ ออฟ สงขลา” ทรงมีขันติธรรมมากเพียงใด แม้จะทรงถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายแต่ก็ยังอุตส่าห์ห่วงผู้ที่กระทำต่อพระองค์ ทรงทำให้ชาวอเมริกันได้ประจักษ์ในความเป็น “สุภาพบุรุษชาวสยาม”

เมื่อทรงเดินทางถึงสหรัฐแล้วเริ่มศึกษาวิชาการแพทย์ก็ทรงไม่ถือยศถืออย่าง ทรงสละคำว่าพรินซ์และดยุคอันรุงรังออกไปเสีย เหลือเพียงคำว่า “มิสเตอร์มหิดล สงขลา” ตามธรรมเนียมเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เพราะสังคมอเมริกันนั้นไม่มีชนชั้น

ทรงให้สัมภาษณ์กับ Boston Globe ในปี 2460 (ซึ่งผู้เขียนจะขอแปลอย่างง่ายๆ เพื่อรักษาความเป็นกันเอง ดังนี้)

“ผมไม่อยากให้คนรู้ว่าผมเป็น พรินซ์ ตอนที่อยู่ที่นี่ เรียกง่ายๆ ว่านายสงขลาเหมาะกับผมมากกว่า คุณดูสิยศของผมคือดยุคแห่งสงขลา ตอนที่ผมอยู่ที่นี่ผมอยากจะใช้คำนำหน้าชื่อแบบอเมริกันว่า มิสเตอร์มากกว่า … ผมเชื่อว่าเมื่อเราไปประเทศหนึ่งเพื่อทำงานหรืออยู่อาศัยควรจะทำตามธรรมเนียมของประเทศนั้นทุกอย่าง”

และทรงบอกถึงเจตนารมณ์เอาไว้ว่า

“ที่ผมมาที่นี่ไม่ใช่มาทำธุรกิจหรือมาเสพสุข แต่มาเพราะหน้าที่ พระเจ้ากรุงสยามพระเชษฐาธิราชของผมทรงได้รับค่าเหนื่อยในการบริหารประเทศอย่างมาก และผมเชื่ออย่างหนักแน่นว่าพระบรมวงศ์ของพระองค์ควรจะอุทิศตนเพื่อรับใช้บ้านเมืองของตนเป็นการตอบแทน หากผมอยากจะอยู่สบายๆ ก็ทำได้ไม่ยาก แต่ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะผมรู้สึกอย่างแรงกล้าถึงพันธกิจต่อพสกนิกรของพระเชษฐาธิราช”

ต่อมาทรงให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า

“ผมคงไม่ได้ครองราชย์หรอก แต่ผมไม่ได้กังวลใจเรื่องนี้ … ความปรารถนาอันแรงกล้าของผมคือการทำตนให้เป็นประโยชน์ ผมจะอยู่สบายๆ ด้วยยศศักดิ์ก็ย่อมได้ในฐานะพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ผมคิดว่าผมควรได้รับการยกย่องในสิ่งที่ผมเป็นจริงๆ มากกว่า หากคนจะยกย่อง ผมก็อยากให้เขายกย่องเพราะผมมีผลงานควรแก่การยกย่อง”

และก็เช่นนั้นจริงๆ เพราะโลกจดจำพระองค์ที่ความดี ไม่ใช่เพราะทรงเป็นเจ้าฟ้า

แม้จะเป็นเจ้าฟ้าแต่ครอบครัวมหิดลใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนอย่างประหยัดยิ่ง ทั้งยังทรงเจียดเงินช่วยเหลือนักศึกษาไทยและนักศึกษาแพทย์ช่วยเม็กซิกันที่อัตคัดขัดสน เพื่อที่เขาจะได้กลับไปเป็นหมอรักษาพี่น้องร่วมชาติเหมือนพระองค์หลังทรงจากทรงทราบความตั้งใจของเขา

ทรงช่วยเขาเป็นเงินถึง 100 ดอลลาร์ต่อเดือน ส่วนพระองค์นั้นตอนแรกที่ไปถึงสหรัฐทรงใช้เงินกับอาหารวันละ 6 – 7 ดอลลาร์เท่านั้น

เมื่อทรงกลับมาประเทศสยามแล้วทำคุณประโยชน์ด้านการแพทย์มากมาย ทั้งวางระบอบการแพทย์แผนใหม่ให้สยาม สอนวิชาแพทย์ให้กุลบุตรสยามและรักษาราษฎรชาวสยามจนผู้คนเรียกขานด้วยความรักใคร่ว่า “หมอเจ้าฟ้า”

ราษฎรบางคนรู้สึกเป็นมงคลแก่ชีวิตที่พระองค์รักษาให้ เมื่อกลับไปบ้านแล้วไม่ยอมอาบน้ำก็มี บอกว่า “หมอเจ้าฟ้าล้างหูให้”

ราษฎรรักพระองค์มากกกว่าหมอธรรมดา และพระองค์ก็รักคนไทยมากเช่นกัน ในจดหมายที่มีไปถึงหม่อมคัทริน จักรพงษ์ทรงเอ่ยความในใจว่า

“เมื่อฉันเพิ่งออกไปเรียนหนังสือที่ยุโรป ฉันไม่เคยรู้แน่เลยว่าชาติของฉัน บ้านของฉันนั้นสำคัญแก่ฉันเพียงไร จนกระทั่งฉันได้มีโอกาสติดต่อกับคนไทย จึงได้รู้ตัวว่ารักคนไทยเพียงใด และได้รู้จักคุณสมบัติของคนไทยอันน่ารักมีคุณค่า … จึงได้รู้สึกตัวว่าถิ่นฐานของฉันในโลกนี้ ก็คือจะต้องอยู่ท่ามกลางคนไทยด้วยกัน”

แม้ว่าจะทรงไม่อยากให้คนจดจำพระองค์เพราะฐานันดรแต่กำเนิด แต่ชาวไทยไม่อาจลืมได้ว่าทรงไม่ได้เป็นแค่หมอและครูของหมอ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 7 ยังทรงอยู่ในลำดับที่ได้สืบราชบัลลังก์ต่อไปด้วย

ในปี 1928 ขณะที่ทรงศึกษาวิชาแพทย์ที่สหรัฐนั้นทรงประชวรหนักรู้สึกพระองค์ว่าคงจะไม่รอดแล้ว จึงเรียกหา “ฟรานซิส บี. แซร์” หรือ พระยากัลยาณไมตรีชาวอเมริกันผู้เป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของรัฐบาลสยามและผู้ที่สนิทสนมกับพระองค์เป็นอันมาก

ฟรานซิส บี. แซร์ บันทึกไว้ว่า

“เดือนเมษายน 1928 พรินซ์มหิดลประชวรหนักและถูกส่งไปยังโรงพยาบาลบอสตัน ด้วยเกรงว่าอาการอาจถึงแก่ชีวิต จึงทรงเรียกหาผมให้ผมช่วยจดพินัยกรรมเกี่ยวกับพระโอรส โดยหากมีความเป็นไปได้ที่พระโอรสทั้งสองจะได้ครองราชบัลลังก์สยาม จะทรงขอพระเจ้าแผ่นดินสยามอย่าได้เลือกพระโอรสองค์ใดองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท”

เหตุครั้งนั้นทรงหายประชวรได้แต่ในอีก 2 ปีต่อมาก็สิ้นพระชนม์ไปอย่างน่าเสียดาย

ทรงไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่าความปรารถนาของพระองค์ไม่อาจกลายเป็นจริง ไม่ใช่แค่พระโอรสองค์เดียวเท่านั้นที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

แต่ได้เป็นทั้งสองพระองค์

ข้อมูลจาก
• Celebrating The Legacy of His Royal Highness Prince Mahidol of Songkla: A Century of Progress in Public Health and Medicine in Thailand
• World War history : daily records and comments as appeared in American and foreign newspapers, 1914-1926 ([New York]), August 20, 1916, (1916 August 20-27)
• จดหมายเหตุพระราชประวัติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
• มรดกไทยในฉลองพระองค์เจ้าฟ้าทหารเรือ

(ป.ล. ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมอยากจะขอบคุณทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละในแนวหน้าสงครามการระบาดแต่ไม่รู้ว่าจะสื่อความในใจอย่างไร ทำได้ก็แค่เขียนหนังสือ จึงขอแสดงความซาบซึ้งในความเสียสละของทุกท่านด้วยงานเขียนชิ้นนี้ … และที่ผมเลือกใช้หมอเจ้าฟ้าเป็นตัวแทนแสดงความขอบคุณทีมแพทย์ ไม่ว่าจะยอพระเกียรติ แต่อยากจะเลือกสักท่านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความเสียสละของทีมสาธารณสุข)

ภาพจาก Bibliothèque nationale de France

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10156959043506954&set=a.430946001953&type=3&theater