วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

UNODC ยกย่อง ‘เจ้าหญิงนักกฎหมาย’ ทรงอุทิศพระองค์..เพื่องานบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน

S__794713

หมายเหตุ – สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) หรือยูเอ็นโอดีซี จัดแถลงข่าวการทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

โดยมีนายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานยูเอ็นโอดีซี ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือทีไอเจ ร่วมแถลงข่าว ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2017

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (ประทานพระดำรัสผ่านวีดิทัศน์)

“ข้าพเจ้ามุ่งหมายที่จะทำงานร่วมกับสำนักงานยูเอ็นโอดีซีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการลดปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง ปกป้องกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม จัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น รวมถึงสนับสนุนความพยายามในการเสริมสร้างหลักนิติธรรมระดับโลก”

S__794711

ยูริ เฟโดทอฟ ผอ.บริหาร สำนักงานยูเอ็นโอดีซี ประจำสำนักงานใหญ่ กรุงเวียนนา

(กล่าวผ่านวีดิทัศน์)

“พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมุ่งมั่นและอุทิศพระองค์ในการทรงงานเพื่อให้บรรลุวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน พระองค์ทรงมีประสบการณ์สูงในการสามารถสื่อสารกับผู้นำและมีอำนาจถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว และเชื่อมั่นว่าจะทรงมีบทบาทโดดเด่นในนามของสำนักงานยูเอ็นโอดีซี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก

สำนักงานยูเอ็นโอดีซี

“คิดว่าพระองค์จะทรงเข้ามาร่วมในงานป้องกันอาชญากรรมและความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ ที่สั่นคลอนเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเชื่อว่าบทบาทของพระองค์ในภารกิจดังกล่าว สามารถส่งเสริมการตระหนักเรื่องความสำคัญของหลักนิติธรรมและความยุติธรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทุกมิติได้อย่างชัดเจน”

S__794714

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์-เจเรมี ดักลาส

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

(องค์การมหาชน) (ทีไอเจ)

การแต่งตั้งบุคคลสำคัญและบุคคลที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงจากสาขาวิชาต่างๆ ให้เป็นทูตสันถวไมตรี ถือเป็นประเพณีที่หน่วยงานในสหประชาชาติได้ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจภารกิจและบทบาทของสหประชาชาติ พร้อมช่วยส่งต่อสารในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโลกและสังคมของหน่วยงานให้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (ทีไอเจ) รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงตอบรับคำเชิญในการเป็นทูตสันถวไมตรีที่เกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรม ถือเป็นการต่อยอดพระภารกิจของพระองค์

จากที่พระองค์เคยทรงตอบรับการเป็นทูตสันถวไมตรีของกองทุนสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี (United Nations Development Fund for Women – UNIFEM) ทูตของยูนิเฟม เรื่องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงเมื่อปี 2551 และปัจจุบันยังทรงเป็นอยู่

ทั้งนี้ พระภารกิจและบทบาทของพระองค์ในการเป็นทูตสันถวไมตรีครั้งนี้จะกว้างขวางมากขึ้น เพราะยูเอ็นโอดีซีมีภารกิจกว้างขวางกว่า เพราะดูตั้งแต่กฎหมาย คอร์รัปชั่น ยาเสพติด สิทธิผู้ต้องขัง ฉะนั้นการที่ทรงตอบรับจะเป็นประโยชน์หลายประการ

พระองค์ทรงมีประสบการณ์หลากมิติ ตั้งแต่ทรงสนพระทัยถึงปัญหาของกลุ่มผู้เปราะบางในกระบวนการยุติธรรม ทรงศึกษาระดับปริญญาเอกด้านนี้โดยตรง ทรงงานในฐานะอัยการพื้นที่อีสานในคดีหลากหลาย คดียากๆ ทรงว่าความอย่างจริงจัง ทรงพบปะประชาชนทำให้ทรงเข้าใจสภาพปัญหาดี

ที่สำคัญทรงเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ที่ทรงได้เข้าร่วมในเวทีสำคัญในการกำหนดนโยบายความยุติธรรมระดับโลก

จากประสบการณ์ ความสนพระทัย ความรู้ และทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีของยูเอ็นโอดีซีและทีไอเจ ในการเดินหน้านำหลักนิติธรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ค.ศ.2015-2030) หรือเอสดีจี ของสหประชาชาติ

พระองค์ทรงปฏิบัติภารกิจเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและความเท่าเทียมของกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปี และทรงมีส่วนร่วมในระดับโลก รณรงค์ให้หลักนิติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของเอสดีจี ภายหลังเคยทรงผลักดันในเวทีสหประชาชาติให้ตระหนักถึงการเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมและการพัฒนามาโดยตลอด

อาทิ ทรงยกร่างและรณรงค์อันนำไปสู่การรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง หรือข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) เมื่อปี 2013

ฉะนั้นคิดว่าหลักนิติธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นเป้าหมายใหญ่ที่จะทำงานร่วมกันและชัดเจนมากขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและเชื่อถือได้มากขึ้น รวมถึงการก่อตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรล่าสุดที่เข้าร่วมเป็นสถาบันเครือข่ายของสำนักงานยูเอ็นโอดีซี

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของสำนักงานยูเอ็นโอดีซี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงผลักดันในเวทีสหประชาชาติให้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมและการพัฒนามาโดยตลอด

ทรงริเริ่มให้เกิดการประชุมเสวนาระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรม (The Bangkok Dialogue on the Rule of Law) ในปี 2556 เพื่อสร้างแรงผลักดันทางการเมือง ให้ประเด็นความยุติธรรม ความมั่นคง และหลักนิติธรรม ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวาระการพัฒนา

นอกจากนี้ ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ได้ทรงเข้าร่วมเวทีสำคัญในการกำหนดนโยบายความยุติธรรมระดับโลก คือ การประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (The Commission on Narcotic Drugs – CND) และการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) ได้ทรงเป็นประธานในสมัยที่ 21 ด้วย

พระองค์ทรงตรัสตั้งแต่แรกๆ ก่อนหลักนิติธรรมจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า หลักนิติธรรมเกี่ยวข้องกับการพัฒนา เพราะกฎหมายที่ดีทำให้การพัฒนาเดินหน้าไปได้ เป็นเรื่องน่าสนใจที่พระองค์ทรงเป็นผู้นำการรณรงค์เรื่องนี้ในระดับโลก

ทรงเป็นทูตสันถวไมตรีที่มาจากนักปฏิบัติคนแรกๆ ของโลก จากเดิมที่สหประชาชาติจะตั้งเซเลบริตี้หรือนักแสดงที่มีความเชื่อและความสนใจมาเป็นทูตสันถวไมตรี อาทิ แองเจลินา โจลี หรือนิโคลัส เคจ เป็นต้น

ทั้งนี้ อาชญากรรมเป็นปัจจัยที่ทำลายเสถียรภาพของชุมชน ประเทศ และภูมิภาค ในฐานะทูตสันถวไมตรี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะทรงมีบทบาทในโครงการของสำนักงานยูเอ็นโอดีซีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรม สันติภาพ เสถียรภาพ และวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยในเดือนมีนาคม 2016 พระองค์จะเสด็จเข้าร่วมในการประชุมระดับสูงในเวทีระหว่างประเทศและเวทีภูมิภาค 2 กิจกรรม จากนั้นจะทรงเข้าร่วมในการประชุมระดับสูงอื่นๆ ตลอดทั้งปี