สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายบน ‘ยูทูป-เฟสบุ๊ค’ 7 ส.ค.นี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ไอไอจี) เรื่องมาตรการดำเนินการระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ผิดกฎหมาย ภายหลังหารือร่วมกับพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 9 ก.ค.2560 มีหมายศาลปิดเว็บไซต์ในเฟซบุ๊กทั้งสิ้น 1,399 ยูอาร์แอล ปิดกั้นสำเร็จเพียง 107 ยูอาร์แอล ส่วนยูทูปมีหมายศาลทั้งสิ้น 581 ยูอาร์แอล ปิดไป 3 ยูอาร์แอล และอื่นๆ 41 ยูอาร์แอลปิดกั้นได้ 6 ยูอาร์แอล ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เป็นผู้ประสานงานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งเฟสบุ๊ค และ ยูทูป แต่ไม่ได้รับหมายศาลเพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการประสานงาน
นายฐากร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กระบวนการจากนี้ กสทช.จึงต้องแจ้งกับไอเอสพีและไอไอจี ว่าหลังจากนี้จะมีการปรับกระบวนการทำงานในการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย โดยกลับมาใช้แนวทางเดิม คือ เมื่อมีหมายศาลระบุว่าเว็บไซต์ใดผิดกฎหมาย กระทรวงดีอี จะส่งหมายศาลดังกล่าวมายังกสทช. เพื่อให้กสทช. ส่งต่อไปยังไอเอสพี เพื่อประสานงานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเฟสบุ๊ค และยูทูป ตามลำดับ เพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ ได้รวดเร็ว นอกจากนี้ กสทช.ได้ขอให้ไอเอสพี เร่งประสานงานปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายที่ยังคงค้างอยู่ในระบบจนถึงวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 1,897 ยูอาร์แอลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ส.ค. เพื่อที่กสทช.จะได้นำข้อมูลไปเรียนต่อรองนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 ส.ค.นี้
นายฐากร กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเชื่อว่าทางไอเอสพี จะช่วยดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลา เนื่องจากก่อนกสทช.จะสั่งการไปยังไอเอสพีวันนี้ (18 ก.ค.) ไอเอสพีได้ดำเนินการประสานงานเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายอย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูลพบว่าหลังจากวันที่ 9 -16 ก.ค. มีหมายศาลแจ้งเว็บไซต์ผิดกฎหมายมากขึ้นแต่อัตราการปิดกั้นก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน และข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 18 ก.ค.พบว่า มีหมายศาลระบุเว็บไซต์ผิดกฎหมายออกมาทั้งสิ้น 3,012 ยูอาร์แอลประกอบด้วย เฟสบุ๊ค มีเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 2,082 ยูอาร์แอล ปิดกั้นสำเร็จ 899 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 672 ยูอาร์แอลปิดกั้นสำเร็จ 180 ยูอาร์แอลและ อื่นๆ 153 ยูอาร์แอลปิดกั้นสำเร็จ 36 ยูอาร์แอล
“นอกจากนี้เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 ก.ค.ได้หารือนอกรอบกับทางผู้บริหารกูเกิ้ล เจ้าของยูทูปซึ่งทางผู้บริหารกูเกิ้ลได้ตอบรับให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เดิมช่องทางในการปิดเพจที่ไม่เหมาะสม กระทรวงดีอีกับปอท.เป็นคนประสานเฟสบุ๊กกับยูทูป แต่ไม่รู้ทำไมยอดปิดเพจที่ผิดกฎหมายถึงช้ามาก และเห็นว่าไอเอสพีกับไอไอจีมีช่องทางในการประสานที่ใกล้ชิดกว่าจึงขอให้ช่วยส่งคำสั่งศาลไปดำเนินการซึ่งน่าจะทำได้เร็วกว่า”นายฐากร กล่าว