วันอังคาร 19 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ผ้าโขมพัสตร์ มรดกวัฒนธรรมชาติ ของ พระองค์เจ้าบวรเดช

ท่ามกระแสที่การพิมพ์ผ้าด้วยเครื่องจักร กำลังเป็นที่นิยม และต้องการของตลาดอย่างมาก แต่ก็ยังมี “ผ้าโขมพัสตร์” แบรนด์ไทยทำมือแบรนด์หนึ่ง ที่ยังต่อสู้ยืนหยัด อยู่คู่คนไทย และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า 70 ปี . ชื่อ “โขมพัสตร์” นั้น แปลความหมายได้ตรงตัวตามนี้ คือ โขม แปลว่า ละเอียด พัสตร์ แปลว่า ผ้า โขมพัสตร์ จึงแปลว่า ผ้าที่ละเอียดอย่างยิ่ง . และผู้ที่ได้พบเห็น หรือได้สัมผัสผ้าโขมพัสตร์ทุกคน จะเห็นผ้าที่ละเอียด วิจิตร งดงามจริงๆ ตามที่ชื่อผ้าว่าไว้ .

โขมพัสตร์ก่อตั้งขึ้นที่อำเภอหัวหิน ในปีพ.ศ. 2491 โดยพลเอกพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช และหม่อมเจ้าหญิงผจงจิตร กฤดากร ทั้งสองพระองค์ทรงดำริที่จะสร้างโรงทอ ย้อม และพิมพ์ผ้าย่อมๆ อย่างเช่นที่เคยทำที่ไซ่ง่อนในปี พ.ศ. 2473 เป็นโรงงานเล็กๆ บนพื้นที่ผืนเดียวกับที่ตั้งร้านปัจจุบัน มีคนงานเพียง 20 คน ทรงเลือกหัวหิน เพราะทรงมีที่ดินอยู่แล้ว แถมยังเป็นแหล่งปลูกฝ้ายชั้นดีของประเทศ และทรงมีเจตนาให้ชาวบ้านมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น .

จากการตัดสินใจครั้งนั้น พลเอกพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ได้ทรงริเริ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากการศึกษาค้นคว้าลวดลายไทยโบราณ จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และทรงรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ในด้านเทคนิคการพิมพ์ผ้า ด้วยพระอุตสาหะ ทรงหัดทำกรอบสำหรับพิมพ์ผ้าเพื่อพิมพ์ลงบนผ้าฝ้าย .

สมัยก่อนทุกอย่างต้องเขียนด้วยมือทั้งหมด พลเอกพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ทรงเป็นคนแรกๆ ของประเทศไทย ที่ประยุกต์นำระบบซิลค์ สกรีน พรินติ้ง มาใช้พิมพ์ลายผ้า เริ่มจากพิมพ์ลายไทยเพียงอย่างเดียว แล้วจึงทดลองพิมพ์ผ้าพันคอ เป็นรูปภาพเมืองไทยต่างๆ เช่น ลายวัดอรุณ เรือหงส์ บ้านชาวนา ปรากฏว่าขายดีมาก เลยดัดแปลงทำผ้ารองจานอาหาร กระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2496 หม่อมเจ้าหญิงผจงจิตร กฤดากร ผู้เป็นภริยา ได้รับสืบทอดกิจการต่อ พร้อมขยายกิจการ และปรับปรุงโรงงานให้ดีขึ้น .

ก่อนหน้านี้ การออกแบบลวดลายส่วนใหญ่ จะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวที่พบเจอ ไม่ได้มีแนวทางหลักการมากมายนัก จนกระทั่งโรงละครแห่งชาติเข้ามาติดต่อขอให้โขมพัสตร์พัฒนาวิธีการทำผ้าเกี้ยว ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นผ้าสำหรับใส่เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ เพื่อนำผ้าไปใช้สำหรับใส่แสดงละคร ม.ร.ว. ยงสวาสดิ์ กฤดากร จึงแนะนำว่า น่าจะนำผ้าเกี้ยวมาต่อยอดเป็นสินค้า เพื่อเก็บรักษาลายนี้ไว้ และจนถึงวันนี้ก็ยังมีคนมาหาซื้อผ้าเกี้ยวอยู่มากมาย .

ปัจจุบันนี้ หม่อมเจ้าหญิงผจงจิตร กฤดากร ได้ทรงมอบหมายให้ลูกสาวทั้ง 3 คน คือ ม.ร.ว. ภรณี รอสส์ , ม.ร.ว. อัจฉริยา คงสิริ และ ม.ร.ว. วิภาสิริ วุฒินันท์ ช่วยดูแลกิจการต่อ โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ ของผ้าพิมพ์ลายไทยของหัวหินไว้ ทุกกอย่างยังผลิตด้วยมือตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากการผสมสี ทำกรอบเขียนลาย ถ่ายลงกรอบ ใช้มือพิมพ์ ยกเว้นขั้นตอนซักรีด และอบผ้า ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย .

นอกจากลายที่คิดค้นขึ้นใหม่ ลายพิมพ์ดั้งเดิมส่วนใหญ่ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เช่น ลายดอกจิก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของร้าน ลายเทพพนม ลายหัวโขน และลายผ้าเกี้ยวพิมพ์ทอง ที่นำไปใช้ตกแต่งพระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะเดียวกัน ก็มีการคิดค้นลวดลาย และสีสันใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงสินค้าให้หลากหลายขึ้น นอกเหนือจาก ผ้าตัดเสื้อ ผ้าม่าน ผ้าตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อประจำร้าน .

ปัจจุบัน โขมพัสตร์ถูกสืบทอดต่อโดยทายาทรุ่นที่ 3 โดยสร้าง Khom (โขม) แบรนด์ใหม่ที่สนุกสนานขึ้นด้วยสีสัน และลวดลาย ลดทอนรายละเอียดความเป็นไทย จนเกิดเป็นกราฟิกที่เข้าถึงง่าย มีความร่วมสมัย เข้าถึงได้ และใช้งานได้จริง มีการสร้างสรรค์สี หรือคู่สีใหม่ๆ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ไว้อย่างแข็งแรง .

นอกจากนี้ แพทเทิร์นการตัดเย็บ ยังทำให้ร่วมสมัย ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เสื้อผ้าใส่สบาย ไม่หนาเทอะทะเหมือนผ้าฝ้ายสมัยก่อน มีสีสันที่สวยงาม และมีราคาที่สามารถจับต้องได้ . ปัจจุบันนี้ ร้านโขมพัสตร์ มีสาขาอยู่ในกรุงเทพมหานคร หลายแห่ง ได้แก่ โขมพัสตร์ สาขาสำนักงานใหญ่ ถนนนเรศ โขมพัสตร์ และโขม สาขาสุขุมวิท Miracle Mall สุขุมวิท ซอย 41 และ โขม Ecotopia ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า Siam Discovery ส่วนที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็น Flagship store ก็ยังคงเปิดทำการเหมือนเดิม .

แหล่งข้อมูล
https://m.facebook.com/Khomapastrfabrics/
https://www.facebook.com/khomfabrics/
https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/88765
https://readthecloud.co/nextgen-khomapastr/