วันจันทร์ 13 พฤษภาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

พระราชมารดา ผู้ทรงปิดทองหลังพระ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

21 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ในรัชกาลที่ 9) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ (ในรัชกาลที่ 9) เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก (ในรัชกาลที่ 9) ทรงมีอิทธิพลทางความคิดต่อสมเด็จพระศรีนครินทราฯ มาก “บางคำที่ทรงสอน เมื่อกลับไปค้นคว้าถอดมาจากพระบรมราชชนกเลย” และพระองค์ก็ทรงถ่ายทอดมายังพระโอรสธิดาของพระองค์
……………………………………….
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง บรรดาเจ้านายโดยเฉพาะองค์ที่มีบารมีมากๆ โดนเนรเทศ จับกุมคุมขัง
สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงห่วงพระราชนัดดาของท่าน เพราะพระบรมราชชนกก็สิ้นพระชนม์แล้ว ประกอบกับรัชกาลที่ 8 ทรงไม่แข็งแรง จึงทรงพระดำริว่าน่าจะทรงส่ง “หลาน” ไปต่างประเทศ จากหลายประเทศก็มาลงตัวที่สวิตเซอร์แลนด์
แรกๆ จดหมายระหว่างสมเด็จพระพันวัสสาฯ กับสมเด็จย่า ก็แค่รายงานเรื่องการเลี้ยงดู ความประพฤติอะไรต่างๆ จนเมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงลาออกจากการเป็นกษัตริย์ “หุ่นเชิด” ดังที่ท่านบันทึกไว้ และมีการยึดทรัพย์เจ้า ตัดเบี้ยหวัด สมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็ทรงโดนกับเขาด้วย
ได้อ่านเจอประวัติคุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ก็เคยมาอาศัยที่พระตำหนักท่านเพื่อไปเรียนหนังสือ ยังต้องออกจากพระตำหนัก เพราะสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงมีกำลังไม่พอจะดูแล

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ ๙

……………………………
กรอบเวลาเดียวกัน ต้องอัญเชิญกษัตริย์ใหม่ขึ้นแทน ตอนแรกสมเด็จพระพันวัสสาฯ และ สมเด็จพระศรีนครินทราฯ ไม่ทรงยอม แต่กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาฯ อ้างถึงรับสั่งที่รัชกาลที่ 7 เคยปรารภกับพระยามโนปกรณ์และคณะว่า ถ้าท่านสละราชย์ ผู้ที่จะมาเป็นกษัตริย์ น่าจะเป็นใคร
(ทรงปรารภไว้เมื่อ 30 มิ.ย. พ.ศ.2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน เพราะพระเนตรพระองค์ไม่สู้ดี ต่อมา ก่อนสละราชย์ทรงมีปัญหากับคณะราษฎรซับซ้อน จึงมีพระราชหัตถเลขาว่าไม่ทรงตั้งผู้ใด) รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริว่า พระเชษฐาของพระองค์สององค์ คือกรมขุนเพ็ชรบูรณ์ และ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ทรงมีชายาเป็นรัสเซีย ต้นตระกูลของฮิวโก) นั้น ถูกข้ามมาแล้ว ก็น่าจะกลับไปทางโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ (แถลงการณ์เรื่องสละราชสมบัติ..หน้า 4)


(ซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
(ขวา) สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ


สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลที่ ๙

…………………………………….
(สรุปภาษาชาวบ้านคือ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 พี่ชายของพระบรมราชชนกท่านเป็นรัชทายาท แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อน ก็เลยย้ายฝั่งมาที่พระอนุชาต่างพระมารดา คือรัชกาลที่ 6 พอรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ ไม่มีโอรส ก็พิจารณาน้องชายคนถัดไป ท่านก็ให้ข้ามไปสององค์ รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นน้องคนเล็กได้ครองราชย์
พระองค์ทรงเรียนสายทหารมาตลอด และไม่เคยเตรียมตัวจะเป็นกษัตริย์ มิหนำซ้ำทรงมาเป็นกษัตริย์ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกไม่พอ ท้องพระคลังก็เงินร่อยหรอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ช่วงนั้นหุ้นวอลสตรีทล้ม คนอเมริกันยังต้องเข้าแถวรับแจกขนมปังกันเลย
แต่คณะราษฎร์เขียนประณามท่านซะเว่อร์วังมากไป คนรุ่นหลังก็ลอกมาแต่คำแรงๆ แต่เหตุการณ์ที่ถือพานถือธูปไปขอขมารัชกาลที่ 7 ไม่สอนไม่จำกัน
สมเด็จพระพันวัสสาฯ เอง แรกๆ ก็กริ้ว ตอนหลังนายปรีดี พนมยงค์ พาพระองค์ไปหลบระเบิดสงครามโลกที่อยุธยา ถึงได้รู้จักกันมากขึ้น ได้ยินว่านายปรีดีเองก็เสียใจที่เคยเขียนคำประกาศแรงๆ ซะขนาดนั้น

นายปรีดี พนมยงค์

…………………………….
ต่อ..นั่นแหละตามสายพระองค์ พระองค์เป็นน้องคนเล็กแล้ว การตั้งกษัตริย์ใหม่ก็น่าจะกลับไปทางสายน้องของสยามมกุฎราชกุมารองค์แรก คือเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ซึ่งที่ยังเหลืออยู่ก็คือราชสกุลมหิดล โอรสของพระบรมราชชนก
เจอข้ออ้างนี้สมเด็จพระพันวัสสาฯ ท่านก็เลยทรงยอม สมเด็จพระศรีนครินทราฯ ก็ต้องยอม
หลังจากนั้นชีวิตท่านที่สวิสก็เปลี่ยน รัฐบาลให้ย้ายจากอพาร์ทเมนท์เล็กๆ ไปอยู่บ้าน ทรงเลือกพระตำหนักวิลล่า รับสั่งว่าถ้าให้เลิศหรูกว่านี้ ก็ไม่ต้องมาตั้งลูกท่าน เพราะทรงต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเติบโตของเด็ก

พระตำหนักวิลล่า วัฒนา (VillaVadhana) ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ภาพจาก นิตยสาร LIFE ถ่ายโดยนาย Dmitri Kessel เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1949

ตอนแรกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์จะให้เสด็จฯ กลับไทยเลย มาเรียนที่เมืองไทย แต่สมเด็จพระศรีนครินทราฯ ไม่ทรงยอม เมืองไทยก็เลยไม่มีพระเจ้าแผ่นดินประทับหลายปี มีแต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
จดหมายของสมเด็จพระศรีนครินทราฯ ถวายพระพันวัสสาฯ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2478 ทรงไว้ดังนี้
“หม่อมฉันก็บอกให้เป็นที่เข้าใจอีกว่า ทั้งลูกและหม่อมฉัน ไม่มีความต้องการยศและลาภเลย แต่การที่นันท (รัชกาลที่ 8) ต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง
เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต่อไป ขอให้พูดกันดีๆ อย่าบังคับและตัดอิสรภาพจนเหลือเกิน และสำหรับร่างกายและการศึกษาแล้ว ขอให้ได้เต็มที่ เวลานี้เป็นเด็ก ขอให้เป็นเด็ก
พระเจ้าแผ่นดินที่ร่างกายไม่แข็งแรง และโง่ ก็ไม่เป็นสง่าสำหรับประเทศ”
ในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก รัชกาลที่ 9 ก็ทรงมีพระราชปรารภพระราชทานแก่ประชาชนว่า
“ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์”
……………………………………..
การเมืองวุ่นวาย มีรัฐประหารไปรัฐประหารมา ตั้งแต่ปีรุ่งขึ้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีผู้วิเคราะห์ว่าช่วงสภาฯ ถล่มรัฐบาลคณะราษฎร์เรื่องทุจริตที่ดินพระคลังข้างที่ ร้อนสุด ร้อนขนาดรัฐบาลเร่งทูลเชิญรัชกาลที่ 8 กลับไทยเพื่อกลบกระแสถึง 4 ครั้ง แต่สมเด็จย่าปฏิเสธหมด
จน พ.ศ.2481 รัชกาลที่ 8 เสด็จเยี่ยมเมืองไทยครั้งแรก ตอนนั้นยังทรงพระเยาว์มาก คนไทยเรียกรัชกาลที่ 9 ว่า “เจ้าฟ้าแว่น” หรือ “ท่านแว่น”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา

ตอนอยู่เมืองไทยสมเด็จพระศรีฯ โปรดฯ ให้กระทรวงธรรมการพาเที่ยววัดวาอาราม เพื่อให้ทรงรู้จักศิลปวัฒนธรรมไทย ไปทรงอยู่ที่ไหนถ้ามีโอกาสก็ต้องมีทริปทัศนศึกษาให้พระราชโอรสธิดาท่าน
การเที่ยวเชิงทัศนศึกษานี่สมเด็จพระศรีฯ ทรงส่งเสริมมาก เพราะเป็นความรู้นอกห้องเรียนที่สำคัญ รัชกาลที่ 9 ก็เคยรับสั่งกับสโมสรไลออนด์ เมื่อปี 2512 ว่า “ทำให้เกิดความคิด”
อย่างที่พระองค์เสด็จทั่วโลกเมื่อต้นรัชกาล ก็ทรงได้ทั้ง “ไอเดียและคอนเนคชั่น” กลับมาเมืองไทย
ยกตัวอย่างประเทศเดนมาร์ก อิสราเอล มีความร่วมมือกันหลายเรื่องมาก เช่น พันธุ์วัวนม (วัวลายจุด) จากเดนมาร์ก โครงการพัฒนาที่ดินที่หุบกะพง การต่อเรือ ต.91-99 (ทรงได้ไอเดียจากการเสด็จฯ เยอรมัน)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับการศึกษาโคนม ณ ประเทศเดนมาร์ก

เรือ ต.91

สถานีโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม มีรายการนึงชื่อ “ศึกษาทัศน์” เป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ให้ทำรายการเกี่ยวกับการออกไปทัศนศึกษา จะเห็นจากตอนหนึ่งที่ทรงเป็นวิทยากรเอง ทรงพานักเรียนวังไกลกังวลไปทัศนศึกษาอ่างเก็บน้ำเขาเต่า และเรื่องฝนเทียม

โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

……………………………………………..
การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยของสมเด็จพระศรีฯ อาจกล่าวได้ว่ากลายเป็นแก่นแกน life style ของรัชกาลที่ 9 เมื่อทรงพระเยาว์ โปรดดนตรีแจ๊ส สมเด็จพระศรีฯ ทรงให้เรียนดนตรีคลาสสิกก่อน เพราะเป็นพื้นฐานดนตรี จากนั้นจึงต่อยอดต่อไป แต่ระเบียบวินัยของพระองค์ ก็ทรงมีความยืดหยุ่น เมื่อเล่น สามารถเล่นดินเล่นทราย เล่นน้ำ เล่นอะไรตามความสนุกของเด็ก แต่มีการดูแลความปลอดภัยอยู่ห่างๆ
เวลาเรียน เวลานอน มีระเบียบ การกิน และการอบรมบ่มนิสัย ทรงผสมวิชาจากตำราที่อ่าน วิชาโภชนาการ วิชาพยาบาลเข้ามา แล้วก็มาประยุกต์กับพระนิสัยของพระโอรสธิดาของท่าน
……………………………………….
ความประหยัด คือถ้าเราจะเอาไปปฏิบัติ ก็ปรับตามเนเจอร์ของเรา แต่สมเด็จพระศรีฯ และรัชกาลที่ 9 ธรรมชาติท่านเป็นแบบนั้น ท่านมีความสุขของท่านแบบนั้น ทำนองเดียวกับค่านิยมของลูกจีนโบราณ “เสียดายของ” ไม่ใช่ “เสียดายเงิน”
อย่างข้าว สมเด็จพระศรีฯ ทรงสอน ตชด.ว่า ตักข้าวพอกิน จะได้มีเหลือแบ่งคนอื่น เพราะที่เรากินเหลือคนอื่นเขากินไม่ได้ และเศษข้าว เศษปลาต่างๆ ทิ้งไว้บนดินก็เป็นขยะ แต่ถ้าขุดฝังก็เป็นปุ๋ย

หลอดยาสีพระทนต์ของในหลวง รัชกาลที่ ๙

……………………………………..
“เวลา” นี่ท่านใช้คุ้มค่าที่สุด อยู่นิ่งไม่ได้ จะทรงมีงานอดิเรกอะไร ก็ออกแนวสร้างสรรค์ ทับดอกไม้ เพ้นท์จาน อย่างนี้เป็นต้น
………………………………..
“เงิน” เพราะความที่สมเด็จพระศรีฯ ท่านมีกลยุทธ์ในการพระราชทานเงินพระโอรสธิดา รัชกาลที่ 9 ก็เลยเหมือนเด็กฝรั่งทั่วไป ของบางอย่างถ้าอยากได้และไม่เกี่ยวกับการเรียน ก็ต้องทำงาน รัชกาลที่ 9 เคยรับสั่งกับท่านผู้หญิงเกนหลงว่าทรงเคย “ถังแตก” (คำของท่าน) ทรงไปรับจ้างฝ่าฟืน ตัดหญ้า จนมือแตกน้ำเหลืองไหล เพราะเครื่องตัดหญ้าสมัยก่อนหนักและต้องเข็น กดปุ่มทีมันสะเทือนตึกๆๆๆ
………………………………
แผนที่ กับ กล้องถ่ายรูป ก็อาจจะทรงรับอิทธิพลมาจากสมเด็จพระศรีฯ ทรงอ่านแผนที่เก่ง ตอนเสด็จฯ เมืองไทยกับรัชกาลที่ 8 ครั้งแรก สมเด็จพระศรีฯ ให้กรมแผนที่ทหาร ทำจิ๊กซอว์รูปประเทศไทยให้พระโอรสทรงต่อเล่นกัน ได้ความสนุกและได้เรียนรู้ประเทศไทยไปด้วย
ส่วนกล้องถ่ายรูป รัชกาลที่ 7 ท่านโปรด สมเด็จพระศรีฯ ก็ทรงอยู่ในสโมสรด้วย ภาษาชาวบ้านคือ “เล่นกล้อง” ว่างั้น ต้นรัชกาลจึงมีการถ่ายทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 9 ทรงต้องการให้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ ตอนแรกใช้เงินส่วนพระองค์ซื้อฟิล์ม บางครั้งมีคนมาขอไปฉายตามโรงภาพยนตร์เก็บเงินการกุศล ท่านก็ให้ เงินฉายภาพยนตร์นี่เอาไปทำมูลนิธิ สร้างตึกในโรงพยาบาลหลายแห่งที่ต่างจังหวัด เคยตามไปแต่ส่วนใหญ่รื้อทิ้งไปแล้ว คนรุ่นหลังไม่รู้ แต่คนแก่คนเฒ่ารู้ แม้แต่ภาพถ่ายไว้ก็ไม่มี น่าเสียดาย
ตอนหลังมีฟิล์มสีเข้ามา ช่วงทรงผนวชพอดี แต่ความที่รัชกาลที่ 9 ท่าน “ประหยัดมาก” ก็เลยออกมาเป็นลูกผสม ขาวดำมั่งสีมั่ง หลังๆ มีข่าวพระราชสำนัก พระองค์ก็ให้เลิกไป
แต่ล่าสุดเคยไปงานพระราชทานเข็มที่มูลนิธิพระดาบส ช่างภาพตามเสด็จสมเด็จพระเทพฯ ยังมีกล้องฟิล์มอยู่ หมุนกันแต๊กๆ คลาสสิกชะมัด

กล้องถ่ายรูปของในหลวงรัชกาลที่ 9 รุ่น Nikon S2
ภาพจากส่วนหนึ่งของ นิทรรศการ “ พระราชาในดวงใจ”
ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ปี พ.ศ.2560

……………………………………………….
ถึงสมเด็จพระศรีฯ ท่านจะทรงมาจากสามัญชน แต่ทรงถวายการอภิบาลพระโอรสธิดาของท่านจากที่เคยถูกเชื้อพระองค์บางพระองค์เรียกว่า “เจ้านายบ้านนอก” จนเป็นพระมหากษัตริย์ที่โลกยังต้องไว้อาลัย.

……………………………..
เขียน-เรียบเรียง : ปัณฑา สิริกุล