วันอังคาร 19 มีนาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ประวัติศาสตร์กรณีสวรรคต ร.๘ : เขียนโดย สรรใจ แสงเชียร , วิมลพรรญ ปีตธวัชชัย,รักชาติ ผดุงธรรม,บุญร่วม เทียมจันทร์

สรรใจ แสงเชียร และ วิมลพรรญ ปีตธวัชชัย

ปัจจุบันนี้ปรากฎว่า มีวิธีการชำระล้างผู้มีมลทินด้วยการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ทั้งผู้ที่ใกล้ชิดและผู้ที่อยู่ห่างไกล เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด บิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยวิธีการเขียนและวิธีการพูดที่คิดกันได้หลายแง่ให้ร้ายบุคคลต่างๆ โดยปราศจากหลักฐาน เพื่อให้ผู้มีมลทินบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้น

เป็นที่น่าแปลกว่าปัญญาชนรุ่นใหม่ที่สูงด้วยคุณวุฒิแต่เยาว์ด้วยวัยวุฒิเพราะเกิดช้าไป บัณฑิตและนิสิตนักศึกษาบางหมู่บางเหล่าหลงเชื่อข้อความเหล่านั้นอย่างงมงายไม่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าให้รู้ความจริงด้วยตนเอง ทั้งๆที่หลักฐานข้อเท็จจริงที่จะศึกษากรณีสวรรคต ตามแนววิชาการยังมีอยู่ เช่นหนังสือพิมพ์ ถ้อยแถลง คำให้การ เอกสารของสภาและอื่นๆอีกมากมาย พอที่จะทำการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังได้

ข่าวลือที่ให้ร้ายสมเด็จพระอนุชาธิราชนั้นปล่อยออกมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตใหม่ๆ และมีอยู่เสมอทุกระยะจนกระทั่งปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในต่างประเทศบางประเทศ

แต่สิ่งที่ปรากฎหลักฐานอย่างแน่ชัดก็คือ ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต สมเด็จพระอนุชาประทับอยู่ในห้องเครื่องเล่นซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งบรมพิมาน ห่างจากห้องบรรทมซึ่งอยู่ปลายทิศตะวันออกของพระที่นั่ง

พยานสำคัญคือตัวนายชิตและนายบุศย์เอง และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตแล้ว สมเด็จพระอนุชาได้ทรงยินยอมให้พิสูจน์หลักฐานทุกๆประการ สุดแล้วแต่ทางตำรวจและรัฐบาลต้องการจะกระทำอย่างไร ในการชันสูตรพระบรมศพก็เสด็จมาทอดพระเนตรและอำนวยความสะดวก

ทั้งได้ทรงแนะนำให้หาเครื่องเอ็กซเรย์มาหลายเครื่องๆ ให้เอาแพทย์ฝรั่งมาช่วยชันสูตร เป็นต้น สมเด็จพระอนุชาธิราชมิได้เคยทรงปฏิบัติการอย่างใดที่จะแสดงให้เห็นว่าเป็นการขัดขวางขบวนการยุติธรรมดังเช่นการกระทำของบุคคลบางพวกในขณะนั้น

เหตุผลดังกล่าวนี้ย่อมแสดงอย่างชัดแจ้งแล้วว่าข่าวลือที่ให้ร้ายต่อสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นข่าวลือที่กุขึ้นโดยอกุศลเจตนา ตั้งใจจะทำลายล้างพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ผู้ที่มีสำนึกเยี่ยงสามัญชนและมีใจเป็นธรรมย่อมจะเห็นแล้วว่าข่าวลือนี้มีความเท็จเพียงไร

อย่างไรก็ตามบุคคลที่เกิดไม่ทันกรณีสวรรคต เด็กรุ่นใหม่ หรือผู้ที่มีการศึกษา บางกลุ่ม บางเหล่า โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ได้พากันหลงเชื่อข่าวลือนี้อย่างงมงายปราศจากการไตร่ตรอง หรือแสวงหาข้อเท็จจริงศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานต่างๆ โดยถี่ถ้วนหากนำแต่ข่าวลือนี้ไปพูดแต่งเติมเสริมต่อ บ้างก็พูดเป็นนัยว่าให้รอบันทึกของใครคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ชัดว่าการศึกษาไม่ได้ช่วยเพิ่มพูนสติปัญญาของคนมากนัก

“เบื้องหลังกรณีสวรรคต ร.8″

รักชาติ ผดุงธรรม

คำให้การของ นายชิต สิงหเสนี “ …… ข้าพเจ้าก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์และอ่านข่าวอยู่กับ นายบุศย์ฯ ณ ที่นั้น ตอนข้าพเจ้าออกจากห้องกุ๊ก จะขึ้นมาบนพระที่ เป็นเวลาอีก 5 นาที จะถึง 3 โมงเช้า ขณะที่นั่งกันอยู่นั้น ได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินมาหยุดตรงหน้า ก็เห็นในหลวงองค์ปัจจุบัน พระองค์ทรงรับสั่งถามว่า ในหลวงเป็นอย่างไรบ้าง นายบุศย์ฯ กราบทูลว่า ทรงตื่นบรรทมแล้ว เข้าห้องสรงแล้วกลับเข้าพระที่อีก เอาน้ำส้มไปถวายก็โบกพระหัตถ์ไม่ต้องพระประสงค์ ในหลวงองค์ปัจจุบันไม่รับสั่งว่ากระไร ทรงพระราชดำเนินกลับไปทางห้องของพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ ต่อมาราวห้านาที ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงดังปังคล้ายเสียงปืน……..” ( หน้า 160 )

คำให้การของนายบุศย์ ปัทมศริน “…….. เมื่อทราบว่าตื่นบรรทมแล้ว ข้าพเจ้าก็ลุกขึ้นหยิบถ้วยน้ำส้มคั้น เพื่อนำไปถวาย แต่เมื่อพระองค์ท่านเสด็จออกจากห้องสรงแล้ว ก็เสด็จกลับเข้าห้องบรรทม ประทับอยู่บนพระแท่นบรรทมในท่านั่ง หันพระพักตร์ไปทางปลายพระแท่น และก็เห็นในหลวงยกพระหัตถ์ข้างซ้ายโบกมาทางที่ข้าพเจ้าฯจึงกลับออกมานั่งรออยู่ที่เดิม ระหว่างที่เดินเข้าไปในห้องตามเสด็จนั้น ที่พระหัตถ์ทั้งสองข้างไม่เห็นทรงอะไรอยู่เลย

ข้าพเจ้ามานั่งรออยู่ที่เดิมราว 10 หรือ 15 นาที ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบ 9 นาฬิกา นายชิตฯ ก็เดินตรงมาที่ข้าพเจ้าแล้วถามว่า ในหลวงตื่นบรรทมแล้วหรือยัง ข้าพเจ้าตอบว่า ตื่นบรรทมแล้ว เข้าห้องสรงแล้วเสด็จกลับพระที่อีกน้ำส้มคั้นก็ยังไม่ได้เสวย นายชิตฯ ก็นั่งรออยู่กับข้าพเจ้า เขาพูดว่า จะมาวัดดวงตรา นายชิตฯ มาแล้วสัก 10 นาที ในหลวงองค์ปัจจุบันก็เสด็จมาจากห้องเสวย ทรงหยุดประทับรับสั่งถามว่า ในหลวงเป็นอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้ากราบทูลว่า ไม่เป็นไรพะยะค่ะ

ในหลวงองค์ปัจจุบัน ทรงฟังแล้วก็ไม่ได้รับสั่งประการใด เสด็จกลับไปทางเฉลียงด้านหลัง ต่อจากนั้น ประมาณ 10 นาที ก็ได้ยินเสียงดังปังเหมือนเสียงปืน นายชิตฯ ก็เดินเข้าไปในห้องแต่งพระองค์ เข้าไปหยุดอยู่แค่หน้าพระทวารที่จะเข้าห้องพระบรรทม ส่วนข้าพเจ้าคงนั่งอยู่ที่เดิมด้วยความตะลึง นายชิตฯ เข้าไปชั่ว 3-4 วินาที ก็วิ่งกลับออกมา………..”

ตัวอย่างจำลองวิถีกระสุน ในกรณีสวรรคต ร.8
จากหนังสือ กรณีสวรรคต : เขียนโดย สรรใจ แสงเชียร , วิมลพรรญ ปีตธวัชชัย,
ตัวอย่างการพบ ปืนข้างศพในกรณีสวรรคต ร.8
เขียนโดย สรรใจ แสงเชียร , วิมลพรรญ ปีตธวัชชัย,
เส้นทางเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ ในพระที่นั่งบรมพิมานชั้นบน ภายหลังเสียงปืนดังขึ้น เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9.30 น.

“คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8″

บุญร่วม เทียมจันทร์

ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และสมเด็จย่า วันที่ 2 มีนาคม 2477 เมื่อ ร.7 ทรงสละราชสมบัติ จึงได้ทรงครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ( พระชนมายุ 9 ชันษา ) ขณะที่ยังทรงประทับอยู่ ณ สวิสเซอร์แลนด์

เสด็จกลับประเทศไทย ครั้งแรกใน พ.ศ. 2481 ประทับอยู่ 2 เดือน จึงเสด็จกลับ

เสด็จกลับประเทศไทย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 โดยมีพระราชกำหนดที่จะเสด็จกลับในวันที่ 13 มิถุนายน 2489

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาประมาณ 09.00 เศษ เสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ในห้องพระบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อสมเด็จย่ากับมหาดเล็กวิ่งเข้าไปในห้องพระบรรทม ปรากฏว่าในหลวง ร.8 เสด็จสวรรคตแล้ว เพราะถูกอาวุธปืนยิงที่พระนลาฏเหนือพระขนง กระสุนปืนทะลุกะโหลกพระเศียร ( หน้า 34 )

พฤติการณ์ของ นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 (จากคำพิพากษาศาลฎีกา)

นายชิตฯ เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในขณะเกิดเหตุเป็นเวรของ นายบุศย์ ปัทมศริน แต่นายชิตฯ ได้ไปนั่งอยู่หน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์กับนายบุศย์ ฯ ด้วย โดยอ้างว่า เพื่อไปเอาพระตราออกมาวัดขนาด สำหรับการว่าจ้างทำตลับใส่พระตรา

เมื่อเกิดเหตุการณ์ นายชิตฯ วิ่งไปทูลต่อสมเด็จพระราชชนนีว่า ในหลวงยิงพระองค์เอง ข้อเท็จจริงหลังเสียงปืน นายชิตฯ เข้าไปดูเห็นแต่พระองค์ท่านทรงบรรทมหงาย และมีพระโลหิตที่พระนลาฏเท่านั้น เหตุใดจึงสรุปว่า ทรงยิงพระองค์เอง

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ไม่นานนัก นายชิตฯ ยังได้แสดงท่าทางของในหลวงอย่างเป็นจริงเป็นจัง ต่อหน้าพระบรมวงศานุวงศ์ นายปรีดี พนมยงค์ และข้าราชการผู้ใหญ่ ณ พระที่นั่ง ด้วยการทำท่านอนหงายเอามือแสดงท่าจับปืนจ่อหน้าผาก และกล่าวว่า ทรงยิงพระองค์เอง ทั้งๆที่ นายชิตฯ ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ราว 2 สัปดาห์ก่อนวันสวรรคต นายชิตฯ พูดกับ น.ส.จรูญ ตะละภัฎ ว่า “นี่จะบอกให้ ท่านไม่ได้เสด็จดอก วันที่ 13 นั่น”

นอกจากนั้น นายมี พาผล เบิกความยืนยันว่า เช้าวันหนึ่ง ก่อนเสด็จสวรรคต นายชิตฯ เข้ามาคุยด้วย ขณะที่ นายมีฯ กำลังอยู่เวรบนพระที่นั่งฯ นายชิตฯ กล่าวว่า “ท่านจะไม่ได้เสด็จนา” ( หน้า 627 )

นายชิตฯ ได้นำปลอกกระสุนปืน ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ว่า ไม่ใช่ปลอกที่ถูกสลัดออกจากปืนของกลางไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่ตำรวจมิได้เรียกร้อง ( หน้า 520 )

พฤติการณ์ของ นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 (จากคำพิพากษาศาลฎีกา)

นายเฉลียวฯ ขาดความเคารพยำเกรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.8 เป็นต้นว่า ส่งรถยนต์ประจำพระองค์ไปให้ นายปรีดีฯ ใช้จนขัดข้องแก่การที่จะทรงใช้ นั่งรถยนต์ไขว่ห้างล่วงล้ำเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งฯ ถวายหนังสือราชการด้วยอาการขาดคารวะ จูบหญิงพนักงานในที่ทำการ สูบบุหรี่และโยนทิ้งลงบนพื้นในพระที่นั่งฯ เปิดวิทยุเสียงดังบนตึกที่ทำงาน ซึ่งอยู่ตรงข้ามพระที่นั่งฯ เหล่านี้เป็นการเหยียดหยามพระราชประเพณี ไม่เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย

จึงทรงรับสั่งแก่นายปรีดีฯ ขอเปลี่ยนราชเลขานุการ นายเฉลียวฯ จึงต้องออกจากตำแหน่งในราชสำนักไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2489 ซึ่งต่อมา นายเฉลียวฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

นายเฉลียวฯ ได้พูดคุยกับพันเอกประพันธ์ กุลพิจิตร เมื่อ 8 มิถุนายน 2489 ถึงการเสด็จกลับในวันที่ 13 มิถุนายน 2489 ว่า “ไม่ได้ไปหรอก คอยดูไปก็แล้วกัน” และได้เคยพูดกับเจ้าหมื่นสรรเพ็ชรภักดี ในวันเดียวกันว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ จะ “ไม่ได้กลับ” ( หน้า 629 )

คำให้การที่พาดพิง เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช

ในวันที่เสด็จสวรรคต นายสี่ หรือ ชูรัตน์ เทียมแสงทอง ได้ไปพบ ร้อยตรีกรี พิมพะกร ที่โรงงาน ร้องไห้บอกว่า เมื่อ 4 วันก่อน ที่เคยเล่าว่า มีผู้จ้างยิงคนสำคัญนั้น คือ จ้างให้ยิงล้นเกล้าล้นกระหม่อม แต่เขาไม่กล้ายิง จึงหลบออกมาและจะขออาศัยอยู่ด้วย เพราะขณะนี้มีตำรวจคอยตามยิงเขาอยู่ โดยนายชูรัตน์ฯ ระบุว่า ผู้ที่เข้าไปยิงล้นเกล้าล้นกระหม่อมสวรรคตนั้น คือ เรือเอกวัชรชัยฯ ( หน้า 484 )

สิบตรีสวัสดิ์ ประดุงสิทธิ์ คนขับรถของ เรือเอกวัชรชัยฯ ให้การว่า เช้าวันที่เกิดเหตุประมาณ6 นาฬิกาเศษ ได้ขับรถไปส่ง เรือเอกวัชรชัยฯ ที่หน้าสวนสราญรมย์

นายจรูญ เปรืองเวช ทำงานอยู่ที่กรมราชองครักษ์ ให้การว่า เช้าวันที่เกิดเหตุได้พบเห็น เรือเอกวัชรชัยฯ ยืนอยู่ที่หน้าโรงละคร

นายประสิทธิ์ แตงนารายณ์ มหาดเล็กชาวที่ ให้การว่า จวนเวลา 9 นาฬิกาของวันที่เกิดเหตุ ขณะที่ตนอยู่ชั้นล่างของพระที่นั่งบรมพิมาน ได้พบเห็น เรือเอกวัชรชัยฯ ยืนอยู่ระหว่างโรงละครกับหอโหร

นายช่วง ประณีตทอง ให้การว่า ขณะที่กำลังถอนหญ้าข้างพระที่นั่งบรมพิมาน ได้ยินเสียงปืน 1 นัด จึงเดินกลับ เพื่อจะเอากระป๋องบัวตักน้ำไปเก็บที่โรงละคร ได้พบเห็นเรือเอกวัชรชัยฯ เดินค่อนข้างรีบหน่อย ผ่านโรงละครไปจนลับตา ( หน้า 488 )

อาวุธปืน ปลอกกระสุน และหัวกระสุน ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ

ถ้อยคำของพยานผู้ชำนาญแต่ละคน ล้วนยืนยันว่า พระแสงปืนของกลางที่อยู่ในที่เกิดเหตุต้องยิงมาแล้ว ก่อนเสด็จสวรรคตไม่น้อยกว่า 8 วัน เพราะ ลำกล้องสกปรกมาก และมีสนิมอ่อนๆจับ ดังนั้น จึงไม่ใช่ปืนของกลางที่ใช้ในการลอบปลงพระชนม์ที่แท้จริง ( หน้า 361 )

สำหรับปลอกกระสุน และหัวกระสุนของกลางนั้น ผู้ชำนาญการพิเศษ ซึ่งได้ดำเนินการทดลองยิงและตรวจสอบแล้ว ลงความเห็นว่า เป็นปลอกกระสุนที่ยิงมาจากพระแสงปืนที่อยู่ในที่เกิดเหตุจริง ส่วนหัวกระสุนพิสูจน์ได้เพียงว่า เป็นหัวกระสุนขนาดเดียวกันเท่านั้น ( หน้า 548 )