วันพฤหัสบดี 10 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ข้ามให้พ้น “ระบอบเลือกตั้งธิปไตย”

ปัญญาพลวัตร
โดย…พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต 

21 พฤศจิกายน 2557 

ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์แห่งศตรรษที่ 21 รูปแบบการปกครองที่กลายเป็นบรรทัดฐานของประชาคมโลกคือประชาธิปไตย และสิ่งที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจร่วมกันว่าเป็นดัชนีบ่งบอกความเป็นประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง โดยที่ประชาคมโลกหาได้สนใจหรือให้ความสำคัญกับตัวบ่งชี้อื่นๆของประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ชนชั้นนำของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศทั้งในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียได้เรียนรู้ความคิดเหล่านี้ของประชาคมโลก พวกเขาจึงสร้างรูปแบบการปกครองที่มีการเลือกตั้ง แต่ไร้ประชาธิปไตยเพื่อตบตาประชาคมโลก ขณะที่ประชาชนของประเทศเหล่านั้นจำนวนมากตระหนักดีว่าการที่ประเทศของตนเองมีการเลือกตั้งแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด พวกเขาจึงพยายามแสวงหาแนวทางและต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

แต่ทว่าการสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมิใช่เรื่องง่ายเพราะว่าเนื้อหาและบรรทัดฐานของประชาธิปไตยที่มีคุณภาพไปกระทบผลประโยชน์ของเหล่าชนชั้นนำอย่างรุนแรง กลุ่มชนชั้นนำโดยเฉพาะกลุ่มนายทุนซึ่งได้รับประโยชน์จาก “ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง” หรือที่เรียกว่า “ระบอบเลือกตั้งธิปไตย” จึงพยายามปกป้องระบอบนี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา

พวกเขาใช้วิธีการทุกอย่างไม่ว่าจะแลกด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนมากเพียงไร ไม่ว่าจะทำลายคุณค่าของสังคมมากเพียงใด และไม่ว่าจะไร้ศีลธรรมเพียงใด เพื่อให้ระบอบเลือกตั้งธิปไตยดำรงอยู่ต่อไป ในหลายประเทศการกระทำเยี่ยงนี้ของกลุ่มนายทุนเป็นการเปิดทางให้กลุ่มทหารใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจและทำลายระบอบเลือกตั้งธิปไตย อย่างไรก็ตามในกระบวนการทำลายระบอบเลือกตั้งธิปไตย ย่อมมีผลกระทบต่อเนื้อหาและคุณค่าอื่นๆของระบอบประชาธิปไตยไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการศึกษาของ Larry Diamond อาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ระหว่าง ค.ศ. 1974 ถึง 2011 มีประเทศถึง 34 ประเทศ จาก 170 ประเทศเกิดการล่มสลายของระบอบเลือกตั้งธิปไตย แต่ที่น่าสนใจคือ ประมาณ 23 ประเทศ หรือ 2 ใน 3 ของประเทศนี้เกิดการล่มสลายหลัง ค.ศ. 1999 นั่นแสดงว่าในช่วงส่งท้ายศตวรรษที่ 20 และเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 การล่มสลายของระบอบเลือกตั้งธิปไตยมีมากขึ้น

หลายประเทศตกอยู่ในกับดักทางประวัติศาสตร์ระหว่าง “ระบอบเผด็จการทหาร” กับ “ระบอบเลือกตั้งธิปไตย” แน่นอนครับประเทศไทยก็ตกอยู่ในกับดักนี้ด้วย แต่เพื่อไม่ให้เสียกำลังใจ ในสายตาของผมแล้วในแต่ละช่วงของการพัฒนาทางการเมืองที่ประเทศอยู่ภายใต้ระบอบเลือกตั้งธิปไตย แม้ว่าด้านหนึ่งกลุ่มนายทุนได้บิดเบือนคุณค่าและบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่อีกด้านหนึ่งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนที่มีคุณภาพก็ได้สร้างคุณค่าและบรรทัดฐานที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาด้วย

ดังนั้นแม้ว่าระบอบเลือกตั้งธิปไตยจะถูกหยุดยั้งโดยกลุ่มทหารลงไปชั่วคราว แต่คุณค่าและบรรทัดฐานเชิงเนื้อหาของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นมาหาได้ถูกทำลายลงไปง่ายๆแต่อย่างใด แต่กลับยังดำรงอยู่ในกระแสบรรยากาศของสังคม ที่แม้แต่กลุ่มผู้ยึดอำนาจก็ยังต้องระมัดระวังไม่กล้าที่จะใช้อำนาจเผด็จการที่รุนแรงดังในอดีต

อย่างไรก็ตามผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมหลายประเทศจึงไม่สามารถพัฒนา “ระบอบเลือกตั้งธิปไตย” ไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตย” ได้ ผมคิดว่าปัจจัยหลักๆที่มีความสัมพันธ์กับการล่มสลายของระบอบเลือกตั้งธิปไตยมีหลายประการ

ประการแรก ความไร้ประสิทธิผลของรัฐบาล รัฐบาลในระบอบเลือกตั้งธิปไตยมีแนวโน้มที่กำหนดเป้าหมายและนโยบายแบบประชานิยม โดยตั้งเป้าหมายการบริหารประเทศด้านต่างๆเอาไว้สูงเพื่อโน้มน้าวจิตใจผู้คนให้เลือกตนเอง แต่พอได้บริหารจริงกลับทำตามที่สัญญาไม่ได้ เช่น กระชากค่าครองชีพ การขัดความยากจน และการปราบปรามการคอรัปชั่น เป็นต้น จึงทำให้ผู้มีสติปัญญาในสังคมเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลไปอย่างรวดเร็ว

ประการที่สอง ภาวะอัมพาตการเมือง เป็นสภาวะที่หลังการเลือกตั้งไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะพรรคการเมืองมีการต่อรองผลประโยชน์จนหาข้อยุติไม่ได้ หรือ แม้จัดตั้งรัฐบาลได้แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ จนอยู่ในภาวะชะงักงัน จะเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ดังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนมกราคม –กลางพฤษภาคม 2558 ในประเทศไทย

ประการที่สาม เกิดสถานการณ์แบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง ขั้วทางการเมืองอาจเกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา และความขัดแย้งระหว่างการคลั่งไคล้และความเกลียดชังผู้นำทางการเมืองของผู้คนในสังคมก็ได้ เมื่อเกิดขั้วทางการเมืองสังคมก็มีแนวโน้มพัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น

ประการที่สี่ การโกงและทุจริตการเลือกตั้งอย่างขนานใหญ่ ซึ่งนำไปสู่การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เกิดการชุมนุมประท้วง และการก่อการจลาจล ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อคราวเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่มีการโกงการเลือกตั้งอย่างมโหฬาร นิสิตนักศึกษาประท้วงรัฐบาล และจบลงด้วยการยึดอำนาจของทหารในยุคนั้น

ประการที่ห้า ความไร้สมรรถภาพของระบอบการปกครองในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เลว และทดแทนด้วยรัฐบาลที่ดี สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเพราะว่ารัฐบาลที่เลวสามารถควบคุมและจัดการการเลือกตั้งเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อไร ก็จะได้พรรคการเมืองหน้าเดิมเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับระบอบการปกครอง เลือกไปก็เท่านั้น “สมบัติผลัดกันชม” หรือ “หนีเสือ ปะจระเข้”

ประการที่หก ความรุนแรงทางการเมือง รัฐบาลในระบอบเลือกตั้งธิปไตยของบางประเทศไม่สามารถควบคุมความรุนแรงทางการเมืองได้ ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือรัฐบาลกระทำตนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงเสียเองโดยการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธไปทำร้ายประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ตรงกันข้ามกับตนเอง เมื่อระเบียบสังคมถูกละเมิดและถูกทำลายอย่างรุนแรง กลุ่มทหารก็มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาควบคุมอำนาจ

ประการที่เจ็ด ความไร้สมรรถภาพของสถาบันทางสังคม เช่น ตำรวจ ปปช. อัยการ ในการจัดการเรื่องการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดกฎหมายต่างๆ จนทำให้การทุจริตและการละเมิดกฎหมายเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง บ้านเมืองเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ไร้ระเบียบ และไร้ความยุติธรรม

ปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศหลายประเทศไม่สามารถก้าวข้ามพ้นระบอบเลือกตั้งธิปไตย ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะเมื่อปัจจัยเหล่านี้ทวีความเข้มข้นมากขึ้น ในท้ายที่สุดทั้งประชาชนและกองทัพก็ไม่อาจอยู่เฉยได้ ทางออกที่เรามักเห็นอยู่เสมอก็คือ หากไม่เกิดการปฏิวัติของประชาชน ก็จะเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ หรือทั้งสองกลุ่มร่วมมือกันในการแสวงหาทางออกโดยหยุดระบอบเลือกตั้งธิปไตยลงไว้ชั่วคราว

ดังประเทศไทยในเวลานี้ที่ได้มีการหยุดระบอบเลือกตั้งธิปไตยลงชั่วคราว และกำลังมีการออกแบบระบอบการปกครองกันใหม่ ซึ่งก็น่าสนใจว่ารูปแบบที่ออกมาในอนาคตจะเป็นแบบใดระหว่าง “แบบเลือกตั้งธิปไตย” หรือ “แบบประชาธิปไตย” คอยดูกันนะครับ
ขอบคุณ

http://www.manager.co.th/