วันศุกร์ 20 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ครั้งแรก! เปิดเมนูพระกระยาหารมื้อสุดท้าย เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ก่อนเสด็จทิวงคตที่สิงคโปร์

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ และ ไพศาล เปี่ยมเมตตาวัตน์ เล่าเรื่องราวข้างหลังภาพ

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ตำหนักจิตรลดา พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน ราชสกุลจักรพงษ์ สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ และพิพิธภัณฑ์ตำรวจ จัดงาน “จักรพงษ์นิทรรศน์” นิทรรศการแสดงพระประวัติและผลงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทยรัสเซีย

นับเป็นครั้งแรกกับการจัดแสดงลายพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ จักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลก ประชานาถ เป็นส่วนหนึ่งของจักรพงษ์นิทรรศน์ นิทรรศการแสดงพระประวัติและผลงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ โดยจัดแสดงระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม จนถึง 30 กันยายน 2560 วันพุธ-วันศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ 10.00-18.00 น. เปิดให้เข้าชมฟรี

รัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์

“จักรพงษ์นิทรรศน์” เป็นนิทรรศการแสดงพระประวัติและผลงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ซึ่งประสูติ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ โดยนิทรรศการแสดงเรื่องราวผ่านพระราชหัตเลขา ลายพระหัตถ์ เอกสารและสิ่งของหายากต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพระประวัติและผลงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้า จักรพงษ์ รวมทั้งความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างพระราชวงศ์รัสเซียและราชสำนักสยาม ซึ่งความสัมพันธ์ อย่างเป็นทางการนั้นได้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนรัสเซีย ทรงพบและพำนักอยู่กับจักพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 ระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวได้ตัดสินพระทัยที่จะส่งพระราชโอรส สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์มาทรงศึกษาที่รัสเซียใน พ.ศ.2441 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงใช้เวลาอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถึงแปดปี ทรงจบการศึกษาเป็นอันดับหนึ่งจาก Corp dea Pages ทรงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทหารฮุสซาร์ และทรงศึกษาที่โรงเรียนทหารระดับสูง จนกระทั่งเสด็จนิวัตสยามในปี พ.ศ.2449 หลังพบรักและอภิเษกสมรสอย่างลับๆ กับสตรีชาวรัสเซียนามว่า อีคาเทอรีนา เดนิสกายา

สมุดบันทึกประจำวัน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ

เอกสารพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์นี้ได้ตกทอดมาอยู่ในการครอบครองของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ แต่ต่อมาเอกสารหลายร้อยฉบับนี้ได้ถูกขโมยไป จนปรากฏอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีข่าวการประมูลของสำนักการประมูลคริสตี้ในกรุงลอนดอนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538 อันเป็นข่าวคึกโครมที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น

หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ได้เล่าถึงเอกสารสำคัญเหล่านี้ว่า “เมื่อข้าพเจ้าอายุ 15 ปี คุณแม่ป่วยหนักและกำลังจะเสียชีวิตที่บ้านในมณฑลคอร์นวอลล์ ข้าพเจ้ายังจำภาพที่แม่กำลังจัดเรียงเอกสารเหล่านี้ ในกล่องและพยายามจัดพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์เหล่านี้ ราว 14 ปีหลังจากนั้น ข้าพเจ้ามาพำนักใน กรุงเทพฯ โดยกำลังค้นข้อมูลสำหรับหนังสือเรื่อง แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม ซึ่งตอนนั้นข้าพเจ้าเริ่มรู้ว่ามีเอกสาร บางฉบับได้สูญหายไป”

ที่สุดหม่อมราชวงศ์นริศราได้พยายามทุกวิถีทางในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ และได้ทำการอายัดการประมูลได้สำเร็จ จนสามารถนำเอกสารทางประวัติศาสตร์สำคัญชุดนี้กลับมา โดยได้เก็บรักษาเอกสารเป็นอย่างดีที่ห้องสมุด British Library

เมนูพระกระยาหารมื้อสุดท้าย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ก่อนประชวรและเสด็จทิวงคตที่สิงคโปร์

ทั้งนี้ พระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์ สมุดบันทึก และสิ่งของสำคัญต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นของราชสกุลจักรพงษ์ โดยนำมาจัดแสดง เป็นครั้งแรก เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทยรัสเซีย

นอกจากจักรพงษ์นิทรรศน์แล้ว ทางผู้จัดยังจัดแสดงนิทรรศการร้อยปีสยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งแสดงเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ของสยามในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้ส่งกองกำลัง ทหารอาสาไปร่วมสู้รบ โดยนอกจากนิทรรศการแล้วยังมีหนังสือที่เล่าเรื่องราวการร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสยามและประโยชน์ที่สยามได้รับจากการชนะสงครามทั้งที่เป็นเรื่องภายในประเทศและระดับโลก โดยในปีนี้นับเป็นเวลาครบรอบหนึ่งร้อยปีที่สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ เสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในการส่งกองกำลังทหารอาสาไป ฝรั่งเศส ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดเมื่อเสร็จสงครามและสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะคือการที่สนธิสัญญาต่างๆ ที่สยามทำกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการีนั้นสิ้นสุดลง และสยามสามารถขอเจรจาข้อแก้ไขสนธิสัญญา ฉบับเก่า ซึ่งทำไว้กับอังกฤษ ฝรั่งเศสและชาติอื่นๆ ด้วย

นิทรรศการทั้งสองจะพาผู้ชมเรียนรู้เรื่องราวสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่ผ่านมากว่า ศตวรรษ นอกจากนี้ทางสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ยังมีการเปิดตัวหนังสือ “ถึงลูกชายเล็ก” โดยหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ที่รวบรวมเรื่องราวพระประวัติของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ในช่วงที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศรัสเซีย โดยศึกษาค้นคว้าผ่านพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโต้ตอบกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ และหนังสือ “สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1” โดยคุณสเตฟาน เฮลล์ ที่เล่าเรื่องราวการมีส่วนร่วมของสยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1ได้อย่างมีสีสัน

สำหรับผู้ที่สนใจงานเสวนา ในวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ เวลา 14.00 น. จะมีเสวนาหัวข้อ “พระประวัติและผลงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ” และเวลา 16.00 น. หัวข้อ “เกร็ดความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6”

ปกหนังสือ “ถึงลูกชายเล็ก”