วันพุธ 11 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ความเป็นมาการสืบสันตติวงศ์ ของ รัชกาลที่ ๘ ในยุคคณะราษฎร์

จากกระทู้ จริงๆแล้ว โอกาสยากมากนะที่ในหลวงจะได้มาเป็นในหลวงของเรา 
โดยคุณ SENSEBIORA

ใน ความคิดเห็นที่ 183 คุณ DKO ได้เข้ามาอธิบายเรื่องความเป็นมาการสืบสันตติวงศ์ ของในหลวงรัชกาลที่ ๘ ไว้ดังนี้ 

เรื่องลำดับการสืบสันตติวงศ์ของ ร.8 นั้นถูกต้องแล้วครับ ตามความเห็นบนๆ แต่ถ้าจะไม่มองเรื่องการเมืองเลยสมัยนั้น มันก็จะขาดมิติไป ต้องมองคู่กันไปแล้วทุกอย่างจะเป็นเหตุเป็นผลกัน

ต้องย้อนมาสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ 2475 ถ้าดูจาก timeline พวกนี้วางแผนมาอย่างดีนะครับ ไม่ได้เอะอะแล้วจะปฏิวัติเลยเสียเมื่อไหร่ จากเท่าที่ดูประวัติแล้วพวกนี้ต้องการเปลี่ยนการปกครองไปจนถึงระบอบที่ไม่มีกษัตริย์หรืออย่างน้อยถ้ามีก็แค่เป็น symbolic ไม่มีบทบาทอะไรใดๆ ต่อการปกครอง นั่นคือเป้าหมายใหญ่ของเขา แต่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปถึงจุดนั้น จะหักดิบเลยก็ไม่ได้ เพราะอาจจะมีการต่อต้านจากประชาชน เลยต้องเอาอำนาจมาในมือให้ได้ก่อน แล้วค่อยๆ ลดทอนความสำคัญของราชวงศ์ลง จนคนส่วนใหญ่ของประเทศคล้อยตามกับระบอบที่คณะนี้ต้องการ

ก่อนปฏิวัติ คณะนี้ต้องศึกษาเรื่องลำดับการสืบสันตติวงศ์มาเป็นอย่างดีแล้ว ว่าใครคือ candidate พระองค์ต่อไป เพราะถ้า worst case ร.7 ไม่ยอมเปลี่ยนและมีการต่อสู้ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนรัชกาลตั้งแต่ปีนั้น แล้วที่คณะนี้เห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นงานง่าย คือ candidate อีก 2 พระองค์ยังทรงพระเยาว์ พระชนนีก็เป็นสามัญชน น่าจะคุมได้ไม่ยาก และยังมีเวลาริดรอนพระราชอำนาจได้อีกนาน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ มีเวลาเหลือเฟือจัดระบบที่เขาต้องการให้อยู่ในรูปในรอยได้อีกหลายปี เข้าทางอย่างที่สุด

แต่กระดูกชิ้นโตคือ candidate ลำดับ 3 ทูลกระหม่อมบริพัตร นั่นเอง เพราะคุมกำลังทหารและความมั่นคงในพระนครอยู่ ณ ขณะนั้น เพราะถ้าเกิด worst case จริง แล้ว ร.8 และ ร.9 ไม่ทรงรับเป็นกษัตริย์ เพราะเห็นเสด็จลุงมีความเหมาะสมกว่า หรือว่าถ้า ร.8 รับเป็นกษัตริย์ก็ดี การมีเสด็จลุงอยู่ก็จะเพิ่มความมั่นคงให้ราชวงศ์ได้อย่างมาก อาจจะได้เป็นผู้สำเร็จราชการด้วยก็เป็นได้ ดังนั้นแผนการปฏิวัตินี้จะสำเร็จหรือไม่ทูลกระหม่อมบริพัตรเป็นตัวแปรที่มีผลมาก นั่นเป็นสาเหตุที่ทูลกระหม่อมบริพัตรถูกคณะราษฎร์คุมตัวออกจากวังและให้ขึ้นรถไฟออกนอกประเทศเป็นพระองค์แรก ส่วนพระองค์อื่นๆ ที่เป็นเสาหลักในการบริหารราชการก็ถูกคุมตัวไปพระที่นั่งอนันตฯ เพื่อรอคำตอบของ ร.7 ซึ่งขณะนั้นแปรพระราชฐานอยู่ที่วังไกลกังวล

ทูลกระหม่อมบริพัตร

ผลสรุป ร.7 ยอมเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพออำนาจมาอยู่ในมือคณะราษฎร์ คณะก็เดินเกมยึดทรัพย์เจ้า ยึดวัง ทุบวัง ลดเงิน เอาว่าทำทุกอย่างละกันเพื่อทำให้ราชวงศ์อ่อนแอลง ส่วน ร.7กับรัฐบาลก็ความเห็นไม่ลงรอยกัน เพราะโดนบีบให้ลดทอนพระราชอำนาจลงหลายเรื่อง ระหว่างนี้มีกบฏบวรเดช ที่ฝ่ายเจ้าจะเข้ามายึดอำนาจคืนอีก แต่เสาหลักการทหารอย่างทูลกระหม่อมบริพัตรไม่อยู่แล้ว การยึดอำนาจไม่สำเร็จ คณะราษฎร์ได้ข้ออ้างในการกวาดล้างเจ้านายและขุนนางหัวเก่าได้อีกล๊อตใหญ่ พวกก่อการไม่ต้องพูดถึงโดนยิง โดนขัง เนรเทศไปคุกตะรุเตา ลี้ภัยออกนอกประเทศ

เมษายน 2476

ณ เวลานั้นราชสกุลมหิดลก็ทรงพำนักที่วังสระปทุมกับสมเด็จพระพันวัสสา แล้วขณะนั้น ร.8 ไปโรงเรียนก็มีเพื่อนมาเรียกว่าองค์โป๊ย(ไม่น่าแปลกใจ ถ้าคนที่เรียกนี่เป็นลูกหลานคณะราษฏร์) ยิ่งทำให้พระพันวัสสายิ่งเห็นอันตรายที่เข้าใกล้พระนัดดามากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นสมเด็จพระพันวัสสาจึงรับสั่งให้สมเด็จย่า(สังวาลย์)พาพระโอรสและพระธิดา ไปเรียนต่อที่โลซานน์ให้ห่างไกลการเมือง นับเป็นหมากเดินที่มีประโยชน์มากสำหรับราชวงศ์ต่อไปในอนาคต

ทางด้าน ร.7 ก็ถูกบีบจากรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เอาว่าคณะทำทุกทางให้ ร.7 พ้นบัลลังก์เร็วที่สุดเป็นการดีต่อคณะ เพราะการให้ ร.8 ขึ้นครองราชย์เป็นโอกาสทอง ส่วน ร.7 จะขืนก็มีตัวอย่างของกบฏบวรเดช ถ้าก้าวพลาดเจ้านายอีกหลายพระองค์คงถูกกวาดล้างอีกครั้งใหญ่

มกราคม ปี 2477

ร.7 ทรงเสด็จประพาสอังกฤษเพื่อรักษาอาการประชวรที่พระเนตร ปลายปีช่วงตุลา 2477 เริ่มมีข่าวลือหนาหูว่า ร.7 จะทรงสละราชสมบัติ (ตรงนี้อาจเป็นพระประสงค์จริง หรือข่าวลือที่คณะสร้างขึ้นเพื่อชี้นำหนทางให้ ร.7มีอิสรภาพ) และข่าวลือนี้มาพร้อมข่าวพระองค์เจ้าอานันทฯ จะเป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไป ซึ่งตอนนี้นักข่าวชาวยุโรปเริ่มไล่ล่าหาภาพ ร.8 มาลงหนังสือพิมพ์ (จากหนังสือเจ้านายน้อยๆ ยุวกษัตริย์) ซึ่งตอนนั้นสมเด็จย่าปฏิเสธนักข่าวรัวๆ ว่าไม่ทราบเรื่อง เรื่องอย่างนี้ต้องถาม ร.7 ว่ามีพระประสงค์เช่นไร

2 มี.ค.2478 (นับตามการเปลี่ยนศักราชสมัยนี้)

ร.7 ประกาศสละราชสมบัติ และให้สภาหาผู้สืบสันตติวงศ์ต่อเอง ทุกอย่างเข้าทางตามแผนคณะราษฏร์ คณะราษฎร์ส่งโทรเลขมาเชิญ ร.8 รับราชสมบัติ พร้อมส่งคนบินมาสวิสเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่าง on plan ทางด้านสมเด็จย่าไม่อยากรับ เพราะไม่เคยหวังในลาภและอำนาจ อยากให้ลูกๆเป็นคนธรรมดา แต่ทางสมเด็จพระพันวัสสารับสั่งผ่านพระองค์เจ้ารังสิตให้บอกสมเด็จย่าว่าให้รับ (อาจจะเพราะราชวงศ์ไม่มีทางเลือกแล้ว ถ้าไม่รับแล้วจะเป็นใครต่อ หรือสุดท้ายยังไงก็ต้องโดนคณะบีบให้รับอยู่ดี) สุดท้ายสมเด็จย่าโอเคที่จะรับให้ ร.8ขึ้นครองราชย์

แผนต่อของคณะราษฎร์คือให้ ร.8 เสด็จนิวัติประเทศไทยโดยเร็ว เพื่อมาทำพระราชพิธีราชาภิเษกและให้ประชาชนเห็นว่า โอเคระบอบนี้ยังมีกษัตริย์นะ เราไม่ได้ทำลายสถาบันนะ เพราะถ้านับตั้งแต่ ร.7 ประพาสอังกฤษ แผ่นดินไทยไม่มีพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ปีกว่า แต่สมเด็จย่าก็ทรงต่อรองรัฐบาลไม่พา ร.8 กลับประเทศ ณ ตอนนั้น อ้างถึงพระอาการประชวรที่ต้องอยู่ที่มีอากาศเย็น กลับตอนหน้าร้อน ประชวรไปจะไม่สง่างาม ถึงตรงนี้จะคัดจดหมายที่สมเด็จย่าทรงเขียนโต้ตอบกับพระพันวัสสาช่วงเวลานั้น ไว้โดยละเอียดดังนี้ (จากพระราชนิพนธ์เจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์)

17 มี.ค. 2478 (นับตามการเปลี่ยนศักราชสมัยนี้) 

-รัฐบาลส่ง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ นายดิเรก ชัยนาม มาเจรจาที่โลซานน์ โดยส่ง หลวงสิริราชไมตรี จากสถานทูตลอนดอน มาเป็นราชเลขานุการในพระองค์

20 มี.ค. 2478 (นับตามการเปลี่ยนศักราชสมัยนี้) 

-สมเด็จย่าส่งจดหมายถึงสมเด็จพระพันวัสสาเรื่องการเจรจา รัฐบาลอยากให้ย้ายที่อยู่ให้สมฐานะ (ภายหลังย้ายไปวิลล่าวัฒนา) สมเด็จย่าเห็นด้วย แต่ขอให้เป็นแบบพอดี ไม่หรูหรา เพราจะทำให้เด็กลำบากและอยู่ไม่เป็นสุข อยากอยู่แบบ incognito แล้วทรงปลอบสมเด็จพระพันวัสสาไม่ให้ต้องกลุ้มพระทัยมาก คิดซะว่าการที่ “นันท” เป็นคิงก็เป็นการช่วยประเทศทางอ้อม ถ้าเขาตั้งคนอื่นอาจจะเกิดยุ่งขึ้นได้

10 เม.ย. 2478 (สมัยนั้นเปลี่ยน พ.ศ. วันที่ 1 เม.ย.)

จดหมายนี้คือตอนสำคัญจะขอเอาเนื้อความจดหมายลงให้ครบโดยละเอียด

“…หม่อมฉันจะขอเล่าถวายถึงเรื่องเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศพูดกับหม่อมฉันเมื่อได้มาพบทีแรก หม่อมฉันจะกราบทูลไปตั้งแต่จดหมายฉบับก่อนก็ลืมไป เจ้าพระยาศรีฯ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้อยู่โลซานน์ต่อไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งอีก และเจ้าพระยาศรีฯ เองไม่ทราบว่าจะให้อยู่ต่อไปทำไม แต่นึกเอาเองว่าบางทีจะให้อยู่คอยเพื่อจะเชิญนันทเสด็จกลับชั่วคราวสำหรับให้ราษฎรเห็นว่าได้มีพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ ไม่ใช่แต่ชื่อหรือหลอกกันเล่น และเจ้าพระยาศรีฯ ก็ถามความเห็นของหม่อมฉันว่าเห็นเป็นอย่างไร หม่อมฉันก็ตอบว่าเรื่องนี้หม่อมฉันก็เห็นใจรัฐบาล แต่การกลับนั้น ถ้าจะให้กลับเวลานี้ในหน้าร้อนกลัวจะทำให้นันทประชวรทีเดียวเมื่อถึงเมืองไทย หม่อมฉันเห็นว่าการกลับชั่วคราวนี้เราควรจะยอม เพราะรัฐบาลก็จะจัดการให้กลับไปถึงหน้าหนาวและออกมาอีกก่อนหน้าร้อน สิ่งอะไรที่จะผ่อนผันได้หม่อมฉันเห็นว่าควรจะทำ เขาจะได้ตามใจเราบ้างเมื่อเราต้องการให้เป็นอย่างไร และถ้าจะกลับหม่อมฉันขอให้รับสั่งแก่คณะผู้สำเร็จราชการหรือรัฐบาลถึงเรื่องการอยู่ ว่าจะแยกกันไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะนันทก็เป็นเด็ก ยังต้องการความดูแลของแม่เสมอ

หม่อมฉันได้พูดกับเจ้าพระยาศรีฯ และนายดิเรก ชัยนาม ด้วยถึงเรื่องร่างกายและการศึกษาต่อไป ทีแรกเจ้าพระยาศรีฯ เห็นว่านันทไม่ควรไปโรงเรียน ให้มีครูมาสอนที่บ้าน หม่อมฉันก็ตอบไปทันทีว่าหม่อมฉันเห็นตรงกันข้าม เพราะการเรียนคนเดียวจะทำให้เด็กไม่อยากเรียน เพราะไม่มีคนแข่งและไม่สนุกเลยที่ไม่ได้มีเพื่อน จะทำให้นันทไม่มีความสุขที่ต้องแบกยศพระเจ้าแผ่นดินจนไม่มีเวลาที่จะเป็นเด็ก และพระเจ้าแผ่นดินก็จำเป็นมากที่จะต้องปะปนกับคนอื่น จะได้รู้จักนิสัยคนทั่วไป จะเป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองที่มีการปกครองอย่างประชาธิปไตย เจ้าพระยาศรีฯ ก็เห็นด้วย

เมื่อเจ้าพระยาศรีฯ จะไปจากโลซานน์ หม่อมฉันก็บอกให้เป็นที่เข้าใจอีกว่า ทั้งลูกและหม่อมฉันไม่มีความต้องการยศและลาภเลย แต่การที่นันทต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต่อไปขอให้พูดกันดีๆ อย่าบังคับและตัดอิสรภาพจนเหลือเกิน และสำหรับร่างกายและการศึกษาแล้วขอให้ได้เต็มที่ เวลานี้เป็นเด็ก ก็ขอให้เป็นเด็ก พระเจ้าแผ่นดินที่ร่างกายไม่แข็งแรงและโง่ก็ไม่เป็นสง่ากับประเทศ

หม่อมฉันรู้สึกว่าอันตรายภายนอกสำหรับนันทคงจะมีน้อย ที่หม่อมฉันวิตกอยู่ก็ถึงเรื่องที่นันทจะไม่ได้มีความสุขอย่างเด็กมาก และกลัวการศึกษาจะได้ไม่เต็มที่ ที่หม่อมฉันไม่ใคร่กลัวอันตรายภายนอกก็เพราะว่าเราไม่ได้อยากจะเป็น แต่ต้องรับเพราะเห็นแก่บ้านเมืองที่อาจไม่สงบได้”

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงพอพระทัยการพูดโต้ตอบของสมเด็จย่ามากได้พบร่างลายพระหัตถ์อยู่ในซองจดหมายจากสมเด็จย่า ใจความว่า

“…ฉันต้องชมเชยสังวาลย์อีกครั้งหนึ่ง ฉลาดเป็นอัศจรรย์ ใจเย็น พูดโต้ตอบได้งดงามอย่างน่าพิศวงกับเจ้าพระยาธรรมาธิเบศ บุญของฉันมาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ ไม่มีใครมาดูถูกได้ว่าเลวทราม ฉันพูดนี่ปลื้มใจด้วย เศร้าใจด้วยจนน้ำตาไหล”

จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าการย้ายมาสวิสมีประโยชน์ เพราะการที่รัฐบาลไม่มีกษัตริย์กลับไปให้ราษฎรเห็น ยิ่งสร้างความน่ากังขาว่าการปกครองที่คณะยึดมาจากเจ้าเนี่ยจะเป็นระบอบที่มีกษัตริย์อยู่ต่อจริงหรือ หลอกกันมั้ย อย่าลืมว่าเพิ่งจะผ่านการเปลี่ยนแปลง 2475 มายังไม่ทันครบ 3ปี คนที่ยังไม่พร้อมกับการไม่มีกษัตริย์นั้นมีอยู่มาก อีกทั้งสมเด็จย่าทรงพระปรีชามากในการต่อรองกับรัฐบาลคณะราษฎร์ จะมาชี้นกชี้ไม้ก็ไม่ได้จะยอมทุกเรื่อง และกว่าจะได้นิวัติประเทศไทยก็ยื้อจนอีกปีถัดมา ระหว่างนี้ก็มีการปล่อยข่าวทำลายว่า ร.8 มีแม่เป็นสามัญชนอยู่เนืองๆ เพื่อลดความสง่างามของ ร.8 ในการขึ้นครองราชย์ จนสมเด็จย่าตัดพ้อว่าฉันไม่ได้อยากให้ลูกรับ ถ้ารังเกียจเลือดฉันก็ต้องรังเกียจลูกฉันด้วยเพราะมีเลือดแม่อยู่ครึ่งนึง ถ้ารังเกียจมากก็จะลาออกให้ไปหาคนที่มีแม่เป็นเจ้ามาเป็นแทนก็แล้วกัน แต่สุดท้ายก็ทรงอดทนและคิดซะว่าที่ให้ ร.8รับเป็นกษัตริย์นั้นทำเพื่อบ้านเมือง

ส่วนคณะราษฎร์ใช่ว่าจะราบรื่นมีการแย่งชิงอำนาจกันภายในคณะ มีการยึดอำนาจกันไปมา เริ่มมีอำนาจเป็น 2ขั้วและขัดกันเองตลอด จนสุดท้ายใช้การสวรรคตของ ร.8 เพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง รวมไปถึงทำลายความน่าเชื่อถือของ ร.9และสมเด็จย่าด้วย แต่สุดท้ายพวกเรารอดวิกฤติมาได้เพราะในหลวงทรงอดทนต่อการบีบบังคับต่างๆจากคณะราษฎร์ ในช่วง 10ปีแรกที่ครองราชย์ จนหลังเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2500 จึงเริ่มทรงงานเพื่อประชาชนและออกเยี่ยมประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและความยากจนของราษฎร พร้อมกับเสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ในหลวงทรงงานหนักเพื่อให้ราษฎรกินดีอยู่ดี จนเป็นที่ประจักษ์ต่อราษฎร นำมาซึ่งความรัก ความเทิดทูนและศรัทธาที่มีต่อพระองค์ท่านและพระราชวงศ์องค์อื่นๆ ทำให้วิกฤติของราชวงศ์ช่วง ร.7-ร.8 ที่อ่อนแอลงกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

ขออภัยหากใช้ราชาศัพท์ผิดพลาด