วันพฤหัสบดี 10 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

คอลัมนิสต์ดังสหรัฐ ถลกหนัง’บีบีซี’ เสนอข่าวพระราชพิธีมี’อคติ’ยังไง

BBC Reaches Out In Response To Article on Thai King’s Funeral / DAN BLACHARSKI

DAN BLACHARSKI

บีบีซีติดต่อมาเรื่องบทความของผมเกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ไทยบทความล่าสุดของผมบนเว็บไซต์นี้เรื่อง “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ไทยและโอกาสแสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามและวิจิตรของไทย” ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม ผมขอขอบคุณคนไทยหลายพันคนที่เสียสละเวลาส่งคำขอบคุณมาถึงผม

แต่มีเสียงหนึ่งเป็นเสียงมาจากโปรดิวเซอร์คนหนึ่งของบีบีซี ซึ่งตั้งข้อกังขาต่อบทความดังกล่าวของผมว่า ขอให้ผมเอาหลักฐานมายืนยันด้วยว่าบีบีซีตำหนิค่าใช้จ่ายในการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ตรงไหน ผมไม่ได้ตอบกลับเธอทันที วันต่อมาเธอก็ส่งข้อความทวิตมาตามเรื่องโดยเขียนว่า “ฉันยังไม่เห็นคุณติดต่อกลับมาเลยและบทความนั่นก็ยังออนไลน์อยู่” เขียนมาอย่างยโสเป็นนัยว่า ผมควรจะเอาบทความข้างต้นออกจากเว็บไซต์ เพราะมีใครบางคนในบีบีชีไม่ชอบใจกับบทความนี้ บีบีซีควรจะรู้ดียิ่งกว่าจะมาแนะให้คนอื่นทำแบบนี้


ต่อไปนี้คือคำตอบของผมถึงบีบีซี

ท่วงทำนองการทำข่าวของบีบีซีลึกล้ำ แต่แฝงไว้ด้วยอคติ นักเขียนของบีบีซีมีไหวพริบและชั้นเชิง พวกนี้รู้วิธีการพลิกแพลงคำและการพาดหัวข่าว เพื่อแฝงอคติเอาไว้โดยไม่แสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน เช่น นายโจนาธาน เฮด สัมภาษณ์ ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ ซึ่งเป็นเหลนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โดยใส่หัวข่าวว่า “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ไทย: พระญาติแสดงความคิดเห็นต่อ “ความรักอันแท้จริง” ของชาติ” โดยใช้คำว่า “ความรักอันแท้จริง” อยู่ในเครื่องหมายคำพูด

นักข่าวทุกคนรู้ดีว่าการใช้เครื่องหมายคำพูดกับถ้อยคำ…มีสองนัยที่แตกต่างกัน นัยแรกคือต้องการบอกว่าเป็นการอ้างคำพูดของคนอื่น หรือนัยที่สอง ต้องการให้มีความหมายเชิงเสียดสี ประมาณว่าคำที่ใช้นั้นไม่ได้หมายความตามความหมายจริงของมัน พาดหัวข่าวสัมภาษณ์ ม.ร.ว.นริศราฯนั้น น่าจะเป็นวิธีการอย่างหลังมากกว่า มีเหตุผลอื่นใดที่ทำให้ใช้คำว่า “ความรักอันแท้จริง” ในเครื่องหมายคำพูด?

ถ้าเป็นนักข่าวที่ไม่มีอคติก็จะเขียนหัวข่าวว่า “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ไทย: พระญาติแสดงความคิดเห็นต่อความรักอันแท้จริงของชาติ” ไม่ใส่เครื่องหมายคำพูดในคำว่าความรักอันแท้จริง เครื่องหมายคำพูดที่ใส่ไปนั้นไม่ได้เพิ่มค่าใด ๆ แต่กลับบอกเป็นนัยว่าความรักนี้น่าสงสัยมากกว่าจะเป็นความรักอันแท้จริง ในระหว่างการสัมภาษณ์ นายโจนาธาน เฮด ได้ตั้งคำถามนำ ซึ่งฟังแล้วเป็นคำถามท้าทายความรักและความเคารพของคนไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

นอกจากนี้ในรายงานข่าวสัมภาษณ์คุณหญิงนริศราฯ บีบีซีอ้างถึงคุณหญิงนริศาฯ โดยใช้ชื่อหน้า นริศรา เฉย ๆ ไม่มีคำว่า ม.ร.ว. นำหน้า (ในภาษาอังกฤษคือคำว่า The Honorable) ในอดีตเช่นตอนที่บีบีซีรายงานเกี่ยวกับการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงไดอาน่าและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์นั้น บีบีซีจะเรียกทั้งสองพระองค์ว่า “ไดกับชัค” หรือไม่ .. (ชัคคือชื่อเรียกเล่นๆ ของชาร์ลส์) คำตอบคือไม่แน่นอน การที่ไม่ใสยศคำนำหน้าเป็นตัวอย่างอคติที่แฝงอยู่และเป็นการไม่ให้เกียรติกัน

วิธีพาดหัวข่าวนั้น บีบีซียังใช้วิธีพาดหัวข่าวล่อให้คนคลิกเข้ามาอ่านข่าว บ่อยครั้งโดยการพูดถึงการจัดงานพระราชพิธีฯ อย่างฟุ่มเฟือย อ้างถึงค่าใช้จ่ายจำนวน 90 ล้านดอลลาร์ทั้งในพาดหัวข่าวและบทเกริ่นนำ โน้มน้าวให้ผู้อ่านโฟกัสไปที่ตัวเลขค่าใช้จ่าย และบอกเป็นนัยว่าเป็นงานพระราชพิธีฯ ที่ฟุ่มเฟือยมากเกินไป ตามที่ผมได้เขียนไว้ในบทความชิ้นที่แล้วว่า การจัดพระราชพิธีในครั้งนี้เป็นมากกว่าการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่พิธีนี้คือการแสดงทุกอย่างเกี่ยวกับความเป็นไทย ค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องรองจากเรื่องหลักคืองานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่ค่าใช้จ่ายกลับเป็นเรื่องหลักในพาดหัวข่าว ค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีฯ ก็จริงอยู่ และไม่ใช่เรื่องผิดที่นักข่าวจะเขียนถึงเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ค่าใช้จ่ายไม่ใช่เรื่องหลักและไม่ควรจะอยู่ในบทเกริ่นนำด้วย

มาเปรียบเทียบดูกับการพาดหัวข่าวเกี่ยวกับราชวงศ์อื่น ๆ ของบีบีซีดูบ้าง เช่น ข่าวพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ บีบีซีพาดหัวข่าวเชิงบวกว่า “ประมวลภาพ: ศิลปินในสหัสวรรษร่วมงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ” เพื่อร่วมชื่นชมว่ามีเหล่าศิลปินมากหมายมีส่วนสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ไม่ต่างจากเหล่าศิลปินและช่างฝีมือไทยหลายแขนงได้เสียสละเวลาและความเพียรสร้างสรรค์ผลงานเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พาดหัวข่าวพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธชิ้นนี้จริงใจและตรงไปตรงมา

ในบทความใต้หัวข้อว่า “ชาวฝรั่งเศสแอบรักราชวงศ์อังกฤษ?” นักข่าวไม่ได้เอาคำว่ารักใส่ไว้ในเครื่องหมายคำพูด บทความนี้พูดถึงความต้องการโหยหาความหรูหราและพิธีแห่แหนและพูดถึงราชวงศ์อังกฤษว่าสร้างความมั่นใจอย่างไรจึงยืนหยัดอยู่ได้ในสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ได้ (ซึ่งจุดนี้คล้ายกับจุดที่ผมเขียนในบทความชิ้นที่แล้วของผม) บทความชิ้นนี้ไม่มีอคติหรือนัยแอบแฝงเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษให้เห็น พาดหัวข่าวและการรายงานทำอย่างตรงไปตรงมา การเขียนข่าวแฝงด้วยอคติของบีบีซีไม่ใช่เฉพาะข่าวเกี่ยวพระราชพิธีถวายพระเพลิงเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ได้ทรงสร้างความมั่นใจและความอบอุ่นใจให้กับชาวไทยในสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนไปนี้เช่นกัน

ยังมีตัวอย่างให้เปรียบเทียบอีก เช่น บทความของบีบีซีภายใต้ชื่อ “พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ: ความหรูหราและพระราชพิธีเฉลิมฉลองสู้สายฝน” บีบีซียกย่องสรรเสริญพระราชพิธีเฉลิมเฉลองและใช้เวลาสัมภาษณ์คนเข้าร่วมงานพูดสิ่งดี ๆ เกี่ยวกับงานและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ คำพูดถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธว่าพระองค์ทรงมีพระจริยวัตรอันงดงามและทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ได้ถูกนำมาเขียนลงไว้ในบทความ ไม่มีข้อความแฝงการเสียดสีและไม่พาดหัวข่าวให้เข้าใจผิดเพี้ยน แต่พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บีบีซีไม่พลาดโอกาสที่จะดึงนายแอนดรูว์ มาร์แชลล์ เข้ามา นายแอนดรูว์ มาร์แชลล์ เป็นผู้ชอบวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีทุกอย่างที่เกี่ยวข้องสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอ


เรื่องราวอันแท้จริงไม่ใช่ตัวเลขค่าใช้จ่ายของงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง เรื่องราวที่แท้จริงคือความรักอันสุดซึ้งและความเคารพของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นการแสดงวัฒนธรรมและศิลปะไทยซึ่งเป็นตัวชูงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงในครั้งนี้ บทความชิ้นที่แล้วของผมเที่ยงตรง จริงใจไม่เสแสร้ง และผมจะคงมันไว้ตามเดิม