วันพฤหัสบดี 12 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

คำสารภาพของอดีตคณะราษฎร หลังกระทำมิบังควรต่อในหลวงสามรัชกาล ร่วมกว่า 80ปี

26 ธ.ค.63 – เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องพินนาเคิล 1 – 2 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล บางกอก พล.ท.สรภฎ นิรันดร บุตรชายของ พ.ต.เสวก นิรันดร หรือขุนนิรันดรชัย หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร 2475 สายทหารบก แถลงข่าวขอสำนึกผิดแทนบิดา ที่ได้กระทำการมิบังควรต่อทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบ

พล.ท.สรภฎ กล่าวว่า ขณะบิดามียศเป็น ร.ท. ได้ร่วมกับผู้บังคับบัญชา กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในนามคณะราษฎร 2475 สายทหารบก ต่อมาเมื่อรับราชการเป็น พ.ต. บิดาได้ลาออก เนื่องจากคณะราษฎรแต่งตั้งให้ท่านเป็นนายกองก่อตั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อสร้างอาคารบนสองฝั่ง ถ.ราชดำเนิน และท่านได้สร้างที่อยู่อาศัยของท่านเป็นตึก 4 ชั้น ตรงข้ามวังสวนจิตรลดา ปัจจุบันให้โรงเรียนเอกชนเช่า นอกจากนี้ บิดาได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบพระคลังข้างที่กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2475-2491 สมัยนั้นมี ส.ส.อุบลราชธานี อภิปรายถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการตรวจสอบพระคลังข้างที่ บิดากับพวกจึงจับ ส.ส.ท่านนั้น โยนน้ำหน้าตึกรัฐสภา ต่อมาบิดาได้ร่วมกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก่อตั้งธนาคารนครหลวง กระทั่งบิดาได้เป็นประธานธนาคารนครหลวงในเวลาต่อมา

พล.ท.สรภฎ กล่าวอีกว่า เรื่องสำคัญคือก่อนบิดาเสียชีวิต บิดาได้สำนึกในความผิดว่า ท่านเป็นข้าราชการทหาร แต่ท่านได้เสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์ สมัยที่ท่านเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านได้ทำเรื่องบางเรื่องที่มิบังควร ท่านได้สั่งเสียต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่บิดาก็ไม่มีโอกาสได้เสียชีวิตไปก่อน ด้วยโรคความดันโลหิตสูง และอัมพาต เวลาผ่านมาตนได้ปรึกษาเรื่องนี้กับพี่ชายต่างมารดา ซึ่งบอกว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราควรจะทำกัน แม้แต่นามสกุลก็เป็นนามสกุลพระราชทาน แต่พี่ชายก็ได้เสียชีวิตไปก่อน ตนเห็นว่าเวลานี้รั้งรอไม่ได้อีก เพราะบุตรของบิดาที่มีชีวิตอยู่ขณะนี้ 4 คน เหลือตนเพียงคนเดียวที่ยังพอมีแรงทำได้ คนอื่นนั่งรถเข็นหมด จึงต้องทำตามความประสงค์ของบิดา ขอทำหน้าที่ตามที่ได้สั่งเสียไว้ก่อนเสียชีวิต

จากนั้น พล.ท.สรภฎ ได้ทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษต่อหน้าพระบรมรูปและพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร.8, และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร.9 โดยกล่าวทั้งน้ำตาด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ว่า “ข้าพเจ้า พล.ท.สรภฎ นิรันดร กราบขออภัยแทนบิดาคือ พ.ต.เสวก นิรันดร คณะราษฎร 2475 ซึ่งไม่มีโอกาสแล้ว ผมขอทำหน้าที่แทน พระราชทานบรมราชานุญาตต่อล้นเกล้าทั้ง 3 พระองค์ ขอพระราชทานอภัยโทษ ทั้งนี้ เพื่อวิญญาณของของคุณพ่อผม ขุนนิรันดรชัย จะได้ไปสู่สุขคติ และความเป็นสิริมงคลจะได้นำมาสู่ครอบครัวตระกูลนิรันดร”

ต่อมา พล.ท.สรภฎ แถลงข่าวต่อด้วยว่า สิ่งที่อยากบอกคือ สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน อยากให้เยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ให้ถ่องแท้ ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ร่วมสร้างบ้านเมืองมาตั้งแต่อดีต ย้อนไปช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยแพ้สงคราม กองทัพสัมพันธมิตรเข้าสู่ประเทศไทยเต็มไปหมด ด้วยพระบารมีล้นเกล้า ร.8 ท่านเป็นประธานสวนสนามต่อกองทัพพันธมิตร ซึ่งเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทย และอยากให้เยาวชนยึดถือพระราชดำรัสล้นเกล้า ร.9 ว่าการรับรู้สื่อต่างๆ ควรใช้สติรู้คิดปัญญารู้ตัว อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะเยาวชนเป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งต้องดูแลและรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และรักษาบ้านเมืองไว้ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

ผู้สื่อข่าวถามถึงการแถลงข่าวในครั้งนี้ มีนัยอื่นถึงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติของคณะราษฎร 2475 หรือไม่ พล.ท.สรภฎ ระบุว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัว บิดาเป็นหนึ่งในคณะราษฎร สำนึกผิดก่อนเสียชีวิตในการกระทำ วันนี้ถ้าดวงวิญญาณของบิดารับรู้คงไปสู่สุคติ ตนได้ทำหน้าที่แทนบิดา และไม่สามารถตอบแทนคณะราษฎรหรือลูกหลานคณะราษฎรคนอื่นได้ อย่างไรก็ตาม จากที่มีโอกาสคุยกับบุตรของคณะราษฎรบางคน ก็รู้สึกสำนึกผิด และอยากขอพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน แต่ไม่มีโอกาส

เมื่อถามถึงกรณีผู้ชุมนุมราษฎร 2563 เสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มองอย่างไร พล.ท.สรภฎ มองว่า เยาวชนมีความรักต่อสถาบัน แต่การแสดงออกของเขาในรูปแบบต่างๆ ตนก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาเป็นอนาคต ที่ต้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์หลังการแผ่อิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ถามถึงการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับมรดกของครอบครัวเมื่อปี 2561 ต่อศาลแพ่ง มีผลเป็นอย่างไร พล.ท.สรภฎ กล่าวว่า ภายหลังได้ถอนฟ้องแล้วในปี 2562 เนื่องจากพูดคุยเข้าใจกัน เป็นพี่น้องกันก็ถอนฟ้องหมด

และถามว่าในอนาคตจะมีการคืนทรัพย์สินกลับไปหรือไม่ นายสรภฎ กล่าวว่า ควรจะกลับไป แต่ของที่กลับไปต้องบริสุทธิ์ผ่องใส เรื่องที่ดินจะกลับไปตนไม่ขัดข้อง แต่ต้องถามความเห็นของหลานๆ ส่วนตนแม้แต่ชีวิตก็สละได้

ทั้งนี้ ภายหลัง พล.ท.สรภฎ แถลงข่าวเสร็จสิ้น ได้พูดคุยเพิ่มเติมกับนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต ที่เดินทางมาติดตามการแถลงข่าวและให้กำลังใจ โดย พล.ท.สรภฎ ระบุว่า คุณพ่อเสียตอนตนอายุ 14 ปี รู้เรื่องการเมืองและคณะราษฎรจากคุณแม่ ซึ่งจะรู้การเมืองเยอะ ตนทราบหลายเรื่องจากที่คุณแม่ถ่ายทอดให้ฟัง บางเรื่องไม่สามารถถ่ายทอดต่อสาธารณะได้เพราะเป็นในทางลบ จะเสียหายไม่ถูกต้อง ซึ่งมีเหตุผลอย่างยิ่งที่พ่อสำนึกผิด พ่อบอกทำอะไรไว้หลายประการไม่ถูกต้อง จึงอยากขอพระราชทานอภัยโทษ แต่บั้นปลายท่านไม่มีโอกาสแล้ว เพราะเป็นอัมพาต ได้แต่นอนร้องไห้ บอกที่ท่านเป็นอย่างนี้เพราะท่านถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทำไม่บังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์.

………..

ที่มาของมรดกบาปของคณะราษฎร

ถูกเปิดเผยอีกครั้ง หลังจาก “พล.ท.สรภฎ นิรันดร” อดีตรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก ทายาทของ “ขุนนิรันดรชัย” หรือ “พ.ต.สเหวก นิรันดร” หนึ่งในผู้ก่อการของคณะราษฎร 2475 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินย่านธุรกิจในกรุงเทพมหานครกว่า 90 แปลง แถลงข่าวสำนึกผิดแทนบิดาที่ได้กระทำการมิบังควรต่อทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบ
.
ทั้งนี้ เรื่องราวของ “ขุนนิรันดรชัย” กลับมาเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้งเมื่อ “ม็อบคณะราษฎร 2563” ลั่นกลองรบว่าจะสืบทอดอุดมการณ์ของคณะราษฎรในอดีตที่กระทำการอภิวัฒน์ประเทศไทย พร้อมทั้งเดินหน้าปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนที่รักสถาบันมีการขุดคุ้ยถึงความไม่ชอบมาพากลของบรรดาแกนนำคณะราษฎร และค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินพระคลังข้างที่และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นของตนเองและพวกพ้อง
.
โดยส่วนของพระคลังข้างที่ ได้มีการซื้อที่ดินของผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลคณะราษฎรในราคาแพงๆ และมีการขายและเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ในทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้กับหลายคนแก่ผู้ก่อการคณะราษฎรในราคาถูกๆ เพื่อไปขายต่อหรือเช่าต่อในราคาแพงต่างกันหลายเท่า
.
โดยที่ ยุวกษัตริย์ หรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในขณะเวลานั้นไม่ทรงทราบเรื่อง เนื่องจาก อำนาจในการดูแลอยู่ในมือของ ผู้สำเร็จราชการ ที่คณะราษฎร แต่งตั้งขึ้นมา
.
ขุนนิรันดรชัย คือใครในคณะราษฎร
—————————–
ขุนนิรันดรชัย หรือในชื่อ พ.ต.สเหวก นิรันดร เป็นคณะราษฎรสายทหารบก กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ที่คอยช่วยเหลือสายทหารในการก่อการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ โดยเขาอยู่ทำงานในสายรับใช้ ‘ผู้ใหญ่’ มาโดยตลอด จนจอมพล ป. ไว้ใจเป็นอย่างมาก
.
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากทรงมีพระชันษาเพียง 9 ปี รัฐบาลโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรว่ายังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎมณเฑียรบาล จึงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478
.
และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวิถีชีวิตของ ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย นายทหารบกรุ่นน้องในคณะราษฎรสายทหารบก ผู้ใกล้ชิดกับ พันเอกหลวง พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในยุคนั้น จากฝ่ายรัฐบาล ก็ได้ถูกวางตัวให้ก้าวข้ามฟากเข้าสู่อำนาจในการประสานงานกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
.
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย เป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์
.
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็น นายพันตรี
.
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 พันตรี ขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม
.
วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พันตรี ขุนนิรันดรชัยขอลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในพระองค์ ภายหลังจากจอมพล ป. และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
.
รวมระยะเวลาที่ จอมพล ป. อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 เป็นเวลาถึง 5 ปี 228 วัน โดยในเวลานั้น ขุนนิรันดรชัยอยู่ในฐานะเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
.
ว่ากันว่าในช่วงนี้ ภายหลังมีการตั้งคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่นานนัก คณะราษฎรบางสาย ได้ชวนกันจับจองกว้านซื้อที่ดินใจกลางเมือง ทำเลเลิศหรู ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแถวถนนสาทร ถนนวิทยุ เป็นต้น
.
การกระทำดังกล่าว ส่งผลให้มี ส.ส. ประเภทที่ 1 (ช่วงเวลานั้นมีแต่สภาผู้แทนราษฎรแห่งเดียว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ส.ส. ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง ส่วนประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง) อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เนื่องจากมี ส.ส. ประเภทที่ 2 บางรายที่มาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎรบางสาย ใช้เส้นสายไปซื้อที่ดินดังกล่าวไว้หลายสิบแปลง ส่งผลให้พระยาพหลพลพยุหาเสนาลาออก เปิดทางให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นสู่อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก
.
ขุนนิรันดรชัย ฝากตัวรับใช้จอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่หลายปี รวมถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระเห็จระเหินหนีขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ บทบาทของขุนนิรันดรชัยจึงหมดลงไปด้วยเช่นกัน
.
ที่ดินหลวง มรดกบาปของขุนนิรันดรชัย
————————–
ที่ดินหรูหลายสิบแปลงใจกลางเมืองที่กลายเป็นมรดกตกทอดของสกุล ‘นิรันดร’ นั้น เมื่อปี 2551 นายธรรมนูญ นิรันดร ทายาทขุนนิรันดรชัย เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับวันที่ 2 ก.พ. 2551 ว่า ปัจจุบันมีที่ดินใจกลางเมืองประมาณ 90 แปลง ส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากขุนนิรันดรชัย
.
ที่ดินแปลงสำคัญอยู่ตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดา เดิมรัชกาลที่ 8 พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1 ไร่ ต่อมามีการซื้อเพิ่มเติมรวม 6-7 แปลง ประมาณ 10 ไร่เศษ โดยซื้อมาตารางวาละ 4 บาท (ขณะนั้น) ส่วนบริเวณหน้าวังซื้อมาในตารางวาละ 250 บาท (ขณะนั้น) อดีตเป็นสวนผัก แต่ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดิน (ช่วงปี 2551) ตกอยู่ที่ 2.5 แสนบาท/ตารางวา เพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4 ชั้นเท่านั้น
.
นอกจากนี้ยังมีที่ดินบนถนนสาทร ติดโรงแรมเอเวอร์กรีน ลอเรล พื้นที่ประมาณ 5-6 ไร่ ซื้อมาในราคา 8 หมื่นบาท ขณะนี้เจ้าของสายการบินอีวาแอร์ และเจ้าของธุรกิจขนส่งสินค้าเอเวอร์กรีน และเจ้าของโรงแรมอีกหลายแห่งทั่วโลก ขอซื้อตารางวาละ 9 แสนบาท พร้อมเป็นผู้ดำเนินการออกค่าโอนและค่าภาษีให้ด้วยเพื่อจะลงทุนทำโรงแรม 7 ดาว มูลค่าโครงการ 5.2 พันล้านบาท แต่ไม่มีนโยบายจะขายที่ดิน แต่ยื่นข้อเสนอในการร่วมลงทุนแทน
.
ขณะเดียวกันยังมีที่ดินฝั่งตรงข้ามกับสนามบินดอนเมือง พื้นที่ประมาณ 180 ไร่ ซื้อมาเมื่อหลายสิบปีก่อน ราคาตารางวาละ 8 หมื่นบาท ยังมีที่ดินบริเวณเขาใหญ่อีก 400 ไร่ ที่ดินชายหาดหัวหินอีก 3 ไร่ และที่ดินย่านบางลำพู หัวลำโพง มหานาค รวมแล้วประมาณ 90 แปลง มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
.
เบื้องหลังการสะสมที่ดินดังกล่าว นายธรรมนูญ อธิบายว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการแบ่งแยกความคิดออกเป็น 2 ลักษณะ กลุ่มหนึ่งคิดว่าควรกักตุนพันธบัตรของจีนไว้ เพราะคาดว่าจีนจะชนะสงคราม เลยขายที่ดินทิ้งแล้วนำเงินมาซื้อพันธบัตรจีน อีกกลุ่มมองว่าควรจะซื้อที่ดินเก็บไว้ บิดาตน (ขุนนิรันดรชัย) เป็นหนึ่งในผู้มีแนวคิดว่าควรซื้อที่ดินสะสมไว้ เพราะที่ดินไม่มีเพิ่ม และอนาคตจะกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล
.
นี่คือที่มาที่ไปบทบาทของ ‘ขุนนิรันดรชัย’ จากคนสนิท ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจที่ดินกว้านซื้อทำเลหรูหลายแห่ง จนส่งผลงอกเงยกลายเป็นมรดกหมื่นล้านบาท
.
หลังจาก“ขุนนิรันดรชัย”ได้ลาออกจากตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์แล้ว ก็ได้กลายเป็นนักธุรกิจเต็มตัว มีเงินลงทุนในกิจการที่ร่วมกับรัฐและเอกชนอีกมากมาย จนกลายเป็นมรดกอันมากมายมหาศาลของตระกูล“นิรันดร”ที่กำลังมีคดีความฟ้องร้องกัน

โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 61 “พล.ท.สรภฎ นิรันดร” เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายธรรมนูญ นิรันดร” พี่ชายต่างมารดา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารนครหลวงไทย “นายธรรมรัชต์ นิรันดร” บุตรชายคนกลางของนายธรรมนูญ “นางเยาวณี นิรันดร” บุตรสาวคนโต ของนายธรรมนูญ และบริษัท 31 สาธร จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 ต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์มรดก

“พล.ท.สรภฎ” ไม่พอใจที่มีการแต่งตั้ง “ธรรมนูญ นิรันดร” เป็นผู้จัดการมรดก และ “ธรรมนูญ” ก็เสียชีวิตไปแล้ว ก็เลยฟ้องร้อง “ปราณี นิรันดร” ภรรยาของธรรมนูญ “เยาวณี” บุตรสาวคนโต “ธรรมรัชต์” บุตรชายคนกลาง ต่อศาลแพ่ง และอาญา ในข้อหายักยอกทรัพย์ ในขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาล

นี่คือการทะเลาะกันใน “ตระกูลนิรันดร” ซึ่งต้นตระกูลคือ “ขุนนิรันดรชัย” ที่เป็นคนที่มีบทบาทและมีอำนาจในคณะผู้แทนพระองค์เมื่อครั้งนั้น
.
ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา
———————-
พล.ท.สรภฎกล่าวว่า
.
“ประเด็นสำคัญที่อยากเรียนให้ทราบก็คือว่า ก่อนเสียชีวิต คุณพ่อได้สำนึกในความผิดว่า เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของท่าน คือ ท่านเป็นข้าราชการทหาร ท่านได้เสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์
.
“ประการต่อไป ท่านเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านก็ได้ทำเรื่องบางเรื่องที่มิบังควร ท่านก็สั่งเสียว่าท่านต้องการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่คุณพ่อไม่มีโอกาส ปรากฏว่าท่านได้เสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคความดันโลหิตสูง แล้วก็เป็นอัมพาต
.
“เวลาก็ผ่านไป ผมก็นำเรื่องนี้ปรึกษากับพี่ชายต่างมารดา คือ คุณธรรมนูญ นิรันดร พี่ธรรมนูญก็บอกว่า ดีนะ เป็นโอกาสอันดีที่เราควรจะทำการ แม้แต่นามสกุลนิรันดรก็เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน แต่ท่านไม่มีโอกาส ท่านได้เสียชีวิตเมื่อกลางปี 63 นี่เอง ด้วยโรคคล้ายๆ คุณพ่อ
.
“ลูกคุณพ่อขณะนี้เหลืออยู่ 4 คน 3 ท่านนี่ก็นั่งรถเข็นแล้ว เหลือผมที่ยังพอไปได้อยู่ ก็เลยรั้งรอไม่ได้แล้ว ประกอบกับผมเป็นทายาทบุตรชายซึ่งเป็นนายพลของกองทัพบก เป็นคนเดียวในตระกูลนิรันดร เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องทำตามความประสงค์ของบิดาซึ่งได้สั่งเสียไว้ก่อนชีวิต” พล.ท.สรภฎกล่าว