วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

จดหมายถึงคุณครูส่วนพระองค์ ของเจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์

ภาพชายร่างสูงที่ฉายคู่กับในหลวงสองพระองค์นั้น เราพอจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นคุณครูส่วนพระองค์ของเจ้านายเล็กๆทั้งสอง แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ถึงความผูกพันของคุณครูเชื้อสายกรีกผู้มีชื่อว่า เกลย์อง เซไรดารีส  ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙

มิตรภาพระหว่างเจ้าฟ้ายุวกษัตริย์ของไทย กับชายผู้ทุ่มเทให้กับการทำหน้าที่ครูพิเศษท่านนี้มีอะไรที่น่าจดจำมากกว่าแค่ ครูที่ได้รับการว่าจ้างให้ดูแลเจ้านายไทยสองพระองค์ในเรื่องการศึกษา

 

ครูเกลย์องเป็นผู้ที่คอยช่วยแนะนำเรื่องต่างๆให้แก่ครอบครัวราชสกุลมหิดล และทำหน้าที่นี้อย่างดีตลอดมาจวบจนวาระที่ท่านเกษียณจากความเป็นครู

ภาระกิจแรก หาบ้านพักที่เหมาะสม

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงขึ้นครองราชย์ และครอบครัวที่เคยอาศัยในแฟลตธรรมดา มีความจำเป็นต้องย้ายที่พำนักเพื่อให้สมพระเกียรติ ครูเกลย์องได้แนะนำวิลล่าวัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Pully ทางทิศตะวันออกไม่ไกลจาก Lausanne นัก ให้กับครอบครัวมหิดล อันเป็นบ้านพักที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตของครอบครัวเจ้านายเล็กๆ

ภารกิจถัดมา หาโรงเรียนที่ดี

เรื่องการศึกษา …..ครูเกลย์อง ในฐานะศิษย์เก่า ยังคงมีความประทับใจคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน Ecole Nouvelle ที่ตนเองเคยศึกษา จึงได้เสนอโรงเรียนแห่งนี้แก่เจ้านายเล็กๆทั้งสองพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระราชชนนีทรงดำเนินการให้พระองค์ชายและพระองค์เล็กได้เข้าเรียนโรงเรียนนี้ตามที่คุณครูแนะนำทันที

ตลอดระยะเวลา ๒๖ ปีที่ได้รับใช้เจ้านายเล็กๆ คุณครู หรือ ที่เจ้านายเล็กๆเรียกท่านว่า “ตาครู” ครูเกลย์องได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ ตรงตามปณิธานของสมเด็จพระราชชนนี ที่ทรงมุ่งหวังให้ทั้งสามพระองค์ตระหนักถึงภาระหน้าที่ และเตรียมพระองค์ให้พร้อมเพื่อพระราชภาระกิจอันใหญ่หลวงที่โชคชะตะลิขิตไว้

กิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน เป็นหน้าที่ของครูเกลย์อง ที่ได้จัดเตรียมถวาย ไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬาเพื่อสุขภาพพลานามัย และงานฝีมือด้านต่างๆโดยเฉพาะด้านช่างไม้ที่ครูเกลย์องมีความชำนาญและทักษะในด้านนี้เป็นอย่างดี

ภาระหน้าที่ต่างๆของครูยังไม่เว้นแม้กระทั่งกิจกรรมการเล่น เช่นเกมส์ต่างๆ รถยนต์ของเล่น รถไฟจำลอง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่สนิทแนบแน่น จนราวกับ “ตาครู” คือพระสหายที่สำคัญของเจ้านายทั้งสองพระองค์ (คำเรียกคุณครูเกลย์อง จากหนังสือเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์)

ช่วงเวลาปิดเทอม ซึ่งเป็นเวลาเข้าค่ายไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนหรือฤดูหนาว ครูเกลย์องก็จะตามเสด็จเจ้านายเล็กๆด้วยเสมอ

ความผูกพันระหว่างเจ้านายเล็กๆตลอดจนครอบครัวราชสกุลมหิดลทั้งสี่พระองค์ ประกฏชัดในจดหมายและไปรษณียบัตรอวยพร ระหว่างที่ครอบครัวของยุวกษัตริย์ต้องเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

เจ้านายทุกพระองค์ได้มีเมตตาส่งจดหมาย และไปรษณียบัตรถึงครูตลอดการเดินทาง โดยเฉพาะจดหมายพิเศษจาก “สโมสรปาตาปูม”

๒๗ พฤศจิกายน ๑๙๓๘

เราได้รับจดหมายทุกฉบับของครูและขอขอบคุณมาก เรามีห้องนอนสวยมากพร้อมโต๊ะทำงาน บนโต๊ะมีปากกา “เอเวอร์ชาร์ป” สองด้าม ด้ามหนึ่งปรับได้ด้วย ทั้งสองด้ามเขียนดีมาก ต้องเอากลับไปโลซานน์ด้วยไหม

ตอนนี้ มีเรื่องใหม่ระหว่างการเดินทางด้วย ชมรมเคยมีเงินแค่ ๓๒ชิลลิ่งและตอนที่อยู่กรุงเทพเรามีตั้ง ๑๖๐บาทแล้ว เกือบ ๒๘๐ ฟรังก์! เรายังได้รถยนต์ไฟฟ้าสองที่นั่งสองคันด้วย สีแดงแจ๊ด จนถึงวันนี้เรายังสไตรค์ไม่เรียนมาตั้งแต่อยู่ปีนัง พรุ่งนี้ถึงจะเริ่มเรียน ในสวนมีงูหลายตัวที่ออกหากินตอนกลางคืนและมีพิษกัดตายด้วย แต่ถ้าเราไปฉีดยาและก็อะไรพวกนั้น เราก็ไม่ตาย เราเห็นงู ๒ ตัว ตัวหนึ่งที่บ่อน้ำในสวน เราพายเรือเล่นกันและก็เล่นดอกไม้ไฟด้วย

เราไม่ทรมานเพราะอากาศร้อนหรอก แต่ยุงนี่น่ะซิ นี่คือตัวอย่างหนึ่งตัวที่ “ลิง” เป็นคนตบ (“ลิง” เป็นกรรมการทำหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ตาม ข้อบังคับอย่างเป็นทางการ ของปาตาปูมคลับ)

ตอนนี้พระราชพิธีกำลังเริ่มแล้ว ส่วนโรงเรียนก็?????? อ้า! ฮึม!???????

ลงท้าย “ชมรมปาตาปูมทุกคนขอส่ง ˜˜˜ มาให้คุณ” (สัญลักษณ์แปลกๆ)

ภายในซองจดหมายมีซากของยุงแทรกอยู่ในกระดาษที่เขียนด้วยหมึกแดงตัวพิมพ์ใหญ่ว่า “ระวัง ข้างในมีสัตว์ ๑ตัว อย่าทำตก”

จดหมายอีกฉบับจากคลับปาตาปูม ที่กล่าวถึง “ลิง” คือจดหมายลงวันที่ ๖ ธันวาคม๒๔๘๑ ซึ่งในหลวงอานันทเป็นผู้เขียนถึงคุณครู

“ในงานวันเกิดของ ลิง ที่บ้านมีของขวัญเต็มไปหมด”

มีจดหมายอีกหลายฉบับทั้งจากสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระพี่นางฯ ทุกพระองค์ต่างเขียนจดหมายเล่าเรื่องราวต่างๆระหว่างเสด็จกลับประเทศไทยไปหาครูด้วยความคิดถึงห่วงใย

สองสามเดือนหลังจากนั้น ทุกพระองค์จึงได้เสด็จกลับมาโลซานน์และทรงดำเนินชีวิตเหมือนปกติ ส่วนคุณครูก็กลับมาทำหน้าที่ครูส่วนพระองค์ของเจ้านายเล็กๆตามเดิม

ภาพค่ายฤดูร้อนที่ Arveyes

เดือนกันยายน ๒๔๘๘ ในหลวงอานันท์ เจริญพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาและต้องเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยอีกครั้งเพื่อพระราชพิธีที่กำหนดขึ้นในเดือนธันวาคม ๒๔๘๘

ในการเสด็จครั้งนี้คุณครูยังคงได้รับจดหมาย ไปรษณียบัตรอวยพรจากครอบครัวของเจ้านายอย่างสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะนายหลวงอานันท์ที่ได้ทรงเล่าถึงความวุ่นวายของบ้านเมือง

“ครูที่รัก ตอนแรกพวกเราคิดว่าจะอยู่ที่นี่กันสักเดือนหนึ่ง แต่ตอนนี้ก็ ยืดไปอีกสองเท่าแล้ว และยังไม่รู้ว่าจะยาวไปถึงเมื่อใด เขาขอให้เราอยู่ต่อจนกว่าจะถึงพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (๒๔ มกราคม) และตอนนี้ก็ให้เรารอจนกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ไม่ใช่แค่การปรับปรุงเพิ่มเติมแต่เป็นการแก้ไขทั้งฉบับ ดังนั้นแทนที่จะผ่านแค่สภาเดียว ก็ต้องผ่านถึงสองสภา เขาว่าต้องใช้เวลา ๓ เดือน หรือบางทีก็นานกว่านั้นอีก

ถึงแม้ว่าเราต้องอยู่ที่นี่นากว่ากำหนด แต่ก็ไม่เบื่อเลย พวก ของเล่น ที่เรามีส่วนใหญ่เป็นของอเมริกัน เช่นรถจิ๊ป มอเตอร์ไซค์เล็กสำหรับพลร่ม วอล์คกี้-ทอลคกี้

ปืนยาวอัตโนมัติ “คาร์ลีน” ยิงชุด ๑๕ นัด น้ำหนักเบาและความแม่นยำสูง

ปืนพกอเมริกันขนาด ๑๑ มม เสียงดังมากและเรายิงได้ไม่เคยแม่น

ปืนกล “เอ็ม ๓” ยิงชุด ๓๐ นัด ขนาดกระสุน ๑๑ มม

ปืนกล “ทอมสัน” ขนาดกระสุน ๓๐ นัด และยิงชุดได้เหมือนปืนคาร์ลีน

ปืนกล “สเตน” ขนาดเล็ก ถอดประกอบใส่ในกระเป๋านักเรียนได้

ตอนนี้ในประเทศมีอาวุธทันสมัยเยอะมาก เพราะอเมริกาส่งมาทางอากาศให้กลุ่มต่อต้าน วันก่อนเราไปชายทะเลกันมาและเล่นยิงขวดที่เราขว้างออกไปด้วย…

ในวังวุ่นวายสับสนมาก

เราเล่นดนตรีกันมีทั้งแซกโซโฟน อัลโต โซปราโน เทเนอร์ คลาริเน็ต นายกรัฐมนตรีคนก่อนกับนักดนตรีบางคนก็มาร่วมเล่นกับพวกเราด้วย

เราคงไม่ได้กลับไปเร็วๆนี้หรอก ครูเขียนมาได้หลายๆ ฉบับ จดหมายจะใช้เวลา ๑๐-๒๐  วันกว่าจะมาถึง

ช่วยส่งต่อจดหมายที่แนบมานี้พร้อมกับความคิดถึง ขอขอบใจล่วงหน้า

ยังมีอะไรอีกเยอะแยะ ช่วยบอกสิ่งที่คุณชอบมาด้วย

สวัสดี, ฯลฯ..

ฝากความคิดถึงให้ครอบครัวรัตนกุลด้วย

ลงพระนาม อ.ม.

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ หนังสือพิมพ์ ใน Lausanne ลงข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า

“กษัตริย์แห่งสยามจะเสด็จฯกลับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ”

แต่แล้วเช้าตรู่วันที่ ๙ มิถุนายน ก็เกิดเหตุการณ์สุดแสนวิปโยค ในหลวงรัชกาลที่๘ สิ้นพระชนม์บนแท่นบรรทมด้วยกระสุนจากอาวุธปืนโคลท์ .๔๕

คุณครูได้รับโน้ตสั้นๆจากเพื่อนบ้าน “มีคนโทรศัพท์มาที่บ้านผม ขอให้คุณครูเซไรดารีสโทรกลับด่วนที่ หมายเลข ๓ ๔๑ ๔๔ ลงวันที่และเวลา ๑๐ มิ.ย. ๘๙ เวลา ๑๗ น.

ครูเกลย์องได้รับทราบข่าวร้ายนี้ทางโทรศัพท์จากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

หัวใจของคุณครูคงจะแตกสลาย

“พระเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” ไม่ว่าจะต้องพระราชประสงค์หรือไม่ คำกราบบังคมทูลลาในหลวงในพระบรมโกศและคำถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ตามราชประเพณีนี้ ก็เป็นความจริงที่ทุกราชวงศ์ต้องเผชิญ และพระอนุชาภูมิพลก็ทรงมีเวลาเพียงสองสามวันพื่อทรงตัดสินพระทัยว่าจะทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระบรมเชษฐาธิราชหรือไม่

แล้วสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่๙ แห่งราชวงศ์จักรี

ในหลวงซึ่งเพิ่งจะได้ทรงครองราชย์ไม่นาน ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงครูเกลย์องบนกระดาษขอบดำ

“เมอร์ซิเยอร์” ที่รัก

ขอบใจสำหรับจดหมายให้กำลังใจ สำหรับฉันที่กำลังอยู่ในช่วงที่โศกเศร้าและรู้สึกตัวคนเดียวแล้วเป็นสิ่งที่อบอุ่นใจมาก

ข้อความที่เหลืออีกสองหน้ากระดาษเป็นความคิดเห็นส่วนพระองค์ในเรื่องต่างๆตลอดจนพระราชภารกิจประจำวัน และยังทรงบอกอีกด้วยว่าไม่ทรงทราบว่าเมื่อใดจะได้กลับไปสวิตเซอร์แลนด์อีก เนื่องจากมีงานพระราชพิธีมากมายที่จัดถวาย “นันท์”

พระองค์ทรงขอให้ครูเกลย์องเขียนจดหมายมาถวายอีก ในหลวงทรงแทรกภาพถ่ายมาในซองจดหมายเป็นภาพล่าสุดที่ทรงฉายพระเชษฐาในคราวเสด็จฯมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระองค์ทรงลงท้ายจดหมายถึงครูด้วยข้อความที่แสนกินใจ

“จากภูมิพลเพื่อนคุณ”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์หลังจากเหตุการณ์วิปโยค พระองค์เสด็จฯกลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งเพื่อทรงศึกษาต่อ แต่ได้ทรงเปลี่ยนวิชาที่ศึกษาจากวิทยาศาสตร์ที่ถนัดและทรงโปรด มาศึกษาในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโลซานน์ด้วยความจำเป็นต่อภาระหน้าที่ในอนาคตที่กำลังรออยู่

ครั้งนั้นพระองค์เสด็จจากราษฎรมาพร้อมกับประโยคที่ดังก้องอยู่ในพระทัยว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน”

ระหว่างที่ทรงศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเสด็จกลับประเทศไทย หรือเดินทางไปประเทศไหน ก็จะมีจดหมายกลับมาหาครูแทบจะตลอดเวลาที่ห่างกัน  ถ้าเป็นการเดินทางไปประเทศในยุโรปเป็นการส่วนพระองค์ครูก็จะไปด้วย

บางครั้ง เพื่อให้คนจำไม่ได้ก็ต้องอาศัยการปลอมตัวสารพัดรูปแบบ เช่น บอกว่าในหลวงเป็นลูกชายครู เป็นต้น แต่ครั้งหนึ่งที่ปารีส ครูจึงได้ทราบว่าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของสาธารณรัฐฝรั่งเศสไม่หลงกล เพราะเมื่อสนทนากันอย่างไม่เป็นทางการ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝรั่งเศสช่วยถวายความเคารพอย่างสูงไปให้ “พระโอรส” ด้วย…

หลังจากสำเร็จการศึกษา รวมเป็นระยะเวลาที่ประทับอยู่ในโลซานน์นานถึง ๑๘ปี จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จกลับประเทศไทยเพื่อปกครองบ้านเมืองตามที่ราษฎรทุกคนต่างเฝ้ารอ

คงไม่มีความสุขใจใดของครูทุกคนจะยิ่งใหญ่ เท่ากับช่วงเวลาที่ลูกศิษย์ที่เติบโตได้กลับมาเยี่ยมเยือนพร้อมกับครอบครัวที่สมบูรณ์ ครูเองก็คงรู้สึกเช่นนั้น เมื่อได้ต้อนรับศิษย์คนสำคัญอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๕๐๓

ภาพนี้ เป็นของครูเกลย์อง 

การเสด็จเยือนโลซานน์ในปี ๒๕๐๓ ถือเป็นครั้งสุดท้ายของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากอีกสองสามปีต่อมา ในหลวงตัดสินพระทัยที่จะทุ่มเทพระวรกายเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่และจะไม่เสด็จฯออกนอกประเทศอีก

อำลาชีวิตครู 

ในช่วงชีวิตของครูหลังจากที่เกษียณแล้ว ยังคงได้รับการติดต่อจากในหลวงและสมเด็จพระราชชนนีรวมถึงสมเด็จพระพี่นางฯมิได้ขาด และสมเด็จพระราชชนนีกับสมเด็จพระพี่นางฯก็ยังคงเสด็จประทับที่สวิตเซอร์แลนด์อยู่สม่ำเสมอ

สิ่งที่ครูประทับใจมากที่สุดก็คือการที่ในหลวงทรงพระมหากรุณาธิคุณให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยพร้อมกับบุตรชายของครูและครอบครัว ในโอกาสที่มีอายุครบ ๘๒ ปี

ครูส่วนพระองค์ของในหลวงใช้ชีวิตอยู่ที่โลซานน์ตลอด ๘๐ปี และได้ถึงแก่กรรม วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๐ สามเดือนก่อนอายุครบ ๙๑ ปี

และบังเอิญที่วันนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กำลังอยู่ในระหว่างเสด็จเยือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นการส่วนพระองค์

ราวกับเป็นการล่ำลา และส่งครูสู่สถานที่อันสงบของชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย ผ่านสายใยผูกพันด้วยพระองค์เอง

เรียบเรียงจากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่๙ และเจ้านายไทยในโลซานน์

บันทึกความทรงจำของครูส่วนพระองค์ในรัชกาลที่๙ รวบรวมโดย ลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส

อ้างอิง 

https://uncledoctorvacation.com/2017/05/26/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88/