วันพุธ 11 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

‘จีน’ สังหาร 12สายลับ CIA ทำข่ายงานสายลับสหรัฐฯ อัมพาต

นิวยอร์กไทมส์ – ทางการจีนได้สังหาร หรือจำคุกบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวให้แก่ซีไอเอ 18 – 20 คน ในระหว่างปี 2010 – 2012 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานเมื่อวันเสาร์ (20 พ.ค.) พร้อมระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความเสียหายหนักให้แก่ความสามารถของสหรัฐฯในการหาข่าวกรองในแดนมังกรอยู่เป็นเวลาหลายปี โดยที่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่อาจระบุต้นตอของความลับรั่วไหลคราวนี้ได้อย่างชัดเจน

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งอ้างคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯทั้งในปัจจุบัน และในอดีตจำนวนมากที่ว่า การรั่วไหลในการหาข่าวกรองครั้งนี้ถือเป็นคราวร้ายแรงที่สุดคราวหนึ่งในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐฯ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่าง สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) เร่งดำเนินการสอบสวน ทว่า พวกเจ้าหน้าที่สอบสวนเหล่านี้มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามีสายลับที่ทำงานให้จีนรายหนึ่งแอบแฝงอยู่ในซีไอเอและเปิดเผยแหล่งข่าวของสำนักงานข่าวกรองแห่งนี้ให้ปักกิ่งทราบ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าทางการจีนสามารถเจาะเข้าสู่ระบบปิดลับที่ซีไอเอใช้ในการติดต่อสื่อสารกับพวกแหล่งข่าวต่างประเทศ

นิวยอร์กไทมส์ กล่าวว่า หลังจากเวลาผ่านมาแล้วหลายปี การถกเถียงในเรื่องต้นตอของข่าวกรองรั่วไหลนี้ก็ยังคงไม่มีข้อยุติ แต่เรื่องที่แน่นอนชัดเจนแล้ว ก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยทางการจีนได้สังหารบุคคลที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ซีไอเอไปอย่างน้อย 12 คนในช่วงตั้งแต่สัปดาห์ท้ายๆ ของปี 2010 จนถึงสิ้นปี 2012 แล้วยังมีรายอื่นๆ ที่ถูกจับตัวเข้าคุก อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ 2 คนกล่าวว่า รวมทั้งสิ้นแล้วฝ่ายจีนได้ฆ่าหรือจำคุกผู้ให้ข่าวแก่ซีไอเอ ระหว่าง 18 – 20 คน ซึ่งเป็นการทำลายเครือข่ายที่หน่วยข่าวกรองอเมริกันใช้เวลาหลายปีสร้างขึ้นมา

มีอยู่รายหนึ่งถูกยิงสังหารที่บริเวณหน้าอาคารรัฐบาลแห่งหนึ่งในจีน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 3 ราย เล่าให้นิวยอร์กไทมส์ฟัง พร้อมกับกล่าวว่านี่เป็นการจงใจที่จะส่งข้อความไปถึงบุคคลอื่นๆ ในเรื่องการลักลอบส่งความลับให้วอชิงตัน

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ บอกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นในจีนคราวนี้ มีการสูญเสียทรัพย์สินในรูปของผู้ให้ข่าว เป็นจำนวนใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตและรัสเซีย เนื่องจากการทรยศของ 2 อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอและเอฟบีไอ ซึ่งก็คือ อัลดริช แอเมส และ โรเบิร์ต แฮนส์เสน ที่ส่งข้อมูลข่าวสารแจ้งไปทางมอสโก ทั้งนี้ แอเมสเป็นสายลับที่มีบทบาทในช่วงทศวรรษ 1980 ส่วนแฮนส์เสนอยู่ในช่วงปี 1979 – 2001

ทั้งซีไอเอและเอฟบีไอต่างไม่แสดงความคิดเห็นอะไร เมื่อนิวยอร์กไทมส์และสื่อรายอื่นๆ สอบถามเกี่ยวกับรายงานข่าวชิ้นนี้

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ บอกว่า สัญญาณแรกที่แสดงให้เห็นความยุ่งยากนั้นปรากฏขึ้นมาในปี 2010 โดยที่ในตอนนั้น ซึไอเอได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำงานระดับวงในของรัฐบาลจีน ซึ่งถือว่ามีคุณภาพดีที่สุดในรอบระยะเวลาหลายปีทีเดียว ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่สามารถดึงเอาแหล่งข่าวหลายรายที่อยู่ในระดับลึกๆ ภายในระบบราชการในปักกิ่งมาทำงานให้ อดีตเจ้าหน้าที่อเมริกัน 4 คนบอก แหล่งข่าวเหล่านี้บางรายเป็นบุคคลสัญชาติจีนซึ่งซีไอเอเชื่อว่าเกิดความรู้สึกหมดหวังเนื่องจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีน

ทว่า พอถึงปลายปีนั้นเอง ข้อมูลข่าวสารที่เคยไหลรื่นก็เริ่มเหือดหาย และเมื่อถึงต้นปี 2011 พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีไอเอก็ตระหนักว่าพวกเขาเจอปัญหาแล้ว เนื่องจากพวกทรัพย์สินที่เป็นบุคลากรในจีน รวมทั้งรายหนึ่งที่เป็นแหล่งข่าวมีค่าที่สุดของพวกเขา กำลังเริ่มทยอยหายตัวไป รายงานของนิวยอร์กไทมส์ระบุ

เมื่อมีแหล่งข่าวถูกสังหารเพิ่มมากขึ้นอีก เอฟบีไอ และ ซีไอเอ จึงเริ่มร่วมกันสอบสวนหารูรั่วที่เกิดขึ้น โดยมีการตรวจสอบการปฏิบัติการทั้งหมดที่ดำเนินในปักกิ่ง และขุดคุ้ยประวัติลูกจ้างแทบทุกรายที่ทำงานในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีน ไม่ว่าจะมีตำแหน่งสูงขนาดไหน นิวยอร์กไทมส์อ้างอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯรายหนึ่งที่กล่าวว่า การสอบสวนนี้กระทำโดยใช้ชื่อรหัสว่า “ฮันนีย์ แบดเจอร์” (Honey Badger)

คณะผู้สอบสวนซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายต่อต้านการจารกรรมของทั้งซีไอเอและเอฟบีไอ มีบางคนเชื่อว่าฝ่ายจีนสามารถเจาะระบบเข้ารหัสซึ่งซีไอเอใช้ในการสื่อสารกับพวกทรัพย์สินแหล่งข่าวในต่างประเทศของตน ทว่า คนอื่นๆ สงสัยว่ามีคนทรยศคนหนึ่งแฝงตัวอยู่ในซีไอเอ

นิวยอร์กไทมส์ บอกว่า การสอบสวนในแนวทางตามล่าหาสายลับแฝงของจีน ในที่สุดแล้วก็รวมศูนย์อยู่ที่อดีตมือปฏิบัติการภาคสนามของซีไอเอรายหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานในแผนกกำกับตรวจสอบการปฏิบัติการในแดนมังกร ชายอเมริกันเชื้อสายจีนผู้นี้ลาออกจากซีไอเอไปไม่นานนักก่อนที่การสูญเสียแหล่งข่าวกรองของสหรัฐฯจะเริ่มต้นขึ้น ทว่า ความพยายามที่จะรวบรวมหลักฐานให้เพียงพอเพื่อจับกุมบุคคลผู้นี้นั้นประสบความล้มเหลว และเวลานี้เขาผู้นี้ยังคงพำนักอาศัยอยู่ในประเทศเอเชียอีกประเทศหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯทั้งที่ทำงานอยู่ในอดีตและในปัจจุบันเปิดเผย

ในอีกด้านหนึ่ง รายงานของนิวยอร์กไทมส์ บอกว่า พวกที่ปฏิเสธไม่เชื่อถือทฤษฎีมีสายลับแฝงตัว เสนอคำอธิบายว่าความสูญเสียคราวนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากวิธีทำงานด้านข่าวกรองของฝ่ายอเมริกันมีความสะเพร่า ในช่วงเวลาที่ฝ่ายจีนกำลังทำงานได้ดีขึ้นในการเฝ้าติดตามกิจกรรมลับทั้งหลายของอเมริกันในแดนมังกร มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของเอฟบีไอบางคนรู้สึกมั่นใจว่า เหล่าเจ้าหน้าที่ควบคุมของซีไอเอในปักกิ่งนั้น บ่อยครั้งเกินไปที่เดินทางไปในเส้นทางเดิมๆ และใช้จุดนัดพบแห่งเดิมๆ ซึ่งช่วยให้เครือข่ายเฝ้าระวังอันกว้างขวางของจีนสามารถระบุตัวสายลับส่งข่าวให้วอชิงตันได้

นิวยอร์กไทมส์อ้างอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายคนเล่าว่า มีเจ้าหน้าที่ควบคุมของซีไอเอบางรายพบกับพวกแหล่งข่าวของพวกเขาที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งสายของจีนได้แอบติดตั้งอุปกรณ์ดักฟังเอาไว้ และกระทั่งพวกบริกรก็ทำงานให้หน่วยงานข่าวกรองจีน

ความสะเพร่าเลินเล่อเช่นนี้ เมื่อบวกกับความเป็นไปได้ที่ว่าฝ่ายจีนสามารถแฮกช่องทางสื่อสารปิดลับได้ จะสามารถอธิบายการหายตัวและการเสียชีวิตของแหล่งข่าวจำนวนมากทีเดียว หากไม่ใช่ทั้งหมด อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบางรายบอก

 

ทั้งนี้ สื่ออื่นๆ อย่างเช่น บีบีซีนิวส์ ชี้เพิ่มเติมว่า ในอีกไม่กี่ปีต่อมา นั่นคือ เมื่อปี 2015 มีรายงานข่าวว่า ซีไอเอต้องรีบโยกย้ายพวกเจ้าหน้าที่ของตนออกจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงปักกิ่ง หลังจากเกิดเหตุกลุ่มแฮกเกอร์ที่เชื่อกันว่าจีนอยู่เบื้องหลัง เจาะเข้าระบบของสำนักงานบริหารจัดการงานบุคคล (Office of Personnel Management) ของสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลงานด้านบุคคลของหน่วยงานพลเรือนต่างๆ ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และโจรกรรมเอาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับลูกจ้างพนักงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯจำนวนหลายล้านคนไปได้ หากเหตุการณ์ของช่วงปี 2010 – 2012 ปักกิ่งอาศัยความช่วยเหลือจากการแฮกทำนองเดียวกันนี้แล้ว จวบจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครรายงานอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อสาธารณชน

อย่างไรก็ตาม รายงานของนิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า เมื่อถึงปี 2013 เอฟบีไอ และซีไอเอ ก็มีข้อสรุปว่า ความสามารถของจีนในการระบุตัวแหล่งข่าวผู้ส่งข้อมูลข่าวสารให้ซีไอเอนั้นได้หดหายไปแล้ว ถึงแม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

นิวยอร์กไทมส์อ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายราย กล่าวว่า ซีไอเอกำลังพยายามสร้างเครือข่ายสปายของตนในแดนมังกรขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นความพยายามที่มีราคาแพงและกินเวลามาก

ในอีกด้านหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันบอกว่า จีนก็มีความพยายามในเชิงรุกมากเป็นพิเศษในการหาข่าวกรองในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ โดยนอกเหนือจากเรื่องการแฮกสำนักงานบริหารจัดการงานบุคคลของสหรัฐฯแล้ว เมื่อปี 2016 ลูกจ้างของเอฟบีไอผู้หนึ่งรับสารภาพว่าเป็นสายลับคอยส่งข่าวให้จีนมาหลายปี โดยมุ่งส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีอ่อนไหวทั้งหลายไปให้ปักกิ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสด, ห้องพักหรูหราเวลาเดินทางไปต่างประเทศ และ บริการโสเภณี

เดือนมีนาคมปีนี้ พนักงานอัยการสหรัฐฯ แถลงว่า ได้จับกุม แคนแดช มารี ไคลเบิร์น ผู้ทำงานเป็นลูกจ้างของกระทรวงการต่างประเทศมายาวนาน ด้วยข้อหาว่าให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนในเรื่องการติดต่อระหว่างเธอกับพวกเจ้าหน้าที่จีน ตามคำฟ้องร้องคดีอาญาที่มีไคลเบิร์นเป็นจำเลย โดยที่เธอไม่ได้รับสารภาพผิดแต่อย่างใดนั้น พวกสายลับของจีนได้โอนเงินสดเข้าบัญชีธนาคารของเธอ ตลอดจนให้ของขวัญของกำนัลราคาแพงต่างๆ จำนวนมาก