วันศุกร์ 20 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ฉลองชัยชนะ-ขอบคุณนายกฯยุติป่าแหว่ง

 

คนเชียงใหม่เฮ!ทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพสำเร็จ หลัง “สุวพันธุ์” ถก 52 เครือข่ายฯค้านบ้านพักตุลาการได้ข้อสรุป 3 ประเด็น คืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เร่งรังวัด-ฟื้นฟูปลูกป่า ประกาศเป็นเขตอุทยาน และตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงอาคารสิ่งปลูกสร้าง ด้าน

แกนนำ52องค์กรพอใจผลเจรจาถือเป็นข่าวดี ประกาศเป็นดอยสุเทพโมเดล ขอบคุณนายกฯใส่ใจปัญหาประชาชน เตรียมจัด’ฮ้องขวัญดอยสุเทพ’

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.เมืองเชียงใหม่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 52 องค์กร นำโดย นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ นายชัชวาล ทองดีเลิศ น.ส.ลักขณา ศรีหงส์ นายบัณรส บัวคลี่ รวมทั้งหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง นำโดย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ต.สาธิต ศรีสุวรรณ ผบ.มทบ.33 พล.ต.ต.มนตรี สัมบุณณานนท์ รอง ผบช.ภ.5 ว่าที่ ร.ต.ยงยุทธ เรืองภัทรกุล ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ นายสมหวัง เรืองนิวัตศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ถึงกรณีที่เครือข่ายประชาชนออกมาคัดค้านการสร้างบ้านพักตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 และขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง

ภายหลังหารือ นายสุวพันธุ์แถลงสรุปผลการประชุมที่ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงว่า การหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้ข้อสรุปร่วมกัน 3 แนวทาง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง 3 แนวทางคือ 1.พื้นที่ดังกล่าวจะไม่ให้มีหน่วยงานใดเข้าไปอยู่อาศัย 2.แนวทางการฟื้นฟู โดยจะปลูกป่า ซึ่งกรมธนารักษ์จะเข้าสำรวจและรังวัดแนวเขตพื้นที่ป่าดั้งเดิมให้ชัดเจนคือ บริเวณที่สร้างอาคารชุด 9 หลัง และบ้านพัก 45 หลัง ส่วนเขตพื้นที่ที่ใช้การได้ด้านล่าง ก็ทำแนวเขตให้ชัดด้วย

แนวทางที่ 3.เป็นข้อสรุปร่วมกับเครือข่ายฯคือ จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดมาจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณาเรื่องการจัดการในพื้นที่ ที่ทางเครือข่ายฯอยากให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และดูแลพื้นที่นอกเหนือไปจาก 147 ไร่ว่าจะทำอย่างไร พื้นที่ที่เป็นที่ราชพัสดุ และมีสภาพคล้ายป่าจะทำอย่างไร และที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงการจัดการสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ จะประชุมขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ตามข้อเจรจาในวันที่ 7 พฤษภาคม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำลักษณะนี้เป็นการเสียงบประมาณก่อสร้างโดยใช่เหตุหรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า วันนี้ต้องใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะปัญหานี้มีเรื่องทับซ้อนอยู่ จึงคิดว่าแก้ไปที่ละเปลาะ ถ้ายังหางบประมาณไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามวิธีการหางบประมาณ

ส่วนประเด็นการรื้อถอนนั้น วันนี้ยังไม่ได้คุยกันลงไปลึกถึงเหตุผล ถ้าเรื่องนี้ยังติดใจอยู่ มีคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องสิ่งปลูกสร้างว่าควรจะเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม เป็นสิ่งที่เกิดจากกระบวนการภาคประชาชนที่ร่วมกันคิด วันนี้สิ่งที่ได้รับความประทับใจมากที่สุดคือ ความร่วมมือของตัวแทน ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 50 องค์กรที่มาทำงานและพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีงานที่ต้องทำอีกมาก

นายสุวพันธุ์กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ที่ต้องทำระยะสั้น ทำได้เลยทันที เช่น การรังวัด กำหนดเขตพื้นที่ให้ชัดเจน ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เรื่องอื่นอาจมีระยะเวลา ต้องศึกษา สิ่งสำคัญ คือ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน สะท้อนความห่วงใยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคราชการได้มานั่งฟังก็เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องทำบางอย่างเพิ่มเติม

“ไม่มีการพบกับครึ่งทาง ปลายทาง เป็นการพบกันด้วยความเข้าใจ ด้วยความร่วมมือและตั้งใจดีของทุกฝ่าย ในส่วนศาลยุติธรรม บอกมาชัดเจนแล้วว่า มอบให้รัฐบาลแก้ปัญหาแทน และอะไรที่รัฐบาลตัดสินใจศาลน้อมรับและพร้อมปฏิบัติ และรัฐบาลรับมาทำแทน ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายทั้ง สังคม ภาคประชาชน และราชการต้องเรียนรู้ต่อไปว่าจะทำอะไรต้องคำนึงถึงสิทธิและสิ่งที่กระทบ ความรู้สึก และภาพรวมประเทศ” นายสุวพันธุ์กล่าว และว่า สำหรับสัญญาการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามสัญญา เพื่อไม่ให้กระทบภาคเอกชน เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ยื้อเวลา รัฐบาลแก้ปัญหาบนผลประโยชน์ของส่วนรวม

ด้านนายธีระศักดิ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนแถลงว่า การหารือวันนี้ เครือข่ายฯได้ผืนป่าดอยสุเทพ หรือ บ้านป่าแหว่งกลับเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ดั้งเดิม ส่วนวิธีการที่จะทำต่อไปคือจะฟื้นฟูพื้นที่ล้ำแนวป่าขึ้นไปคือ อาคารชุด 9 หลัง และบ้านพัก 45 หลัง กรมธนารักษ์จะเข้ารังวัดโดยเร็ว เสร็จแล้ว ศาลจะโอนพื้นที่ที่แปลงนี้คืนธนารักษ์ แล้วธนารักษ์จะโอนไปให้ป่าไม้หรืออุทยานฯ เพื่อประกาศเป็นเขตอุทยานฯต่อไป

“วันนี้ถือเป็นข่าวดี ถือเป็นดอยสุเทพโมเดล ในการทำงานร่วมกันของ 52 องค์กร สิ่งที่เราได้คือ คำมั่นสัญญาว่าจะได้ป่าดอยสุเทพกลับคืนเป็นป่าอุดมสมบูรณ์แน่นอน มีความหมายว่า จะไม่มีอาคารเหลืออยู่แน่นอน ถึงแม้จะมีปัญหาข้อกฎหมายนิดหน่อย แต่คณะกรรมการที่จะตั้งเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญจะดูว่าจะใช้กฎหมายแก้ไขได้อย่างไร หากตั้งเป็นอุทยานแล้ว ต้องใช้กฎหมายอุทยานดำเนินการสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ โดยเข้าไปฟื้นฟูก่อนแบบประชารัฐร่วมใจในจุดที่มีการก่อสร้าง รู้สึกพอใจผลการเจรจาในวันนี้ และเครือข่ายจะให้เวลาระยะหนึ่งในการทำงานของคณะกรรมการ โดยจะจับตาอย่างใกล้ชิด”นายธีระศักดิ์กล่าว และว่า ส่วนการรื้อถอนนั้น เราจะไม่พูดว่ารื้อ แต่เราจะใช้คำว่าสิ่งปลูกสร้างแทนคำว่าเตขว้าง โดยมีกรรมการเข้ามาดำเนินการ

นายธีระศักดิ์กล่าวด้วยว่า การดำเนินการต่อไปนี้ คือ การฟื้นฟู และเพื่อเป็นการฉลองใหญ่เป็นชัยชนะของเรา ด้วยการจัดกิจกรรม ฮ้องขวัญดอยสุเทพ หลังจากแกนนำหารือกันเร็วๆนี้ เราจะมีกิจกรรมต่อเนื่อง แต่เน้นฟื้นฟูเชิงสร้างสรรค์และพูดคุยแต่เรื่องดีๆ ไม่มีการรับบริจาคใดๆ ฝากขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สนใจปัญหาประชาชน ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน จากนี้ก็หวังว่าจะแก้ปัญหาให้รวดเร็ว และให้ป่ากลับคืนมาโดยเร็ว