วันอาทิตย์ 8 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ตามรอยศิลปะคณะราษฎรในพระตะบอง

นิยาม “ ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ ”

จากที่เคยกล่าวไว้แล้ว เกี่ยวกับ แนวคิดเรื่อง ของศิลปะยุคประชาธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 ในหัวข้อ เทพองค์ใหม่ในศิลปะ “คณะราษฎร”

‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ คือแนวคิดที่กลายพันธุ์มาจาก แนวคิด“ระบอบรัฐธรรมนูญ”(Constitutionalism) ซึ่ง“ระบอบรัฐธรรมนูญ”เดิมทีนั้น หมายถึง เป็นแนวความคิดที่มุ่งหมายจะใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (written constitution) เป็นหลักในการกำหนดรูปแบบ กลไก และสถาบันทางการเมืองการปกครองต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของการบริหารงานภาครัฐในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งเป็นระบอบใหม่ที่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ทรงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาชาติด้วยการปกครองประเทศโดยใช้ผู้ชำนาญวิชาการต่างๆ (Technocracy) เพื่อไปสู่ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก

แต่ ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ ระบอบที่ถูกสร้างขึ้นโดยคณะราษฎรในสมัย พ.ศ. 2475
นั้นมีความแตกต่างออกไปจาก “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ดั้งเดิม… โดยใช้ความเชื่อแบบเทวนิยมผูกเข้ากับกฏหมาย เพื่อชี้นำให้ รัฐธรรมนูญคณะราษฎรที่ร่างไว้แต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น ดูเป็นสิ่งที่มาจากสวรรค์และทรงพลังเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ยากที่จะต่อต้าน เป็นสิ่งที่ผู้คนควรยอมรับและปฎิบัติตาม

*ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า แนวคิด ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ นั้นได้รับอิทธิพลมาจาก แนวคิดของ กลุ่ม ฌากอแบ็ง (Jacobins) ที่กดดันกษัตริย์ฝรั่งเศสเวลานั้นเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญสำหรับประเทศ และเมื่อ ปฎิวัติฝรั่งเศสไปสู่สาธารณรัฐในปี ค.ศ. 1789 สำเร็จหลังจากที่ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16…กลุ่ม ฌากอแบ็ง (Jacobins) ก็ได้สร้างลัทธิบูชาเทพีแห่งเหตุผลขึ้นในช่วงยุคมืดที่มีการประหารผู้จงรักภักดีจำนวนมาก)

ดังนั้น ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ ผู้คนกราบไหว้นั้น เพื่อลดทอนล้มล้างบทบาทความศรัทธาในความเป็นสมมุติเทพของสถาบันกษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์, เพื่อส่งเสริมความเชื่อในการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกทำให้เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่กว่า

จึงไม่แปลกนักที่เราจะพบ สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญอันเกี่ยวกับการเมืองการปกครองภายในบริเวณ “บวร” (บ้าน, โรงเรียน และ วัด) เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตระหนักถึงพลังของ รัฐธรรมนูญที่บริสุทธิ์เหนือสิ่งอื่นใด

รอยสยามในดินแดนกัมพูชามีจริงหรือ?

สำหรับน้องๆหนูๆ ที่พึ่งจะเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ ชาติไทย …น้องรู้ไหมว่า จริงๆ แล้ว เสียมเรียบ พระตะบอง และ ศรีโสภณ ทั้งสามจังหวัดในประเทศกัมพูชานั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของ ราชอาณาจักรสยามมาก่อนตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ภาพ: ดินแดนไทยช่วงปี พ.ศ. 2483 (ช่วงสงครามโลกครั้งที่2)

 

แต่รู้ไหมว่า‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ในยุคคณะราษฎรนั้น มิได้ถูกแสดงออกแต่เพียงในเขต “บวร”ภายในประเทศไทย แต่แสดงออกในต่างประเทศ อีกด้วย โดยเฉพาะ เขตดินแดน “แผลเก่า” (เช่น เสียมเรียบ พระตะบอง และ ศรีโสภณ เป็นต้น
) ซึ่งเป็นดินแดนที่เสียไปให้ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้กลับมาในสมัยของ สงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ. 2483 ดังนั้นร่องรอยประวัติศาสตร์ทั้งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยุคคณะราษฎรผสมปนเปในกันในบริเวณเหล่านี้

 

ภาพ: ตราประจำจังหวัดพระตะบอง (สมัยไทยปกครอง พ.ศ. 2483 – 2489)

 

ปีพ.ศ. 2562 นี้ เราจะมาตามรอยสยาม และ โดยเฉพาะ “พระตะบอง” ที่เราได้มีโอกาสไปถึงที่นั้นก็พบว่าปรากฏหลักฐานที่น่าสนใจ หลายประกาศจากรากวัฒนธรรมประวัติศาสตร์สยามทั้งก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามพ.ศ. 2475 และหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งนี้เนื่องจาก สยามปกครองพระตะบองตั้งแต่ พ.ศ. 2338 และสิ้นสุดเมื่อ พ.ศ. 2450 ตลอดเวลา 112 ปี ปรากฏร่องรอย “สยาม” ในพระตะบองหลายแห่ง

……………………………………………

ภาพ: อนุสาวรีย์พญาตะบองขยุง

 

ประวัติศาสตร์นอกตำรา เบื้องต้น เกี่ยวกับ “พระตะบอง” ดินแดน“ชามข้าว” ของชาติ

“พระตะบอง” ปัจจุบันคนกัมพูชาออกเสียงว่า “บัตดอม-บอง” (Batdambang)

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า พระตะบอง นั้นหมายถึง “กระบองมงคล” แต่ในความเป็นจริงนั้น

“พระตะบอง” หมายถึง “ตะบองหายไป”… เรื่องที่ของชื่อนั้น มันมาจาก ตำนานพญาตะบองขยุงจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่าบอกต่อๆกันมา

“กล่าวถึงชายคนหนึ่งที่หุงหาอาหารให้ไพร่พลซึ่งมาจัดงานพระเมรุของอดีตกษัตริย์องค์หนึ่ง ชายคนนี้ใช้ไม้งิ้วคนหม้อข้าว ยางไม้ทำให้ข้าวในหม้อมีสีดำ เขากินข้าวหม้อนี้จนหมดด้วยความหิวแล้วพบว่ามีกำลังมากจนเพื่อนๆ ยกให้เป็นผู้นำ เขาไปตัดไม้พะยูงมาทำตะบองเป็นอาวุธ เวลาผ่านไปเขารวบรวมผู้คนไปตีเมืองพระนครและขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองมีพระนามว่า “ตาดอมบองกระยูง” (บางตำนานเรียกว่า พระยาโคตรบอง) ต่อมามีคนยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างการรบเขาขว้างตะบองหายไป จากนั้นเขาก็สละราชสมบัติแล้วไปครองเมืองในบริเวณที่ “ตะบองหายไป” ซึ่งก็คือ “บัตดอมบอง” หรือ “พระตะบอง” ในปัจจุบันนั่นเอง

อีกตำนานกล่าวถึงความสมบูรณ์ของ “พระตะบอง” ดินแดน “ชามข้าว” ของชาติ เพราะเต็มไปด้วยพื้นที่สำหรับทำการเกษตรจำนวนมากมีผลิตสูง และมี ต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก

บันทึกคนฝรั่งเศสในยุคประมาณ รัชกาลที่ 3 เคยว่ากันว่า ดินแดนแห่งนี้ เพียงแห่งเดียว สามารถผลิตข้าวและสินค้าอื่นๆ ซึ่งอาจคิดเป็นมูลค่าได้ 3 ล้านฟรังก์ บริเวณที่ทำการเพาะปลูกก็กว้างใหญ่ไพศาล นาข้าวกว้างไกลสุดสายตา ปริมาณผลิตผลซึ่งส่งออกใน พ.ศ. 2444 ไม่ต่ำกว่า 40,000 ตัน…”
—————————————————————

ร่องรอย สยาม ใน พระตะบอง ช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระตะบองเป็นหัวเมืองที่มีความสัมพันธ์กับสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มาช้านานมีบทบาทสำคัญเมื่อกษัตริย์กัมพูชายกทัพมาตีสยาม ซึ่งจะเดินทัพทางบกผ่านมาทางพระตะบอง ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อยกทัพไปตีกรุงละแวก ก็ได้ยึดพระตะบองไว้ด้วย แต่ก็เป็นการปกครองที่ให้หัวเมืองที่ภักดีต่อสยามปกครอง เนื่องจากก่อนนี้ ยังเป็นการปกครองแบบ “นครรัฐ” ดังนั้นประวัติศาสตร์การเมืองระหว่าง เมืองพระตะบอง(หัวเมือง) และ สยามนั้นยังขึ้นอยู่อำนาจบารมีและความเกรงใจของเจ้าเมืองนั้นๆกับกษัตริย์ของสยาม

 

ภาพ: พระบรมรูปฯ พระบาทสมเด็จเสด็จพระราชโองการพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี พระศรีสุริโยพันธุ์ธรรมิกมหาราชาธิราชบรมบพิตร (วัดพนม พนมเปญ)

แต่กว่าจะการเข้าปกครองของสยามเหนือดินแดนพระตะบองแบบจริงๆจังๆก็ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ด้วยการส่ง “พระโอรสบุญธรรม”ของสยาม อย่าง สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณบรมสุรินทรา มหาจักรพรรดิราชบรมนาถบพิตร กลับไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา แทน พระบาทสมเด็จเสด็จพระราชโองการพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี พระศรีสุริโยพันธุ์ธรรมิกมหาราชาธิราชบรมบพิตร และแต่งตั้งให้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ได้ปกครองดินแดน บริเวณ “พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ” โดยขึ้นตรงต่อสยาม (ใช่แล้วครับ ต้นสกุลอภัยวงศ์) และมีเจ้าเมืองในสกุลอภัยวงศ์สืบทอดต่อมาอีก 5 คน จนกระทั่งในยุคของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์ ) ดินแดน พระตะบอง เสียมราฐ และ ศรีโสภณ กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส ในเหตุการณ์ความขัดแย้ง สมัย ร.ศ.112 (ตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 5) เพราะต้องจำใจแลก “ดินแดนชามข้าว” ดังกล่าว กับตราดและเมืองด้านซ้ายแม่น้ำโขง และนี่ถือเป็นจุดจบของพระตะบอง ในยุคราชอาณาจักรสยาม

แต่ก็ยังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่พอให้ได้ติดตาม เช่น ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) ที่เมือง พระตะบอง ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนนั้นก็มีฝาแฝดเป็น ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ปราจีนบุรีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 นั้นเอง

 

ภาพ: ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) ที่เมือง พระตะบอง พร้อมหัวช้างที่เด่นชัด และหน้าต่างสีเหลี่ยม

ภาพ: ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ปราจีนบุรี หัวช้างขนาดเล็กกว่าและหน้าต่างทรงซุ้มโค้ง


ข้อมูลจาก ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร จากบทความ “ตราจักรีที่พระตะบอง ปริศนาร่องรอยสยามที่เผยแพร่ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ระบุไว้ว่า วัดปราบปัจจามิตร หรือ“วัดกดล” แปลว่า วัดกระโดน ที่ พระตะบอง เป็นอีกหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ระบุว่าเป็นวัดที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตั้งทัพและสร้างไว้ ต่อมาค่อยสร้างเพิ่มเติมให้ใหญ่โตสมัยท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ก็ปรากฏ “ตราจักรีและพระขรรค์ชัยศรี” ที่หน้าบันพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก และหน้าบันด้านทิศตะวันตกยังมี “ตราสัญลักษณ์พระตะบองบนพานแว่นฟ้า” อันเป็นตราสัญลักษณ์ของเจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองพระตะบอง

 

ภาพ: “ตราจักรีและพระขรรค์ชัยศรี”

 

ภาพ: “ตราสัญลักษณ์พระตะบองบนพานแว่นฟ้า”

 

อีกหลักฐานสำคัญยังมือ วัดดำเรยซอ หรือวัดช้างเผือก ซึ่งยังปรากฏตราประจำรัชกาลอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ อันทำมาจากศิลปะ ปูนปั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และ กรอบประตูประดับด้วยศิลปะกระเบื้องตราประจำรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

 

ภาพ : ตราประจำรัชกาลอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ศิลปะ ปูนปั้นในสมัยรัชกาลที่ 5

 

ภาพ: กรอบประตูประดับด้วยศิลปะกระเบื้องตราประจำรัชกาลที่ 5

 

ภาพ: ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ซึ่งตรงประตูทางเข้า มีปูนปั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยืนอยู่ตรงขอบประตู สิ่งที่ชี้ว่าใช่ท่านน่าจะเป็นใบหน้าและหนวดอันป็นเอกลักษณ์

 

—————————————————————

ร่องรอย ศิลปะคณะราษฎรใน พระตะบอง ช่วงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2475 ย่อมต้องส่งผลกระทบกับผู้คนและความคิดทั่วอาณาจักร และแน่นอนว่าย่อมผลกระทบกับเมือง พระตะบอง ด้วยเนื่องจากว่าภายหลังเวลานั้น พระตะบอง ได้กลับมาเป็นเมืองในอารักขาของ “ประเทศไทย” ช่วงปี พ.ศ. 2483 – 2489 ภายใต้การปกครองของคณะราษฎร(ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังปะทุขึ้น) ซึ่งเป็นช่วงเดียวที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น นายกรัฐมนตรีกำลังทำการปฎิรูปวัฒนธรรมชาติไปสู่รัฐไทยใหม่ ภายใต้แนวคิด ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ อันเป็น ระบอบการปกครองใหม่ ที่มีคณะราษฎร เป็นคณาธิปไตยหลัก

ทั้งนี้ การปฎิรูปวัฒนธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังการปฎิวัติปี พ.ศ. 2475 แล้วโดยการกำหนด วันชาติไทย ในวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันชาติและมีการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อบูชารัฐธรรมนูญมาโดยตลอด แต่มิได้มีแบบข้อกำหนดแผนชัดเจน และไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างถาวรชัดเจน จึงเริ่มมีการ จัดสร้างสิ่งมงคลต่างๆเพื่อบูชารัฐธรรมนูญเอาไว้สูงสุด เช่น

 


•การจัดสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483

•ช่วงปี พ.ศ. 2482 นั้น มีการจัดสร้างสัญลักษณ์อันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญภายในพื้นที่ของวัด ทั่วประเทศ โดยมีลวดลายหลายแบบ ตัวอย่างเช่น

 

ภาพ: ภาพเขียนพานรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2482 บริเวณคอสองวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก ต.เวียงเหนือ อ.เมืองลำปาง

 

ภาพ: ซุ้มประตู รัฐธรรมนูญวัดศรีชมชื่น ตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

 

ภาพ: เทพีรัฐธรรมนูญ ระบุปี ปฎิวัติ พ.ศ. 2475 หน้าบัน วัดเชิงท่า อำเภอเมืองจังหวัด ลพบุรี

 

•การจัดสร้าง วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อเป็นอนุสรณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตย และกำหนดให้แล้วเสร็จทันวันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484

 


•ในช่วงเวลาปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ สร้างสัญลักษณ์ใหม่เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญนั้นก็คือการ สร้างลาย บนหน้าบันโบสถ์มาตรฐาน ‘แบบ ก.’ ออกแบบเมื่อ พ.ศ. 2483 โดยพระพรหมพิจิตร ผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ซึ่งเป็น “ลายอรุณเทพบุตร” เพื่อประดับวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และใช้เป็นหน้าบันวัดที่สร้างใหม่ ในช่วงเวลานั้น เป็นต้น

อิทธิพลของศิลปะของคณะราษฎรนั้นไปไกลภายในระยะเวลาอันสั้น มีวัดจำนวนมากที่ปรากฏหลักฐาน งานศิลปะ เกี่ยวกับพานรัฐธรรมนูญทั่วประเทศไทย และ ยังเผยแพร่ไปสู่ประเทศในอารักขา อย่าง เมืองพระตะบอง ในกัมพูชา อีกด้วย

เมื่อรัฐบาล ประเทศไทย นำโดย จอมพล ป. เข้ามาปกครอง เมืองพระตะบอง ปี พ.ศ. 2483 (ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันในเหตุการณ์ สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามอินโดจีน ไทย- ฝรั่งเศสปี พ.ศ. 2483 – 2484) มีข้อสันนิฐานว่าอาจได้นำเอา แนวคิดด้านการบูชาธรรมนูญ และ ศิลปะคณะราษฎรเข้ามาสู่ เมืองพระตะบองอีกด้วย
โดยอ้างอิงจาก หลักฐานเป็น หน้าบันของอาคารแบบฝรั่งเศสภายในเขต “บวร” ของ วัดโพธิ์เวียล ( Wat Po Veal) ตัวเมืองพระตะบอง หน้าบันอาคารดังกล่าวนี้ ปรากฏ ตรา พานแว่นฟ้าฐานเดี่ยว บรรจุ ตัวอักษรย่อ “พุทธศักราช” ระบุปี พ.ศ. 2483 ซึ่งตรงกับปีที่กำเนิดของอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยในประเทศไทย จึงสันนิฐานได้ว่า หน้าบันนี้อาจจะได้รับอิทธิพล ของการก่อกำเนิดอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยและ ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2483 ตามที่ระบุไว้

 

ภาพ: หน้าบัน พานแว่นฟ้าเดี่ยว ปีพ.ศ. 2483 วัดโพธิ์เวียล ( Wat Po Veal)

 

แม้ว่าวัดโพธิ์เวียล จะเป็นวัดเก่าแก่ของ กัมพูชาใจกลางพระตะบอง แต่ก็มีประวัติเกี่ยวข้องกับสยามประเทศ เนื่องจาก มีปรากฏหลังกฐานประวัติศาสตร์ว่า “ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ ช่วง พ.ศ. 2350 – พ.ศ. 2394 มีข้อมูลจากคำบอกเล่าว่า พระยาอภัยภูเบศร (นอง) และประชาชนได้รวมเงินกันเพื่อให้พระครูโดก เช่าพระไตรปิฎกและซื้อตู้พระธรรมจากเมืองสยาม หลังจากที่เช่าพระไตรปิฎกและซื้อตู้พระธรรมแล้ว พระยาอภัยภูเบศร (นอง) ได้ให้สร้างมณฑปสำหรับเก็บพระไตรปิฎกไว้ที่วัดดังกล่าว”
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลาย อาคารภายในเขต วัดโพธิ์เวียล ( Wat Po Veal) ปรากฏเครื่องหมาย พานแว่นฟ้าสองชั้นพร้อมเปร่งรัศมี และตราแผ่นดินพระราชอาณาจักรกัมพูชา(ที่พึ่งประกาศใช้เมื่อ ปี พ.ศ.2536) จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า อาคารในเขตของวัดโพธิ์เวียล ( Wat Po Veal) นั้นน่าจะมีการปรับปรุงต่อมาในภายหลัง ดังนั้น เครื่องหมาย พานแว่นฟ้าสองชั้นพร้อมรัศมีอาจหมายถึง “รัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา”นั้นก็อาจจะได้รับอิทธิพลมาจาก สัญลักษณ์รัฐธรรมนูญของประเทศไทย

ส่วนตรารัฐธรรมนูญที่มีการเปร่งรัศมีในประเทศไทยนั้นก็มีเช่นกัน เช่น ตรา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ถูกสร้างขึ้นมา ในช่วงยุคหลังมากๆ( พ.ศ. 2541)

 

ภาพ: ตรา รัฐธรรมนูญของพระราชอาณาจักรกัมพูชา (มีลักษณะ เป็นพานแว่นฟ้าสองชั้น พร้อมรัฐธรรมนูญ เปร่งรัศมีทรงใบโพธิ์)

 


ภาพ: ตรา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ของประเทศไทย (มีลักษณะคล้าย เป็นพานแว่นฟ้าสองชั้น พร้อมรัฐธรรมนูญ เปร่งรัศมี จัดทำเมื่อปี พ.ศ. 2541)

 


ภาพ: หน้าบันของ อาคารภายใน วัดโพธิ์เวียล ( Wat Po Veal) ซึ่งมี ตราแผ่นดินพระราชอาณาจักรกัมพูชา(ที่พึ่งประกาศใช้เมื่อ ปี พ.ศ. 2536) และ เครื่องหมาย พานแว่นฟ้าสองชั้นพร้อมรัศมี (ไม่ทราบอายุของอาคาร แต่เชื่อว่าอาจจะถูกสร้างหลังปี พ.ศ. 2483) จึงสันนิษฐานว่าความเป็นไปได้ว่าอาจจะหมายถึง “รัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา” ที่ได้รับอิทธิพลจาก ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญของไทย

 

ภาพ: เหรียญ 200 เรียล กัมพูชา ปี พ.ศ. 2537 ที่ปรากฏ
“รัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา”

 

หลักฐานการโปรโมตแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในกัมพูชานั้นปรากฏขึ้นอีก ที่วัดสำโรงคนง หรือวัดสำโรงใน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สยามอีกแห่งเนื่องจากเป็นวัดรวมญาติของตระกูลท่านอภัยภูเบศร ผู้ปกครองเมือง พระตะบอง ให้สยามประเทศมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่1

 

ภาพ: วัดสำโรงคนงหรือวัดสำโรงใน

 

แต่ภายในวัดสำโรงคนง กลับปรากฏ ตราพานแว่นฟ้า”เดี่ยว” บรรจุสมุดใบข่อย…(ไม่ทราบเวลาที่จัดสร้าง…) บนประตูด้านหลังของ วัดสำโรงคนง และหากสังเกตให้ดีก็จะพบว่า พานแว่นฟ้าที่ปรากฏนั้นไม่ได้มีสองชั้น และไม่มีรัศมีเปร่งออก(ซึ่งแตกต่างจากตรา รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรกัมพูชาอยู่พอสมควร) จึงทำให้ยังมีของสงสัยจากผู้ชมอยู่ว่า สัญลักษณ์นี้ อาจจะหมายถึง “พระไตรปิฎก” หรือ “พานรัฐธรรมนูญ”แห่งใดกันแน่?

ครั้นหันไปถาม คนกัมพูชาในพื้นที่ ก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนนัก …แต่พวกเขาบางคนก็คาดเดาว่าเป็น“พระไตรปิฎก”

แต่หากย้อนกลับไป เปรียบเทียบ ภาพเทพีรัฐธรรมนูญ ที่ระบุปี ปฎิวัติ พ.ศ. 2475 หน้าบัน วัดเชิงท่า อำเภอเมืองจังหวัด ลพบุรี และ ภาพ พานแว่นฟ้าเดี่ยว ปี พ.ศ. 2483 วัดโพธิ์เวียล ( Wat Po Veal) เอามาเปรียบเทียบกับ ตราพานแว่นฟ้าวัดสำโรงคนง ก็จะสันนิฐานได้ว่า สัญลักษณ์ที่วัดสำโรงคนง คือพานรัฐธรรมนูญของไทย เนื่องจากไม่มีรัศมีเปล่งออก…และไม่มีอุณาโลม

จากข้อมูลที่สันนิฐานเบื้องต้นไปนี้ ก็หวังจะพอที่จะชี้ให้เห็นว่า “ศิลปะคณะราษฎรได้ขยายอิทธิพลเข้าสู่พระตะบอง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2483แล้ว

ภาพ: ตราพานรัฐธรรมนูญ ที่ประตูหลังวัดสำโรงคนงหรือวัดสำโรงใน

………..

เกร็ดข้อมูลเพิ่มเติม

ภายในวัดสำโรงคนง ยังปรากฏข้อมูลทางประวัติศาสตร์อีกมาก เมื่อวัดดังกล่าวนี้เองถูกยึดโดยเขมรแดง(พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา) ภายใต้การนำของ พล พต และ นวน เจีย
เพื่อใช้เป็นพื้นที่คัดแยกแรงงาน ช่วงนั้นพวกเขมรแดงต้องกวาดต้อนผู้คน ให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานอย่างหนัก…ผู้ชายที่แข็งแรงจะจะถูกนำไปใช้แรงงานจนตาย ในขณะที่ ผู้หญิง คนชรา และเด็ก จะถูกคัดแยกออก

การกวาดต้อนผู้คนให้ไปทำงานใน “ นารวม” เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการคัดแยกผู้คน ยังเป็นการทำลายศัตรูทางชนชั้น และผู้คิดต่างจากคอมมิวนิสต์ อีกด้วย…

นักโทษหญิงที่ไม่สามารถทำงานได้ ก็จะขังไว้ในอุโบสถวัดเพื่อทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ ส่วนการรีดข้อมูลก็จะทำด้วยการทรมานผู้คนด้วยการเอาผ้าคลุมหัวแล้วจับกดน้ำ

… เด็กหลายๆในเวลานั้น จะถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมกับกองกำลังเขมรแดงด้วยการสังหาร ญาติพี่น้องพวกเขา หากทำสำเร็จก็จะได้เข้าร่วมเป็นนักรบเด็กของเขมรแดง

ผู้ที่มีลักษณะใส่แว่น จะถูกมองว่าเป็นคนฉลาดมีความรู้ ก็จะถูกนำไปสังหารด้วยการทุบให้ตาย ไปพร้อมกับทหาร ข้าราชการ วิศวกร หมอ รวมถึงเชื้อพระวงศ์

ทำให้ในระยะเวลาดังกล่าวมีชาวกัมพูชาเสียชีวิตกว่า 2 ล้านคน แม้ว่า ประวัติศาสตร์การสังหารหมู่ ของ เขมรแดงแม้จะผ่านมานานแล้วแต่ก็ยังส่งผลต่อเนื่องในปัจจุบัน ..

 


ไม่นานมานี้เอง(สิงหาคม พ.ศ. 2557) หนึ่งในแกนนำเขมรแดงคนสำคัญ อย่าง นวน เจีย อดีตนักการเมืองสายคอมมิวนิสต์ของกัมพูชา เป็นผู้นำอันดับสองของเขมรแดงรองจากพล พต และ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเรื่องประหารชีวิตของรัฐบาลเขมรแดง พึ่งถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรกว่าสองล้านคนช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจ

สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือ นวน เจีย เป็นคนที่มีการศึกษาดีจากไทย เคยเรียนสูงสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เคยทำงานในกระทรวงการต่างประเทศของไทย นวน เจีย เป็นผู้นำเขมรแดงเพียงคนเดียวที่ไม่ได้จบการศึกษาจากปารีส
…………………………..
บทความ: หนุมานใส่แว่น