วันพฤหัสบดี 5 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

“ตึกสันเปาหล่อ” หอดูดาววัดสันเปาโล -หอดูดาวแห่งแรกในประเทศสยาม ยุค สมเด็จพระนารายณ์

 

หอดูดาววัดสันเปาโล เป็นหอดูดาวมาตรฐานสากลที่ใช้ในกิจกรรมทางวิชาดาราศาสตร์อย่างแท้จริงแห่งแรกในประเทศไทย อยู่ในจังหวัดลพบุรี สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2230 โดยเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยศาสนสถานและหอดูดาว ดำเนินการโดยบาทหลวงคณะเยสุอิตชาวฝรั่งเศส เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หอดูดาวก็ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป

การก่อสร้าง

พระราชประสงค์ที่จะสร้างหอดูดาวให้บาทหลวง

การเดินทางเข้ามาของราชทูตฝรั่งเศส อาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง (เชอวาลีเย เดอ โชมง) เมื่อ พ.ศ. 2228 พร้อมบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ 6 รูปที่จะเดินทางต่อไปปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ที่ประเทศจีนและต้องมาแวะที่สยามก่อนนั้น น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ราชสำนักสยามคิดจะให้มีการจัดสร้างหอดูดาวในสยาม

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงแสดงเจตจำนงให้ฝ่ายฝรั่งเศสทราบผ่านบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ทั้ง 6 รูปซึ่งได้เข้าเฝ้าที่เมืองลพบุรีเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2228 ว่ามีพระราชประสงค์สร้างหอดูดาว ที่พัก และโบสถ์ที่พระนครศรีอยุธยาและที่เมืองลพบุรี เพื่อให้คณะบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ทั้ง 12 รูปที่พระองค์ทรงขอจากฝรั่งเศสได้ใช้สอยดำเนินงาน รวมทั้งจะทรงให้ความอนุเคราะห์และความคุ้มครองทุกประการเท่าที่พระองค์จะทรงกระทำได้

บาทหลวงนักคณิตศาสตร์ 6 รูปได้ถวายคำอธิบายแก่พระองค์ว่าดาราศาสตร์เป็นวิทยาการที่มีประโยชน์ และยังได้กราบทูลอีกว่าที่กรุงปักกิ่งก็มีหอดูดาวแล้ว และมีการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างหอดูดาวปักกิ่งกับหอดูดาวกรุงปารีส ฉะนั้นการมีหอดูดาวในสยามก็จะเพิ่มความถูกต้องให้กับความรู้เรื่องดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น

จากนั้นไม่นาน บาทหลวงตาชาร์ระบุว่า มีรับสั่งให้ออกญาวิไชเยนทร์มาบอกแก่คณะบาทหลวงเยสุอิต 6 รูปว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างหอดูดาวขึ้นแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร และจักพระราชทานให้แก่พระบาทหลวงแห่งคณะเยสุอิตซึ่งพระองค์โปรดปรานมาก พระองค์ทรงปรารถนาให้ความคุ้มครองและให้ความอนุเคราะห์ทุกประการอันอยู่ในวิสัยที่พระองค์จะทรงกระทำได้

ฉะนั้น ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2228 คือเวลาแห่งการตัดสินใจว่าสมควรมีหอดูดาวที่เมืองลพบุรีและที่พระนครศรีอยุธยาซึ่งกำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกับหอดูดาวที่กรุงปารีสและกรุงปักกิ่ง และจะขอความสนับสนุนบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์จากฝรั่งเศสจำนวน 12 รูปให้มาดำเนินงานในสยาม

หอดูดาวสร้างเสร็จก่อนโบสถ์

จากหลักฐานแผนที่เมืองลพบุรีเขียนโดยฌ็อง กูร์โตแล็ง (Jean Courtaulin) นักบวชชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้ระบุว่าเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2214-2217 และพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) จะเห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งหอดูดาวยังไม่ปรากฏ แต่ในแผนที่เมืองสำรวจโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสคือ เดอ ลา มาร์ (De la Mare) เมื่อ พ.ศ. 2230 ได้บรรยายพื้นที่ส่วนนี้ว่า “คณะเยสุอิต (Les Jesuites) มีหอดูดาวทรงแปดเหลี่ยมตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางด้านหน้าของที่พักใช้เป็นที่ดำเนินงานด้านคณิตศาสตร์”

พ.ศ. 2229 ขณะที่บาทหลวงเดอ ฟงเตอแน ซึ่งเป็นหัวหน้ารวมทั้งสมาชิกในคณะรวม 6 รูปยังไม่สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศจีนได้และยังคงพำนักในสยาม บาทหลวงเดอ ฟงเตอแน จึงมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดผังและอาคารต่าง ๆ ในบริเวณหอดูดาวที่เมืองลพบุรีด้วย

บาทหลวงตาชาร์ระบุว่า เมื่อตนเองมาถึงเมืองลพบุรีอีกครั้งในปลาย พ.ศ. 2230 การก่อสร้างวิทยาลัยลพบุรี (Collège du Louvo) และเป็นที่ตั้งหอดูดาวที่เมืองลพบุรีด้วยนั้นก้าวหน้าไปมากแล้ว ชั้นบนของหอดูดาวก็สร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาเสด็จไปเร่งงานด้วยพระองค์เอง แต่โบสถ์ฝรั่งในบริเวณนี้ยังก้าวหน้าไปไม่มาก ด้วยบาทหลวงตาชาร์ได้ขอร้องให้ออกญาวิไชเยนทร์ชะลอการก่อสร้างไว้ ด้วยจะนำสถาปนิกจากฝรั่งเศสมาดำเนินการก่อสร้าง

ราชทูตพิเศษฝรั่งเศสคือ โกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล (Claude Céberet du Boullay) ซึ่งเดินทางมายังเมืองลพบุรีเมื่อปลายปี พ.ศ. 2230 ได้ระบุว่า “พระบาทหลวงคณะเยสุอิต (12 รูป) ได้รับการต้อนรับขับสู้ดีเป็นอันมาก และเรื่องที่พักของพวกเขาที่เมืองละโว้ซึ่งใหญ่โตและงดงามนั้นได้รับการก่อสร้างเสร็จไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว”

 

อุปกรณ์ในหอดูดาว

เมื่อคณะบาทหลวงเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ 12 รูป เดินทางจากฝรั่งเศสถึงสยามพร้อมกับบาทหลวงตาชาร์เมื่อ พ.ศ. 2230 นั้น มีหลักฐานว่า สมาชิกในคณะบาทหลวงรูปหนึ่งคือบาทหลวงรีโช (Richaud) ได้มีส่วนในการสร้างความสมบูรณ์ให้กับหอดูดาวเมืองลพบุรีด้วยการนำกล้องโทรทรรศน์ที่มีประสิทธิภาพสูงความยาว 12 ฟุตมาติดตั้งใช้งาน และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นต่าง ๆ สำหรับใช้ในหอดูดาวแห่งนี้

การใช้งาน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ประกาศพระบรมราชโองการพระราชทานสิทธิอันพิเศษให้กับสถานที่ของคณะบาทหลวงเยสุอิตคือ “วิทยาลัยแห่งเมืองลพบุรี” แห่งนี้ด้วยการพระราชทานเลกวัดกว่า 100 คนให้ใช้พายเรือให้คณะบาทหลวง และใช้สอยงานอื่น ๆ ประกาศนี้ลง พ.ศ. 2231

มีภาพวาดสีน้ำของหอดูดาวเมืองลพบุรี เมื่อครั้งยังสมบูรณ์เก็บรักษาอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสและมีคำบรรยายประกอบว่า เป็นวัดที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างพระราชทานให้กับบาทหลวงเยสุอิตชาวฝรั่งเศส เพื่อประกอบกิจกรรมศึกษาค้นคว้าวิชาดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ตรงกลางเป็นหอดูดาวซึ่งเป็นอาคารทรงแปดเหลี่ยมสูงสามชั้น มีปีกเป็นตึกสองชั้นใช้เป็นที่พัก สำหรับฐานอาคารที่อยู่ใกล้ ๆ มีผังเป็นรูปไม้กางเขนที่กำลังเริ่มก่อสร้าง นั่นคือโบสถ์

สถานที่แห่งนี้มีชื่อเรียกในเอกสารชั้นต้นของชาวฝรั่งเศสว่า วิทยาลัยแห่งเมืองลพบุรีหรือคณะเยสุอิต ประกอบด้วยอาคารสำคัญ ๆ คือ หอดูดาว ที่พักบาทหลวง และโบสถ์ เข้าใจว่าชื่อสถานที่แห่งนี้ที่แพร่หลายคือวิทยาลัย และคงเป็นสถานที่ได้ศึกษาวิชาดาราศาสตร์ตะวันตกได้จริงตั้งแต่ครั้งปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2230-2231)

 

ถูกทิ้งร้าง

มีการชะลอการก่อสร้างอาคารบางหลังในพื้นที่บางส่วนโดยเฉพาะโบสถ์ ด้วยบาทหลวงตาชาร์ระบุว่าหากตนเดินทางกลับจากฝรั่งเศสซึ่งมีกำหนดใน พ.ศ. 2231 จะนำสถาปนิกผู้ชำนาญในการก่อสร้างโบสถ์จากฝรั่งเศสมาด้วย แต่พระเพทราชาก่อการยึดอำนาจในขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688)

ในครั้งนั้นออกญาวิไชเยนทร์ผู้สนับสนุนงานด้านดาราศาสตร์ตะวันตกในสยามคนสำคัญถูกจับตัวนำไปประหารชีวิต สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็สวรรคตในเวลาใกล้เคียงกันคือเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 บาทหลวงตาชาร์ซึ่งเป็นพวกเดียวกับออกญาวิไชเยนทร์และเป็นผู้ที่ฝ่ายยึดอำนาจต่อต้าน บาทหลวงตาชาร์ไม่สามารถนำสถาปนิกเข้ามายังสยามได้ โบสถ์จึงคงสร้างไม่เสร็จ

ส่วนบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ที่อยู่ในเมืองลพบุรีก็ต้องเดินทางออกจากสยามไปยังเมืองปงดีเชรี ปรากฏหลักฐานว่า บาทหลวงรีโชพร้อมผู้ร่วมงาน 2-3 คนเดินทางไปถึงเมืองปงดีเชรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2232 (ค.ศ. 1689) และยังคงทำงานดาราศาสตร์ที่เมืองปงดีเชรีด้วยเครื่องมือสำคัญคือกล้องโทรทรรศน์ความยาว 12 ฟุต ที่ดูเหมือนว่านำไปจากสยาม กล้องโทรทรรศน์กล้องนี้อาจจะเคยใช้อยู่ที่หอดูดาวเมืองลพบุรีมาก่อน

เฉพาะส่วนที่เป็นหอดูดาววัดสันเปาโลน่าจะสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2230 และสถานที่แห่งนี้คงถูกทิ้งให้ร่วงโรยไปหลังเกิดการยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนำโดยพระเพทราชา

พระเพทราชาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นโยบายด้านการต่างประเทศของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือไม่พยายามชักนำให้ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลในสยาม ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามามีบทบาทมากมายในพระราชอาณาจักรโดยการชักนำของออกญาวิไชเยนทร์ทั้งทหารและบาทหลวงถูกบีบบังคับให้เดินทางออกจากสยาม เมืองลพบุรีก็มิใช่สถานที่ที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โปรดประทับ สถานที่ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่เมืองลพบุรีเมื่อครั้งสมัยรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมทั้งหอดูดาววัดสันเปาโล คงถูกทิ้งร้างไปนับแต่บัดนั้น

สภาพปัจจุบัน

ปัจจุบันหอดูดาวที่เมืองลพบุรีรู้จักกันในชื่อว่า “วัดสันเปาโล” ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของพระราชวัง ริมคูเมืองชั้นในด้านนอก ชื่อวัดสันเปาโลน่าจะเป็นชื่อที่ได้จากวัดของคณะเยสุอิตที่หมู่บ้านโปรตุเกสในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีชื่อในภาษาโปรตุเกสว่า “เซาเปาลู” และแปลงเป็น “สันเปาโล” ในสำเนียงไทย

จากหลักฐานการขุดแต่งของกรมศิลปากร พอสรุปได้ว่าวัดสันเปาโลมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมยุโรปคล้ายกับบ้านวิชาเยนทร์ นอกจากจะมีหอดูดาวแปดเหลี่ยมแล้ว ยังมีเรือนพักและพบฐานสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นโบสถ์ฝรั่งแต่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ปัจจุบันเหลือเพียงซากของผนังหอดูดาวแปดเหลี่ยมบางส่วน กับฐานของอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นที่พักและโบสถ์ฝรั่งเท่านั้น

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ปักหมุดหลักไว้ทางด้านทิศเหนือของหอดูดาววัดสันเปาโล เพื่อเป็นที่หมายว่าที่นี่คือหอดูดาวแห่งแรกในประเทศไทย