วันพุธ 11 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ทำไม “นาฬิกา” จึงแปลว่า “มะพร้าว”และ ทำไม”กะลา”มีประโยชน์ในการบอกเวลา!

 

นาฬิกา คือเครื่องบอกเวลา มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า …

– เรียกตามชนิดของสิ่งที่ใช้บอกเวลา เช่น นาฬิกาแดด นาฬิกาน้ำ นาฬิกาทราย

– เรียกตามลักษณะการนำไปใช้ เช่น นาฬิกาพก นาฬิกาแขวน

– เรียกตามประโยชน์ใช้สอย เช่น นาฬิกาปลุก นาฬิกาจับเวลา

คำว่า นาฬิกา มาจากคำภาษามคธว่า นาฬิเกร (อ่านว่า นา-ลิ-เก-ระ) แปลว่า มะพร้าว

และ คำว่า “นาฬิเกร์”เองก็คือ  ชื่อมะพร้าวพันธุ์หนึ่ง ผลเล็ก สีเหลืองหรือส้ม นํ้าหอมหวาน.

ทั้งนี้เพราะเครื่องบอกเวลาแต่เริ่มแรกนั้นใช้กะลามะพร้าวเจาะรูลอยน้ำ

เมื่อกะลานั้นจมครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่า นาฬิกาหนึ่ง

จึงนำคำว่า นาฬิกา มาใช้เป็นเครื่องบอกเวลาและช่วงระยะเวลาหนึ่ง…

วิธีการนับเวลาแบบจารีตของสังคมสยามพบที่หลักฐานกล่าวถึงมากที่สุด คือ การใช้ “กะลา” จับเวลา   ซึ่งคำว่า “กะลา” พบว่ามีความหมายเดียวกับ “นาฬิกา”  ดังปรากฏเรื่อง  “นาฬิกา”  ในเอกสารวชิรญาณวิเศษ อธิบายว่า “นาฬิกา” เป็นภาษามคธ หมายถึงหมากพร้าว ซึ่งเป็นศัพท์ที่เรียกเพี้ยนมาจาก “นาฬิเกร” อ่านว่า นา-ลิ-เก-ระ อีกที หรือจากในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๐ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลายพระหัตถ์ว่าใช้กะลามะพร้าวในการนับเวลาเช่นกัน ใจความว่า

“เครื่องกำหนดเวลาของไทยเดิมเรียกเป็นภาษาไทยตามวัตถุที่ใช้ว่า “กะลาลอย” มาเปลี่ยนใช้เป็นคำภาษาสันสกฤตว่า “นาฬิกา” ต่อมาภายหลัง แต่ก็หมายความว่า กะลาเหมือนกัน ครั้นว่าได้เครื่องกลอย่างฝรั่งสำหรับกำหนดเวลาเข้ามาก็เอาชื่อเครื่องใช้ที่อยู่ก่อนมาเรียก “นาฬิกา” ยังคิดเห็นต่อไปว่าคำว่าชั่วโมงเดิมเห็นจะเรียกว่า “ล่ม” หรือ “กะลาล่น”  แล้วจึงเปลี่ยนไปเรียกว่า นาฬิกา…”

วิธีการนับเวลาจากกะลา ในขั้นแรกต้องเริ่มจากการแบ่งกะลาออกเป็นซีกหนึ่งก่อน โดยกะลาซีกหนึ่งจะแบ่งเป็น ๑๐ ส่วน จากนั้นจึงบากรอยลงไปในกะลา ๙ เส้น เรียกว่า บาด ( ๑ เส้น มีค่าเท่ากับ ๑ บาด) และเจาะรูที่ก้นกะลาเพื่อให้น้ำไหลเข้า เมื่อวางกะลาลงในน้ำน้ำไหลเข้าถึงเส้นไหน นับเป็นเศษของนาฬิกาเท่านั้น จนกระทั่งน้ำไหลเข้าเต็มกะลาและกะลาจมลงจึงนับเป็น ๑ ชั่วโมง


ปัจจุบันคำว่า นาฬิกา นอกจากจะหมายถึงเครื่องบอกเวลาแล้ว

ยังใช้เป็นคำลักษณนามบอกลำดับเวลาตามชั่วโมง

โดยให้เริ่มนับ ๑ นาฬิกา เมื่อเวลาผ่านเที่ยงคืนไป ๑ ชั่วโมง

และนับเรื่อยไปจนถึงเที่ยงคืนเป็นเวลา ๒๔ นาฬิกา

ใช้ตัวย่อว่า น. (อ่านว่า นอ) เขียน น หนู มีจุด

ที่มา:บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

คัดลอกมาจาก: ราชบัณฑิตยสถาน