วันอังคาร 22 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

“นักรบครูเสดยุคใหม่” สังหารหมู่ปาเลสไตน์ 60 ศพ สังเวยมะกันเปิดสถานทูต “เยรูซาเลม”

ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์วิ่งหลบกระสุนและแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงมาจากฝั่งอิสราเอล ระหว่างการชุมนุมประท้วงการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปยังนครเยรูซาเลม เมื่อวันที่ 14 พ.ค.
ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์วิ่งหลบกระสุนและแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงมาจากฝั่งอิสราเอล ระหว่างการชุมนุมประท้วงการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปยังนครเยรูซาเลม เมื่อวันที่ 14 พ.ค.

ประชาคมโลกเรียกร้องให้สืบหาความจริงกรณีที่ชาวปาเลสไตน์กว่า 60 คนถูกกองทัพอิสราเอลสังหารหมู่ระหว่างการชุมนุมประท้วงบริเวณพรมแดนฉนวนกาซา ในเหตุรุนแรงระลอกใหม่ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงจากการที่สหรัฐฯ ย้ายสถานทูตประจำอิสราเอลจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ละทิ้งจุดยืนทางการทูตที่อเมริกายึดถือมานานหลายสิบปีด้วยการประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ปีที่แล้ว และพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในเยรูซาเลมก็ประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งรัฐอิสราเอลพอดิบพอดี

สำหรับชาวปาเลสไตน์ถือว่าวันที่ 15 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันรำลึกถึง “Nakba” หรือ “หายนะ” ที่ชนชาติปาเลสไตน์กว่า 700,000 คนต้องหนีตายหรือถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐานของตนในสงครามปี 1948 พร้อมๆ กับการถือกำเนิดของรัฐอิสราเอล

อิสราเอลได้เข้ายึดครองเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกในปี 1967 และต่อมาก็ได้ผนวกเยรูซาเลมตะวันออกเข้าด้วยกัน โดยการกระทำดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากนานาประเทศ

สถานะของเยรูซาเลมซึ่งเป็นเมืองสำคัญของ 3 ศาสนา ได้แก่ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม ถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและยุ่งยากที่สุดในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยฝ่ายอิสราเอลถือว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวง “อันจะแบ่งแยกมิได้” ของชาวยิว ขณะที่ปาเลสไตน์ก็ต้องการได้เยรูซาเลมฝั่งตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐในอนาคตของพวกเขา

 

ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนชุมนุมใกล้พรมแดนเพื่อประท้วงพิธีเปิดสถานทูตอเมริกัน และมีผู้ประท้วงกลุ่มเล็กๆ ขว้างปาก้อนหินและพยายามรื้อทำลายสิ่งกีดขวาง ขณะที่พลซุ่มยิงอิสราเอลซุ่มอยู่อีกด้านของพรมแดน

กองทัพอิสราเอลอ้างว่า “ผู้ก่อจลาจล” ชาวปาเลสไตน์พยายามที่จะทำลายรั้วกั้นชายแดนเมื่อวันจันทร์ (14) และมีผู้นำวัตถุระเบิดประมาณ 10 ลูกกับระเบิดเพลิงอีกจำนวนหนึ่งมาใช้โจมตีทหารอิสราเอล ซึ่งเป็นเหตุให้กองทัพจำเป็นต้องสลายการจลาจล และยิงตอบโต้ด้วยกระสุนจริง

อย่างไรก็ตาม พิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามแผน โดยมีแขกเหรื่อและบุคคลสำคัญเข้าร่วมประมาณ 800 คน รวมถึง อิวานกา ทรัมป์ และ เจเร็ด คุชเนอร์ บุตรสาวและบุตรเขยคนสนิทของผู้นำสหรัฐฯ

ทรัมป์ ปราศรัยผ่านคลิปวิดีโอที่บันทึกเอาไว้ล่วงหน้าว่า สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่ยั่งยืน ขณะที่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลก็เยินยอ ทรัมป์ ว่าการยอมรับประวัติศาสตร์ของผู้นำสหรัฐฯ ก็คือการสร้างประวัติศาสตร์

กระทรวงสาธารณสุขประจำฉนวนกาซาแถลงว่า เฉพาะวันจันทร์ (14) วันเดียวมีพลเมืองกาซาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถูกสังหารไปร่วม 60 ชีวิต ส่วนใหญ่ถูกยิงโดยสไนเปอร์ และมีเด็กทารกวัย 8 เดือนคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการสูดดมแก๊สน้ำตา

เหตุปะทะครั้งนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 2,400 คน ทำให้วันดังกล่าวกลายเป็นวันนองเลือดที่สุดในความขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์ ถัดจากสงครามกาซาเมื่อปี 2014

รายงานระบุว่า ทหารอิสราเอลได้ฆ่าชาวปาเลสไตน์ไปแล้วถึง 116 คน ตั้งแต่การประท้วงแถบพรมแดนกาซา – อิสราเอลเริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค.

ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์เผาธงชาติสหรัฐฯ และโปสเตอร์รูปประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการชุมนุมเพื่อรำลึกครบรอบ 70 ปีวันแห่งหายนะ (Nakba) และประท้วงการเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในนครเยรูซาเลม เมื่อวันที่ 15 พ.ค.
ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์เผาธงชาติสหรัฐฯ และโปสเตอร์รูปประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการชุมนุมเพื่อรำลึกครบรอบ 70 ปีวันแห่งหายนะ (Nakba) และประท้วงการเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในนครเยรูซาเลม เมื่อวันที่ 15 พ.ค.

กองทัพอิสราเอลแถลงเมื่อวันอังคาร (15) ว่าผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 คนเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธฮามาส และ อิสลามิก ญิฮาด แต่ถึงกระนั้นองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งรวมถึงอังกฤษ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระสืบหาความจริง ขณะที่นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษเตือนให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อกระบวนการสันติภาพ



ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ออกมาประณามกองทัพอิสราเอลว่าเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงปาเลสไตน์ ส่วนประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกีได้สั่งให้ทูตอิสราเอลประจำกรุงอังการาเดินทางออกจากประเทศชั่วคราว พร้อมกล่าวหาทางการยิวว่ากำลัง “ก่อการร้ายโดยรัฐ” (state terror) และ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide)

อิสราเอลตอบโต้ด้วยการสั่งขับกงสุลตุรกีประจำนครเยรูซาเลมออกนอกประเทศแบบไม่กำหนดระยะเวลา และ เนทันยาฮู ยังทวีตข้อความวิจารณ์ แอร์โดอัน ว่าเป็นผู้สนับสนุนขบวนการอิสลามิสต์ฮามาสซึ่งถูกตราหน้าเป็นองค์กรก่อการร้าย “จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขานั่นแหละเชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้ายและสังหารหมู่ที่สุด”

เนทันยาฮู อ้างว่าพวกฮามาสในฉนวนกาซามีเจตนาเอาชีวิตพลเรือนมาเสี่ยงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง  

นิกกี เฮลีย์ทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ ใช้สิทธิ์วีโต้ไปในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่มีสมาชิก 15 ชาติเมื่อวันจันทร์ (18ธ.ค. 2560) ขณะที่ ประชาคมโลกให้การไม่สนับสนุนการกระทำของสหรัฐในการสนับสนุน ยก เยลูซาเลมให้ อิสราเอลที่ผ่านมา (ไม่มีประเทศใดถืออำนาจวีโตในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งแตกต่างจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่สหรัฐฯ อังกฤษ จีน รัสเซีย และฝรั่งเศส มีสิทธิ์ที่จะวีโตเพื่อให้ร่างมติที่พวกเขาไม่เห็นด้วยตกไป)

นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็นออกโรงปกป้องอิสราเอลอย่างแข็งขันในที่ประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น โดยกล่าวว่า “ไม่มีประเทศใดในที่นี้จะอดทนอดกลั้นได้มากไปกว่าอิสราเอลอีกแล้ว… อันที่จริงเมื่อดูจากประวัติของหลายประเทศก็ทำให้เชื่อได้ว่า คงจะมีความอดทนน้อยกว่าเป็นแน่” 

ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็อ้างว่ากลุ่มฮามาสจงใจใช้พิธีเปิดสถานทูตอเมริกันในเยรูซาเลมเป็นบริบทยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ขณะที่โฆษกหญิง ฮีทเธอร์ เนาเอิร์ท ย้ำว่า สหรัฐฯ รู้สึกเศร้าสลดกับความสูญเสียของทุกฝ่าย แต่ “อิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเอง” พร้อมปฏิเสธที่จะเชื่อมโยงเหตุรุนแรงคราวนี้กับการย้ายสถานทูตอเมริกัน

นักการทูตเผยว่า สหรัฐฯ ได้ใช้สิทธิ์วีโตขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นแถลงเรียกร้องขอคณะทำงานอิสระเข้ามาไต่สวนเหตุนองเลือดครั้งนี้
อัยมาน อัล-ซอวาฮิรี ผู้นำสูงสุดเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ได้แพร่คลิปวิดีโอความยาว 5 นาที เมื่อวันอาทิตย์ (13 พ.ค.) เรียกร้องให้ชาวมุสลิมลุกขึ้นทำสงครามศาสนา (ญิฮาด) ต่อต้านสหรัฐอเมริกา พร้อมระบุว่าการเจรจาและการโอนอ่อนผ่อนปรนของชาวปาเลสไตน์นั้นไม่เป็นผล เนื่องจาก ทรัมป์ ได้แสดงออกชัดเจนแจ่มแจ้ง และเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของ “นักรบครูเสดยุคใหม่” 

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ระบุว่า วอชิงตันยังมีความหวังว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพจะคืบหน้าต่อไปได้ แม้จะต้องเผชิญความโกรธเกรี้ยวจากรัฐอาหรับก็ตาม ขณะที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันผ่านสื่อในอเมริกาว่ากระบวนการสันติภาพยิว-ปาเลสไตน์นั้น “ยังไม่ตาย”