วันพฤหัสบดี 12 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

นายกฯ ชวนคนไทยร่วมภูมิใจ หวงแหนมรดก เศรษฐกิจพอเพียง ‘ในหลวง ร.9’

นายกฯ เผยคนไทยภาคภูมิใจ บัดนี้ยูเนสโก อัญเชิญแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวง รัชกาลที่ 9 บรรจุในแผนการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้แล้ว

เมื่อวันที่ 29 ก.ย.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า นับเป็นมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ให้ขยายเวลาการกราบถวายบังคมพระบรมศพ ออกไปจนถึงเวลา 24 นาฬิกา ของคืนวันที่ 5 ตุลาคมศกนี้ โดยทรงห่วงใยว่าประชาชนจะมีโอกาสกราบถวายบังคมพระบรมศพได้ไม่ทั่วถึง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่เพียงแต่ทรงสถิตในดวงใจปวงชนชาวไทยทุกคนเท่านั้น แต่ยังทรงได้รับการถวายความยกย่องสรรเสริญ ในระดับนานาอารยประเทศอีกด้วย จากการที่ได้ทรงประกอบคุณงามความดี และดำเนินพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ จนเป็นที่ประจักษ์ และการประชุมสันติภาพนานาชาติ 2017 เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ได้มีการเสนอแนวคิดเชิงวิชาการว่าด้วยศาสตร์ของพระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในหัวข้อ “การสร้างสังคมแห่งสันติภาพที่ยั่งยืน มรดกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก และผู้แทนถาวรประจำยูเนสโก จากประเทศต่างๆ ได้ขึ้นมากล่าวถวายราชสดุดี และแสดงความอาลัย เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ แด่ในหลวง รัชกาลที่ 9

โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมปีที่ผ่านมา นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ จากหลายประเทศ ได้กล่าวถ้อยคำแสดงความอาลัยด้วยตัวเองเช่นกัน สิ่งสำคัญ คือ ขณะนี้ทางองค์การยูเนสโก ได้อัญเชิญแนวปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ชาติสมาชิกได้นำไปประยุกต์ใช้ ในการกำหนดแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของประเทศตนเอง อันเป็นเครื่องยืนยัน “ศาสตร์พระราชา” เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นสากล จึงอยากให้พวกเราทุกคนได้ภาคภูมิใจ และหวงแหนมรดกพระราชทานนี้ รวมทั้งร่วมมือกันน้อมนำไปประยุกต์ใช้