วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

บทเรียนจากโรงเรียนเตรียมทหาร

โดย วสิษฐ เดชกุญชร

ในสัปดาห์ที่ผ่านไปนี้คงไม่มีข่าวใดที่ครึกโครมเท่ากับข่าวนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2560 แต่มาเป็นข่าวเอาเมื่อกว่าหนึ่งเดือนหลังจากการเสียชีวิตของเขา ก็เพราะบิดามารดาของนายภคพงศ์ข้องใจในมรณกรรมของเขา เนื่องจากมีพิรุธหลายอย่าง และได้นำเรื่องไปเปิดเผยแก่สื่อมวลชน จนกลายเป็นข่าวดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ข่าวนี้ทั้งหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ ได้รายงานไปแล้วอย่างละเอียดและต่อเนื่อง ผมจึงจะไม่เขียนถึงอีก แต่จะขอตั้งข้อสังเกตที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทางราชการ โดยเฉพาะกองบัญชาการกองทัพไทยอันเป็นต้นสังกัดของโรงเรียนเตรียมทหาร

ประการแรก กองบัญชาการกองทัพไทยน่าจะเข้าใจว่า โรงเรียนเตรียมทหารนั้นหากจะเทียบกับโรงเรียนสามัญก็เท่ากับชั้นมัธยมปลาย คือปีที่ 5 และ 6 เท่านั้น ช่วงอายุของนักเรียนก็ไม่ต่างกันคือ 16-18 ปี เพราะฉะนั้นการปกครองบังคับบัญชานักเรียนเตรียมทหารจึงควรคำนึงถึงอายุและ ประสบการณ์ของนักเรียน และเรื่องระเบียบวินัยก็ควรจะเข้มงวดให้น้อยกว่าโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือโรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือการปล่อยให้นักเรียนเตรียมทหารด้วยกันปกครอง ดูแลบังคับบัญชากันเอง เพราะเมื่ออายุไม่มากไม่น้อยกว่ากัน การปกครองดูแลบังคับบัญชากันก็คงจะเป็นไปในแบบเด็กดูแลเด็ก ย่อมมีโอกาสอยู่เสมอที่จะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล จึงจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องดูแลโดยใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้ปกครองดูแลกันเองโดยสมบูรณ์

ประการที่สอง กองบัญชาการกองทัพไทยควรเข้าใจด้วยว่า สมัยนี้การสื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในส่วนราชการหรือภาคเอกชน นั้น ทำได้อย่างฉับพลัน เพราะสื่อสังคมเช่นเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วความเห็นของผู้รู้เหตุการณ์ก็ทำได้อย่างฉับ พลันเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือสารนิเทศของส่วนราชการอย่างกองบัญชาการกอง ทัพไทยจึงจะต้องพร้อมที่จะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นในกรณีของนายภคพงศ์อย่างรวดเร็วและไม่ชักช้าเช่นกัน ถ้าหากว่ายังไม่ทราบข้อมูลก็จะต้องแถลงรับออกไปตรงๆ ว่ายังไม่ทราบข้อมูล ไม่ควรมีการแก้เกี้ยวหรือเดา

ผู้บังคับบัญชาที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะชั้นสูงเพียงใด ไม่ควรตอบคำถามผู้สื่อข่าว นอกจากจะรู้เรื่องนั้นจริงๆ และควรเลี่ยงการแสดงความเห็นส่วนตัว มิฉะนั้นก็อาจถูกผู้เสียหายหรือสาธารณชนตำหนิ เช่นในกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่าตนเองก็เคยถูก “ซ่อม” (คือใช้กำลังลงโทษ) เช่นเดียวกับนายภคพงศ์ แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต เพียงแต่สลบ ทำให้ตีความได้ว่าการใช้กำลังลงโทษเป็นเรื่องปกติธรรมดาในโรงเรียนเตรียม ทหารมาแต่นาน

ประการสุดท้าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ควรเป็นสัญญาณบอกเหตุแก่กองบัญชาการกองทัพไทยว่า การบริหารของโรงเรียนเตรียมทหารกำลังมีปัญหาที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่าง เร่งด่วน โดยเฉพาะในการปกครองบังคับบัญชานักเรียน การตั้งกรรมการสอบสวนผู้กระทำผิดต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่มีการเห็นแก่หน้ากัน และจะต้องให้ทั้งผู้เสียหายและสาธารณชนทราบความคืบหน้าทุกระยะ หากปรากฏว่ามีผู้กระทำผิดจริง ผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษทั้งทางวินัยและทางคดีอาญา

โรงเรียนเตรียมทหารเป็นที่ผลิตนายทหารและนาย ตำรวจให้แก่กองทัพและแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความบกพร่องหย่อนยานและไม่มีประสิทธิภาพในการปกครองบังคับบัญชาของโรงเรียน อาจทำให้โรงเรียนเตรียมทหารกลายเป็นที่ผลิตโจรผู้ร้ายในเครื่องแบบให้แก่ ทั้งกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ