วันอาทิตย์ 8 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ 17 ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560

ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ 17 ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560

เมื่อวันที่ 19  มกราคม2561 ที่ห้องประชุม301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2560 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 17 คน ดังนี้ สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 5 คน ได้แก่  1.นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ (จิตรกรรม) 2.นายศราวุธ ดวงจำปา (ประติมากรรม) 3.นายเสวต เทศน์ธรรม (ประติมากรรม) 4.นายสมชาย แก้วทอง (การออกแบบแฟชั่น) และนายสิน พงษ์หาญยุทธ (สถาปัตยกรรม)

สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 3 คน ได้แก่ 1. นางเพ็ญศรี เคียงศิริ 2.นายพิบูลศักดิ์ ละครพล 3.นายเทพศิริ สุขโสภา สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 9 คน ได้แก่ 1.นางสุรางค์ ดุริยพันธุ์ (คีตศิลป์) 2.นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์ (นาฏศิลป์ไทย) 3.นายบุญศรี รัตนัง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา)  4.นายวิรัช อยู่ถาวร (ดนตรีสากล) 5.ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา (นาฏศิลป์สากล) 6.นายพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ (ดนตรีไทยสากล) 7.ศาสตราจารย์มัทนี รัตนิน (ละครเวที) 8.นายยุทธนา มุกดาสนิท (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)  9.นายคเณศ เค้ามูลคดี (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)

ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับค่าตอบแทน เดือนละ 25,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานบำเพ็ญกุศลศพ20,00 บาทเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวว่าเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้ เกณฑ์ที่ 1. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ มี 6 ประการ ได้แก่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่อง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะในสาขานั้น เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง  เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง  เป็นผู้มีคุณธรรม ทุ่มเทและเสียสละเพื่องานศิลปะ  และเป็นผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

เกณฑ์ที่2. คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความจริง ความงาม อารมณ์ และคุณค่าทางจิตวิญญาณ แสดงออกถึงแนวคิด สร้างพลังความรู้และพัฒนาสติปัญญาแก่มนุษยชาติ ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์และส่งเสริมจินตนาการ และเป็นผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์ มีทักษะสูงส่ง มีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ ไม่แสดงเจตนาหรือจงใจคัดลอกหรือเลียนแบบผลงานของผู้อื่นทั้งเปิดเผยและแอบแฝง

เกณฑ์ที่ 3. การเผยแพร่และการยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีการเผยแพร่ผลงานและได้รับการยอมรับคุณค่าในผลงาน ดังนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการจัดแสดง ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องมีหลักฐาน อ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัดและเป็นผลงานได้รับรางวัล หรือเกียรติคุณระดับภูมิภาค ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ


การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะทำการคัดเลือกใน 3 สาขา ได้แก่ 1. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย มัณฑนศิลป์ การออกแบบผังเมือง การออกแบบอุตสาหกรรมและประณีตศิลป์ เป็นต้น

2. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ และ3. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ที่เป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน แบ่งเป็น3 ประเภท ได้แก่ 1..ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน 2.ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล 3.ภาพยนตร์และละคร

ด้าน นางเพ็ญศรี เคียงศิริ ได้รับคัดเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 สาขาวรรณศิลป์ อายุ 86 ปี รู้จักในนามปากกา “นราวดี” กล่าวว่า รู้สึกดีใจอย่างมาก ส่วนตัวไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 นี้ ที่ผ่านมามีผลงานนวนิยายหลายเรื่อง แต่ยอมรับพื้นฐานไม่ได้เก่งในเรื่องภาษาไทยมากนัก เนื่องจากเพราะตั้งแต่วัยเด็กไปเรียนและเติบโตที่ปีนัง จนเป็นที่มาของการเขียนนวนิยายเรื่อง “นางอาย” ซึ่งเป็นที่รู้จักของใครหลายคนเพราะมีการถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ แต่เพราะเป็นคนที่มาฝึกฝนเสมอ คาดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสได้รับคัดเลือกครั้งนี้ อาจจะเพราะกรรมการได้เห็นผลงานที่ผ่านมาทั้งที่เขียน และผลงานที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ล้วนมีความสำคัญที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และเพื่อประโยชน์ในการค้นหาวัตถุดิบเพื่อนำมาสร้างสรรค์งานเขียนได้อย่างเหมาะสม

ด้าน นายบุญศรี รัตนัง อายุ 64 ปี ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) กล่าวว่า รู้สึกดีใจอย่างมากเพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อนจะว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ นับเป็นรางวัลสูงสุดของชีวิตตนและครอบครัว ทั้งนี้ ชีวิตของตนตั้งแต่เด็กก็ผูกพันกับดนตรีพื้นบ้านมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2513 ขณะเดียวกัน ได้ก่อตั้งศูนย์สืบสานรอยล้านนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งใช้ทุนส่วนตัวทั้งหมด เปิดสอนเด็กในพื้นที่ในช่วงปิดภาคเรียน เด็กเสียค่าสมัครคนละ 100 บาท เท่านั้น ที่เลือกเปิดสอนนี้เพราะอยากให้ลูกหลานได้เรียนรู้ศิลปะ ดนตรีพื้นบ้านล้านนา ปลูกฝังให้เขาได้ตระหนักคุณค่า และร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ปัจจุบันผลิตลูกศิษย์มาแล้วกว่า 500 คน

นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2527 มีศิลปินแห่งชาติได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 – 2559 มีจำนวน 278 คน และปีล่าสุด พ.ศ. 2560 จำนวน 17 คน รวมมีจำนวนทั้งสิ้น 295 คน เสียชีวิตไปแล้ว 128 คน มีชีวิตอยู่ 167 คน

อนึ่ง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม  จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2560  ทั้ง 17 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561ซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ หรือวัน เวลาใด ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

สำหรับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ
เพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือทาง เฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.facebook.com/DCP.culture