วันพุธ 11 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ประธาน กสท. สวนกลับล๊อบบี้ยิส “Facebook” ต้องจ่ายภาษี!

 

หลังจากเมื่อวานนี้ AIC ได้ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการที่ กสทช.จัดระเบียบ OTT โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยกำลังหันหลังให้กับนวัตกรรม วันนี้ “ดร.นที” ประธาน กสท.ได้ออกมาโต้กลับว่า ไม่ให้ค่ากับการแถลงการณ์นี้และเป็นเพียงล็อบบี้ยีสต์

“ดร.นที” สวนกลับ “ผมไม่ให้ค่า ไม่ให้ความสำคัญกับ AIC”

วันนี้ (30 มิ.ย.60) พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับผิดชอบในการจัดระเบียบการให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over The Top :OTT) กล่าวถึงกรณีที่ Asia Internet Coalition (AIC) ออกแถลงการณ์ค้านคำสั่ง กสทช. ในการจัดระเบียบของกสทช.เรื่อง OTT ว่า กสทช.จะไม่ให้ค่ากับ AIC ซึ่งเป็นเหมือนล็อบบี้ยีสต์ ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนและใช้รูปแบบนี้กับทุกประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

“ผมไม่ให้ค่า ไม่ให้ความสำคัญกับ AIC เพราะเป็นล็อบบี้ยีสต์ ซึ่งในองค์กรนี้มีไลน์เป็นของเอเชียบริษัทเดียว ที่เหลือเป็นบริษัทของอเมริกา” พันเอก ดร.นที กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์

พันเอก ดร.นที กล่าวต่อว่า เรื่องกฎกติกาต่างๆ ของ OTT ถ้ากูเกิล และเฟซบุ๊ก จะมาถามผม หรือมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง OTT ผมอยากให้มาพบเองในฐานะบริษัทของกูเกิล และเฟซบุ๊ก อย่าใช้วิธีการล็อบบี้ยีสต์ เพราะเราคือองค์กรกำกับดูแล และผมยินดีต้อนรับเสมอ

นอกจากนี้ พันเอก ดร.นที กล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ของ กสทช. แปลความเห็นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไอซีทีของสิงคโปร์ที่เป็นความเห็นกรณี AIC เข้าไปจุ้นจ้านกับการกำกับดูแลขององค์กรภายในประเทศ เมื่อแปลเสร็จแล้วจะส่งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ Line Official Account (@NBTC) ของ กสทช.ให้ประชาชนได้อ่าน

พันเอก ดร.นที ย้ำว่า เรื่องการกำกับดูแล OTT เป็นเรื่องที่มีผู้เสียประโยชน์จึงออกมาโวยวาย ถ้าไม่เสียประโยชน์คงไม่ออกมาโวยวาย

สำหรับ AIC เป็นองค์กรความร่วมมือ ที่มีสมาชิกคือ Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, LINE และ Rakuten ส่วนแถลงการณ์ของ AIC มีใจความว่า การจัดระเบียบ OTT ของ กสทช. เป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยกำลังหันหลังให้กับนวัตกรรม เนื่องจากข้อบังคับเกี่ยวกับการให้บริการ OTT ของกสทช. และกฎระเบียบที่เสนออาจจำกัดความสามารถในการเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจ และกฎระเบียบนี้อาจทำให้คนไทยและองค์กรต่างๆ จำนวนหลายล้านคนไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มระดับโลกที่เปิดกว้างเพื่อสร้างธุรกิจออนไลน์

ทั้งนี้ การประชุมร่วมระหว่าง กสทช. กับสมาคมมีเดียเอเจนซีและธุรกิจสื่อดิจิทัลแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ช่องทีวีดิจิทัล และผู้เกี่ยวข้องกับการโฆษณาบนบริการโครงข่ายในบริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ Over The Top (OTT) เพื่อรับทราบแนวทางการโฆษณาบนโครงข่าย OTT  เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.60 ได้ข้อสรุป คือ กสทช.กำหนดให้ระงับโฆษณาทุกประเภท บนโครงข่ายหรือแพลตฟอร์ม ที่ไม่แจ้งเข้าสู่ระบบ OTT ภายในวันที่ 22 ก.ค.60 ล่าสุดเหลือ เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล และเน็ตฟลิกซ์ ที่ยังไม่เข้าพบ กสทช. เพื่อแจ้งเข้าสู่ระบบ OTT

ส่วนมาตรการในการดำเนินการหาก ยังไม่มาพบเพื่อแจ้งเข้าสู่ระบบ OTT คือ แจ้งเตือนผู้ให้บริการแจ้งเข้าสู่ระบบ หากไม่ให้ความร่วมมือ จะแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัด  เช่น ถ้าเป็นบริษัทมหาชนแจ้งไปที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากยังดำเนินการไม่ได้ จะถือเป็นการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน

รัฐรีดภาษี “Facebook” พ่วง 5 เว็บยักษ์ ไม่จ่ายปิดทันที!

 

 

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรแจ้งความคืบหน้าการศึกษาโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์หรือหรือธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการแก้ไขประมวลรัษฎากรหรือร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ที่เน้นจัดเก็บในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลปัจจุบัน คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ยืนยันว่า การปรับโครงสร้างการจัดเก็บ หรืออัตราภาษีจะต้องสอดคล้องตามหลักสากล เช่นเดียวกับที่ขณะนี้หลายประเทศได้เดินหน้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในลักษณะนี้ไปแล้วไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เป็นต้นกฎหมายดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งสำคัญของกรม สรรพากรที่จะต้องพิจารณาบนฐานที่รัดกุม สามารถปิดช่องโหว่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การจัดเก็บบนฐานที่ถูกตัวถูกคน

ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายจำเป็นต้องทำให้รอบด้านเพราะหากจะแก้ไขอีกคงไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากกฎหมายจะต้องมีผลบังคับใช้ไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5-10 ปีหรือมากกว่านั้นถึงจะเริ่มมีการมองว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ล้าสมัยหรือยัง ดังนั้นการแก้ไขรอบนี้จะต้องมองถึงภายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า รวมถึงประเมินรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ ที่มาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดย เฉพาะรูปแบบการทำธุรกิจที่จะโยกขึ้นไปซื้อขายบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

ทะเบียนสรรพากรเท่านั้น
แนวทางการจัดเก็บภาษีจะเน้นไปที่การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก โดยกำหนดแนวทางการพิจารณาเอาไว้คือ หากเปิดเว็บไซต์เพื่อทำการซื้อขายสินค้าบนเว็บไซต์แล้ว เจ้าของเว็บไซต์จะต้องจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรเท่านั้นถึงจะสามารถทำธุรกิจในไทยได้ ถึงแม้จะมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ก็จะต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่หากไม่มาขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรแล้วเว็บไซต์เหล่านั้นก็จะถูกปิดถาวรทันที

“ถามว่าทำไมถึงต้องมาขึ้นทะเบียน ก็เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้มีฐานข้อมูล เพราะการจัดเก็บภาษีครั้งนี้กำหนดว่าเจ้าของเว็บไซต์จะต้องนำส่งภาษี Vat หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการตามกฎหมายจัดเก็บอยู่ที่ 7% หากเป็นธุรกิจที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และจากการตรวจสอบเบื้องต้นมากกว่า 60-70% ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ล้วนแต่มีรายได้เกินปีละ 1.8 ล้านบาททั้งสิ้น”

นำร่องตีตรา5เว็บยักษ์

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทันทีที่เกิดการรับเงินหรือเกิดการซื้อขาย การติดต่อทางธุรกิจต่อ 1 Transaction เจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้นก็จะต้องเสียภาษี Vat ทันที โดยมีการจัดกลุ่มเว็บไซต์ออกเป็นกลุ่มย่อย ในขณะนี้ 5 กลุ่มย่อย ได้แก่

1.เว็บไซต์กลุ่มธุรกิจขายหรือจำหน่ายสินค้าทั้งแบบขายปลีกและขายส่ง เช่น Alibaba / Lazada / 2. เว็บไซต์หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีรายได้จากเว็บไซต์ เช่น Facebook / Google / Line / Youtubeที่มีการเปิดเป็นเครือข่ายเพื่อขายสินค้าออนไลน์หรือทำรายได้จากการคลิกชมโฆษณา

3. เว็บไซต์จองที่พักหรือโรงแรม เช่น traveloka.com / expedia.co.th / asiatravel.com/th 4.จองตั๋วหรือบัตรชมการแสดง-คอนเสิร์ต 5. เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับนายหน้าการขายสินค้าและบริการ เช่น ประกันออนไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ที่มีการรีวิวสินค้าหรือบริการ เว็บไซต์หาคู่ เป็นต้น คาดว่าทั้งระบบจะมีจำนวนนับพันราย

สรรพากรประเมินขณะนี้การค้าขายในธุรกิจออนไลน์ที่เป็นกลุ่มอี-คอมเมิร์ซของไทยมีจำนวน 5 แสนกว่าราย สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ประกอบการกับผู้บริโภค (Business to Consumer – B2C) ถือเป็นการค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้า โดยกลุ่มนี้ถือว่าไทยมีจำนวนสูงที่สุดในอาเซียน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการประมาณ 1.7-1.8 แสนราย  2.ผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (Business to Business –  B2B) มีสัดส่วนประมาณ 30% หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 7-8 หมื่นราย

ขณะที่ในปี 2559 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยคาดมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาทเติบโตสูงถึง 10% จากปี 2558 ที่มีมูลค่าการค้าอยู่ที่  2.1 ล้านล้านบาทส่วนปี 2560 นี้น่าจะขยายตัวสูงถึง 10% มูลค่าการค้ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท