วันพุธ 11 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ปรีดี พนมยงค์’ แง่มุมที่ควรรู้จัก – เปลว สีเงิน ๑๙ เมษายน ๒๕๖๐

ดูเหมือนคนไทยวันนี้ ยังอยู่ในชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์กันนะครับ!

เป็นประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ โดย “คณะราษฎร”

จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ “อยู่ใต้รัฐธรรมนูญคณะราษฎร”

มาเมื่อ “วันจักรี” ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” รัชกาลที่ ๑๐ “พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐”

หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๒ ตราไว้ว่า……..

“ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ครับ…ผมก็ย้ำ “ความเหมือน-ความต่าง” เล็กๆ น้อยๆ ให้สังเกตกัน บางเรื่อง-บางราว นั้น ไม่จำเป็นต้องจี้ไช

รู้กันได้ “ด้วยตัวเอง” มิใช่หรือ?

ยังไงก็ต้องขอบคุณ “หมุดที่หายไป” ในจำนวนงบประมาณแผ่นดินแต่ละปี กระทรวงศึกษาฯ “มากที่สุด”

๘๕ ปี ใช้ไปกี่พันล้านล้านแล้วก็ไม่รู้

ได้แค่สร้างคนเรียนประวัติศาสตร์เพื่อใช้สอบผ่านในชั้นเรียนเท่านั้น!

สู้หมุดอันเดียวไม่ได้ ทำให้คนไทยแตกฉานประวัติศาสตร์ ช่วงรอยต่อระบอบปกครอง ชนิดกระหายรู้ และแทงทะลุถึงแก่น

ก็อยากทำความเข้าใจเรื่องศึกษาประวัติศาสตร์ซักนิด

“ปัจจุบัน-อนาคต” ก่อเกิดจากอดีต

นั่นคือ ทุกสิ่งที่ “เรามี-เราอยู่-เราเป็น” วันนี้ “อดีตเป็นผู้สร้าง” เป็นหน่อแนวไว้ให้ทั้งนั้น

ฉะนั้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ต้องยกแต่ละตัวบุคคลไว้ในฐานะครูอาจารย์ ในฐานะผู้มีคุณ ในฐานะผู้สร้าง ที่ต้องเคารพ

ไม่ควรอย่างยิ่ง………

ที่จะไปตำหนิ หยาบหยาม ประณาม เคียดแค้น วิจารณ์เชิงลบ

ต้องเข้าใจให้ตรง ว่าทุกเส้นทางชาติและแผ่นดิน คนรุ่นอดีตคือผู้สร้าง เราคือผู้อาศัยอยู่-อาศัยกิน-อาศัยใช้ และสร้างเติมใหม่ เพื่อส่งต่อ

“อดีตคือมรดกชาติแผ่นดิน” อย่าหลู่ ควรรู้ ด้วยเคารพ!

“ปรีดี พนมยงค์” นั้น อย่ามองท่านในแง่ลบ ในความเป็นจริง ยิ่งศึกษาเส้นทาง-บทบาทท่าน

ยิ่งต้องเทิดทูน!

ในเส้นทางประเทศ ต้องยอมรับว่า นอกเหนือจากท่านเป็นหัวหน้าคณะราษฎร, นายกรัฐมนตรี, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, รัฐบุรุษ, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้ว

ไทยไม่ตกอยู่ในฐานะ “ประเทศแพ้สงคราม” เมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.๒๔๘๔

นั่นก็ด้วยบทบาท-ฐานะ “หัวหน้าขบวนการเสรีไทย” ภายใต้รหัส “รู้ธ” ของท่าน

การเดินแผนปฏิบัติการใต้ดินร่วมฝ่ายพันธมิตรนั่นแหละ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยเรากลับเป็นฝ่ายชนะ!

แต่เหนืออื่นใด ปรีดีในทัศนะผม ท่านคือ “ลูกผู้ชาย” ตัวจริง!

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามานวราชเสวี เคยไปขอเข้าเฝ้าฯ บอกว่า ข้าพระพุทธเจ้าตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรหัวมันรุนแรงเกินไป ไม่นึกว่าจะลำบากยากเย็นถึงเพียงนี้ ถ้ารู้ยังงี้ ก็ไม่ทำ”

นี้จากพระโอษฐ์ “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี” พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงเล่าพระราชทาน ดังที่ผมนำเผยแพร่ไปแล้ววันก่อน

ตรงนี้ เป็นหลักฐานยืนยันได้ดีที่สุด ๒ สถาน………

สถานแรก ท่าน “บริสุทธิ์ใจต่อชาติ” ในการทำ เมื่อ ๒๔ มิถุนา ๗๕

สถานที่สอง ท่าน “กล้าทำ-กล้ารับ” ต่อสิ่งที่ทำลงไปว่า…ผิด

“วีรบุรุษ” ก็แค่คนชนะคน

แต่ “คนเหนือวีรบุรุษ” คือคนชนะทั้งใจคนและใจตน!

บางท่านอาจไม่แน่ใจ ว่าท่านปรีดียอมรับตัวเองผิดพลาดจริงหรือ?

เมื่อปี ๒๕๕๖ ผมเคยนำบทความที่นายแอนโทนี พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสารเอเชียวีก ประจำกรุงปารีส สัมภาษณ์ท่านปรีดี ที่ปารีส ปี พ.ศ.๒๕๒๒ เผยแพร่ครั้งหนึ่ง

โดยคัดลอกจากเอเชียวีก ฉบับ ๒๘ ธันวาคม ๑๙๗๙ – ๔ มกราคม ๑๙๘๐ โดย ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช รน. กับคุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ แปล-ตรวจทานไว้

แต่วันนี้ ผมนำจาก socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_08.html บางตอนมาเพื่อยืนยันถึงประเด็นนี้ ขออนุญาตด้วย ดังนี้

ถาม-นักเขียนคนหนึ่งเคยกล่าวยกย่องท่านว่า “ท่านปรีดี ถ้าไม่เคยหนุ่มมาก่อน ก็จะไม่แก่เลย” ข้าพเจ้าใคร่จะสำรวจเรื่องราวของท่านในตอนต้นๆ ชีวิตของท่าน และในเวลาอันยาวนานที่ท่านต้องลี้ภัย ตอนแรกในวัยหนุ่ม ขณะท่านเป็นนักเรียนในปารีสตอนปี ค.ศ.๑๙๒๐ ท่านคงต้องมีทรรศนะต่อชนิดของสังคมที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ชนิดอย่างที่ท่านเป็นคนหนุ่มอยากจะสร้างสรรค์ ท่านจะสรุปทรรศนะนั้นให้เราทราบได้ไหม?

ตอบ-อย่างที่คุณทราบ ข้าพเจ้าศึกษากฎหมายในคณะนิติศาสตร์ฝรั่งเศส (Faculti de Droit) โครงการศึกษาในสมัยโน้นมีกว้างขวาง เพราะว่าเราไม่ใช่เรียนเพียงแต่กฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนเท่านั้น หากต้องเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกด้วย

นี่แหละ ที่ทำไมข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานของสังคม กฎหมายและสถาบันต่างๆ เป็นโครงสร้างชั้นบน ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ

ถาม-ท่านจะถือว่าทรรศนะของท่านเป็นชาวมาร์กซิสต์ หรือมาร์กซิสต์ใหม่ได้ไหม?

ตอบ-ไม่, ไม่, ไม่, ข้าพเจ้าได้บอกแล้วว่าปรัชญาของข้าพเจ้าคือ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ถึงแม้ว่าถ้ามาร์กซ์พูดอย่างนี้หรืออย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องพิจารณาว่าเป็นจริง หรือเป็นไปตามสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่

สังคมนิยมมีอยู่หลายชนิด แม้ลัทธิมาร์กซ์ก็มีชนิดต่างๆ มีลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน ลัทธิทรอตสกี้ และอะไรต่ออะไร ข้าพเจ้ามีอิสระที่จะเลือกทฤษฎีใด ทฤษฎีหนึ่ง ที่สอดคล้องกับหลักห้าประการของเรา…

เราไม่อาจกระโจนพรวดเดียวถึงขั้นสุดยอดของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยได้ เราต้องก้าวไปทีละขั้นๆ อย่างที่คนเราค่อยมีฐานะดีขึ้นๆ เป็นลำดับ

อย่างที่คุณเห็นในประเทศของข้าพเจ้า แม้ภายหลังการอภิวัฒน์ ค.ศ.๑๙๓๒ เมื่อพวกเขาต้องการไปเร็วเกินไป ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ล้มเหลว

ถาม-ในสังคมประชาธิปไตยตามความคิดของท่าน อะไรที่ท่านถือเป็นความสำคัญอันดับแรก? การศึกษา? อ่านออกเขียนได้ทั้งหมด?

ตอบ-เศรษฐกิจอันดับแรก, เศรษฐกิจอันดับแรก

ถาม-อะไรคือข้อเสนอในทฤษฎีเศรษฐกิจของท่าน? ท่านคิดว่ารัฐบาลควรควบคุมเศรษฐกิจอย่างนั้นหรือ?

ตอบ-เอาละ คุณก็รู้ ตอนแรก (เมื่อประเทศเริ่มออกเดิน) รัฐบาลไม่อาจทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างได้ เราต้องให้บทบาทแก่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล ยังไม่ (ถึงเวลา) ทำให้เป็นของชาติ ไม่, ไม่ ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็จะล้มละลาย ถ้าชาติต้องการทำอะไรๆ ให้เป็นของชาติในทันทีทันใด นั่นเป็นการตรงกันข้ามกับสังคมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

ถาม-เดี๋ยวนี้ท่านได้มีเวลามาหลายปีที่จะไตร่ตรองถึงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ.๑๙๒๐ ถึง ค.ศ.๑๙๔๐ ขณะที่ท่านมีส่วนร่วมในการเมืองของไทยอย่างเอาการเอางาน คุณูปการอันไหนของท่านที่มีต่อประเทศไทยในระหว่างปีเหล่านั้น ที่ยังความพอใจแก่ท่านมากที่สุดในขณะนี้?

ตอบ-การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อปี ค.ศ.๑๙๓๒

และการรับใช้ชาติร่วมกับสหาย “เสรีไทย” ของข้าพเจ้าระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อสู้รบกับญี่ปุ่นผู้รุกรานและได้ฟื้นคืนเอกราชและอธิปไตยของชาติกลับมาได้อย่างสมบูรณ์หลังสงคราม

ถาม-ประเทศไทยเดี๋ยวนี้มีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอย่างที่ท่านอยากให้เป็นหรือยัง?

ตอบ-ดีละ, ถ้าเราพูดถึงกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าคิดว่าต้องเติมว่า อย่างเป็นประชาธิปไตยเข้าไปด้วย เพราะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็มีหลายอย่างต่างๆ กัน รัฐธรรมนูญก็มีมากมายหลายชนิด

แม้ราชอาณาจักรของอิตาลี ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ของมุสโสลินีก็มีรัฐธรรมนูญ นั่นแหละ, ทำไมข้าพเจ้าจึงชอบใช้คำว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ข้าพเจ้าคิดว่าคุณคงเข้าใจ

ถาม-ท่านคิดว่าอะไรที่น่าจะเป็นความผิดอันใหญ่หลวงของท่าน? ถ้าท่านมีอำนาจกลับไปและแก้ไขเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของท่าน การตกลงใจหรือการกระทำอันไหนที่ท่านอยากเปลี่ยนมากที่สุด?

ตอบ-ถ้าท่านถามถึงว่าอะไรที่ข้าพเจ้าจะทำ ถ้าข้าพเจ้ากลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี..เอาละ ข้าพเจ้าขอตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สนใจที่จะกลับสู่การเมืองอีกหรอก เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าแก่มากแล้ว แต่ข้าพเจ้าตอบท่านได้ถึงความผิดในอดีตของข้าพเจ้า

ในปี ค.ศ.๑๙๒๕ เมื่อเราเริ่มจัดตั้งแกนกลางของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๒๕ ปี เท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี (ของกฎหมายเปรียบเทียบ)

ข้าพเจ้าไม่มีความเจนจัด และโดยปราศจากความเจนจัด บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา

ข้าพเจ้าไม่ได้นำเอาความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้า เป็นความรู้ตามหนังสือ

ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี

ในปี ค.ศ.๑๙๓๒ ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ

ถาม-ความผิดพลาดอย่างอื่นมีอีกบ้างไหม?

ตอบ-มี, คือวิธีการเสนอแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้าอย่างไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเสนอแผนเศรษฐกิจ แต่ข้าพเจ้าควรใช้เวลาให้มากกว่านั้นอธิบายแก่ประชาชน เวลานั้นมีบุคคลไม่กี่คน ที่จะเข้าใจแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้า

แม้ในระหว่างคนรุ่นก่อน คือสมาชิกในคณะรัฐบาลก่อนซึ่งเราเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ พวกเขาตีความแตกต่างกันไป พวกเขาไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าควรพยายามให้หนักขึ้น ที่จะอธิบายกับพวกเขาว่าทั้งหมดมันหมายถึงอะไร

แต่ทว่ามันก็เป็นแผนเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสมด้วยเหมือนกัน ข้าพเจ้าเสนอว่าไม่ใช่เป็นแผนเศรษฐกิจขั้นสุดท้าย มันค่อนข้างจะเป็นโครงการชั้นเตรียมการมากกว่า หลายคนเหมาเอาว่าเป็นแผนเลยทีเดียว ไม่ใช่เป็นแนวทางหรือเป็นข้อเสนอพอเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนต่อไป

ในสังคมนั้น ย่อมมีการขัดแย้งกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คุณต้องเข้าใจ และพวกรุ่นเก่ามีความกลัวมากทีเดียวในบางอย่างที่เป็นสังคมนิยม

พวกเขาไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นสังคมนิยม อะไรเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาเอาทุกอย่างที่ตรงข้ามกับวิสาหกิจเอกชนเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมด

ครับ…..นี่คือบุรุษเหนือวีรบุรุษโดยแท้!

“หมุดหาย” ไม่มีความหมาย……….

เพราะความหมาย “๒๔ มิถุนา ๗๕” ที่ควรค้นหา คือค่าในคน ของคนชื่อ “ปรีดี พนมยงค์”.