วันอาทิตย์ 8 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

“กรณีพระเจ้าตาก” ผู้ชนะ (ไม่ได้) เขียนประวัติศาสตร์ – Kornkit Disthan

 

มีคำพูดถึงที่ผมเห็นแล้วหงุดหงิดมาก แต่คนชอบยกขึ้นมาอวดกันคือคำว่า “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” (History is written by the victors) คำพูดนี้ฟังดูเท่แต่มันตื้นเขิน ในวงการประวัติศาสตร์เขาจะไม่ยอมรับคำพูดนี้เด็ดขาด ยิ่งในต่างประเทศยิ่งเย้ยหยันไยไพว่าเป็นคำพูดที่บั่นทอนปัญญา คำพูดนี้ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ผู้ชนะจะทำลายหลักฐานทั้งหมดแม้แต่ชีวิตของผู้แพ้ จนอีกฝ่ายไม่มีโอกาสได้แก้ต่างในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมันจริงเสียทีไหน ต่อให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนผู้แพ้ไม่เหลือสักคน ก็ยังมีหลักฐานวัตถุและพยานชาติอื่นๆ เป็นปากเป็นเสียงแทนได้

แม้แต่พงศาวดารที่เขียนเอียงๆ ไปทางผู้ครองราชวงศ์ก็ยังถูกท้าทายด้วยบันทึกหลักฐานอื่นๆ ได้เช่นกัน หรืออาจได้รับการสนับสนุนได้เช่นกัน ใช่ว่าพงศาวดารหลวงจะท้าทายไม่ได้ ปัญหาก็คือแทนที่จะมีคนหาหลักฐานที่อยู่หมัดมาคัดค้าน มักจะอ้างชุ่ยๆ ว่า “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” แล้วก็ลอยตัวเหนือวิวาทะที่เป็นวิชาการ

ผมคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ (การเขียนประวัติศาสตร์) ตามขนบจีน พอจะบอกได้ว่า แม้ราชวงศ์ใหม่จะชิงอำนาจจากราชวงศ์ก่อน แต่ในงานด้านประวัติศาสตร์ พวกวงศ์ใหม่จะทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเขียนเอาดีเข้าตัว เอาชั่วมาป้ายสีพวกกลุ่มอำนาจเดิม โดยจะใช้หลักฐานบันทึกรายวันจากราชวงศ์ก่อนๆ เช่น ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง เขียนโดยพวกมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนก็ใช้เอกสารของพวกซ่ง ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน เขียนโดยพวกฮั่นแห่งราชวงศ์หมิง ก็ใช้เอกสารของพวกมองโกลนั่นเอง จึงค่อนข้างตรงไปตรงมา เสียแต่ว่าบางครั้งพวกราชวงศ์ใหม่เกิดกระดากใจ อาจละชื่อของขุนศึกวงศ์ก่อนที่เอาชนะตัวเองได้ แต่ใช่ว่าจะซ่อนความจริงทั้งหมดได้ เพราะตำราประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็ยังมีชื่และวีรกรรมเหล่านั้นอยู่ดี

นี่คือวิธีที่ “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” ในจีน จนแล้วจนรอดก็ต้องเขียนอย่างไม่ใช่ผู้ชนะและมองเหตุการณ์ด้วยสาตาเป็นกลาง เพราะสังคมจีนยึดมั่นในหลักวิชาการสำนักหญู การบิดเบือนทางวิชาการนั่นมีโทษร้ายแรง คือถูกปัญญาชนรุ่นหลังตราหน้าไปชั่วนิรันดร์ แม้แต่พวกมองโกลที่ไม่สนใจวิชาการนัก ก็ยังต้องคล้อยตามขนบนี้ จะเขียนตามใจชอบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นชื่อเสียงจะฉาวโฉ่ ถูกคนรุ่นหลังถ่มถุยไปตลอดกาล

พูดง่ายๆ คือคนจีนมีหิริโอตัปปะในทางประวัติศาสตร์

มีตัวอย่างไม่ดีสมัยราชวงศ์ชิง พระเจ้าคังซีทรงสั่งให้เขียนประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงขึ้น โดยทำใจกว้างเชิญผู้รู้จากราชวงศ์หมิงมาร่วมงานใหญ่ แต่ปรากฎว่านักวิชาการที่ภักดีราชวงศ์เดิมเห็นเจ้านายวงศ์ใหม่่ใจกว้าง ก็ฉวยโอกาสเขียนบริพาษพวกแมนจู ทำให้พระเจ้าคังซีพิโรธสั่งกวาดล้างพวกปัญญาชนเป็นการใหญ่ นับเป็นรอยด่างสำคัญของมหาราชพระองค์นี้ แต่สุดท้าย ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง (หมิงสื่อ) ก็เขียนสำเร็จ ด้วยความเที่ยงตรงและเป็นกลางเพราะใช้หลักฐานเป็นบันทึกรายวันของพวกหมิง (หมิงสือลู่) นั่นเอง

เมืองไทยเราไม่มีขนบทางวิชาการแบบนี้ พงศาวดารก็เขียนไปตามหลักฐานกระท่อนกระแท่น ออกจะในทำนองอาเศียรวาทอยู่หน่อยๆ ไม่ใช่เพราะ “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” แต่พงศาวดารนั้นเป็นบันทึกหลวง และคนไทยนอกวังไม่ชอบบันทึก ซึ่งใช่ว่าชาวบ้านจะบันทึกของตัวเองไม่ได้ แต่คนไทยไม่มีนิสัยเขียนร้อยแก้วยาวๆ หากเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ดูอย่างปูมโหรเถิด นี่ก็เป็นบันทึกเอกชนแท้ๆ ยังสั้นจนจับใจความได้ยาก

ดังนั้น สิ่งที่ท้าท้ายพงศาวดารหลวงได้จึงมีแต่บันทึกของชาวต่างชาติ ซึ่งกรณีที่มีวิวาทะยาวนานอย่างกรณีพระเจ้าตากทรงมีสัญญาวิปลาส (คลุ้มคลั่ง) หรือไม่? หากเราไม่เชื่อพงศาวดารหลวงของราชวงศ์จักรี ก็ยังมีบันทึกชาวต่างชาติไว้ให้เทียบ แต่คนส่วนใหญ่มักไม่เชื่อ ด้วยชอบประวัติศาสตร์กระซิบกระซาบ คงเพราะนิสัยคนไทยชอบซุบซิบนินทามากกว่าพูดกันตรงๆ

 

ปัจจุบัน กรณีพระเจ้าตากนั้น กลายเป็นว่าพระเจ้าตากไม่ใช่จำเลย แต่เป็นราชวงศ์จักรีเสียอย่างนั้น อย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตอบไว้ใน”บันทึกรับสั่ง สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ที่ผมยกมาประกอบ ทรงเปรยว่าราชวงศ์จักรีถูกปรักปรำโดยนักปราชญ์สมัยใหม่ ทั้งที่เขียนพงศาวดารยกย่องพระเจ้าตากอย่างที่สุดแล้ว

เพราะประโยคสั้นๆ “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” ประโยคเดียว จะทำให้การบิดเบือนซ้ำซ้อน ไม่เฉพาะกรณีพระเจ้าตากเท่านั้น

ภาพจาก บันทึกรับสั่ง สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra57_0038/#p=1