วันจันทร์ 20 พฤษภาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

“พระยอดเมืองขวาง” วีรบุรุษ นครพนม ปลุกสยามสู้ฝรั่งเศส!

“พระยอดเมืองขวาง” คือข้าราชการฝ่ายปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นข้าหลวง “เจ้าเมืองคำม่วนเมืองคำเกิด” ขึ้นกับ..กองข้าหลวงเมืองลาวพวน ในบังคับบัญชาของ”พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม”  เมืองที่ท่านปกครองดูแลนั้น เป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส ในกรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)

“พระยอดเมืองขวาง” เดิมชื่อ “ขำ” เป็นต้นสกุล”ยอดเพ็ชร์ ” เกิดปีชวด ร.ศ. 71 (พ.ศ. 2395) อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เป็นบุตรของ”พระยาไกรเพ็ชร์ (มิตร กฤษณมิตร) ” เริ่มรับราชการเป็นข้าหลวง ผู้ช่วยในกองข้าหลวงใหญ่”นครจำปาศักดิ”์ รักษาราชการ”กองข้าหลวงลาวกาว” ภายหลังได้เลื่อนยศเป็น”เจ้าเมืองเชียงขวาง”  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น”พระยอดเมืองขวาง” ต่อมาประมาณปี 2436 ได้เป็น”เจ้าเมืองคำม่วน” มีเขตรับผิดชอบ “บ้านนาเป คำเกิด คำม่วน นากาย ปากพิบูลย์ และแก่งเจ๊ก” มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเวียดนาม!!

ในปีเดียวกันกับที่ท่านได้เลื่อนยศ(2436) หรือ ร.ศ.112 ก็เกิดกรณีพิพาท ระหว่างการปักปันเขตแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ”ไทย – ฝรั่งเศส” เมื่่อฝรั่งตาน้ำข้าวต้องการครอบครอง”เมืองคำม่วน” จึงเข้ารุกจู่โจมชิงเมือง เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2436 นำโดย”มองซิเออร์ลูซ(Luce)” พร้อมกำลังทหาร บีบบังคับให้พระยอดเมืองขวางออกจากเมืองคำม่วน แต่ท่านใจนักเลงไม่ยินยอมยกให้ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น

โดย”มองซิเออร์ลูซ “สั่งให้”นายกรอสกุรัง” พร้อมไพร่พลที่เป็น”ทหารญวน”  คุมทหารเข้าปล้น  ค่ายยึดเมืองคำมวน หัวเมืองด่าน  ปลายพระราชอาณาเขตสยามทิศตะวันออก  ซึ่งมี  “พระยอดเมืองขวาง”  เป็นข้าหลวงรักษาเมืองซึ่งมิได้ต่อสู้ขัดขวาง  เพราะเกรงกระทบไมตรีระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส

เมื่อ “นายกรอสกุรัง” เข้ามาจับกุม”หลวงอนุรักษ์” ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวาง ที่”บ้านหลักหิน” (ปลายด่านคำม่วนต่อกับเมืองท่าอุเทนของฝั่งไทย)  แล้วคุมตัวพระยอดเมืองขวางกับพวกไปส่งที่เมืองท่า อุเทน โดยอ้างว่า   “หากอยู่ในเมืองคำมวนต่อไปจะเกิดอันตราย    เพราะราษฎรเกลียดชังพระยอดเมืองขวาง” (ซึ่งไม่ใช่ความจริง)

ระหว่างคุมตัวมาถึงบ้านแก่งเจ๊ก  มองซิเออร์กรอสกุแรงกับทหารราว  20  นาย  ใช้กำลังฉุดกระชากลากตัว  ”หลวงอนุรักษ์”  ผู้ช่วยรักษาเมืองคำมวนไปกักขัง  11 วัน  พระยอดเมืองขวางจึงตั้งให้ขุนวังเมืองท่าอุเทนไปเจรจาขอตัวหลวงอนุรักษ์คืน  ระหว่างเจรจานี้เองเกิดการโต้เถียง  มองซิเออร์กรอสกุแรงจับมือหลวงอนุรักษ์ลากเข้าไปในห้อง  หลวงอนุรักษ์สะบัดมือหลุดแล้วกระโดดเรือนหนีจึงเกิดการชุลมุนพร้อมกับเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดแล้วเกิดไฟลุกไหม้!!! เกิดการต่อสู้กัน ลูกปืนถูกขุนวังและทหารสยามตาย จำนวนหนึ่ง(2-6คน)  ส่วนมองซิเออร์กรอสกุรัง ถูกกระสุนปืนเข้าที่  “ขมับ”  นอนเสียชีวิตอยู่ที่เรือนที่กำลังลุกไหม้พร้อมกับทหารญวน 11-12 คน บาดเจ็บ 3 คน

โอกุสต์ ปาวี อดีตกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพมหานคร ค.ศ. 1892

จากเหตุการณ์นี้ “นายออกุสต์ ปาวี”ไม่พอใจฝ่ายไทย กล่าวหาว่า”พระยอดเมืองขวาง”เป็นฆาตกร โดยใส่ร้ายว่าท่าน บุกเข้าไปทำร้าย”นายกรอสกุรัง”ขณะนอนป่วยอยู่ในที่พัก และนำเรื่องขึ้นพิจารณาคดี ในกระบวนการของศาล..

“นายออกุสต์ ปาวี”และรัฐบาลฝรั่งเศส ไม่พอใจฝ่ายไทย ได้อ้างว่า  “พระยอดเมืองขวาง”เป็นฆาตกร โดยใส่ร้ายว่าท่าน บุกเข้าไปทำร้าย”นายกรอสกุรัง”ขณะนอนป่วยอยู่ในที่พัก  และ ฉวยโอกาสอ้างเป็นเหตุย่ำยีเอกราชสยามประเทศโดยสั่งให้  “มองซิเออร์ปาวี”  ยื่นประท้วงโดย  “ขอให้ลงโทษ”  พระยอดเมืองขวางสถานหนักและให้สยามประเทศจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวทหารฝรั่งเศส  ญวนและเขมรที่ถูกฆ่าตาย   อันเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุ  “วิกฤตการณ์   ร.ศ.112”ภายหลัง รัฐบาลสยามซึ่งตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบต้องจำยอมด้วยการลงนามหนังสือสัญญากรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส  ยกดินแดนฝั่งซ้ายฟากตะวันออกของแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ  ให้รัฐบาลฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้ง  “ศาลรับสั่งพิเศษ”    ชำระความพระยอดเมืองขวาง

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5″ รับสั่งให้”พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร” แม่ทัพใหญ่อีสานใต้ เป็นประธานคณะผู้พิพากษา ประกอบด้วย “พระยาสีหราชเดโชชัย,พระยาอภัยรณฤทธิ์,พระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์,พระยาธรรมสารนิติ์,พระยาฤทธิรงค์,และ พระยาธรรมสารเนตติ์”และมี “หลวงสุนทรโกษา และ นายหัสบำเรอ”อัยการเป็นทนายฝ่ายโจทย์ ทนายฝ่ายจำเลยมี”นายตีเลกี (William Alfred Tilleke” ภายหลังรับราชการเป็น”พระยาอรรถการประสิทธิ์” ต้นสกุล”คุณะดิลก” และ “นายเวอร์นอน เพจ (Vernon Page ชาวอังกฤษ)”

ภาพจำลอง การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง และเหตุการณ์ ร.ศ.112

การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ใช้เวลา 22 วัน ตั้งแต่ 24 ก.พ.- 16 มี.ค. พ.ศ.2437  ( ร.ศ. 113 )
วันที่  17  มีนาคม  ร.ศ. 113  เวลาบ่ายโมง  ศาลรับสั่งพิเศษนั่งประชุม  ณ  สนามสถิตยุติธรรม  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงพิชิตปรีชากร  อธิบดีผู้พิพากษาใหญ่ในศาลรับสั่งพิเศษประทับยืนอ่านคำพิพากษาบนบังลังก์มีใจความว่า  “เรื่องความอาญาระหว่างโจทก์  ทนายแผ่นดินและจำเลยคือ  พระยอดเมืองขวาง  ในข้อปัญหาระหว่างพระยอดเมืองขวาง  จำเลยได้ฆ่า”นายกรอสกุรัง”และพวกญวนอันเป็นโทษผิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายจริงทั้งหมดฤา  แต่ข้อหนึ่งข้อใดฤาหามิได้นั้น  เราได้พิจารณาตรวจตราคำหาคำให้การและพยานโจทก์จำเลยแลคำตักเตือนจนทั่วทุกอย่างแล้วหาได้พบปะข้อหนึ่งข้อใดซึ่งจะเป็นคำยืนยันว่า  จำเลยได้ทำการร้ายนั้น แม้แต่ในคำที่กล่าวหาที่ต้องยกเอามาเป็นกระทู้ปัญหานี้เองก็ไม่กล้ากล่าวยืนยันมั่นคงได้เป็นแต่กล่าวหาแล้วก็กลับลงท้ายเป็นคำสงสัยเสียว่าสั่งให้ผู้อื่นกระทำดังนี้  เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายต้องกล่าวโดยคำอันชัดว่า  จำเลยมิได้ทำการร้ายด้วยตนเองเป็นแน่แท้  พิพากษายกฟ้อง

ปรากฏว่า  รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมรับคำพิพากษายื่นข้อเสนอให้พิจารณาคดีใหม่รัฐบาลสยามต้องจำยอมอีกครั้งด้วยการตั้ง  “ศาลผสมกัน” ณ สถานทูตฝรั่งเศส  โดยมีอัยการฝรั่งเศสดำเนินการฟ้อง  มีองค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน และฝ่ายสยาม 2 คน และอธิบดีผู้พิพากษาฝรั่งเศสและต้องมีการตั้งทนายความฝรั่งเศสด้วย

วันที่  13  มิถุนายน  ร.ศ. 113  เวลาบ่าย 4 โมง  พระยอดเมืองขวางถูกตัดสินครั้งที่สองลงโทษให้จำคุก  20 ปี โดย เสียงข้างมาก 3เสียง ต่อ 2เสียง ทั้งที่ขัดกับหลักกฎหมายสากลที่ว่า  “การกระทำอันเดียวกันจะลงโทษสองครั้งไม่ได้”  เหตุการณ์ครั้งนั้น  พระยอดเมืองขวางต้องยอมเสียสละอิสรภาพของตนเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติสยามไว้

คดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเสียเอกราชทางการศาลและการปกครองประเทศทำให้คนสยามถูกย่ำยีสิทธิและเสรีภาพ  จึงก่อให้เกิดปณิธานอันแรงกล้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  “ปฏิรูประบบการศาลไทย”  ปลดแอกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจนมี  “สถาบันตุลาการ”  เกิดขึ้นมาเป็นหลักประกันว่า  ศาลสถิตยุติธรรมนี่แหละคือ  ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน

พระยอดเมืองขวาง หลังได้อิสรภาพ ออกจากเรือนจำเมื่อ พ.ศ. 2441

“พระยอดเมืองขวาง”ถูกจำคุกอยู่ 4 ปี ก็ได้รับอิสรภาพ จากคำร้องขอของรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2441 “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” จึงพระราชทานบำนาญให้เป็นพิเศษ เดือนละ 500 บาท พร้อมได้รับการยกย่องในฐานะ”วีรบุรุษผู้รักชาติ” ต่อมาท่านล้มป่วย และเสียชีวิตใน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) รวมอายุได้ 48 ปี ท่านคือต้นสกุล “ยอดเพ็ชร์” และ “กฤษณมิตร”ในปัจจุบัน
ชื่อเสียงของ”พระยอดเมืองขวาง” ภายหลังได้มีการนำไปใช้เป็นชื่อค่ายทหารหนึ่งแห่ง และค่ายตำรวจตระเวนชายแดนหนึ่งแห่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ ซึ่งได้แก่ “ค่ายพระยอดเมืองขวาง” กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 ตั้งอยู่ที่บ้านพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม ภายหลังยกระดับเป็น “มณฑลทหารบกที่ 210″ และอีกแห่งคือ”ค่ายพระยอดเมืองขวาง” กองกำกับการ 3 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหอย ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลฯ

ที่มาที่ไปของชื่อท่าน มีดังนี้…”พระ” คือตำแหน่ง”คุณพระ” คำว่า”ยอด” หมายถึงท่านเป็น”เจ้าเมืองขวาง” เมืองขวางที่ว่าปัจจุบันอยู่ใน สปป.ลาว ที่มี”ทุ่งไหหิน”อันโด่งดัง!!
เดิมที”ค่ายพระยอดเมืองขวาง” ที่ตั้ง “มณฑลทหารบกที่ 210” ของจังหวัดนครพนม มีชื่อเก่าว่า “ค่ายนาโพธิ์” คราวหนึ่งเกิดเหตุการณ์ประหลาดอัศจรรย์ มีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรง ทำให้มีอสุนีบาตผ่าลงมา ตรงกลางป้ายชื่อ “ค่ายนาโพธิ์” จนหักออกเป็นสองซีก เมื่อมีการทำแล้วติดตั้งป้ายใหม่ ก็ปรากฏว่าฟ้าได้ผ่าลงมาอีกเป็นครั้งที่สอง!!

อนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวาง ค่ายพระยอดเมืองขวาง จังหวัดนครพนม

หลังเกิดเหตุการณ์น่าฉงนขึ้น ภายหลัง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “ค่ายพระยอดเมืองขวาง”!! ต่อมามีนายทหารยศ”พลเอก” ฝันเห็นชายไทย มีดาบ กระบี่ สวมหมวกใบใหญ่เหมือนคนสมัย ร.5 เข้าฝันว่าตนเองคือ “พระยอดเมืองขวาง” ให้ตั้ง”ศาลพระยอดเมืองขวาง” ตอนนี้วิญญาณอยู่ในภูเขาของประเทศลาว ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เร่ร่อนไป-มา ระหว่างไทยและลาว จึงขอให้ตั้งศาลถาวรภายในค่ายทหารแห่งนี้ และต้องไปเชิญดวงวิญญาณจากลาวมาด้วย รุ่งเช้านายทหารท่านนี้ นำความฝันไปบอกกองทัพ และจัดตั้งศาลให้ท่านตามคำบอกกล่าว ทุกวันนี้จึงเป็นที่กราบไหว้ สักการะของทุกคนที่ผ่านไปมาเสมอ

“พระยอดเมืองขวาง” คือ “วีรบุรุษของไทย” กาลสมัย “พระพุทธเจ้าหลวง”อย่างแท้จริง

อีกทั้ง วีรกรรมของพระยอดเมืองขวาง เชื่อว่าเป็นแรงบรรดาลใจสำคัญของ บทประพันธ์ที่มีชื่อเสียง อย่าง ทวิภพ ของ “ทมยันตี”