วันพุธ 16 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ฟองสบู่กับความโลภ (ตอนที่ 2)

ฟองสบู่กับความโลภ (ตอนที่ 2)

โดย นีโอ

ความเดิมตอนที่แล้ว (ย้อนไปอ่านตอนที่1)  นีโอได้เกริ่นเป็นน้ำจิ้มว่าการเก็งกำไรจนเกิดเป็นฟองสบู่นั้นเป็นปัญหาแคลสสสสิคที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน  วันนี้เราย้อนกลับไปดูอดีตเราคงขำว่า  เออคนมันคิดกันได้ไงนะบ้าเก็งกำไรดอกทิวลิปถึงขนาดมีบ้านขายมีรถขายรถ  หรือคนคิดได้ไงนะเก็งกำไรจตุคามกันไปได้ถึงหลักหลายสิบล้าน  แต่ธรรมชาติมนุษย์เป็นอย่างนี้กันจริงๆคือบางทีเราถูกความโลภบังตา  เห็นคนอื่นรวยเร็วรวยง่ายเราก็อยากรวยแบบเค้ามั่ง…สนุกได้เก็งกำไรได้…แต่ลุกช้าจ่ายรอบวงนะจ๊ะ!

ตอนที่ 2 นีโอจะพาพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจในยุคใหม่  โดยเริ่มจากสิ่งที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีและหลายๆคนอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนั้น  นั่นคือวิกฤติอาหารประจำชาติเรา!!!  สิ่งที่ทำให้นีโอเจ็บปวดใจที่สุดคือเห็นกิจการของคนไทยหลายๆแห่งต้องถูกมัดรวมขายแบกะดินให้ต่างชาติมาเทคโอเวอร์  เห็นคนไทยหลายคนล้มละลาย  บางคนทำใจไม่ได้ถึงกับฆ่าตัวตายไปเลยก็มี  แต่แน่นอนที่สุดเมื่อมีคนเสียก็ย่อมต้องมีคนได้  และหนึ่งในคนที่ได้ต้องสงสัยว่าจะได้ประโยชน์ก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร  ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ  ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้อภิปรายในสภากล่าวหานายทักษิณว่ารับข้อมูลวงในจากนายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีสำนักนายกฯในขณะนั้น  ว่าจะมีการลดค่าเงินบาทในวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ทำให้นายทักษิณมีโอกาสซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทและซื้อเงินดอลลาร์ตุนเอาไว้  ท่ามกลางความหายนะของเศรษฐกิจชาติ  ต่อมานายโภคิน ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนายสุเทพถึง 2,562 ล้านบาท  หลังจากคดียืดเยื้อมานานถึง 11 ปี  ศาลฎีกาได้ตัดสินยกฟ้องคดีนี้ไป…

http://oknation.nationtv.tv/blog/Thaihippy/2013/05/20/entry-1

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000038823

วิกฤติต้มยำกุ้ง

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจที่มีการขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิตเพื่อการส่งออกจากการที่ญี่ปุ่นย้านฐานการผลิตเข้ามาในไทย  อีกทั้งเรายังได้อานิสงค์จากการภาคบริการเช่น การท่องเที่ยว  การส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ  ทำให้ตัวเลชการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP อยู่ในระดับสูงมาก  และกลุ่มทุนไทยหน้าใหม่สร้างความร่ำรวยจากการดำเนินธุรกิจใหม่เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  โทรคมนาคม การเงิน  เพื่อเป็นการแสดงให้ท่านผู้อ่านดูว่าเศรษฐกิจไทยร้อนแรงมากแค่ไหน  นีโอขอเอากราฟดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาประกอบ  จะเห็นได้ว่าดัชนีทำจุดสูงสุด หรือ All Time High ที่ 1,753.73 จุดในวันที่ 4 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงสุดตลอดกาลแม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 19 ปี  (แต่นีโอมีความเชื่อว่าเราอาจได้เห็นดัชนีทำจุดสูงสุดใหม่หรือ New High ได้ในปีหน้า  ซึ่งเราจะมาคุยกันในรายละเอียดตอนต่อไป)

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงในช่วงทศวรรษ 2530 ทำให้เกิดฟองสบู่ทางเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรษ  และส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเงินในหลายประเทศ  เช่น ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ต้องลดค่าเงินและต้องเข้าโครงการกู้เงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อรักษาเสถียรภาพสกุลเงิน  และยังส่งผลให้เกิดวิกฤติการเงินในรัสเซียและวิกฤติฟองสบู่ดอตคอมในเวลาต่อมา  นีโอกำลังจะบอกว่า เศรษฐกิจโลกสมัยใหม่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นและมีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนมากจนยากที่จะเข้าใจ  ขนาดเมื่อ 19 ปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกยังเพิ่งเริ่มมีความเชื่อมโยงกันหรือโลกเริ่มเข้าสู่กระแสโลภาภิวัฒน์  วิกฤติที่เริ่มจากประเทศเล็กๆที่ไม่ได้ร่ำรวยและไม่ได้มีความสำคัญมากอย่างประเทศไทยยังส่งผลกระทบไปหลายประเทศและส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอื่นๆต่อมา  เวลาที่นีโอพูดแบบนี้ก็จะมีคนต่อว่าคิดมากไปไหม  ทำให้คนกลัวเกินเหตุไปรึเปล่า  ธรรมชาติของมนุษย์คือถ้าไม่รู้ก็จะไม่กลัว  เมื่อไม่กลัวก็จะใช้ชิวิตหรือลงทุนอย่างประมาท  เมื่อประมาทเวลาที่เกิดวิกฤติขึ้นจริงๆก็จะเสียหายหนัก อาจถึงขั้นล้มละลาย ธุรกิจคนไทยหลายแห่งต้องตกเป็นของผู้ถือหุ้นต่างชาติ  ประเทศต้องเป็นหนี้และสูญเสียเอกราชทางการเงิน ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังฟองสบู่ปี 2540 แตก  ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อนีโอ  แต่ขอให้ผู้อ่านหาความรู้จากแหล่งอื่นเยอะๆ  เมื่อเรารู้เยอะเราจะกลัว  และเมื่อเรากลัวเราจะระวังเอง

นีโอขอสรุปคร่าวๆถึงสาเหตุการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งสั้นๆบางประเด็นที่สำคัญที่เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับวิกฤติทางเศรษฐกิจอื่นๆที่เกิดขึ้นตามมา  เพราะถ้าลงรายละเอียดมากบทความนี้จะกลายเป็นมหากาพย์และผู้อ่านจะเบื่อไปซะก่อน (ฮ่าๆๆๆ)

  1. นโยบายการเงินของพ่อใหญ่จิ๋ว (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกฯในขณะนั้น) ผิดพลาดอย่างร้ายแรง ในทางเศรษฐศาสตร์การเงินจะมีกฎเรื่อง impossible trinity คือสิ่งที่เกิดพร้อมกันทั้งสามอย่างไม่ได้เด็ดขาด นั่นคือ การตรึงอัตราแลกเปลี่ยน การเปิดเสรีทางการเงิน และนโยบายการเงินอิสระ สรุปง่ายๆคือการเปิดเสรีทางการเงิน (เปิดเสรีบัญชีทุน) กับการตรึงอัตราแลกเปลี่ยน ทำพร้อมกันไม่ได้ เหมือนกับแปรงฟันไปด้วย ผิวปากไปด้วย ทำไมได้ ถ้าทำแล้วจะพัง แต่ไทยก็ยังทำ ทำให้กระแสทุนไหลบ่าเข้ามามากมายทั้งที่ลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง และที่เข้ามาเพื่อให้กู้ และเราต้องทุ่มทุนรักษาอัตราแลกเลี่ยนมหาศาล สุดท้ายถูกโจมตีค่าเงินจากเฮดจ์ฟันด์ (นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย เลยพัง โซรอสจ้องหาประเทศที่ทำผิดกฎ impossible trinity อยู่แล้ว เมื่อเจอก็ลงมือเลย)

มีการกู้เงินหนี้ต่างประเทศระยะสั้นปริมาณมหาศาลเพราะมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่าในประเทศ แถมยังไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อมาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจต่างๆในประเทศ  (สมัยนั้นตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาห์สหรัฐ) หลังจากที่เราประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่  2กรกฎาคม 2540  พบว่าในปลายปีนั้นหนี้ต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นในระดับสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มีสัดส่วนถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศรวม และสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 70.40% เท่านั้น  หนี้ต่างประเทศที่กู้มานั้นมักจะนำมาลงทุนแบบเพื่อเก็งกำไร  ไม่ใช่เพื่อพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิต  เช่น  กู้เงินในระยะสั้นแต่กลับไปลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนระยะยาว   มีการนำเงินกู้ต่างประเทศรวมทั้งการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปลงทุนเกินตัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่น คอนโดมิเนียม ตึกสำนักงาน  สนามกอล์ฟ  จนทำให้เกิดสภาวะฟองสบู่คือมีโครงการมากกว่าความต้องการใช้สอยจริงๆ (Demand มากกว่า Supply นึกถึงดอกทิวลิปและจตุคามตอนพีคสุดๆไว้)

 

คุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อดีตนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งหมดตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้งกำลังยืนขายแซนด์วิชที่ข้างถนน 

ปัจจุบันคุณศิริวัฒน์กำลังนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ด้วยข้อผิดพลาดหลักๆของเราสองข้อที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก  หนี้ระยะสั้นสูง  การตรึงอัตราแลกเปลี่ยน  เปิดช่องให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างชาติเก็งกำไรจากการโจมตีค่าเงิน  ที่เรารู้จักกันดีก็คือกองทุน Quantum Fund โดยนาย จอร์จ โซรอส  รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ  ส่งผลให้รัฐบาลในขณะนั้นภายใต้การนำของพ่อใหญ่จิ๋ว (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ)  ไม่สามารถป้องกันค่าเงินบาทได้ต่อไปและต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540  ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนมาลึกที่สุดถึง 57 บาท  บริษัทที่มีการกู้เงินต่างประเทศมากๆโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์กลายเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ  จึงทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เกิดเป็นการล้มตามๆกันเป็น Domino Effect และส่งผลให้มีการเลิกจ้างเป็นวงกว้าง  ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ขยายตัวจากภาคธุรกิจไปสู่ประชาชนธรรมดาๆที่ตกงานขาดรายได้ในการส่งค่างวดบ้าน ค่าผ่อนรถต่างๆ ฯลฯ

จากความพยายามที่จะปกป้องค่าเงินบาทจากการโจมตีหลายครั้ง  ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตกอยู่ในสถานะล้มละลายทางเทคนิค  ไทยเองก็พยายามขอความช่วยเหลือกู้เงินจากมหามิตรสหรัฐอเมริกาเพื่อมาพยุงฐานะของค่าเงินบาท  แต่อเมริกาไม่ได้ให้ความช่วยเหลือไทยเลย  มีแต่ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ไทย  แต่นั่นก็ยังไม่พอ  ไทยยังต้องรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งแลกมากับกับการสูญเสียมากมาย  เช่นการขายธุรกิจไทยในราคาถูก  การแก้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติ เป็นต้น

“…. เริ่มจากเฮดจ์ฟันด์ต่างๆที่กอบโกยกำไรมหาศาลจากการโจมตีค่าเงินของไทย  ล้วนแต่มีสัญชาติอเมริกันเป็นส่วนใหญ่  ครั้นเมื่อมีการประมูลขายทรัพย์สินขององค์การเพื่การปฎิรูประบบสถาบันการเงิน  (  ปรส.  )  หรือเมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  นักลงทุนสหรัฐคือผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด  เพราะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูงสุดในเวลานั้น    แล้วยังสามารถซื้อได้ในราคาเพียง  25-30  %  ของราคาเดิมเท่านั้น  เนื่องจากเป็นราคาเลหลังและค่าเงินของไทยเวลานั้นก็ลดลงไปกว่า  50  %  แล้ว  (เรียกได้ว่าลดแล้วลดอีก ถูกแล้วถูกอีก—-คหสต.)
          นอกจากนี้  ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศ  ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่สหรัฐจะได้ต่อรองเงื่อนไขการลงทุน   ไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมายให้คนต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้  การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในสถาบันการเงิน  เช่นธนาคาร  หรือบริษัทประกันภัย  ทั้งยังขอให้เปิดเสรีในการประกอบอาชีพที่เคยสงวนสิทธิให้แก่คนไทยอีกด้วย…”http://oknation.nationtv.tv/blog/banyong/2007/06/30/entry-1


สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากวิกฤติต้มยำกุ้ง

  • ต้นทุนการเงินที่ถูกทำให้เกิดการกู้ยืมเงินมาเพื่อเก็งกำไร เช่นการหวังส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย  และการนำเงินไปลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จนเกินความต้องการจริงไปมาก  (Demand มากกว่า Supply ล้นเหลืออีกแล้วครับท่าน!)  ด้วยสภาพคล่องในระบบที่ล้นเหลือจากการปล่อยกู้แบบง่ายๆจึงทำให้เกิดการเก็งกำไรอย่างหนักในตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์จนเป็นฟองสบู่
  • การดำเนินนโยบายทางการเงิน Impossible Trinity ที่ทำพร้อมกันไม่ได้ 3 เรื่อง (ดูรายละเอียดข้างต้น) เมื่อมีการโจมตีค่าเงินบาทหลายครั้งๆ รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ยอมรับความจริงกลับนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปปกป้องค่าเงินบาทจนหมดตัว  เปรียบเสมือนมวยวัดที่เปิดหน้าชกกับบัวขาว  ในที่สุดก็ต้องแพ้น๊อค…เพราะเงินสำรองเกือบหมดต้องลอยตัวค่าเงินบาทอยู่ดี
  • เมื่อ 19 ปีก่อนยังเป็นยุคแรกๆของโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ผลความเสียหายของฟองสบู่แตกในประเทศเล็กๆอย่างไทยยังสามารถส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเงินกับหลายประเทศในเอเชีย และยังส่งผลให้เกิดวิกฤติการเงินในรัสเซียในปี 2541 และวิกฤติฟองสบู่ดอตคอมในปี 2542   ปัจจุบันนี้  เศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนมากกว่า 19 ปีก่อน  หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้งย่อมจะส่งผลเสียหายอย่างลึกซึ้งในวงกว้างและน่าจะกินเวลานานกว่าครั้งก่อนๆ

คนไทย 99% เวลาพูดถึงนาย จอร์จ โซรอส แล้วจะของขึ้นควันออกหู  แต่นีโอเฉยๆนะ  เพราะงานของกองทุนเฮดจ์ฟันด์คือการมองหาโอกาสเข้าโจมตีประเทศที่อ่อนแอกว่าไม่ว่าจะเป็นเพราะนโยบายการเงินที่ผิดพลาดหรือหนี้ระยะสั้นสูงหรือปัญหาทางการเมือง มีผู้ให้คำจัดกัดความปรากฎการณ์ “โจรใส่สูท” ที่ฉกฉวยประโยชน์จากตลาดเงิน ตลาดทุนในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาว่า ทุนนิยมคาสิโน (Casino Capitalism)  นีโอมองว่าเป็นหน้าที่ของคนไทย รัฐบาลไทยที่จะต้องรู้เท่าทันกลไกการทำงานของระบบทุนนิยมคาสิโนนี้ และต้องหาทางป้องกันไม่ให้เขามากอบโกยความมั่งคั่งของเราหรือเข้ามาเป็นเจ้าของในกิจการของคนไทยในราคาแบกะดินอีกเหมือนตอนต้มยำกุ้ง    ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของทุนจักรวรรดินิยมที่ไร้พรมแดน  ผู้ที่จะอยู่รอดได้คือผู้ที่ตื่นรู้  ปรับตัว  และเตรียมพร้อมเสมอเท่านั้น!

ในตอนต่อไป นีโอจะพูดถึงวิกฤติดอทคอมและวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์  และจะให้มุมมองว่าปัจจุบันเรากำลังตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงของฟองสบู่หรือไม่  และคนไทยควรเตรียมตัวอย่างไร

http://www.mbamagazine.net/index.php/must-read-3/160-m-m-s-v15-160

https://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย_พ.ศ._2540

https://sufficienteconomytupl.wordpress.com/พระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเ-2/