วันพฤหัสบดี 12 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

มูลเหตุของการก่อกบฏของทหารหัวเมืองในปี ๒๔๗๖ – ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน

มูลเหตุของการก่อกบฏของทหารหัวเมืองในปี ๒๔๗๖
.
ผมมองว่าการเมืองและผลประโยชน์ คือเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับโลก ผู้ใดสามารถแบ่งทรัพยากรส่วนรวมไปเป็นส่วนตนได้มาก ก็พอใจในสถานภาพนั้นและพยายามรักษาไว้ ผู้ที่ได้น้อยไปหรือไม่พอก็ไม่พอใจ ต้องหาทางต่อรองหรือต่อสู้ให้ได้ส่วนแบ่งเพิ่ม การเมืองที่นิ่งคือช่วงที่แต่ละกลุ่มได้รับการจัดสรรผลประโยชน์อย่างลงตัว เครื่องมือที่แต่ละกลุ่มใช้ต่อรองผลประโยชน์กันก็คืออำนาจ ทั้งอำนาจที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่อำนาจที่ชัดเจนที่สุดคืออำนาจปืน ในโลกนี้ ใครมีอาวุธเหนือกว่าย่อมมีเสียงดังกว่า

ในประวัติศาสตร์ของไทยแต่โบร่ำโบราญมา ไม่มีอำนาจทางการเมืองของใครจะอยู่ได้ถ้าไม่มีผู้ถืออาวุธเป็นพวก และการตัดสินใจของผู้ถืออาวุธที่เข้าหนุนใครหรือกลุ่มการเมืองใด ก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์เท่านั้น อุดมการณ์คือข้ออ้าง คนที่ยึดถือและทำตามอุดมการณ์ของตน เป็นคนส่วนน้อย น้อยมากจนถึงน้อยที่สุด

ลองอ่านไปเรื่อยๆก่อนนะครับพี่น้องผองเพื่อน อย่าเพิ่งอัดผมตอนนี้

.
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ สำเร็จได้เพียงเดือนเดียว พันเอกพระยาทรงสุรเดช ผู้ก่อการคนสำคัญซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ เป็นรองก็เฉพาะพระยาพหลผู้บัญชาการเท่านั้น ก็ได้เรียกประชุมนายทหารเพื่อรับทราบนโยบายเรื่องการปรับลดสายการบังคับบัญชาทหาร จากเดิมที่เสนาธิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร แล้วถัดลงมาเป็นกองทัพน้อย(ปัจจุบันคือ กองทัพภาค) กองพล กรม และกองพันตามลำดับ ให้ปรับลดโครงสร้างดังกล่าวเสียใหม่ โดยยุบเลิกกองทัพน้อย กองพล และกรมเสียทั้งหมด คงเหลือแต่หน่วยกำลังระดับกองพันขึ้นต่อผู้บัญชาการทหารบกโดยตรง ส่วนยศนายทหารนั้น ชั้นนายพลทั้งหลายให้เลิกหมด โดยยศสูงสุดคือพันเอก เช่นเดียวกับโครงสร้างของกองทัพสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นประเทศเล็กๆเช่นสยาม แต่เข็มแข็งและมีคุณภาพที่ชาติใหญ่ๆยังเกรงขาม
.
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เคยงัดข้อกันมาแล้วตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ กองทัพเล็กๆนายใหญ่ยศแค่พันเอกมันจะสบายได้อย่างไร งบประมาณประจำปีก็จะน้อยลงตามขนาด อดอยากปากแห้งตายกันพอดี พันโทหลวงพิบูลสงคราม ดาวรุ่งพุ่งแรงจึงประท้วงด้วยการวอร์คเอ้าท์จากที่ประชุมผู้ก่อการกลับบ้านไปเฉยๆ ต่อมาปรับความเข้าใจกันแล้วนึกว่าจะเลิก ที่ไหนได้พอปฏิวัติสำเร็จ มีอำนาจในมือพระยาทรงก็รีบดำเนินการ เริ่มด้วยการตั้งคณะกรรมการเลือกผู้บังคับบัญชาขึ้น เท่านั้นเองความวุ่นวายก็เกิด เพราะเท่ากับทำลายระเบียบการปกครองของทหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างยิ่ง
ที่เลวร้ายที่สุดคือ ให้สั่งการโยกย้ายหน่วยทหารอย่างสายฟ้าแลบ เมื่อเข้าไปในกรมกองก็สั่งให้เป่าแตรเรียกแถวฟังคำสั่ง แล้วออกเดินทางไปต่างจังหวัดโดยทันที ครอบครัวให้ตามกันไปเองทีหลัง
เรื่องนี้ไม่เฉพาะหลวงพิบูลที่โกรธแต่พอทำใจได้เพราะเข้าใจว่าเป็นการกำจัดทหารที่จงรักภักดีต่อกลุ่มอำนาจเก่า ส่วนทหารที่โดนผลกระทบก็เริ่มเกลียดคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงทำไปแล้วก็ต้องระวังตัวเต็มที่ สั่งตั้งบังเกอร์รังปืนกลล้อมรอบวังปารุสก์ที่อยู่และที่ทำงานของผู้ก่อการอย่างแน่นหนา
.
การเมืองยังคงพลิกผันกระพริบตาเป็นไม่ได้แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ หลังการปฏิวัติ พระปกเกล้าทรงคัดค้าน“เค้าโครงเศษรฐกิจ”เต็มที่ว่าไปลอกแบบคอมมิวนิสต์รัสเซียมา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยรุนแรงขึ้นทุกที จนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์)ผู้เสนอแผนถูกขอร้องแกมบังคับให้ไปอยู่ปารีสชั่วคราวเพื่อลดความขัดแย้ง
นึกว่าจะจบแต่ไม่จบ ผู้ก่อการใหญ่สายทหารที่ได้รับสมญานามว่าสี่เสือไม่พอใจขอลาออกจากสมาชิกสภาเพื่อประท้วง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีก็ปรึกษากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เชิญหลวงพิบูลมาปรึกษาแล้วสรุปว่าให้ปล่อยไป แล้วตั้งพลตรีพระยาพิไชยสงคราม(แก็บ สรโยธิน) เป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหล ให้พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนพันโทหลวงพิบูลสงครามจะขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โดยหลวงพิบูลรับเป็นผู้ไปส่งเทียบเชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองด้วยตนเอง
พระยาศรีสิทธิสงครามนั้นตกลงรับเพราะเห็นด้วยกับหลวงพิบูลเรื่องการโยกย้ายทหารที่พระยาทรงได้สั่งการไปแล้ว โดยหลวงพิบูลขอให้ช่วยแก้ไข และหาทางป้องกันไม่ให้พระยาทรงกลับเข้ามามีอำนาจอีกได้
.
เพียงเดือนเดียวเท่านั้น พระยาศรีสิทธิสงครามก็มีคำสั่งโยกย้ายนายทหารแบบสายฟ้าแลบ สร้างความปั่นป่วนแก่วงการทหารอีกครั้งหนึ่ง เท่านั้นยังไม่พอ หลวงพิบูลได้รับรายงานจากสายลับว่า คำสั่งชุดใหม่กำลังจะคลอดตามมาอีก ไปแอบดูโผมาแล้วบรรดาสมุนของพวกผู้ก่อการจะถูกย้ายให้พ้นจากสายบังคับบัญชาทั้งหมด
เท่านั้นเองหลวงพิบูลก็ควันออกหู ตัดสินใจที่จะปฏิวัติทันที แต่ยั้งคิดว่าตนยังบารมีไม่ถึงขั้นจะเป็นหัวหน้า จึงไปเชิญพระยาพหลมาเป็นผู้นำคณะทหาร ไปสะกิดให้พระยามโนลาออกเสีย ซึ่งท่านก็ยอมลาออกโดยดี และต่อมาก็ได้ลี้ภัยไปปีนังจนถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น
.
ทันทีที่ปฏิวัติเงียบสำเร็จ หลวงพิบูลก็มีคำสั่งปลดพระยาศรีสิทธิสงครามออกกลางอากาศ และส่งสมุนมาขับไล่ไสส่งท่านออกจากห้องทำงานแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว เรื่องนี้สร้างความโกรธแค้นให้แก่พระยาศรีสิทธิสงครามอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการหยามเกียรติที่เกินกว่าเหตุ
.
ความวุ่นวายในวงการทหารตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมานี้ เรืออากาศโท ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ได้เขียนไว้ใน ความฝันของนักอุดมคติว่า “…ท่านสุภาพบุรุษผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริตและมีเกียรติยศ แต่ท่านได้เอาความยุ่งเหยิงมาสถิตแทนความมีระเบียบ เอาความแตกก๊กแตกเหล่ามาแทนความสามัคคี การรักษาตัวให้ปลอดภัยโดยตั้งป้อมค่ายขึ้นที่วังปารุสกวัน โดยจัดตำรวจลับออกลาดตระเวนจับคนที่ไม่ยอมเป็นพวกพ้อง โดยโยกย้ายนายทหารจัดรูปกองทัพสำหรับปราบจลาจล โดยบรรจุคนของตนเข้าดำรงตำแหน่งชั้นหัวหน้าอย่างไม่คำนึงถึงวุฒิความสามารถ…” สะท้อนให้เห็นความคิดของนายทหารชั้นผู้น้อยที่ไม่ใช่พวกคณะราษฎร์ในยุคนั้น
.
สมัยที่พระยามโนยังเป็นนายก ได้มีเจ้านายระดับพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าหลายองค์ร่วมกับกลุ่มขุนนาง ขออนุญาตจัดตั้ง “สมาคมคณะชาติ” ขึ้นบ้าง เพื่อเลียบแบบ “สมาคมคณะราษฎร” ที่ตั้งขึ้นเพื่อเลี่ยงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ห้ามมีพรรคการเมือง แต่รัฐบาลไม่อนุญาต

ครั้นเปลี่ยนรัฐบาลใหม่พระยาพหลเป็นนายกและหลวงประดิษฐ์กลับจากปารีสมาเป็นรัฐมนตรี พวกคณะชาติเก่าก็กลายพันธุ์เป็น”คณะกู้บ้านกู้เมือง” มีคนที่เกลียดคณะราษฎร์เข้ากระดูกดำมาตั้งวงถกกันเป็นประจำ และหนึ่งในนั้นคือพระยาศรีสิทธิสงคราม ประเด็นที่คุยออกแนวไปในทางที่จะต้องจัดทัพไล่รัฐบาลบ้าง โดยชูให้พระยาศรีสงครามเป็นแม่ทัพ
.
ครั้นเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลปล่อยให้คดีหมิ่นประมาท เรื่องเลขานุการสมาคมกรรมกรรถรางฟ้องพระเจ้าอยู่หัวหมิ่นตน ยืดเยื้อจนทำให้เป็นกระทู้ในสภาและส.ส.หลายคนอภิปรายพาดพิงไปถึงสถาบันด้วยถ้อยคำจาบจ้วงรุนแรง เหมือนกุ๊ยด่ากันในซอย ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังคงจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่พอใจคณะราษฎรมากขึ้น พระยาศรีสิทธิสงครามเห็นว่าอารมณ์คนเดือดได้ที่แล้ว ถึงเวลาที่จะกระทำการใหญ่ได้ เมื่อจุดประเด็นกับพวกนายทหารนอกประจำการที่เคยโดนผลกระทบจากการถูกปลดออกใหม่ๆ และระดับคุมกำลังที่เคยโดนโยกย้ายสมัยพระยาทรง ส่วนใหญ่ก็บอกว่าจะเอาด้วย
.
หลวงพิบูลเองก็ได้รับรายงานจากหลวงอดุล หัวหน้าตำรวจสันติบาลว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดสังเกตุ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะทำอะไร จึงร่างสาส์นขึ้นมาฉบับหนึ่ง ความตอนสำคัญมีดังนี้

“…..บัดนี้ปรากฏตามทางสืบสวนว่า ท่านได้มีประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะทำให้เกิดความความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลมีกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าดังที่ควรจะเป็น ในฐานะที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็ขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะผู้ก่อการก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง ที่กล่าวมานี้มิใช่ขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี….”

จดหมาย“ปราม” นี้ ส่งไปขอแสดงความนับถือยังนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน และหม่อมเจ้าสายราชสกุลสวัสดิวัตน์สองสามองค์ที่ใกล้ชิดกับวังศุโขทัย รวมทั้งพระองค์เจ้าบวรเดชด้วย
.
พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช คือผู้ที่ทรงเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆมาหลายตำแหน่งตั้งแต่รัชกาลก่อน เช่นทรงเป็นอุปราชมณฑลพายัพ และแม่ทัพใหญ่มณฑลอีสาน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนฐานันดรศักดิ์จากหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า สุดท้ายในตอนต้นรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นถึงเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แต่ทรงลาออกจากตำแหน่งหลังจากแพ้มติที่ทรงเสนอให้ขึ้นเงินเดือนทหารในที่ประชุมเสนาบดีสภา ซึ่งที่ประชุมไม่เห็นด้วยเพราะกำลังเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีแต่จะต้องตัดงบประมาณลง ถึงกับมีการทุ่มเถียงกันอย่างรุนแรงกับเจ้านายระดับสูงหลายพระองค์ แถมมีกระทบกระเทียบไปถึงบรรพบุรุษสายมารดาของท่านเข้าให้ด้วย กระทั่งเข้าหน้ากันไม่ติดหลังจากนั้น
.
ข่าวว่าทรงลาออกเพราะต่อสู้เพื่อลูกน้อง ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชได้ใจจากนายทหารทั้งหลายพอสมควร ทำให้ทรงคิดว่าคนพวกนี้จะเป็นฐานสนับสนุนพระองค์ในอนาคตด้วย ทรงคิดผิด เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่จะเห็นว่าผลประโยชน์ตรงหน้าสำคัญกว่าบุญคุณในอดีต
.
ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น นายทหารนักเรียนนอกหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้ใช้สนามเทนนิสแถวถนนวิทยุเป็นที่สังสรรแลกเปลี่ยนทรรศนะทางการเมืองกัน เรื่องส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นความไม่พอใจต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เอื้ออำนวยให้พวกเจ้านายและขุนนางไร้ความสามารถมีอำนาจเหนือแผ่นดิน แล้วทำกร่างโดยไม่นึกถึงว่าจะกระทบไปถึงพระเจ้าอยู่หัว แปลกที่สโมสรแห่งนี้จะมีเจ้าองค์หนึ่งไปปรากฏร่วมกับเขาด้วยเป็นครั้งคราว คือพระองค์เจ้าบวรเดช วันหนึ่งหลังจากทรงลาออกจากราชการแล้ว พระยาพหลเคยทูลถามเปรยๆทีเล่นทีจริงว่ากรุงเทพฯนี่ถ้าจะยึดให้ได้ง่ายๆ เงียบๆ จะทำอย่างไรดี ทรงรับสั่งตอบทันควัน เหมือนทรงรู้อะไรดีว่านายทหารแถวนี้คิดอะไรกันอยู่ว่า “ยึดกรุงเทพฯได้แล้วเราจะทำอะไรต่อไป จะให้อะไรที่ดีขึ้นแก่ราษฎร และพรรคพวกของเราจะรักษาสัจจะได้แค่ไหน หัวใจมันอยู่ตรงนี้…”

 

หลักฐานเอกสารหลายฉบับกล่าวตรงกันว่า การจับเจ้าบางองค์เป็นตัวประกันก็เป็นแผนที่มาจากการสนทนาทีเล่นทีจริงของเจ้านายองค์นี้ด้วย จึงไม่แปลกอะไรที่เช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายนนั้น จะมีคนเห็นพระองค์เจ้าบวรเดชทรงชุดเทนนิสสีขาว ไปเดินเล่นหน้าพระที่นั่งอนันต์โดยไม่กลัวว่าจะถูกจับเป็นตัวประกันกับเขาเข้าบ้าง แถมยังเลียบๆเคียงๆทหารขอเข้าพบพระยาพหลซะด้วย
ผู้ก่อการคนหนึ่งเขียนความทรงจำเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ชีวิต๕แผ่นดินของข้าพเจ้า” ว่า ทรงถามพระยาพหลทำไมไม่เอาท่านเป็นหัวหน้า ซึ่งพระยาพหลทูลตอบว่า ถามคนอื่นแล้ว เขาไม่เอากัน
.
พระองค์บวรเดชเป็นเจ้านายกลุ่มที่อยากให้สยามเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมาช้านานแล้ว กรมพระนครสวรรค์ซึ่งความจริงก็อยู่ในกลุ่มความคิดเดียวกันจึงรับสั่งถามเมื่อคณะราษฎร์จับพระองค์เป็นตัวประกันว่า ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม น่าสงสารเจ้านายหัวนอกองค์นี้ที่ไม่มีใครเชื่อว่าทรงเป็นนักประชาธิปไตย เพราะนิสัยเจ้ายศเจ้าอย่าง ชอบวางองค์ข่มผู้อื่น เมื่อทรงผิดหวังกับคณะราษฎรที่มองข้ามเศียร จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่จะสอดองค์เข้าไปเป็นผู้นำการปฏิวัติแทนพระยาศรีสิทธิสงคราม โดยไม่ทรงสังหรณ์สักนิดว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของคณะกู้บ้านกู้เมือง
แม่ทัพนายกองหลายคนสะดุ้งเฮือกขึ้นมาทันที เกรงว่าหากทำสำเร็จแล้ว ระบอบราชาธิปไตยจะฟื้นกลับมาอีกโดยมีภาพและฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าบวรเดชหลอนอยู่ ผู้บังคับกองพันในพระนครคนสำคัญๆหลายนายนั้น นอกจากจะไม่เอาด้วย ยังเปลี่ยนใจไปอยู่ข้างรัฐบาล และมารบกับคณะกู้บ้านกู้เมืองภายหลังจากนั้นอีกไม่นาน
.
ตอนที่ทรงได้รับจดหมายเตือนจากหลวงพิบูลให้อยู่เฉยๆ คนอื่นก็เข้าไปเคลียร์ตนเองหมดขาดแต่พระองค์ที่ทรงมีทิฐิมานะสูงเกิน จะว่าไปแล้ว จดหมายฉบับนี้ เลยทำให้ทรงทราบว่าพวกคณะกู้บ้านกู้เมืองน่าจะกำลังทำอะไรอยู่แน่ๆ และน่าจะขาดอะไรสักอย่างหนึ่งด้วย จึงทรงหาเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทไว้แสดงในระหว่างการเปิดตัว และคงต้องตรัสความนัยอะไรออกไปบ้างจนแกนนำคณะกู้บ้านกู้เมืองยอมรับ ชูพระองค์เป็นแม่ทัพใหญ่แทนพระยาศรีที่ยอมลดตนเองลงมาเป็นรอง

สโมสรคณะราษฎร์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเลี่ยงบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่ห้ามตั้งพรรคการเมือง

.
หลังปราบกบฏจบแล้ว รัฐบาลพบหลักฐานว่า เงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทนั้น ถูกจ่ายให้พระองค์เจ้าบวรเดชโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงเป็นเป้าให้พวกแอนตี้เจ้าทั้งหลายโจมตีอย่างสาดเสีย ทั้งๆที่ทรงปฏิเสธว่า ไม่ได้ทรงทราบเรื่องหรือรู้เห็นเป็นใจมาก่อนเลย เมื่อทรงทราบนั้นก็เกินแก้แล้ว
.
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คุมสำนักงานทรัพย์สินฯมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตทุกครั้งก็คือกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ พระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าอยู่หัว พระบิดาของหม่อมเจ้าราชสกุลสวัสดิวัตน์หลายองค์ที่โดนจดหมายเตือนของหลวงพิบูลนั่นเอง รัฐบาลก็ทราบอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เจตนาจะมิเอ่ยถึง และปล่อยสมุนบริวารนำความนี้มาปรักปรำพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในภายหลังอยู่เนืองๆ
.
พระองค์เจ้าบวรเดชเมื่อเข้าไปเป็นใหญ่ก็เปลี่ยนแผนของพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งวางกลยุทธไว้ว่าจะใช้วิธีจู่โจมจับคนสำคัญในคณะรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นมีที่พักรวมกันอยู่ในวังปารุสกวัน โดยจะใช้ทหารหัวเมืองชั้นในที่อยู่ในคาถาของตนเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน จี้รถไฟมาลงที่สถานีจิตรลดาแล้วตรงเข้ายึดวังปารุสก์ โดยทหารในพระนครอีกส่วนหนึ่งที่คุยๆกันไว้แล้ว อย่างพันตรีหลวงวีรโยธา ผู้บังคับกองพันทหารราบที่๖ (ปัจจุบันคือพล.๑) ซึ่งตั้งอยู่หลังวังปารุสก์นั่นเอง จะเข้าสกัดหากมีฝ่ายรัฐบาลเคลื่อนพลออกมาต่อสู้
แต่พระองค์เจ้าบวรเดชทรงเห็นว่าถ้าบุกเข้าตีรังแตนตรงๆอย่างนั้น คงจะได้มีเลือดตกยางออกแน่ ทรงมีแนวความคิดแค่ให้ระดมกำลังทหารหัวเมืองมาแสดงพลังให้มากที่สุด โดยยึดดอนเมืองเป็นฐาน เอากำลังพลที่เยอะกว่าขู่ให้ทหารฝ่ายรัฐบาลใจฝ่อ หลังจากนั้นจึงทำการเจรจาบีบให้รัฐบาลถอดใจลาออก จะได้จบกันไปโดยดีแบบไม่มีใครเสียเลือดเนื้อให้พระเจ้าอยู่หัวต้องเสียพระทัย
.
พระยาศรีสิทธิสงครามไม่เห็นด้วยกับแผนที่กลัวๆกล้าๆแต่ตั้งชื่อเสียหรูว่า“แผนล้อมกวาง”นั้นเลย แต่จำเป็นต้องยอมปฏิบัติตาม และในที่สุดก็ลงเอยแบบ “ไอ้เดชหนี ไอ้ศรีตาย” ดังที่ทหารเลวทั้งสองฝ่ายเอามาเมาท์กัน