วันพฤหัสบดี 12 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

“ม.ปาวี” ฝรั่งเศสสุดแสบ! ร.๕ ทรงเล่า มันยังมีหน้ามาขอเป็นล่ามให้ที่ปารีส!! – โรม บุนนาค

อนุสาวรีย์ ม.ปาวีที่ถูกโยนลงแม่น้ำโขง

อนุสาวรีย์ ม.ปาวีที่ถูกโยนลงแม่น้ำโขง

 

สมัยผู้เขียนเป็นเด็ก ยังจำได้ว่าการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่นิยมกันแพร่หลายในยามนั้น ก็คือ “ปิดตาตีหม้อ” เอาหม้อดินหรือปี๊บวางไว้ตรงกลางลาน แล้วปิดตาคนให้ถือไม้ออกไปตี แต่ตอนสงครามอินโดจีนไทย-ฝรั่งเศสในปี ๒๔๘๓ ไม่ว่างานไหนงานนั้น จะมีป้ายติดไว้ที่หม้อหรือปี๊บด้วยว่า “หัว ม.ปาวี” ให้คนไทยได้ระบายความแค้นความเกลียดชังที่สะสมมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

ม.ปาวี หรือ มองสิเออร์ออกุสต์ ปาวี เดิมเป็นเสมียนอยู่ในคณะปักเสาโทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ-ไซ่ง่อน ของฝรั่งเศส เป็นผู้ที่ใฝ่แสวงหาความรู้ ชอบการสำรวจและศึกษาแผนที่ในภูมิภาคเอเชีย จึงได้ย้ายไปเป็นพนักงานสำรวจแผนที่ของฝรั่งเศส ออกสำรวจดินแดนลาว เขมร ญวน และยังสำรวจพื้นที่ของลุ่มน้ำโขงตามแนวเขตประเทศไทย จนมีความรู้ภูมิประเทศตลอดจนนิสัยใจคอของคนชาติต่างๆในย่านนี้เป็นอย่างดี

เมื่อฝรั่งเศสเรียกร้องต่อไทยขอตั้งสถานกงสุลขึ้นในหลวงพระบาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯไม่ทรงอนุญาต เพราะไม่มีคนฝรั่งเศสอยู่ในหลวงพระบางเลย แต่ฝรั่งเศสก็พยายามใช้ชั้นเชิงหลายรูปแบบ จนในที่สุดไทยก็ยอมให้ตั้ง บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นไวซ์กงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบางคนแรก ก็คือ ม.ปาวี

เมื่อเข้ารับตำแหน่งในปี ๒๔๒๙ ม.ปาวีก็วางกุศโลบายที่จะเชือดเฉือนดินแดนไทยไปเป็นของฝรั่งเศส เอกสารสำคัญระหว่างฝรั่งเศสกับไทยในสมัยนั้น ล้วนแต่มี ม.ปาวีเป็นผู้ลงนามทั้งนั้น และยิ่งมีบทบาทเข้มข้นขึ้นเมื่อได้รับตำแหน่งกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯในปี ๒๔๓๔

ตอนที่อยู่หลวงพระบาง นายปาวีเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด เพราะถูกพวกฮ่อล้อม ทหารไทยได้ช่วยชีวิตไว้ได้ แต่ก็ไม่ทำให้นายปาวีซาบซึ้งจนลดบทบาทเชือดดินแดนไทยตามนโยบายล่าอาณานิคม การเรียกเรือรบให้บุกฝ่าป้อมปืนที่ปากน้ำเข้ามากรุงเทพฯ ยื่นคำขาดให้มอบแคว้นลาวให้ฝรั่งเศส เมื่อได้รับคำตอบช้าก็เรียกเรือรบมาปิดอ่าวไทย ขึ้นยึดเกาะสีชัง และเรียกค่าเสียหายที่ไทยต่อต้านเรือรบฝรั่งเศสผู้บุกรุก จนเงินเกลี้ยงท้องพระคลัง ยึดจันทบุรีและตราด เพื่อบีบเอาดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งพระตะบองและเสียมราฐ ที่คนฝรั่งเศสอยากได้นครวัดไปอย่างหน้าด้านๆ อ้างแต่เพียงว่าดินแดนเหล่านี้เคยเป็นของญวน เมื่อญวนตกเป็นของฝรั่งเศสแล้วก็ต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย ทั้งๆที่ญวนและไทยต่างก็ผลัดกันครองมาตลอด จนหนังสือพิมพ์ในยุโรปพากันประณามการกระทำของฝรั่งเศสกับไทยว่าเหมือนหมาป่ากับลูกแกะนั้น เป็นฝีมือของนายปาวีทั้งนั้น และมักจะทำโดยพละการเสียด้วย

ขณะที่คนไทยทั้งประเทศโกรธแค้นเกลียดชังนายปาวีอย่างฝังใจ รัฐบาลฝรั่งเศสก็ชื่นชมผลงานของนายปาวีอย่างล้นเหลือ ที่สามารถยึดลาว ยึดเขมร และเฉือนดินแดนไทยไปผนวกอินโดจีนให้ฝรั่งเศสได้ จึงสร้างอนุสาวรีย์ของนายปาวีไว้ที่กรุงเวียงจันทน์ มีรูปคนลาวชายหญิงนั่งไหว้นายปาวีอย่างเทิดทูนอยู่ที่ฐานอนุสาวรีย์ แต่เมื่อลาวได้รับเอกราช คนลาวได้ช่วยกันรื้ออนุสาวรีย์นายปาวีไปโยนลงแม่น้ำโขง ต่อมาฝรั่งเศสได้งมรูปนายปาวีไปตั้งไว้ในสถานทูตที่เวียงจันทน์อีก

ในคราวที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ทรงได้พบกับนายปาวี ทรงมีพระราชหัตถเลขาเล่าพระราชทานกรมพระยาดำรงราชานุภาพไว้ว่า

“…เธอคงอยากรู้เปนอันมาก ว่าฉันได้พูดกับอ้ายปาวีอย่างไร มันเจ้าก้า (นบนอบ) เหลือสติกำลัง เข้ามารับอาสาเปนล่ามฉันพูดกับลูกสาวเปรสิเดนต์ ฉันก็ออกจะไม่อยากพูดกับมัน จำใจต้องพูด ครั้นเวลาเลิก มันบอกว่ามันมีความยินดีที่การตกลงกันเรียบร้อย (เรื่องเมืองเสียมราฐและพระตะบอง) ฉันว่าข้าต้องการจะให้เรียบร้อยมานานนักหนาแล้ว มันเรียบไม่ได้ก็เพราะเจ้า ถ้าเจ้าพูดเสียตรงๆ อย่างเช่นที่ได้ตกลงกันครั้งนี้ ที่ไหนมันจะลำบากมาเปนสิบเอ็ดสิบสองปี ข้าไม่โทษคนอื่น โทษเจ้าทั้งนั้น มันหัวร่อเรี่ยมากจนหน้าแดง บอกว่ามีความเสียใจเปนอันมาก ที่จริงความที่วุ่นวายมากไป เพราะอังกฤษเข้าแทรก ฉันเห็นพอแล้วก็เลยพูดเรื่องอื่นต่อไป…”

ม.ปาวี

ม.ปาวี

 

โดย: โรม บุนนาค