วันพฤหัสบดี 5 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

วันที่พระพักตร์ของ ‘พ่อ’ ดูเศร้าหมองที่สุด คือ 14 ตุลาคม 2516

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ตุลาคม ที่ห้องประชุม 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลา” ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2


516 ว่า ในวันดังกล่าวได้ทำหน้าที่นายตำรวจรักษาราชสำนัก หน้าที่คือถวายความปลอดภัยให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่า เป็นเรื่องยากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทรงหลีกเลี่ยงการเมืองเพราะท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า โดยผู้ถืออาวุธ ซึ่งส่งผลให้บ้านเมืองย่อยยับไปเรื่อยมา ผู้ที่ดำเนินการยึดอำนาจแต่ละครั้งนั้นพอยึดอำนาจแล้ว ก็ต้องเข้าไปหาพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล ซึ่งทางพระมหากษัตริย์ก็ปฏิเสธอะไรได้ลำบาก เพราะผู้มีอำนาจเป็นผู้ถืออาวุธ ยึดอำนาจไว้หมดแล้ว แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะมีตำแหน่งจอมทัพตามรัฐธรรมนูญแต่ก็ถือว่าเป็นตำแหน่งที่เป็นเกียรติเฉยๆ ไม่ได้มีอำนาจบังคับบัญชาอะไร

สำหรับเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 นั้น ถือเป็นเดือนวิกฤติของคนไทย เพราะมีนักศึกษามีผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นจำนวนมาก แต่บุคคลเหล่านี้กลับถูกจับในข้อหามีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ ส่งผลทำให้มีผู้ชุมนุมมากขึ้นจากหลักหมื่นกลายเป็นหลักหลายแสนคน ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะใช้ไม้อ่อนกลับใช้ไม้แข็ง เตรียมปราบปรามผู้ชุมนุม สำหรับตนก็ได้ออกไปดูเหตุการณ์พบว่ามีการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ในตอนแรกนั้นเข้าใจว่าเหตุการณ์ชุมนุมนั้นคงไม่หนักหนา เพราะผู้ชุมนุมชุมนุมโดยสงบ ซึ่งต่อมาตนก็ได้ไปรับตัวแทนนักศึกษาเพื่อจะพาตัวแทนนิสิต นักศึกษา ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินที่พระราชวังสวนจิตรลดา และมีการเจรจากันกับตัวแทนของทางรัฐบาลจนรู้เรื่องว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวตัวแทนของนักศึกษาที่ถูกจับกุมและและจะดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลา 20 เดือน

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า หลังจากการเจรจา ตนก็ได้ไปขึ้นเวทีชุมนุมของนักศึกษาเพื่ออ่านสำเนาพระราชดำรัสให้กับผู้ชุมนุมฟัง และตนก็ได้แถมท้ายว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแบบนี้แล้ว รัฐบาลก็ยอมปล่อยผู้ต้องหาแล้ว รัฐธรรมนูญก็กำลังจะได้แล้ว สมควรที่ผู้ชุมนุมจะยุติการชุมนุม เพราะพระเจ้าอยู่หัวของท่านทั้งหลายไม่ได้บรรทมมา 7 วัน 7 คืนแล้ว เนื่องจากทรงเป็นห่วง ต้องคอยฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอตนพูดจบ ผู้ชุมนุมนับแสนก็ปรบมือพร้อมกัน และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ตนก็คุกเข่าลงด้วยความปิติยินดีและร้องให้เพราะเหตุการณ์สงบลงด้วยดี อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตอนที่ผู้ชุมนุมจะกลับบ้านนั้น ก็เกิดเหตุปะทะที่หน้าวังกับตำรวจที่ได้รับคำสั่งว่าไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินผ่านถนนพระราม5 จนเกิดข่าวปากต่อปากไปว่าตำรวจฆ่านักศึกษาที่หน้าวัง ในที่สุดก็เกิดความวุ่นวายไปทั่วกรุงเทพ ทำให้นักศึกษาจำนวนประมาณ 2,000 คน ต้องกรูเข้าไปหลบอยู่ในพระราชวัง ตนได้พยามยามจะเจรจาให้ตำรวจถอนกำลัง แต่ไม่สำเร็จ

ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งผ่านโทรทัศน์พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้นำเอาเครื่องส่งเข้าไปในพระราชวังเลย และพระเจ้าอยู่หัวก็ได้มีรับสั่งชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าได้ยุติแล้ว รัฐบาลปล่อยผู้ต้องหาแล้ว ซึ่งคนที่ได้ดูรายการโทรทัศน์ในคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จะเห็นพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัวเศร้าหมองอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ตนซึ่งเข้าไปอยู่ในวังได้ 3 ปี ก็ไม่เคยเห็นแบบนั้น ซึ่งหลังจากการปราศรัย เหตุการณ์ก็ได้บรรเทาลงจนเข้าสู่ความสงบในเวลาต่อมา

พล.ต.อ.วสิษฐ์ กล่าวว่า ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความรู้สึกซึ่งได้เคยบรรยายถึงนักศึกษา สืบเนื่องจากการต่อสู้เมื่อ 44 ปีก่อน ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ ตนยังมีไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีใจความ ว่า

“สปิริตหรือวิญญาณอย่างที่นิสิตนักศึกษาได้แสดงให้เห็นในเวลาวิกฤติคราวนั้น ผมยังว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องธำรงรักษาเอาไว้ ถ้าหากว่านิสิตนักศึกษาปรารถนาจะมีส่วน ในการสร้างสรรค์ประเทศชาติ ทั้งในระยะนี้และในอนาคต และถ้าหากนิสิตนักศึกษา ตั้งใจที่จะใช้พลังแรงทั้งร่างกาย ทั้งความคิดเข้าร่วมกับประสบการณ์ของคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาพระราชทานเมื่อเย็นวันที่ 13 ตุลาคม 2516 และนอกจากระหว่างนิสิตนักศึกษา ด้วยกันเองแล้ว ผมเห็นว่านิสิตนักศึกษา ยังมีความรับผิดชอบต่อมหาชนทั้งประเทศ ในข้อนี้อาจมีผู้แย้งว่านิสิตนักศึกษากำลังแสดงอยู่ว่าสำนึกในความรับผิดชอบ และกำลังพยายามปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบดังกล่าว โดยหลายกลุ่มหรือหลายคนเดินทางออกไปต่างจังหวัดเพื่อแนะนำประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน แต่ในฐานะข้าราชการผู้หนึ่ง ผมอยากเห็นนิสิตนักศึกษาได้เข้าหาข้าราชการ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะในระดับรองลงไป ด้วยอาการที่เป็นประโยชน์ในท่าทางที่เป็นทางบวก ไม่ใช่ทางลบแบบที่เคยเป็นมาแล้ว”

ที่มา http://www.naewna.com/politic/297575