วันพุธ 11 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

วิกฤตประชาธิปไตย – รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

ประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) กำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ส่งผลกระทบจนทำให้มีการกล่าวว่ากำลังเกิดวิกฤติประชาธิปไตย

ในช่วงทศวรรษ 1960 มีนักวิชาการตะวันตกหลายท่านโดยเฉพาะศาสตราจารย์ Lipset ซึ่งได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวคือประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เจริญในระดับหนึ่ง ระบบการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมซึ่งข้อเท็จจริงนี้มีส่วนถูกในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะเดียวกันประเทศเผด็จการ เช่น เยอรมนีก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ในยุค 1990 หลังการสิ้นสุดสงครามเย็นนักวิชาการ Fukuyama ได้เขียนหนังสือชื่อ The End of History หรือแปลเป็นไทยว่าจุดจบของประวัติศาสตร์เป็นการเขียนถึงชัยชนะของประชาธิปไตยเสรีนิยมดังจะเห็นได้ว่าคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ กล่าวคือโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนเป็นทุนนิยม Fukuyama เห็นตรงข้ามกับ Karl Marx เพราะ Marx เห็นว่าจุดจบของประวัติศาสตร์คือชัยชนะของคอมมิวนิสต์ แต่จุดจบของประวัติศาสตร์ของ Fukuyama คือชัยชนะของประชาธิปไตยเสรีนิยมซึ่งเป็น model ที่คู่ขนานไปกับสังคมโลก

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ model ของประชาธิปไตยและทุนนิยมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตัลอย่างมหาศาลดังจะเห็นได้ว่าในยุคก่อนสิ้นสุดสงครามเย็นประเทศประชาธิปไตยในโลกนี้มีอยู่ 20-30 ประเทศ แต่ในทุกวันนี้ถ้าพิจารณาแบบผิวเผินจะปรากฏประเทศที่เป็นประชาธิปไตยโดยมีการเลือกตั้งอยู่ 80-90 ประเทศ แต่ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วการเลือกตั้งเป็นเพียงหน้าฉากของประชาธิปไตย แต่หลังฉากประเทศเหล่านี้กลายเป็นระบบเผด็จการเสียงข้างมาก หรือเผด็จการทหาร หรือเผด็จการพลเรือน หรือเผด็จการศาสนา ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมที่มีการถ่วงดุลจะมีไม่มากนักและนับวันจะน้อยลง นอกจากนั้นระบบทุนนิยมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยเสรีนิยมกำลังถูกกระทบจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจภาครัฐที่มีขนาดโตขึ้นในหลายประเทศ

เราจะเห็นได้ว่าแนวโน้มของประเทศต่างๆ ในทางการเมืองจะมีการขยายตัวของระบบอำนาจนิยมมากขึ้น หลายประเทศที่มาจากการเลือกตั้งก็อาศัยความชอบธรรมจากการเลือกตั้งแปลงระบบในทางปฏิบัติประชาธิปไตยให้เป็นระบบอำนาจนิยมและผู้นำเหล่านี้ก็หาทางแปลงรัฐธรรมนูญโดยอาศัยเครื่องมือจากการเลือกตั้งเข้าช่วย เช่น  รัสเซียภายใต้ปูติน ตุรกีภายใต้เออร์โดแกน ฮูโก ซาเวสต่อมาด้วยมาดูโรในเวเนซุเอลา ในกรณีของเวเนซุเอลาภายใต้ประธานาธิบดีมาดูโรก็ได้อาศัยรัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็นระบบเผด็จการแบบคิวบา ในประเทศอย่างในยุโรปตะวันออก หรือในเอเซียหรือในแอฟริกาจะเห็นได้ว่ามีทิศทางการพัฒนาไปสู่ระบบอำนาจนิยม เช่นกรณีของโปแลนด์มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นการบั่นทอนระบบ Check and balance และประเทศอื่นในกลุ่มประเทศ Visegrad คือ เช็ก ฮังการี สโลวาเกีย (รวมทั้งโปแลนด์) ก็เริ่มไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการเคลื่อนย้ายคนซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของเสรีนิยมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม ในหลายประเทศระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมกลายเป็นเผด็จการเสียงข้างมากและกลายเป็นเผด็จการภายใต้ทหาร เช่น ไทยและอียิปต์ บางประเทศแม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งแต่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน เช่น ฟิลิปปินส์และตุรกี

บางประเทศยังรักษาระบบอำนาจนิยมและเชิดชูอำนาจนิยมของตนเองว่าเป็น model ที่เหนือกว่าประชาธิปไตยเสรีนิยม เช่น จีนภายใต้สี จิ้นผิง จีนได้แสดงให้เห็นว่าระบบของเขาเป็นระบบที่มีการเติบโตได้ดีกว่า มีเสถียรภาพมากกว่า สามารถขจัดอุปสรรคทางการเมืองและความยากจน ทำให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง สี จิ้นผิงและปูตินทำให้หลายคนมองว่าระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมกำลังถูกท้าทายจากจีนและรัสเซียและผู้นำเหล่านี้ไม่สนใจ check and balance และจะเป็นผู้นำตลอดชีวิต ในขณะที่ความพอใจในตัวผู้นำมีสูง (ถ้ามีการสุ่มตัวอย่างคนจีนจะมีความพอใจสี จิ้นผิงไม่ต่ำกว่า 70%) ภายใต้ระบบอำนาจนิยมที่กำลังขยายตัวนี้ สิ่งที่รัฐเข้าไปควบคุมคือ social media เพื่อขจัดกลุ่มที่เห็นต่างในนามของเสถียรภาพทางการเมือง ในจีนมีการสร้าง social credit card ซึ่งบันทึกข้อมูลประวัติและพฤติกรรมของประชาชนเพื่อดูว่าคนไหนน่าไว้ใจเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้า ใครที่มีประวัติไม่ดีหรือมีประวัติเป็นกลุ่ม activist หรือมีประวัติไม่ดีทางการเมืองก็จะไม่ได้รับการส่งเสริมหรืออาจถูกลงโทษได้

ในแง่ของเศรษฐกิจ หลายประเทศที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็กำลังพัฒนาเศรษฐกิจถอยห่างจากเสรีนิยมและทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมคือให้รัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตัวอย่างคือจีนภายใต้สี จิ้นผิง รัสเซียภายใต้ปูตินและตุรกีภายใต้เออร์โดแกน แม้ประเทศเหล่านี้จะมีเศรษฐกิจในลักษณะทุนนิยมแต่จะเห็นบทบาทของรัฐในการพัฒนาและรักษาระบบเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นทิศทางใหม่ที่ถอยห่างจากทุนนิยมและเป็นระบบที่ประชาชนพึงพอใจโดยดูได้จากคะแนนนิยมในตัวผู้นำ และเป็นระบบที่ผู้นำประกาศว่าสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำได้มากกว่าทุนนิยม

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมในทุกวันนี้แม้จะสิ้นสุดสงครามเย็นไปแล้วที่น่าจะมีทิศทางที่ก้าวหน้าและได้รับการยอมรับมากขึ้นกำลังถูกท้าทายจากระบบเผด็จการและอำนาจนิยมที่ผสมผสานระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม เราอาจกล่าวได้ว่าทิศทางดังกล่าวคือ “วิกฤติของรูปแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม” นั่นเอง