ศาลฎีกาพิพากษายืนตามอุทธรณ์ จำคุก 35 ปี 4 เดือน อดีตการ์ด นปช.ยิง M79 ใส่กลุ่ม กปปส.หน้าตึกชินวัตร 3 เมื่อปี 2557 ส่วนอีกรายให้ยกฟ้อง
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (16 ม.ค.) ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดแจ้งผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายดำที่ อ.3820/2557 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายณรงค์ศักดิ์ หรือตุ้ย พลายอร่าม อายุ 32 ปี อดีตการ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายพีรพงษ์ หรือธานินทร์ สินธุสนธิชาติ อายุ 43 ปี ชาว จ.ระยอง เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, กระทำการให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลฯ, ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2557 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันมีอาวุธปืนชนิดเครื่องยิงระเบิดสังหาร ขนาด 40 มิลลิเมตร 1 ลูก ที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนลาดพร้าว รัชดาภิเษก พหลโยธิน และวิภาวดีรังสิต อันเป็นในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร และหลังจากนั้นได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนยิงเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. บริเวณหน้าอาคารชินวัตร 3 แขวงและเขตจตุจักร กทม. อันเป็นการยิงปืน ซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน และที่ชุมชน โดยมีเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งจำเลยทั้งสองกับพวกย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าลูกระเบิดยิงชนิดระเบิดสังหารที่มีอานุภาพทำลายล้างที่รุนแรงสามารถทำอันตรายแก่ชีวิตบุคคลที่สัญจรผ่านบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต และกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่ชุมนุมอยู่บริเวณอาคารที่เกิดเหตุ ให้ถึงแก่ความตายและเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้ จำเลยทั้งสองกับพวกกระทำไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากลูกกระสุนระเบิดตกห่างจากจุดที่นายประกิต กันยามา ผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ประมาณ 40 เมตร แล้วระเบิดขึ้น สะเก็ดระเบิดจึงไม่ถูกผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยทั้งสองกับพวก แต่มีสะเก็ดระเบิดกระเด็นถูกเสาอาคารโดมและต้นไม้ประดับของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 20,000 บาท หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุเก็บเศษสะเก็ดระเบิดได้ 1 ถุงเป็นของกลาง เหตุเกิดที่แขวงจตุจักร แขวงจันทรเกษม แขวงจอมพล แขวงลาดยาว เขตจตุจักร, แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง, แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง, แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน, เขตสีกัน, เขตดอนเมือง และแขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม.เกี่ยวพันกัน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้ในวันที่ 16 ก.ค. 2557 แล้วจับจำเลยที่ 2 ได้ในวันที่ 22 ก.ย. 2557 จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4334/2557 ของศาลนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 80, 83, 91, 221, 288, 289, 358, 371, 376 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 42(2), 7, 8 ทวิ, 38, 55, 72, 72 ทวิ, 74, 78 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา15, 42 ริบของกลางและนับโทษต่อจากโทษของจำเลยทั้งสอง ทั้งนี้จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2558 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 43 ปี 4 เดือน พร้อมริบของกลาง ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์ และจำเลยทั้งสองถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดระยองและสระบุรีเพราะถูกดำเนินคดีอื่น ศาลจังหวัดระยองจึงได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 พิพากษาแก้ให้จำคุกนายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 35 ปี 4 เดือน และยกฟ้องนายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2 แต่ให้ขังระหว่างฎีกา ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา ศาลจังหวัดสระบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2560 ให้จำเลยฟังแล้ว วันนี้ (16 ม.ค.) ศาลอาญานัดแจ้งผลคำพิพากษาศาลฎีกาให้อัยการโจทก์ทราบเท่านั้น จึงไม่มีการเบิกตัวจำเลยมาศาล
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้นั้น โจทก์มีนายยงยุทธ หรือชินจัง บุญดี เป็นพยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุพยานโทรหาจำเลยที่ 1 ให้มารับเพื่อไปยิงระเบิดใส่ผู้ชุมนุม กปปส. โดยพยานเป็นคนยิง ศาลเห็นว่าคำเบิกความของนายยงยุทธสอดคล้องกับที่ให้การหลังถูกจับกุมเพียง 2 วัน คำให้การมีรายละเอียดการก่อเหตุรุนแรงของนายยงยุทธถึง 10 ครั้ง ยากที่จะคิดปรุงแต่ง ในชั้นสอบสวนนายยงยุทธยังให้การทั้งในฐานะผู้ต้องหาและพยานยืนยันการก่อเหตุรุนแรงดังกล่าวเช่นเดิม และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ แม้คำเบิกความของนายยงยุทธเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แต่นายยงยุทธมิได้เบิกความให้ตนเองพ้นผิดโดยปัดความผิดไปให้จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมาข้อเท็จจริงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าโจทก์มีเพียงบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ที่ให้การในฐานะพยานและผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพประกอบบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างเป็นพยานบอกเล่า นายยงยุทธก็ไม่ได้ให้การว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วย โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ให้มีน้ำหนักรับฟัง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดคดีนี้หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 35 ปี 4 เดือน ส่วนนายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2
ให้ยกฟ้อง