วันพุธ 11 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ศาลาไทยในต่างประเทศ เครื่องหมาย สัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยกรมศิลปากร

 

 

ศาลาไทยในต่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยกรมศิลปากร

ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับนานาประเทศทุกภูมิภาคมาช้านานตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบันเพื่อประโยชน์ด้านการเมือง การปกครอง เศรฐกิจ เป็นต้น พัฒนาการของความสัมพันธ์กับนานาประเทศได้มีการยกระดับสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์พระประมุขเป็นแบบอย่างในการเจริญสัมพันธไมตรี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสืบต่อมายังกรุงรัตนโกสินทร์ โดยการแต่งตั้งคณะราชทูตหรือแม้แต่องค์พระมหากษัตริย์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปโดยพระองค์เองหลายๆ ประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป ไม่ใช่เพียงเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเท่านั้น ยังเป็นโอกาสพิเศษให้ประเทศไทยได้นำเอาศิลปกรรมด้านต่างๆ ไปเผยแพร่สู่สายตาชาวต่างชาติให้เห็นถึงรสนิยม และฝีไม้ลายมือเชิงช่างของประเทศไทยที่มีความสามารถไม่น้อยหน้าไปกว่านานาอารยะประเทศในสมัยนั้น  สถาปัตยกรรมไทยจึงได้รับบทบาทให้เป็นอนุสรณ์สถานความทรงจำด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสืบเนื่องต่อมาจนทุกวันนี้

สถาปัตยกรรมไทยว่าด้วย ศาลาไทย เป็นสิ่งปลูกสร้างที่สามารถสะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งในส่วนของประโยชน์ใช้สอยเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเพราะเป็นอาคารโล่งโปร่ง    อีกทั้งยังมีองค์ประกอบในการประดับตกแต่งทางด้านสถาปัตยกรรมไทยที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และความสามารถในเชิงช่างของคนไทยตั้งแต่ชั้นฐาน ชั้นเรือน และหลังคาอย่างวิจิตรงดงาม นับเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาติที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสานสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้เป็นอย่างดี

ศาลาไทยในต่างประเทศ ที่ได้ดำเนินการออกแบบโดยสถาปนิกของกรมศิลปากร มีอยู่ในหลายประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย ตลอดจนอเมริกาใต้ ล้วนมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยเหตุที่ในแต่ละประเทศล้วนมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านพื้นที่และรูปแบบอาคาร ดังนั้น การออกแบบอาคารศาลาไทยแต่ละหลัง สถาปนิกและคณะทำงานกับเจ้าของสถานที่ในแต่ละประเทศจึงต้องมีการปรึกษาหารือ แก้ปัญหาและอุปสรรครวมทั้งต้องวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ในการสร้างทางเลือก เพื่อส่งเสริมศาลาไทยให้เห็นเด่นเป็นสง่า ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นแนวความคิดในการออกแบบศาลาไทยรูปแบบต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมีขนาดอาคารที่ไม่ใหญ่มาก หากแต่สถาปนิกจะต้องนำเหตุการณ์สำคัญหรือวัตถุประสงค์ในการสร้างศาลาถ่ายทอดสู่งานสถาปัตยกรรมที่แฝงด้วยนัยยะด้านต่างๆ ที่นอกเหนือจากเอกลักษณ์ศาลาไทยมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมของประเทศนั้นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งศาลาไทยทรงจั่ว ทรงตรีมุข หรือทรงจัตุรมุข พร้อมเครื่องประดับตกแต่งตามแบบอย่างของงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของภารกิจแต่ละครั้ง

              ปฐมศาลาไทยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้สร้างขึ้น ณ คัวร์พาร์ค เมืองบาดฮอมบวร์ก ประเทศเยอรมนี ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งที่ ๒  เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐ โดยได้เสด็จฯ มาประทับรักษาพระองค์ที่เมืองนี้ และเป็นคราวเดียวกับที่เมืองได้ขุดพบบ่อน้ำแห่งใหม่จึงตั้งชื่อบ่อน้ำว่า “บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์” จึงมีพระราชดำริที่จะก่อสร้างศาลาไทยเพื่อครอบบ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ หากแต่การออกแบบก่อสร้างตามพระราชประสงค์เป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ต่อมาเมื่อส่งศาลาไปถึงยังเยอรมนี ไกเซอร์ วิลเฮล์ม ที่ ๒ (Wilhelm II หรือ “Wilhelm Albert Viktor von PreuBen)ได้มีดำริให้นำศาลาไทยนี้ มาปลูกไว้ในบริเวณที่ใกล้กับบ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ นับแต่นั้นเป็นเวลายาวนานมากว่า ๑๐๐ปี ปัจจุบันสถาปนิกกรมศิลปากรได้รับความไว้วางใจในภารกิจด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติประเภทศาลาไทยมาโดยตลอด

พุทธศักราช ๒๕๓๓ นายประเวศ ลิมปรังษี ข้าราชการกรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ซึ่งมีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมประเพณีมายาวนานกว่า ๓๐ ปี ได้ออกแบบศาลาไทย ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสาธารณะซุรุมิ เรียวคุชิ (Tsurumi Ryokuchi Park) ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการนานาชาติ (The International Garden and Greenery Exposition) มีรูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นศาลาโถง กว้าง ๒.๕๐เมตร ยาว ๓.๕๐เมตร ส่วนฐานคอนกรีต บัวฐานเป็นบัวหน้ากระดานเรียบ สูง ๐.๖๖เมตร ปูพื้นด้วยหินอ่อน เสาไม้ ๔ เสา หลังคาโครงสร้างไม้ มุงกระเบื้องดินเผาหางมน หลังคาแบ่งเป็น ๒ ตับ ไม่ซ้อนชั้น ตับจั่วเป็นหลังคาทรงจั่วเปิดประดับรวยระกา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม้แกะสลักทาสี หน้าบันไม้แกะสลักทาสี หลังคาตับกันสาดรอบ ๔ ด้าน รับด้วยคันทวยไม้แกะสลักทาสี  ฝ้าเพดานภายในเป็นฝ้าไม้กระดานเข้าลิ้น ทาสี ประดับดาวเพดานไม้แกะสลักปิดทอง กรอบแว่นไม้แกะสลักปิดทอง แนวคิดในการประดับและตกแต่ง เน้นความพอเหมาะ เลือกใช้การประดับลวดลายเฉพาะจุดเท่านั้น เช่น การใช้ลายแกะสลักในหน้าบัน คันทวย และดาวเพดาน โดยใช้ลายดอกพุดตานเป็นแม่ลายหลักประกอบลายพฤกษชาติ ซึ่งเป็นลายดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปกรรม

               พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย)  ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้รังสรรค์งานออกแบบศาลาไทยในต่างประเทศหลายๆแห่งตามโอกาสของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นๆ อาทิ

              ศาลาไทย ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๐ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ๑๐๐ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๐-๒๕๔๐ มีรูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นศาลาไทยเครื่องไม้หน้าจั่ว ยกฐานคอนกรีตกรุแกรนิต หลังคาจั่วซ้อน ๒ ชั้นมีหลังคากันสาดโดยรอบ บริเวณคอสองกรุแผงราชวัติดอกสี่กลีบ เครื่องลำยองคือช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และหางหงส์แกะไม้ปิดทอง ลวดลายหน้าจั่วแกะไม้ปิดทองประดับกระจกประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. อันมีความหมายว่าเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของสมเด็จพระปิยมหาราชในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๐ (คริสตศักราช ๑๘๙๗ ) อีกด้านหนึ่งเป็นพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. อันมีความหมายว่า ศาลาหลังนี้สร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ส่วนหลังคากันสาดมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกรองรับ เสาไม้ ๘ ต้น เขียนลายรดน้ำเป็นลายก้านต่อดอกหน้าสิงห์ เพดานทาสีแดงชาด ประดับดาวเพดานแกะไม้ปิดทองประดับกระจก โดยบริเวณคอสองด้านในมีข้อความจารึกว่า “พระบรมราชานุสรณ์ ๑๐๐ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พุทธศักราช ๒๔๔๐-๒๕๕๐”

              อาคารพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ เทศบาลเขตรากุนด้า ประเทศสวีเดน สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมฉลองการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเทศบาลเขตรากุนด้า ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเจริญสัมพันธไมตรี กับราชอาณาจักรสวีเดน ในพุทธศักราช ๒๔๔๐ เป็นสถาปัตยกรรมไทยประเภทอาคารโถง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อนชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาสีส้มชนิดหางมน ประดับด้วยเครื่องยอดทรงมณฑปและมีระเบียงรอบ  ขนาดกว้าง ๑๑.๐๐ เมตร ยาว ๑๕.๐๐ เมตร มุขทั้งสี่ด้านมีความกว้าง ๕.๐๐ เมตร การก่อสร้างตัวอาคารเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ และสำเร็จลุล่วงในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑

               ศาลาที่ระลึก ณ ออลบริคการ์เด้น ณ ออลบริคการ์เด้น เมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิล ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นศาลาไทยที่สร้างโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งประเทศไทย ในนามของรัฐบาลไทย จัดสร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินและเมืองเมดิสัน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๒ เป็นสถาปัตยกรรมไทยประเภทศาลาโถง โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง ทรงตรีมุข หลังคาซ้อนชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผาหางมนชนิดเคลือบสี ขนาดกว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๑๑.๕๐ เมตร มุขแต่ละด้านมีความกว้าง ๓.๕๐ เมตร มีฐานไพทีกว้าง ๑๘.๑๕ เมตร ยาว ๒๒.๘๐ เมตร หน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักประดับตรงสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ

               ศาลาไทยมิตรภาพ ๖๐ ปี ออสเตรเลีย – ไทย ณ สวนสัตว์ทารองก้า กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๔๘ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลียในการแลกเปลี่ยนสัตว์พื้นเมืองระหว่างกัน รัฐบาลไทยประสงค์จะแสดงให้ทราบถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และประสงค์ให้พื้นที่นี้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีไทยต่างๆด้วย

ศาลาไทยแห่งนี้ ออกแบบโดยนายไพบูลย์ ผลมาก อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร โดยมีนายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และนายก่อเกียรติ ทองผุด เป็นนายช่างศิลปกรรม ศาลาไทยดังกล่าวได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมมาจากพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยมาเป็นแนวทางในการออกแบบและก่อสร้างด้วยเครื่องไม้ระบบถอดประกอบได้ เป็นโครงสร้างไม้ ขนาดกว้าง ๔.๐๐ เมตร ยาว ๕.๐๐ เมตร ความสูงจากพื้นถึงท้องซุ้มคูหามีการเปลี่ยนแปลงจากแบบเดิมซึ่งมีความสูง ๒.๓๐ เมตร เพิ่มเป็น ๒.๕๐ เมตร หลังคาทรงจั่วชนิดมีปีกนก ประดับด้วยเครื่องลำยองแบบใบระกา ช่อฟ้า หางหงส์ ทาสีแดงไทย หลังคากันสาดประดับด้วยนาคปักไม้ทาสีแดงไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาชนิดหางมนสี เสาภายในทั้งหมดเป็นรูปแปดเหลี่ยมทาสีแดง มีคันทวยไม้แกะสลักยื่นออกไปรับชั้นหลังคาสีส้ม ระหว่างช่วงเสาประดับด้วยซุ้มคูหาไม้แกะสลักเป็นช่องโปร่งลวดลายกากบาททาสีแดงไทย ตัวศาลาตั้งอยู่บนฐานเขียงชั้นเดียว ฝ้าเพดานประดับด้วยลายรดน้ำรูปดาวเพดานสีทองบนพื้นสีแดงไทย หน้าบันตรงกลางประดับรูปช้าง ล้อมรอบด้วยลายไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ของประชาชนของทั้ง ๒ ประเทศให้แน่นแฟ้นสืบต่อไป

ศาลาไทยแบบถอดประกอบได้ ใช้ในเทศกาลวัฒนธรรมไทย ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และงานเทศกาลวัฒนธรรมไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกแบบโดยนายไพบูลย์ ผลมาก อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร มีนายก่อเกียรติ ทองผุดเป็นนายช่างศิลปกรรม โดยมีแนวความคิดในการออกแบบเพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็นวัฒนธรรมไทยและเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย จึงออกแบบให้ศาลานั้นมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมครบถ้วนตามแบบแผนโบราณ รวมทั้งวิธีการก่อสร้างศาลาที่เป็นเครื่องไม้ ยึดด้วยการบาก สับและเข้าเดือยในการยึดโครงสร้างโดยไม่ใช้ตะปู ซึ่งแสดงถึงความสามารถของช่างไทยที่สืบทอดมาจากอดีต ตัวศาลามีการจำหลักลวดลายไทย ทาสีและปิดทองเพียงบางส่วนเนื่องด้วยการก่อสร้างมีเวลาจำกัด หน้าบันกลางประดับด้วย “ช้าง” ล้อมด้วยลวดลายไทยอันวิจิตร สื่อถึงความเป็นชาติไทยอย่างงดงาม รูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นศาลาไทยแบบถอดประกอบได้ โครงสร้างไม้ ขนาดกว้าง ๔.๐๐ เมตร ยาว ๕.๐๐ เมตร ความสูงจากพื้นถึงท้องซุ้มคูหามีการเปลี่ยนแปลงจากแบบเดิมซึ่งมีความสูง ๒.๓๐ เมตร เพิ่มเป็นสูง ๒.๕๐ เมตร เนื่องจากเป็นข้อบังคับของต่างประเทศ หลังคาทรงจั่วชนิดมีปีกนก ประดับด้วยเครื่องลำยองแบบใบระกา ช่อฟ้า หางหงส์ทาสีแดงไทย หลังคากันสาดประดับด้วยนาคปักไม้ทาสีแดงไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาชนิดหางมนสีส้ม หน้าบันเป็นลวดลายไม้แกะสลัก เสาภายในทั้งหมดเป็นรูปแปดเหลี่ยมทาสีแดง มีคันทวยไม้แกะสลักยื่นออกไปรับชั้นหลังคา ระหว่างช่วงเสาประดับด้วยซุ้มคูหาไม้แกะสลักเป็นช่องโปร่งลวดลายกากบาททาสีแดงไทย ตัวศาลาตั้งอยู่บนฐานเขียงชั้นเดียว ฝ้าเพดานประดับด้วยลายรดน้ำรูปดาวเพดานสีทองบนพื้นสีแดงไทย

ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  ณ สวนเดอน็องตู เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รัฐบาลจัดสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๐เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญ ๒ วาระ คือ โอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิสครบ ๗๕ ปี เป็นสถาปัตยกรรมไทยประเภทศาลาโถง โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง ทรงจตุรมุข เป็นแบบมุขทะลุขื่อหรือมุขชะโงกทั้ง ๔ ด้าน หลังคาซ้อนชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผาสีส้ม ชนิดหางมน ประดับด้วยเครื่องยอดทรงมณฑป ขนาดกว้าง ๕.๓๐ เมตร ยาว ๕.๓๐ เมตร มุขทั้ง ๔ ด้านมีความกว้าง ๓.๐๐ เมตร ตั้งอยู่บนฐานปัทม์หินอ่อน มีบันไดและพนักพลสิงห์กรุหินอ่อนทั้ง ๓ ด้าน เสาทุกต้นเป็นเสาไม้เนื้อแข็งหน้าตัดเป็นรูปแปดเหลี่ยมประดับด้วยลายรดน้ำ หัวเสาประดับด้วยบัวหัวเสาไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก มีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกยื่นออกไปรับชั้นหลังคา ระหว่างเสาทุกต้นด้านบนประดับตกแต่งด้วยซุ้มหน้านางไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ด้านล่างประดับด้วยราวกันตกลูกฟักไม้ประณีตปิดทองเป็นลายแก้วชิงดวง และมีเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ไม้แกะสลักปิดทองบริเวณทางเข้าทุกด้าน ส่วนของชั้นหลังคาหน้าจั่ว หลังคาชั้นซ้อนและหลังคากันสาดนั้นประดับด้วยเครื่องลำยองชนิดช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ไม้ปิดทองประดับกระจก โดยในส่วนหลังคาชั้นกันสาดนั้นประดับด้วยนาคปักไม้ปิดทอง  หน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก โดยในหน้าบันด้านหน้าและด้านซ้ายประดิษฐานพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. หน้าบันด้านขวาประดับด้วยพระราชสัญลักษณ์ประจำสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่วนหน้าบันด้านหลังประดับด้วยตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ  ส่วนเครื่องยอดทรงมณฑปนั้นปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ ในส่วนของฝ้าไขราและฝ้าเพดานภายในทำด้วยไม้ทาสีแดงตกแต่งด้วยลวดลายฉลุปิดทองและดาวเพดาน ค้างคาวมุมและคิ้วไม้ปิดทองประดับกระจก

              ศาลาไทยตรีมุข โครงการบูรณะตาน้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ คัวร์พาร์ค เมืองบาดฮอมบวร์ก ประเทศเยอรมันนีเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ของพระบาทสมเด็จพนะจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน่วยงานภาครัฐของไทยและเมืองบาดฮอมบวร์ก จึงได้ร่วมกันสร้างศาลาไทยหลังใหม่  เพื่อนำไปตั้งไว้ ณ บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์  โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นสถาปัตยกรรมไทยประเภทศาลาโถง โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง ทรงตรีมุขหลังคาซ้อนชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาหางมนชนิดเคลือบสีขนาดฐานกว้าง ๙.๗๕ เมตร ยาว ๑๑.๐๐ เมตร ตัวศาลาขนาดกว้าง ๔.๗๕ เมตร ยาว ๖.๐๐ เมตร มุขทั้งสามด้านมีขนาดและระยะยื่นเท่ากันมุขทั้ง ๓ ด้านมีความกว้าง ๓.๕๐ เมตร มีบันไดทางขึ้น ๓ ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านข้าง เสาทุกต้นเป็นเสาไม้เนื้อแข็งหน้าตัดเป็นรูปแปดเหลี่ยมประดับด้วยลวดลายรดน้ำ หัวเสาประดับด้วยบัวหัวเสาไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก มีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกยื่นออกไปรับชั้นหลังคา ระหว่างเสาทุกต้นด้านบนประดับตกแต่งด้วยซุ้มคูหาไม้แกะสลักประดับลวดลายราชวัติปิดทองประดับกระจก  ส่วนด้านล่างประดับด้วยราวกันตกลูกฟักไม้ประณีตปิดทอง ในส่วนของชั้นหลังคาหน้าจั่ว หลังคาชั้นซ้อนและหลังคากันสาดนั้นประดับด้วยเครื่องลำยองชนิดช่อฟ้าปั้นลมและหางหงส์แบบเหราไม้ปิดทองประดับกระจก หน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างโดยอัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย จ.ป.ร ประดิษฐานที่หน้าบันทั้ง ๓ ด้าน ฝ้าไขราและฝ้าเพดานภายในทำด้วยไม้ทาสีแดงตกแต่งด้วยลวดลายฉลุปิดทอง ตกแต่งด้วยดาวเพดาน ค้างคาวมุมและคิ้วไม้ปิดทองประดับกระจก

              ศาลาไทยตรีมุข เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ ๑๒๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย- ญี่ปุ่นณ สวนอุเอโนะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีรูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นศาลาไทยเครื่องไม้ตรีมุข หลังคาซ้อนชั้น ยกฐานคอนกรีตกรุหินแกรนิต มีบันไดทางขึ้น ๓ ด้าน หลังคาซ้อน ๒ ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบยกเว้นมุขหน้า เปิดเป็นซุ้มคูหาหน้านางประดับไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ลวดลายหน้าจั่วแกะไม้ปิดทองประดับกระจก ประดับตราสัญลักษณ์ทั้ง ๓ ด้าน ประกอบด้วยดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติของไทยอยู่ทางซ้าย และดอกซากุระ ดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่นอยู่ทางขวา โดยนำดอกไม้ทั้ง ๒ ชนิดนี้มาเรียงร้อยเป็นเกลียวอันเปรียบเสมือนมือที่กระชับมั่น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในทุกระดับอันลึกซึ้ง แนบแน่น และยาวนานของ ๒ ประเทศ มีคำขวัญจารึกไว้ ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ

              ศาลาไทยบริเวณน้ำตกดาโก เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินโดนีเซีย มีการบูรณะในพุทธศักราช ๒๕๕๓เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. เมื่อคราวเสด็จเยือนชวาในพุทธศักราช ๒๔๓๙ และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จเยือนชวาอีกครั้งในพุทธสักราช ๒๔๗๒ และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ป.ป.ร. ไว้ด้วย รัฐบาลจึงให้สร้างศาลาไทยครอบศิลาจารึกดังกล่าวไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สถานที่เพื่อแสดงถึงสัมพันธไมตรีของทั้งสองประเทศ โดยมีนายก่อเกียรติ ทองผุด เป็นนายช่างศิลปกรรม และนายศิริพงษ์ บูรณะอารีย์พงษ์ เป็นวิศกรโยธา การออกแบบดำเนินการโดยยึดรูปแบบอาคารที่สร้างไว้แต่เดิม ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางส่วน โดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและทำเลที่ตั้งเป็นสำคัญ ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ไทยที่เรียบง่าย ด้วยการประดับตกแต่งส่วนปั้นลมหลังคามีการแกะสลักลวดลายใบเทศ หน้าบันแกะสลักลวดลายปิดทองประดับกระจก หลังคาของศาลามุงด้วยกระเบื้องแผ่นไม้

สถาปนิกรุ่นต่อมาของกรมศิลปากรในช่วงหลัง พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้รับการสืบทอดงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยก็ได้รับโอกาสในการออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างศาลาไทยเพื่อรังสรรค์ผลงานที่แสดงให้เห็นเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านงานสถาปัตยกรรมไทย อาทิ นายณรงค์ฤทธิ์ ทองแสง ออกแบบศาลาไทย ณ เกาะผู่โถซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความสัมพันธ์ด้านศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน ศาลาไทยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอาคารเครื่องลำยองแบบไทยประเพณี ที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติไทยสอดคล้องกับแนวคิดในการออกแบบ และเนื่องจากมีงบประมาณจำกัด สถาปนิกได้ออกแบบเป็นศาลาโถงไม่มีผนัง ผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เสาอาคารเพียง ๔ ต้น ยกฐานเล็กน้อยตามสัดส่วนอาคาร รูปทรงมวลรวมเป็นศาลาไทยขนาดเล็ก หลังคาตรีมุข โดยใช้จั่วใหญ่คลุมชั้นบน ชั้นล่างเป็นแนวกันสาดรอบทั้ง ๔ ด้าน ด้านหน้าศาลาออกเป็นมุขจั่วเล็ก เพื่อเน้นความสำคัญที่รับกับทางเข้าด้านหน้า และช่วยลดทอนความราบเรียบของผืนหลังคาจั่วใหญ่ ทำให้ได้สัดส่วนและมุมมองของศาลาที่สวยงามขึ้น

การประดับตกแต่งศาลา ใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ทั้งส่วนหลังคาประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนหน้าบันและการประดับหน้ากระดานใช้ลายกระจังฐานพระรับหน้าบัน ทำเป็นลวดลายไม้แกะสลักประดับกระจกทาสีทอง ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งคันทวย ซุ้มจระนำ และดาวเพดานประดับฝ้าเพดานภายใน ได้ตกแต่งทำเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกทาสีทองเช่นกัน ส่วนซุ้มจระนำออกแบบเป็นแผงลายราชวัติ เพื่อให้เกิดลูกเล่นระหว่างความทึบกับความโปร่งของแสงอาทิตย์ ส่วนเหนือซุ้มทำเป็นช่องลูกฟักทึบทาสีพื้นเป็นน้ำตาล สลักชื่อ “ศาลาไทยเกาะผู่โถวซาน”ปิดทอง ทั้งตัวอักษรไทยและจีน แล้วทำลวดลายเฟื่องห้อยอุบะ เป็นลายฉลุตบสีทองประดับไว้ที่แผงช่องลูกฟักด้านในศาลา เพื่อต้องการขับสีทองให้เด่น ช่วยเพิ่มความแวววาว ความโปร่งสบายตา และเพิ่มความสวยงามให้แก่ตัวศาลายิ่งขึ้น

ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นปีที่มีการฉลองครบรอบ ๕๐๐ ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-โปรตุเกส กรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายอาทิตย์ ลิ่มมั่น ทำหน้าที่สถาปนิกในการออกแบบศาลาไทย ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส โดยออกแบบเป็นศาลาโถงแบบจัตุรมุข มีบันไดขึ้นลง ๒ ด้าน คือด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งเป็นด้านหน้าและด้านหลังของศาลา ทำเป็นจั่วเปิดตกแต่งด้วยบัวหัวเสาและซุ้มคูหา ส่วนหลังคาซ้อน ๒ ชั้น ประดับด้วยเครื่องลำยอง ประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันประดับตราสัญลักษณ์ ฉลองความสัมพันธ์  ๕๐๐ ปี ไทย – โปรตุเกส รูปแบบสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบโดยรวมออกแบบให้มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา โดยใช้ลักษณะของเสาแปดเหลี่ยม รูปแบบของคันทวยแบบคดกริช และลวดลายขององค์ประกอบต่างๆ ลักษณะพิเศษของศาลาหลังนี้คือ นำองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในประเทศโปรตุเกสมาผสมผสานกับรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย เช่น รูปแบบของราวกันตก และองค์ประกอบของซุ้มคูหา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน

                ศาลาไทยทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีแสดงเอกลักษณ์ของประเทศไทยมาโดยตลอด พุทธศักราช ๒๕๕๖ นายนฤพร เสาวนิตย์ ได้รับมอบหมายให้ออกแบบศาลาทรงไทย ณ พลาซ่าไทยแลนเดีย (Plaza Thailandia) ลาส คอนเดส กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระการเฉลิมฉลองรอบ ๕๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ชิลี โดยมีแนวความคิดของการนำเอาสัญลักษณ์ประจำชาติไทยได้แก่ ช้างไทย ดอกราชพฤกษ์ และศาลาไทย มารวมเป็นองค์ประกอบอยู่ในสวนสาธารณะ ด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมศาลาทรงไทย สวนสาธารณะ พลาซ่าไทยแลนเดีย (Plaza Thailandia) เป็นศาลาโถง กว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๓.๘๐ เมตร ส่วนฐานคอนกรีต บัวฐานเป็นบัวหน้ากระดานเรียบสลับเส้นคิ้ว สูง ๐.๔๕ เมตร ปูพื้นด้วยหินอ่อน เสาไม้หน้าตัดแปดเหลี่ยม ๔ เสา หลังคาโครงสร้างไม้ มุงกระเบื้องเกล็ดปลาดินเผาเคลือบไฟแรงสูง ทับด้วยหลบหลังคาไม้หุ้มแผ่นตะกั่วนมทาสี ความสูงถึงสันหลังคาประมาณ ๕.๘๐ เมตร หลังคาแบ่งเป็น ๒ ตับ ไม่ซ้อนชั้น ตับจั่วเป็นหลังคาทรงจั่วเปิดประดับรวยระกา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม้แกะสลักทาสี หน้าบันไม้แกะสลักทาสี หลังคาตับกันสาดรอบ ๔ ด้าน รับด้วยคันทวยไม้แกะสลักทาสี  ฝ้าเพดานภายในเป็นฝ้าไม้กระดานเข้าลิ้น ทาสี ประดับดาวเพดานไม้แกะสลักปิดทอง กรอบแว่นไม้แกะสลักปิดทอง แนวคิดในการประดับและตกแต่ง เน้นความพอเหมาะ เลือกใช้การประดับลวดลายเฉพาะจุดเท่านั้น ได้แก่ การใช้ลายแกะสลักในหน้าบัน คันทวย และดาวเพดาน โดยใช้ลายดอกพุดตานเป็นแม่ลายหลักประกอบลายพฤกษชาติ ซึ่งเป็นลายดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปกรรมไทย  อีกทั้งยังสื่อถึงความเป็นศาลาในสวนที่รายล้อมไปด้วยพืชพันธุ์และไม้ดอกอีกด้วย

จากอดีตสู่ปัจจุบันของสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มองผ่านงานสถาปัตยกรรมไทยซึ่งได้รังสรรค์โดยสถาปนิกกรมศิลปากรรุ่นสู่รุ่นมาเป็นศาลาไทยที่สามารถสะท้อนศิลปกรรมหลายแขนงรวมกันเป็นองค์ประกอบทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ตั้งแต่ชั้นฐาน ชั้นเรือน ชั้นหลังคาหรือยอดได้อย่างครบถ้วน การออกแบบศาลาไทยที่ผ่านมานั้น มีหลายรูปแบบซึ่งยึดแบบแผนของสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเป็นหลัก ทั้งทรงจั่ว ตรีมุข จัตุรมุขเป็นอาทิ แต่สถาปนิกที่ได้รับมอบหมายต่างก็ได้มีการปรับประยุกต์การออกแบบตามสมควรอันเนื่องจากปัจจัยและเงื่อนไขที่แตกต่างกันด้วย การนำเอารูปแบบของศิลปะสถาปัตยกรรมของแต่ละประเทศมาแฝงเพื่อเป็นนัยในการสื่อความหมายด้านต่างๆ ตามวาระและวัตถุประสงค์สำคัญในการก่อสร้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ศาลาไทยได้ทำหน้าที่ในต่างแดนแทนประเทศไทยมาตลอดจวบจนทุกวันนี้ ด้วยการอวดทรวดทรงงานสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นสง่าสามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ที่สำคัญของชาติ และเมื่อความสัมพันธ์กับมิตรประเทศกระชับแน่นแฟ้นขึ้น ศาลาไทยก็มักได้รับบทบาทเป็นตัวแทนของประเทศในฐานะอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำสืบต่อไป

ที่มา: บทนำของหนังสือศาลาไทยในต่างประเทศที่ดำเนินโดยกรมศิลปากร (เรียบเรียงโดย นายสตวัน ฮ่มซ้าย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม)