วันพฤหัสบดี 10 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

สมเด็จพระเทพ โปรดเกล้าฯ รื้อฟื้นโบราณราชประเพณี จัดมหรสพสมโภช งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ให้สมพระเกียรติคุณ ในหลวงร.๙

สมเด็จพระเทพ โปรดเกล้าฯ รื้อฟื้นโบราณราชประเพณี จัดมหรสพสมโภช งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ให้สมพระเกียรติคุณ ในหลวงร.๙

 

การแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

​             กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต ได้รับพระราชบัญชาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดการแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร  เพื่อรื้อฟื้นการประโคมดนตรี หรือ การประโคมยามค่ำและ การมหรสพ เนื่องจากทรงเห็นว่า เพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเหงาเหมือนครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมมาราชธานีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ทั้งยังเป็นการรักษาโบราณราชประเพณีไว้ด้วย

การแสดงมหรสพสมโภชจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ แสดงพร้อมกันตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. จนถึง ๐๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๒ ชั่วโมง โดยมีผู้แสดง และผู้มีส่วนร่วมจากหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งสิ้นกว่า ๒,๐๐๐ คน เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสูงสุด

 

 

ประกอบด้วย

๑. การแสดงโขน หน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) กำหนดจัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์

ชุดพระรามข้ามสมุทร – ยกรบ – รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้แสดง คือ นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ ๑๒ แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้แสดง ผู้พากย์ – เจรจา ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ ๓๐๐ คน

๒. การแสดงมหรสพ ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ มี ๓ เวที ทุกเวทีกำหนดเวลา

เริ่มแสดง ๑๘.๐๐ น. ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จนถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น โดยการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ

ประกอบด้วย

๒.๑ เวทีการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยนาฏศิลปินของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมด้วยครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป ๑๒ แห่ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวน ๑,๐๒๐ คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ ๑๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑,๑๒๐ คน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ประมาณ ๒๐๐ – ๓๐๐ คน การแสดงมี ๓ ส่วน ได้แก่

– การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ผู้แสดง

จะเป็นครูอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับครูอาวุโส สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

– การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึก

ทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร

และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร เป็นการแสดงของกรมศิลปากร

– การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ

หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทาน (มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ)

๒.๒ เวทีการแสดงละคร หุ่นหลวง และหุ่นกระบอก ประกอบด้วย ละคร เรื่องพระมหาชนก

การแสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครใน เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาชมศาล – อิเหนาตัดดอกไม้ – ฉายกริช – ท้าวดาหาบวงสรวง และละคร เรื่องมโนห์รา ผู้แสดง บรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ๓๒๒ คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ ๑๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๔๒๒ คน

๒.๓ เวทีการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัย และบทเพลง ที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ ๗ องก์ โดยผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดงจาก สำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดง ๗๕๓ คน ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ๑๘๙ คน รวมทั้งสิ้น ๙๔๒ คน