วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชี้แจง เหตุรื้อถอนตลาดเฉลิมลาภ

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชี้แจงกรณีกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รื้อ ตลาดเฉลิมลาภ ย่านประตูน้ำ
จากการที่มีการเผยแพร่ข่าวว่ากลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ได้รวมตัวไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เข้าไปทำการขอคืนพื้นที่บริเวณตลาดเฉลิมลาภ ย่านประตูน้ำ ซึ่งมีการติดป้ายประกาศแจ้งเตือนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่าขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ ตลาดเฉลิมลาภ และเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการรื้อถอนตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. เป็นต้นไปนั้น

(อ่านข่าว : ผู้ประกอบการร้านค้ารวมตัวต้าน ไม่ให้รื้อถอนตลาดเฉลิมลาภ)
วันนี้ (18 ธ.ค. 60) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้มีจดหมายถึงสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ตลาดเฉลิมลาภ ตั้งอยู่มุมถนนเพชรบุรีและถนนราชปรารภ เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ ประกอบด้วยผู้เช่าที่ดิน แผงค้า และอาคารพาณิชย์ (ตึกแถว) รวม 697 สัญญา และด้วยเหตุที่สิ่งปลูกสร้างมีอายุใช้งานมานานสภาพส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรม สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว


สภาพทั่วไปภายในตลาดเฉลิมลาภ

ด้วยอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกใช้งานมากว่า 30 ปี พื้นที่หลายส่วนมีความทรุดโทรม ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม อาทิ สายไฟฟ้า ท่อน้ำประปา มีสภาพชำรุด พื้นที่บางส่วนถูกต่อเติมอย่างไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานราชการ อาทิ การต่อเติมสิ่งปลูกสร้างกีดขวางบริเวณทางหนีไฟ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยเป็นอย่างมากหากเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว

สภาพทั่วไปภายในตลาดเฉลิมลาภ
นอกจากนี้ สภาพการค้าในตลาดเริ่มซบเซา พื้นที่เช่าหลายส่วนถูกปิดไว้ โดยผู้เช่าบางรายใช้สถานที่เช่าเพียงเพื่อเป็นสถานที่เก็บของแล้วออกไปค้าขายริมถนนราชปรารภ จนก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยกับพื้นที่โดยรอบสร้างปัญหาต่อผู้สัญจรบนบาทวิถี อีกทั้งพื้นที่ภายในตลาดก็ไม่ถูกสุขลักษณะ จนทางราชการได้ยกเลิกใบอนุญาตตลาดไปแล้ว

สภาพทั่วไปภายในตลาดเฉลิมลาภ

สภาพทั่วไป ผู้เช่าตึกแถวส่วนใหญ่ใช้ประกอบการค้าและอยู่อาศัย ส่วนบริเวณตลาดชั้นล่างเป็นแผงค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตัดเย็บเสื้อผ้า รีดผ้า ขายอาหาร เป็นต้น ชั้น 2 และชั้น 3 ถูกกั้นแบ่งเป็นห้องและแผง ใช้เก็บของ อยู่อาศัย และตัดเย็บเสื้อผ้าขายส่ง ซึ่งสัญญาเช่าทุกรายครบอายุแล้ว

สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงมีความจำเป็นต้องขอให้ผู้เช่าส่งคืนสถานที่เพื่อนำมาพัฒนาใหม่ให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนาของบ้านเมืองโดยรวม โดยคำนึงถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าซึ่งได้รับผลกระทบ จึงกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ผู้เช่าเดิมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ

2.1 การแจ้งผู้เช่าให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ซึ่งในกรณีของตลาดเฉลิมลาภ ได้ให้เวลาผู้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 8 เดือน

2.2 การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ทั้งเงินช่วยเหลือ ค่าขนย้าย รวมทั้งสิทธิพิเศษเพื่อให้ผู้เช่าได้กลับมาเช่าใหม่หลังการพัฒนาในรูปของคูปองส่วนลดฯ โดยเฉลี่ยแล้วผู้เช่าแต่ละรายจะได้รับความช่วยเหลือทุกรูปแบบรวมกันเป็นมูลค่ามากกว่าค่าเช่าย้อนหลัง 30 ปีที่แต่ละรายจ่ายให้สำนักงานทรัพย์สินฯ

2.3 จัดพื้นที่รองรับผู้เช่าเพื่อใช้ค้าขายและอยู่อาศัย ระหว่างรอการพัฒนา 2 พื้นที่ ได้แก่ แผงค้าบริเวณศูนย์การค้าอินทรา สแควร์ ชั้น 2 และ 3 ซึ่งผู้เช่าได้อยู่โดยไม่ต้องชำระค่าเช่าและค่าส่วนกลาง นับแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ถึงเดือนธันวาคม 2558 และสำหรับตึกแถวบริเวณถนนเพชรบุรี ซอย 23 25 และ 29 ผู้เช่าจะได้อยู่โดยไม่ต้องชำระค่าเช่าตลอดระยะเวลา 3 ปี

พื้นที่รองรับผู้เช่าเดิมที่ให้ความร่วมมือ

เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้นและเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้เช่าเดิมได้กลับไปใช้พื้นที่หลังการพัฒนาแล้วเสร็จ สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงได้เพิ่มเติมความช่วยเหลือขึ้นอีก โดยมอบคูปองส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม ให้ผู้เช่าที่ดินและอาคาร อีก 1 เท่าของเงินช่วยเหลือเดิม

และเพิ่มคูปองส่วนลดฯ ให้ผู้เช่าแผงอีก 2 เท่า ทั้งนี้ ความช่วยเหลือดังกล่าวยังให้ย้อนหลังกับผู้เช่าที่ให้ความร่วมมือก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งผู้เช่าที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล และพร้อมจะให้ความร่วมมือด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอีกด้วย

พื้นที่รองรับผู้เช่าเดิมซึ่งได้เข้าใช้ประโยชน์แล้ว อาคารพาณิชย์บริเวณถนนเพชรบุรี ซอย 23 25 และ 29

สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ว่า รูปแบบการพัฒนาจะต้องมีความเหมาะสมกับศักยภาพของที่ดินและสภาพแวดล้อมโดยรวม โดยยึดหลักการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง 4 ประการ คือ

1) การพัฒนาจะต้องทำให้สังคม และเมืองดีขึ้น
2) ผู้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าเดิมในพื้นที่มีโอกาสกลับมาอยู่ใหม่ ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
3) ผู้พัฒนาได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อยู่อาศัยหรือผู้เช่าช่วง
และ 4) สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม โดยในระหว่างรอการส่งคืนพื้นที่จากผู้เช่าเดิม สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกผู้พัฒนาพื้นที่คู่ขนานกันไป ซึ่งบริษัท แพลทินัม สแควร์ จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

เมื่อถึงกำหนดส่งมอบสถานที่เช่าคืนในช่วงปลายปี 2555 ตามที่สำนักงานทรัพย์สินฯ แจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี มีผู้เช่าประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47.11 ของผู้เช่าทั้งหมด) ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนที่เหลือได้รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องให้สำนักงานทรัพย์สินฯ พิจารณาข้อเสนอแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดเฉลิมลาภด้วยตนเอง

ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และสถานะทางการเงินที่น่าเชื่อถือ แต่ข้อเสนอของกลุ่มผู้เช่า เป็นการรวมตัวกันเพื่อระดมทุนไปพัฒนาพื้นที่ขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีความชัดเจนในเรื่องของความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ จึงไม่อาจตอบสนองตามที่กลุ่มผู้เช่าร้องขอมาได้

ในที่สุดเมื่อการหาทางออกด้วยการเจรจาไม่ประสบผล กลางปี 2556 สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงจำเป็นต้องขอพึ่งอำนาจศาลเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม และในชั้นศาล สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังพิจารณาขยายระยะเวลาการส่งสถานที่เช่าคืนออกไปอีกจนถึงเดือนธันวาคม 2557

โดยยังคงความช่วยเหลือทางการเงินและสิทธิกลับมาใหม่ดังเดิม รวมทั้งให้สิทธิการใช้พื้นที่รองรับด้วย ซึ่งมีผู้เช่าให้ความร่วมมือ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง หรือคิดเป็นจำนวนผู้เช่าที่ให้ความร่วมมือแล้วทั้งสิ้นร้อยละ 77.04 ของผู้เช่าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ผู้เช่าส่วนที่เหลือ (ร้อยละ 22.96 ของผู้เช่าทั้งหมด) ยังคงหาช่องทางประวิงเวลาการดำเนินคดีด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ร้องขอให้ศาลแพ่งพิจารณาขอบเขตอำนาจศาลว่าคดีตลาดเฉลิมลาภควรอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ ซึ่งในที่สุด ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับสัญญาทางปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ซึ่งต่อมาผู้เช่าได้ขอให้ศาลพิจารณาว่า คดีฟ้องผู้เช่าตลาดเฉลิมลาภ ไม่ควรเป็นคดีผู้บริโภค แต่เป็นคดีแพ่งสามัญ โดยศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำวินิจฉัยครบถ้วนแล้ว ซึ่งมี ผลคำวินิจฉัยเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1) มีคำสั่งว่าเป็นคดีผู้บริโภคและส่งเรื่องกลับให้ศาลแพ่ง ดำเนินการตามกระบวนการปกติ และ 2) มีคำสั่งว่าไม่เป็นคดีผู้บริโภคและให้จำหน่ายคดี โดยให้โจทก์คือสำนักงานทรัพย์สินฯ นำคดีไปฟ้องใหม่เป็นคดีแพ่งสามัญ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็น้อมรับคำวินิจฉัยด้วยความเคารพ และยังคงเปิดโอกาส ให้มีการเจรจาบนหลักการที่ต้องคำนึงถึงผู้เช่าที่ร่วมมือแต่แรก

นอกจากการประวิงเวลาในชั้นศาล ผู้เช่าส่วนที่เหลือยังพยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประวิงเวลาในชั้นศาล อาทิ การทูลเกล้าถวายฎีกาผ่านสำนักราชเลขาธิการ การร้องเรียนผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงการคลัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวทุกแห่งแล้ว โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นโดยสรุปว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และใช้สิทธิตามขั้นตอนตามกฎหมายและขั้นตอนการปฏิบัติครบถ้วนแล้ว จึงไม่พบประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

และเนื่องจากขณะนี้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่ในศาลสถิตยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจึงมีความเห็นยุติเรื่องดังกล่าว ดังนั้น สำนักงานทรัพย์สินฯ พิจารณาเห็นว่า ในขณะนี้ กรณีพิพาทของผู้เช่าตลาดเฉลิมลาภอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลสถิตยุติธรรมแล้ว ซึ่งหากผลการพิจารณาของศาลเป็นประการใด สำนักงานทรัพย์สินฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลสถิตยุติธรรมทุกประการ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำเนินคดีกับผู้เช่ากลุ่มที่เหลือดังกล่าว มีผู้เช่าบางรายติดต่อสอบถาม การส่งสถานที่เช่าคืน จนปัจจุบันมีผู้เช่าที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีขอส่งสถานที่เช่าคืนแล้ว จำนวน 1 สัญญา คงเหลือ ผู้เช่าที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี จำนวน 154 สัญญา

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดเฉลิมลาภ มีพื้นที่ที่ได้รับคืนมาแล้วจำนวน 543 สัญญาหรือประมาณ ร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด สำนักงานทรัพย์สินฯ พิจารณาว่า อาคารถูกทิ้งร้างย่อมมีความเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกซ้ำซ้อน การถูกโจรกรรมและการก่ออาชญากรรม รวมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ดังนั้นการทยอยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับคืนมาแล้วจึงน่าจะเป็นมาตรการที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ที่จะดำเนินการรื้อถอน ยังมีผู้เช่าที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีปะปนอยู่ สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงได้เตรียมมาตรการป้องกัน ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงการให้ความสะดวก ในการเข้าออกพื้นที่อย่างรัดกุมและปลอดภัย ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงแผนการดำเนินการรื้อถอนให้ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทราบล่วงหน้า และได้ปิดป้ายประกาศการรื้อถอนในพื้นที่

พร้อมแสดงภาพแผนผังสิ่งปลูกสร้างที่จะดำเนินการรื้อถอน ให้สาธารณะชนทั่วไปรับทราบเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 13 ธันวาคม 2560 โดยผู้รับจ้าง (กิจการร่วมค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่การโยธา และบริษัท บิ๊กบอส การโยธา จำกัด) ซึ่งได้รับใบอนุญาตรื้อถอนแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 จะเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มดำเนินการรื้อถอนตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป

 

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชี้แจง เหตุรื้อถอนตลาดเฉลิมลาภ